วงไม่วิชาการเดือดกับ TSC แค่ไหน วงวิชาการก็เดือดไม่แพ้กัน ไม่ใช่แค่ตอบคำถามว่าคนยังยากจน โควิดยังไม่จบ จะไปดวงจันทร์ทำเพื่อ ? หาพระแสงอะไร คนจะตายห่ากันอยู่หมดทั้งประเทศแล้ว ในวงวิชาการเองก็ยังคงถกกันเรื่องที่วิชาการปนการเมืองนิดหน่อยตามสไตล์วงการอวกาศ ปีนี้งาน IAAI 2021 น่าจะเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทำให้เราได้เห็นพัฒนาการของโครงการ TSC โครงการสำรวจอวกาศสัญชาติไทย บทความนี้พามาดูงาน IAAI ที่จัดโดยมีอวกาศเป็นหัวข้อหลัก จะทีนัยทางการเมืองแค่ไหน จะมี Paper อะไรพรีเซ้นบ้าง แนะนำให้อ่านให้ครบทุกตัวอักษรแล้วเราจะได้เห็นภาพอะไรหลาย ๆ อย่างกัน
วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ (IAAI) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ซึ่งทั้งคู่นับว่าเป็นหน่วยงานที่อยู่ในภาคีความร่วมมืออวกาศไทย หรือ Thai Space Consortium จัดการประชุมวิชาการด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศนานาชาติ (Innovation Aviation & Aerospace Industry หรือ IAAI) ขึ้นโดยธีมสำคัญในปีนี้จะอยู่ที่โครงการอวกาศ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการ TSC
งานประชุม IAAI ในปี้เปิดตัวด้วย Speech จากตัวแทนของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) รศ.ดร.อนุวัฒน์ จางวานิชเลิศ และ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) โดยสามารถสรุปประเด็นที่น่าสนใจได้ว่า เทคโนโลยีการบินและอวกาศถือว่าเป็นสิ่งที่คอยผลักดันพรมแดนขีดจำกัดศักยภาพของมนุษย์เสมอมา การสำรวจอวกาศทำให้เรามีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะสามารถนำมาประยุกต์เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนที่อยู่บนโลก ดังนั้นผลักดันเรื่องการสำรวจและการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ ทาง IAAI จึงได้จัดการประชุมนี้ขึ้นมาเพื่อรวบรวมองค์ความรู้จากหลายฝ่ายเข้ามาไว้ด้วยกัน
ในปีนี้การงานประชุม IAAI ก็ได้มีการเชิญวิทยากรที่มีชื่อเสียงมาทั้งหมด 5 ท่าน มาพูดวันงานประชุมวันแรกด้วยกัน ตามลำดับได้แก่
- Dr.Christophe Buisset จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)
- Prof.Dr.Liu Rongke ศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Beihang ประเทศจีน
- Mr.Rakesh Chandra Prajapati ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท ORION Space อันเป็นบริษัทอวกาศแรกของเนปาล
- Dr.Oleh Ventskovsky ผู้อำนวยการบริษัท Yuzhnoye ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจออกแบบจรวดและดาวเทียมจากยูเครนที่เคยเป็นกำลังสำคัญให้กับอดีตสหภาพโซเวียตมาก่อน
- Dr.Valery Aksamentov ผู้อำนวยการโครงการความร่วมมือนานาชาติจากบริษัท Boeing สหรัฐอเมริกา
ไทย: Christophe อีกแล้ว อีกแล้วนะ Christophe
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ของไทยเราที่ได้นำเสนอเป็นฝ่ายแรกนั้น ได้นำเสนอที่ประชุมในหัวข้อ อุปกรณ์เครื่องมือด้านการศึกษาปรากฏการทางดาราศาสตร์ด้วยแสงของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (Astronomical and space instrumentation at NARIT Center for Optics and photonic) ผ่านวิทยากร Dr.Christophe บุคลากรที่อยู่กับ NARIT มาอย่างยาวนาน
