ในช่วงเวลาหนึ่งปีของมนุษย์เราได้ทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้จักรวาลของเราใกล้ตัวเข้ามามากขึ้น ดาวบนฟ้าก็อยู่ ณ ที่เดิมของมัน มีแต่เราเท่านั้นที่เดินทางขึ้นไปหามัน และในปี 2018 ก็นับเป็นอีกปีหนึ่งที่เราสามารถทำให้ดาวบนฟ้าเข้าใกล้กับตัวเราได้มากกว่าเคยผ่านโครงการสำรวจและการค้นพบต่าง ๆ ที่เราได้รวบรวมมาไว้ในบทความพิเศษส่งท้ายปี กับ ปีแห่งการเดินทาง
31 มกราคม
Super Blue Blood Moon
เริ่มต้นปีกับปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เห็นกันได้ทั่วประเทศไทย Super Blue Blood Moon ในค่ำคืนพระจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน และจันทรุปราคาในคืนเดียวกัน เป็นการเปิดฉากปี 2018 ด้วยปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยากและนาน ๆ จะเกิดขึ้นซักหนึ่งครั้ง
อ่านบทความ >
6 กุมภาพันธ์
Falcon Heavy
หลังจากที่เลือนมาเป็นเวลานานหลายปี ในที่สุด SpaceX ก็ได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบจรวด Falcon Heavy จรวดที่ทรงพลังที่สุดในโลกกับภารกิจสุดพิเศษที่ส่งรถยนต์ Tesla Roadster ของ Elon Musk เข้าสู่อวกาศห้วงลึกและเดินทางไปยังวงโคจรของดาวอังคารรอบดวงอาทิตย์
อ่านบทความ >
18 มีนาคม
Stephen Hawking
โลกได้สูญเสียนักวิทยาศาสตร์ นักคิด และสัญลักษ์ของการต่อสู่กับทุกขีดจำกัดของมนุษย์ตั้งแต่ความโง่เขลา ไปจนถึงความพิการของร่างกาย นักฟิสิกส์ที่เราเห็นภาพกันจนชินตาว่านั่งอยู่บนรถเข็น ณ บัดนี้ เขาได้ดับสลายและคืนพลังงานให้แก่ดวงดาวและจักรวาล ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เขาทุ่มเทศึกษามันตลอดจนวันสุดท้ายของชีวิต
มีอะไรในหลุมดำของ Hawking >
18 เมษายน
TESS Launch
ยานอวกาศที่จะไล่ล่าหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะถูกปล่อยขึ้นจากจรวด Falcon 9 ของ SpaceX และเริ่มต้นภารกิจสำคัญในการค้นหาดาวเคราะห์ที่วันหนึ่งอาจจะเป็นดาวที่มนุษย์จะต้องเดินทางไปอาศัยอยู่ก็เป็นได้ วงโคจรแบบพิเศษของมัน ช่วยให้มันสามารถทำงานค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้อย่างขยันขันแข็งกว่ายานลำใด ๆ
อ่านบทความ >
5 พฤษภาคม
InSight Launch
การเดินทางกลับสู่ดาวอังคารอีกครั้งในรอบเกือบ 5 ปีของ NASA และ JPL ในครั้งนี้พวกเขาส่งยานอวกาศแบบ Lander ไปทำการลงจอด นิยามชื่อของมันก็คือ นักธรณีวิทยาแห่งดาวอังคาร ยาน InSight จะทำการสำรวจพื้นดินและใต้พื้นผิวของดาวอังคาร จากการปล่อยที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย inSight ใช้เวลา 6 เดือนในการเดินทางจากโลกสู่ดาวเคราะห์แดง ว่าที่บ้านหลังใหม่ของมนุษยชาติ
ชมถ่ายทอดสดย้อนหลัง >
อ่านบทความ >
27 มิถุนายน
Hayabusa 2
หลังจากการเดินทางนาน 4 ปี ยานอวกาศแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัย Hayabusa 2 ก็เดินทางถึงเป้าหมายของมัน คือดาวเคราะห์น้อยนาม Ryugu เพื่อสานต่อภารกิจที่สำคัญของรุ่นพี่มัน Hayabusa ในการนำตัวอย่างของดาวเคราะห์น้อยกลับมาเป็นของขวัญแก่ชาวโลก ให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษา เพราะการศึกษาดาวเคราะห์น้อยนั้นก็เปรียบเสมือนการค้นหาจุดกำเนิดของระบบสุริยะ และการมองย้อนกลับไปในอดีต เพื่อทำความเข้าใจที่มาของโลกเราได้ดียิ่งขึ้น
อ่านบทความ >
28 มิถุนายน
Oumuamua
