18 มกราคม 2024 เฮลิคอปเตอร์ Ingenuity ที่ถูกส่งขึ้นไปพร้อมกับโรเวอร์ Perseverance ได้ทำการขึ้นบินอีกครั้งซึ่งนับว่าเป็นครั้งที่ 72 แล้วนับตั้งแต่ความสำเร็จในการบินครั้งแรกในวันที่ 19 เมษายน 2021 โดยในการบินครั้งนี้เป็นการบินเพื่อทดสอบระบบต่าง ๆ ของตัวเฮลิคอปเตอร์หลังจากพบปัญหาการลงจอดก่อนกำหนดในการบินระหว่างเที่ยวบินครั้งที่ผ่านมา โดยเป็นการบินขึ้นแล้วลอยตัว (Hover) อยู่นิ่ง ๆ เพียงเท่านั้น เป็นเวลาประมาณ 32 วินาที
ในการบินครั้งนี้ ตัว Ingenuity สามารถขึ้นบินไปที่ระดับความสูง 12 เมตรได้สำเร็จ โดยไม่ได้เคลื่อนที่ในแนวแกนอื่น ๆ เลย แต่ระหว่างช่วงการลงจอด การสื่อสารระหว่างตัวเฮลิคอปเตอร์และ Perseverance กลับตัดการทำงานก่อนที่ตัวเฮลิคอปเตอร์ลำนี้จะลงจอดถึงพื้นที่ระยะประมาณ 1 เมตร ต่อมาทีมภาคพื้นที่ดูแลภารกิจของ Ingenuity กำลังวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นและพยายามติดต่อกับตัวเฮลิคอปเตอร์อีกครั้ง
Jet Propulsion Laboratory หรือ JPL ผู้ดูแลภารกิจ ได้สั่งให้ Perseverance ซึ่งในตอนนั้นอยู่ห่างจาก Ingenuity ไปประมาณ 1 กิโลเมตร มุ่งหน้าไปยังจุดเกิดเหตุเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ โดยในวันที่ 21 มกราคม 2024 JPL ได้ประกาศข่าวดีว่าพวกเขาสามารถกลับมาเชื่อมต่อสัญญาณกับ Ingenuity ได้อีกครั้ง
จากการตรวจสอบภาพถ่ายของ Ingenuity ที่ถ่ายหลังจากที่ Ingenuity ลงจอดหลังจากเที่ยวบินที่ 72 ทีมได้ตรวจพบรอยบิ่นขนาดใหญ่ บริเวณปลายใบพัดของ Ingenuity โดนทีมได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การลงจอดของ Ingenuity ในเที่ยวบินดังกล่าวนั้นอาจเป็นการลงจอดอย่างรุนแรง จนใบพัดของ Ingenuity กระแทกเข้ากับพื้นเนินทรายของดาวอังคาร ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่า จุดที่ Ingenuity อยู่นั้นมีลักษณะเป็นริ้วของเนินทราย มีความสูงไม่สม่ำเสมอ
ภาพถ่ายจากเที่ยวบินที่ 70 วันที่ 22 ธันวาคม 2023 ของ Ingenuity เผยให้เห็นบริเวณเนินทรายที่อาจเป็นอันตราย ที่มา – NASA/JPL-Caltech
ซึ่งบริเวณดังกล่าวนั้น Ingenuity ได้เริ่มบินสำรวจตั้งแต่เที่ยวบินที่ 67 วันที่ 2 ธันวาคม 2023 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ในการสำรวจเพื่อศึกษาเนินทราย ที่ JPL เชื่อว่าอาจเป็นอันตรายต่อตัว Ingenuity ได้ และทาง JPL ก็ได้ลองออกแบบเส้นทางการบิน ลักษณะการลงจอดของ Ingenuity ในบริเวณที่มีความเสี่ยงดังกล่าวเรื่อยมา
จนกระทั่งถึงเที่ยวบินที่ 71 ในวันที่ 6 มกราคม 2023 Ingenuity เริ่มประสบปัญหาในการนำทางเนื่องจากลักษณะของเนินทรายที่ซับซ้อน จน JPL ต้องยุติการทดสอบก่อนกำหนดเพื่อความปลอดภัย