อาจารย์ Christophe กล่าวว่าศาสตร์ด้านการควบคุมแสง (Optics & Photonic ) ที่ NARIT กำลังศึกษาและวิจัยอยู่ มีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสหกรรมด้านต่าง ๆ ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงสเปคตรัมที่มองเห็นและอินฟราเรด ไม่เพียงแต่เฉพาะด้านดาราศาสตร์ในการถ่ายภาพและศึกษาดวงดาวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการแพทย์ที่ต้องมีการใช้เทคโนโลยีด้านการควบคุมแสงในการศึกษาแบคทีเรียหรือไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคอีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีด้านอื่น ๆ ที่น่าสนใจอย่างอุตสหกรรมการผลิตรถยนต์ที่ต้องมีเรื่องการใช้เลเซอร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
ในปัจจุบัน NARIT ได้วิจัยและพัฒนาระหว่างการพัฒนาเครื่อง Spectrograph แบบกำลังการแยกสเปกตรัมต่ำ (Low Resolution Spectrograph) และเครื่องสเปกโตรกราฟแบบกำลังการแยกสเปกตรัมสูง (High Resolution Spectrograph) มาอย่างยาวนาน สำหรับกล้องโทรทรรศน์หลักของหอดูดาวภูมิภาคทุกแห่ง รวมถึงกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติควบคุมระยะไกลในต่างประเทศ การใช้งานของเครื่องมือนี้คือการวัดสเปกตรัมของวัตถุท้องฟ้า เพื่อศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพ เช่น องค์ประกอบทางเคมี เป็นต้น
เครื่อง Spectrograph แบบกำลังการแยกสเปกตรัมต่ำที่ NARIT วิจัยและผลิตเองปัจจุบันกำลังจะถูกติดตั้งที่หอดูดาวแห่งชาติภายสิ้นปีนี้ อีกทั้งทาง NARIT ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก โดยเฉพาะจากอังกฤษและฝรั่งเศส ในการพัฒนา เครื่อง Spectrograph แบบกำลังการแยกสเปกตรัมสูง เพื่อยกระดับในการถ่ายภาพดาวฤกษ์ในระยะไกลให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้แล้วอาจารย์ Christophe ยังนำเสนอเรื่อง Coronagraph ที่ใช้สำหรับการสังเกตการณ์ดาวฤกษ์ในช่วงอินฟราเรดใกล้และช่วงแสงที่ตามองเห็น ใช้สำหรับการสังเกตการณ์ทั้งบนพื้นโลกและในอวกาศ อุปกรณ์นี้มีศักยภาพมากพอสำหรับการศึกษา การค้นหาดาวเคราะห์ต่างระบบ (Exoplanet) ดาวฤกษ์ที่อยู่ติดกัน รวมไปถึงการสังเกตการณ์ของ Quasar และใจกลางของกาแล็กซี อันเป็นอีกโครงการที่ NARIT กำลังพัฒนา อุปกรณ์ Coronagraph แบบใหม่อยู่ที่สามารถปรับระดับและขนาดของแสงที่ต้องการศึกษาให้มีระยะกว้างมากยิ่งขึ้น จากรูปด้านล่างเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าถ้าเราสามารถแยกช่วงแสงได้ดีมากขึ้นเท่าใดเราก็จะได้รายละเอียดของดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างไกลมากขึ้นเท่านั้น
หลังจากนั้น Dr.Christophe ก็สรุปว่าเทคโนโลยีที่ NARIT ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะถูกนำไปพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับ ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย หรือ TSC ในการสร้างยานอวกาศไปโคจรรอบโลกและดวงจันทร์อีกด้วย ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจของบุคคลากรคนไทย ก่อนที่การประชุมจะนำไปสู่วิทยากรท่านถัดไปจากบริษัทอวกาศแรกของเนปาล
เนปาล: และ SanoSat-1 ดาวเทียมดวงแรก
เนปาลนับว่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่พึ่งเข้ามาในอุตสหกรรมแวดวงอวกาศได้ไม่นานโดยที่มีแผนส่งดาวเทียมดวงแรกที่มีชื่อ SanoSat-1 ขึ้นไปในอวกาศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ปัจจุบันทางบริษัท Oprion Space ผู้ผลิตดาวเทียมกำลังอยู่ในขั้นตอนระดมทุมจากหลาย ๆ องค์กร ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาด Pico ซึ่งมีมวลระหว่าง 0.1 ถึง 1 กิโลกรัมเพียงเท่านั้น ทำให้ดาวเทียมขนาดจิ๋วเหล่านี้สามารถเปิดโอกาสให้องค์กรที่มีงบประมาณจำกัดสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอวกาศได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก
ผู้ก่อตั้งบริษัท Orion Space ชาวเนปาล คุณ Rakesh กล่าวในช่วงต้นของการบรรยายว่า หากเราดูจากสถิติแล้วนับตั้งแต่ปี 1997 การปล่อยดาวเทียมมวลระดับ Nano ลงไป (หนักน้อยกว่า 10 กิโลกรัม) เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวแบบไม่มีทีท่าจะลดลง จึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่บ่งชี้ว่าดาวเทียมขนาดเล็กกำลังได้รับความเพิ่มนิยมมากขึ้น จากการที่ค่าใช้จ่ายการส่งสัมภาระขึ้นไปอวกาศลดลงอย่างมหาศาลอันเป็นผลมาจากรูปแบบการนำจรวดกลับมาใช้ใหม่ได้ของ SpaceX นี่เอง
SanoSat-1 ของเนปาลเป็นดาวเทียมประเภท Pocket Qube ที่มีขนาด 5x5x5 เซนติเมตร และหนักเพียง 250 กรัม ซึ่งแตกต่างจากดาวเทียม CubeSat ขนาด 10x10x10 เซนติเมตรที่คนไทยคุ้นเคยกัน ส่วนคุณ Rakesh ยังกล่าวต่อถึงกระบวนการทำงานกับดาวเทียม Pocket Qube ว่าต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้างตั้งแต่การออกแบบตลอดจนไปถึงการควบคุมและการหาบริษัทขนส่ง เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่อยากจะทำดาวเทียมขนาดเล็กในงบประมาณที่จำกัด ซึ่งคุณ Rakesh ได้ย้ำถึงข้อบังคับการออกแบบที่สำคัญไว้ 3 ข้อด้วยกัน
- อันดับแรกคือเรื่องอุปกรณ์ที่ติดไปบนดาวเทียมต้องห้ามมีน้ำหนักเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้
- สองคือระบบการสื่อสารภาคพื้นต้องทำงานได้เป็นอย่างดีถึงแม้สภาพอากาศจะไม่เอื้ออำนวยก็ตาม
- ส่วนข้อสุดท้ายคือขนาดของแบตเตอร์รี่และโซลาร์เซลล์ที่ต้องเพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงอุปการณ์บนดาวเทียมได้
ก่อนที่คุณ Rakesh จะจบการบรรยายลง
สหรัฐฯ: Valery Aksamentov ย้ายประเทศกันเถอะ
วิทยากรคนที่ 3 ที่มาพูดในงาน IAAI ครั้งที่ 2 ก็คือคุณ Dr. Valery Aksamentov ชาวรัสเซียที่เป็นผู้อำนวยการโครงการความร่วมมืออวกาศนานาชาติของบริษัท Boeing ที่มีประสบการณ์ผลิตจรวดและยานอวกาศมาอย่างยาวนานพอ ๆ กับเครื่องบิน จากสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอโครงการ Artemis ที่น่าตื่นเต้นของโบอิ้งที่กำลังพามนุษย์กลับไปดวงจันทร์ภายในทศวรรษที่ 2020 นี้ โดยโบอิ้งจะรับผิดชอบในส่วนของจรวดขนส่งที่ทรงพลังอย่าง Space Launch System หรือ SLS ที่ในเดือน กรกฎาคม ปี 2021 ตัวจรวด SLS ก็เริ่มที่จะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นสำหรับภารกิจ Artemis 1