และในเที่ยวบินที่ 72 นี้เองที่บริเวณเนินทรายบนดาวอังคารแห่งนี้ก็ได้ทำให้ Ingenuity ได้รับบาดเจ็บหนักครั้งแรก จากการลงจอดที่รุนแรงดังกล่าว จนนำมาซึ่งการตัดสินใจที่สำคัญของ NASA และ JPL ต่อภารกิจ Ingenuity
และด้วยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ Ingenuity นั้นทำให้ JPL ตัดสินใจจบสิ้นภารกิจ (End of Mission) ของ Ingenuity ในที่สุด ทำให้เที่ยวบินที่ 72 กลายเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของ Ingenuity
ในทางสถิติ Ingenuity ขึ้นบินมาแล้วทั้งสิ้นเป็นเวลารวมกว่า 2 ชั่วโมง นับตั้งแต่การบินครั้งแรกในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ Ingenuity ได้เดินทางมายังดาวอังคารด้วยการแอบซ่อนบริเวณใต้ท้องของยาน Perseverance และถูกปล่อยออกมาในวันที่ 21 มีนาคม และได้ทำการบินครั้งแรกในวันที่ 19 เมษายน 2021 เป็นการลอยตัวเหนือพื้นดาวอังคารสั้น ๆ เป็นเวลา 39.1 วินาที
หลังจากนั้น Ingenuity ก็ได้เริ่มเก่งขึ้น บินสูงขึ้นเรื่อย ๆ บินไกลขึ้นเรื่อย ๆ บินเร็วขึ้นเรื่อย ๆ อย่างอิสระบนท้องฟ้าของโลกใบอื่น จนกระทั่งมันสามารถถ่ายภาพจุดตกของชิ้นส่วนในการลงจอด Perseverance ได้ และกลายเป็นเพื่อนหนึ่งเดียวของ Perseverance บนดาวอังคาร ตลอดระยะเวลา 3 ปี Ingenuity ได้ช่วย Perseverance ทำแผนที่การสำรวจจากอากาศ และนำทางอยู่หลายต่อหลายครั้ง
Ingenuity เคยบินเร็วที่สุดทำความเร็ว 10 เมตรต่อวินาที ในเที่ยวบินที่ 62 (12 ตุลาคม 2023) เคยบินสูงที่สุดที่ความสูง 24 เมตรเหนือพื้นดิน ในเที่ยวบินที่ 61 (5 ตุลาคม 2023) และใช้ระยะเวลาทำการบินนานที่สุด 169 วินาที ในเที่ยวบินที่ 12 วันที่ 6 สิงหาคม 2021 และเคยบินได้ไกลที่สุดในการทำการบินรอบเดียวถึง 708 เมตร
แม้ว่าวัตถุประสงค์ของ Ingenuity ในตอนแรกที่วางไว้ จะเป็นเพียงแค่การทดสอบว่า Ingenuity จะบินขึ้นได้จริง ๆ บนดาวอังคารหรือไม่ และการขึ้นบินเพียงแค่ครั้งเดียวนั้นก็นับว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่ทีมภารกิจ Ingenuity กลับออกแบบบททดสอบต่าง ๆ ให้ Ingenuity ได้ข้ามผ่านอยู่เป็นประจำตลอดระยะเวลา 3 ปีบนดาวอังคาร
และแม้ในครั้งนี้ Ingenuity อาจไม่ผ่านบททดสอบที่ 72 แต่ Ingenuity นั้นก็นับว่ามาไกลเกินกว่าที่วางแผนไว้มาก ซึ่งการสิ้นสุดภารกิจของ Ingenuity นั้นจะกลายเป็นการวางรากฐานสู่การสำรวจดาวเคราะห์ด้วยอากาศยานที่หนักกว่าอากาศอื่น ๆ อีกมากมาย และที่สำคัญคือ Ingenuity ได้นำเอาชิ้นส่วนของเครื่องบินลำแรกที่ประสบความสำเร็จในการบินขึ้น ของพี่น้องตระกูล Wright เดินทางไปโบยบินบนดาวอังคารได้สำเร็จ เป็นสัญญะแห่งความทะเยอทะยานของมนุษยชาติ
ละติจูด 77 องศา 32 ลิปดาเหนือ ลองติจูดที่ 18 องศา 49 ลิปดาตะวันออก บนดาวอังคาร Ingenuity จะอยู่บนนั้นไปตลอดกาล ขอบคุณ Ingenuity
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co