และในขณะเดียวกัน Boeing ก็เป็นอีก 1 บริษัทได้พัฒนายานอวกาศ Starliner ขึ้นมาเพื่อใช้ขนส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติควบคู่กับ SpaceX อีกด้วย ถึงแม้ว่าการทดสอบครั้งแรกเมื่อปี 2020 ได้เกิดปัญหาทางเทคนิคขึ้นทำให้ตัวยาน Starliner ไม่สามารถเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติได้ ทาง Boeing ก็ยังดำเนินการพัฒนาต่อไปและวางแผนกำหนดการทดสอบครั้งที่สองไว้ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2021
นอกจากนี้ คุณ Dr. Valery ก็ได้ย้ำถึงความสำคัญของสถานีอวกาศนานาชาติหรือ ISS อีกด้วย ว่า ISS นั้นแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระดับนานาชาติได้เป็นอย่างดีและสามารถเป็นพื้นฐานของการทำโครงการอวกาศที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ในอนาคตได้ อย่างในโครงการ Artemis ก็มีแผนที่จะสร้าง Lunar Gateway สถานีอวกาศรอบดวงจันทร์ขึ้นภายในทศวรรษนี้ ตลอดจนไปถึงวิสัยทัศน์ในอนาคตในการสร้างยานอวกาศสู่ดาวอังคาร เรียกว่าการนำเสนอของ Boeing ในงาน IAAI นี้ได้แสดงศักยภาพและความฝันของชาวอเมริกันต่อการสำรวจอวกาศในอนาคตได้อย่างเต็มเปี่ยม
จีน: เราจะส่งดาวเทียมเยอะ ๆ เยอะกว่านี้ได้อย่างไร
โดยทางจีนเองที่มีวิทยากรจากมหาวิทยาลัย Beihang ภาควิชาวิศวกรรมสารสนเทศและไฟฟ้า นอกจากจะมีส่วนช่วยในระบบ Telescommunication ของโครงการฉางเอ๋อแล้ว อาจารย์ Rongke Liu ที่มีความสนใจด้านการสื่อสารไร้สายและอินเตอร์เน็ตดาวเทียมเป็นพิเศษได้นำเสนอเรื่องการปรับตัวของระบบสื่อสารภาคพื้นดินกับดาวเทียมที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปในอนาคต ซึ่งสถานีภาคพื้นหนึ่งสถานีอาจต้องรับมือควบคุมดาวเทียมหลากหลายดวงมากยิ่งขึ้นอันเป็นผลมาจากแนวโน้มการบริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตดาวเทียมและดาวเทียมขนาดเล็กที่กำลังเพิ่มมากขึ้นทั่วโลกขึ้นทั่วโลก
อาจารย์ Liu เล่าเรื่องการใช้ GPU ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าและถอดรหัสสัญญาณที่ใช้ในการสื่อสารกับดาวเทียมหรือยานอวกาศ รวมถึงมีการ Optimize ระบบการวิ่งของข้อมูล Data Pipeline ต่าง ๆ ซึ่งอย่างที่บอกไปว่าอาจารย์ Liu นั้นสนใจเรื่องดาวเทียมอินเทอร์เน็ตเป็นพิเศษ การออกแบบ Codec ที่ดี ทั้งในฝั่งอัลกอริทึมและในฝั่ง Hardware ก็จะย่อมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับส่งของแต่ละ Node (เพราะอย่าลืมว่าดาวเทียมอินเทอร์เน็ตมันใช้การ Relay สัญญาณต่อ ๆ กัน ๆ ถ้าเกิดคอขวดคือจบ)
นอกจากนี้อาจารย์ยังพูดถึงการทำ Error Correction ด้วยเทคนิคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Checksum หรือการทำ Parallel
ก่อนจบอาจารย์ Liu แกก็สรุปว่าการทำ Baseband pool กำลังจะเป็นที่นิยมมาก ๆ ในการทำงานอวกาศ พร้อมกับการใช้ชิป NPU (neural processing unit) ซึ่งช่วยให้การทำงาน neural network มีประสิทธิภาพขึ้น (เหมาะกับงาน Machine Learning) ซึ่งทั้งหมดนี้เมื่อใช้งานร่วมกับการออกแบบ Pipeline ที่ดี การใช้ Cloud ที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ในอนาคตเราสามารถสื่อสารกับดาวเทียมจำนวนมหาศาล หรือยานอวกาศในภารกิจ Deep Space ที่สัญญาณอ่อนมาก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อดีตสหภาพโซเวียต: จะไปสร้างสถานีสำรวจบนดวงจันทร์แล้วนะ
วิทยากรคนสุดท้ายในการ IAAI นั้นมาจากบริษัทอวกาศสัญชาติยูเครน Yuzhnoye นำโดยผู้อำนวยการ Dr.Oleh Ventskovsky ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของอดีตสหภาพโซเวียตๆ กับ Boeing ของสหรัฐเลยก็ว่าได้ นับตั้งแต่การพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปขึ้นครั้งแรกก็เป็นของ Yuzhnoye เช่นกัน ซึ่งผลงานที๋โดดเด่นที่สุดของบริษัทนี้ก็คงหนีไม่พ้นยานลงจอดดวงจันทร์ของอดีตสหภาพโซเวียตที่ไม่เคยได้ใช้งานจริงและกระสวยอวกาศ Buran ที่มีการทดสอบเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น
ในปัจจุบันบริษัท Yuzhnoye ได้รับบริการขนส่งดาวเทียมและสัมภาระอื่น ๆ ขึ้นในยังอวกาศทั้งในรูปแบบของการปล่อยจรวดบนแผ่นดินและทะเล แถมยังผลิตเครื่องยนต์จรวดท่อนที่ 2 ในจรวด Vega ของ ESA องค์การอวกาศสหภาพยุโรปอีกด้วย หลังจากนั้น Dr.Oleh Ventskovsky ก็ได้สาธยายถึงบริษัท Yuzhnoye ว่าในปัจจุบันจะมีการศึกษาวิจัยการผลิตจรวดรุ่นใหม่ ๆ เพื่อที่จะส่งสัมภาระไปในอวกาศให้มากขึ้นและมีราคาถูกลงเพื่อการสำรวจห้วงอวกาศลึกอย่าง ดวงจันทร์และดาวอังคาร ในอนาคต ซึ่งไฮไลต์สำคัญของทางฝั่งยูเครนในครั้งนี้แผนการสร้างสถานีวิจัยและอุตสหกรรมบนดวงจันทร์ โดยทางได้แบ่งออกเป็น 5 เฟสด้วยกัน ดังนี้
- สำรวจพื้นผิวดวงจันทร์โดยใช้ยานอวกาศไร้คนขับพร้อมกับสร้างระบบขนส่งไปกลับดวงจันทร์ที่มีประสิทธิภาพและวางโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน
- สร้างฐานบนดวงจันทร์ที่สามารถก่อสร้างได้ง่ายและได้รับการปกป้องจากรังสีของดวงอาทิตย์ควบคู่กับการสร้างฐานปล่อยและลงจอด
- ขยายฐานบนดวงจันทร์และสร้างศูนย์การศึกษาวิจัยที่สำคัญอย่างหอดูดาว
- เมื่อถึงเฟสที่ 4 ฐานบนดวงจันทร์จะสามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องรบกวนการขนส่งทรัพยากรจากโลกมากนัก จึงสามารถเริ่มการผลิตส่งออกสินแร่กลับมายังโลกได้
- ส่วนสุดท้ายเมื่อธุรอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างผลกำไรกลับคืนมาได้แล้ว ฐานก็จะขยายตัวอย่างรวดเร็วพร้อมรองรับการมาถึงของนักท่องเที่ยวในอนาคตอีกด้วย
ในหมดหมดที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าการสร้างสถานีบนดวงจันทร์ต้องอาศัยระบบขนส่งที่ประสิทธิภาพไปกลับโลกกับดวงจันทร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Yuzhnoye กำลังให้ความสนใจอยู่ในปัจจุบันอย่างตัวจรวด Mayak SH-4 IL4 ที่จะเป็นตัวตั้งตัวตีในอนาคตสำหรับโครงการอวกาศยูเครน
ในอนาคตโครงการสำรวจดวงจันทร์คงหนีไม่พ้นสองโครงการใหญ่ ๆ ได้แก่โครงการ Artemis และ Lunar Gateway ที่นำโดยฝั่งสหรัฐฯ และโครงการ ILRS ที่เพิ่งประกาศจากฝั่งรัสเซียและจีน ซึ่งก็เป็นเส้นทางที่น่าจับตามอง
อ่าน – CNSA และ Roscosmos ร่วมมือ ประกาศสร้าง International Lunar Research Station บนดวงจันทร์
นอกจากนี้ยังมีการพรีเซนท์ Paper ของนักวิจัยไทย
นอกจากวิทยาการหลัก 5 ท่านที่ได้สรุปเนื้อหาไปแล้วยังมีผลการวิจัยของคนไทยอีกจำนวนมากที่ได้นำมาเสนอในการประชุม IAAI ครั้งนี้ อย่างหัวข้อที่น่าสนใอย่างการศึกษาประเพณีบั้งไฟของไทยกับความเป็นไปได้ในการนำมาพัฒนาเป็นจรวดเชื้อเพลิงแข็งและการผลิตหินดวงจันทร์เทียมจากบริษัท SpaceZab ซึ่งเนื้อหาและ Paper ต่าง ๆ ที่ได้ถูกนำมานำเสนอในงาน IAAI นี้ สามารถอ่านได้จาก IAAI 2021 Papers
นอจากนี้แล้ว ยังมี Paper ที่พูดถึงตัวยาน TSC ตรง ๆ เลยก็คือ Structural Analysis of Thai Space Consortium-1 Satellite based on Falcon 9 Launch Vehicle Vibration Profile ซึ่งมาจากทีม Engineer ของ NARIT เอง พูดถึงเรื่องการศึกษา Vibration Profile การปล่อยของ Falcon 9 กับผลที่จะมีต่อยาน TSC-1 (นั่นหมายความว่า เราอาจจะได้เห็น TSC-1 ปล่อยด้วย Falcon 9 หรือก็มีนัยสำคัญบางอย่างว่าทำไม NARIT ถึงเลือกที่จะศึกษาโดยใช้ Falcon 9 เป็น Baseline)
เราคิดอย่างไรกับงาน IAAI ครั้งนี้
เรารู้สึกว่าในงานนี้ NARIT เองยังกั๊กรูปแบบให้เป็นงานทางวิชาการ จะสังเกตได้ว่า NARIT นั้นมีวัฒนธรรมการทำงานอย่างนึงที่เราสังเกตเห็นก็คือจะแยกงงานสื่อสาร (Science Communication, Public Relation) กับงานฝั่งวิชาการ (Academic) อย่างชัดเจน น้อยครั้งที่เราจะได้เห็นการ Overlap กันระหว่างงานสองอย่างนี้ ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือเป็นการป้องกันการเต้าข่าวเกินเหตุ เหมือนกรณี ดร.อเนก โม้เรื่องโครงการไปดวงจันทร์ จนกลายเป็นประเด็นใหญ่โต การแยกงานสื่อสารและงานวิจัยออกจากกันช่วยป้องกันการสื่อสารที่ผิดพลาดได้ แต่ข้อเสียก็คือเวลาจัดงานอะไรที่ต้องการ Awarness จากสังคม หรือสื่อ สื่อจะไม่ค่อยสนใจ จะเห็นว่า NARIT นั้นมีทีมทำสื่อที่ทำคอนเทนต์ได้ดีและอลังมาก ๆ แต่ในงานประชุุมวิชาการที่จั่วหัวว่าเป็น International แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากสื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศมากนัก ทำให้เราน่าตั้งคำถามว่าโมเดลวิธีคิดแบบนี้ของ NARIT ยัง Relate กับโลกปัจจุบันอยู่หรือเปล่า เพราะถ้าเราไม่สื่อสารเอง คนอื่นก็จะเอาไปสื่อสารอยู่ดี (แถมสื่อสารผิดด้วย)
อีกอย่างก็คือ TSC นั้นประกอบไปด้วยหน่วยงานอย่างต่ำ 3 หน่วยงาน แต่ในการนำเสนอครั้งนี้ เรากลับไม่ได้เห็นการโชว์ผลงานจากฝั่ง GISTDA และซินโครตรอน ทำให้อาจจะงง ๆ ว่า ธีมปีนี้มัน TSC จริง ๆ หรือเปล่า (ฮา)
ถ้าในปีหน้า ซึ่ง TSC-Pathfinder น่าจะเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เราก็น่าจะต้องตัดสินใจว่าเราจะยังใช้วิธี PR แบบนี้อยู่หรือเปล่า เพราะตอนนั้นกระแสสังคมต่อโครงการ TSC ก็น่าจะมากขึ้นกว่าปัจจุบันมาก
ท่าทีของ NARIT และหน่วยงานภายใต้ TSC Founding Member ได้แก่ GISTDA, และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ยิ่งน่าจับตามองเช่นกัน
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co