ปริศนาที่ค้างคามาตั้งแต่ปีที่แล้ว จากการค้นพบใหม่ว่าวัตถุจากต่างระบบสุริยะวัตถุนี้มันกลับสามารถเร่งความเร็วได้เองทำให้วิถีการโคจรเปลี่ยนไป บ้างก็ว่ามันไม่ใช่แค่ก้อนหินธรรมดา ๆ แต่เป็นยานอวกาศที่เดินทางมาสำรวจระบบสุริยะของเรา อย่างไรก็ตาม คำถามที่ก็จะคงเป็นปริศนาต่อไป เนื่องจากมันได้เดินทางผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดไปแล้ว วัตถุปริศนาชิ้นนี้จะเดินทางออกนอกระบบสุริยะ และไม่กลับมาอีกตลอดกาล
อ่านบทความ >
6 กรกฎาคม
Elon Musk at Thai Cave Rescue
จากความพยายาในการช่วยเหลือทีมหมู่ป่า กลายเป็นดราม่าก้องโลกเมื่อ Elon Musk ได้เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องราวครั้งประวัติศาสตร์นี้ จากการสร้างเรือดำน้ำจิ๋ว ที่สุดท้ายก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ และถูกดราม่าว่า Elon Musk เพียงแค่โหนกระแสเท่านั้น หลังจากที่เขาได้เดินทางมาสำรวจถ้ำหลวงด้วยตัวเอง เขาก็ยังได้ทะเลาะกับใครอีกหลายต่อหลายแบบไม่ยอมเสียหน้า ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ก็น่าจะเป็นบทเรียนให้กับ Elon Musk ได้มากเลยทีเดียว
อ่านบทความ >
12 กรกฎาคม
high-energy neutrino and the Blazar
จากพฤติกรรมของ Blazar อันไกลโพ้น ที่เป็นแหล่งกำเนิดอนุภาคพลังงานสูงขนาดจิ๋วอย่างนิวตริโน่ นี่เป็นครั้งแรกที่เราตรวจจับนิวตริโน่และทราบที่มาของมันอย่างชัดเจน ซึ่งการค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะมันคือการตอกย้ำความสามารถด้าน Multi-messenger Astronomy หรือ ดาราศาสตร์พหุพาหะ ที่นอกจากเราจะสังเกตแสงแล้ว เรายังสามารถเงี่ยหูฟัง และสัมผัสกับความเปลี่ยนแปลงของจักรวาลได้
อ่านข่าว >
รู้จักดาราศาสตร์พหุพาหะ >
18 กันยายน
Project Dear Moon
เมื่อมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น Yusaku Maezawa ผู้หลงรักศิลปะและดาราศาสตร์ ประกาศซื้อเที่ยวบินบนจรวด Starship ยานอวกาศรุ่นใหม่ของ SpaceX เพื่อเดินทางไปยังดวงจันทร์พร้อมกับศิลปินที่เขาจะเลือกสรรด้วยตัวเองจากทั่วโลก ประมาณปี 2023 และนี่อาจจะเป็นโอกาสของเขาที่จะได้เป็นนักบินอวกาศที่เดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์เป็นคนแรกหลังจากการบอกลาดวงจันทร์ในภารกิจ Apollo 17
อ่านบทความ >
ชมถ่ายทอดสดย้อนหลัง >
16 ตุลาคม
OSIRIS-REx Arrival
ยาน Osiris-REx หลังจากใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการเดินทาง มันก็ได้เดินทางถึงดาวเคราะห์น้อย Bennu ซึ่งเป็นเป้าหมาของมันที่จะเจาะเข้าไปในพื้นผิวดาวและนำตัวอย่างของมันส่งกลับมายังโลก แต่เพียงแค่ไม่กี่เดือนหลังจากการเดินทางถึง มันก็ได้สร้างการค้นพบหลายอย่างที่น่าตื่นเต้นให้กับเราแล้ว
อ่านบทความ >
20 ตุลาคม
Bepi-Columbo Launch
การเดินทางสู่ดาวพุธขององค์การอวกาศยุโรปหรือ ESA ในครั้งนี้พวกเขาได้ร่วมมือกับหน่วยงนอวกาศญี่ปุ่นหรือ JAXA ในภารกิจร่วมที่จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับดาวพุธ เตาไฟแช่แข็งของระบบสุริยะจักรวาล ด้วยานอวกาศ 3 ลำที่แยกออกจากกันได้ และแต่ละลำจะทำการสำรวจดาวพุธในแง่มุมที่ไม่เคยมีมาก่อน
อ่านบทความ >
30 ตุลาคม
Goodbye Kepler
ผลงานการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากกว่า 3,000 ดวงของ Kepler Space Telescope ได้พิสูจน์แล้วว่ามันคือโครงการอวกาศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดภารกิจหนึ่ง หลังจากที่เชื้อเพลิงของมันค่อย ๆ หมดลง ในเดือนตุลาคม NASA ก็ได้ประกาศสิ้นสุดภารกิจ Kepler K2 อย่างเป็นทางการ ยาน Kepler จะหลับไหลท่ามกลางแสงจากดวงดาวและดินแดนใหม่ ๆ ที่มันค้นพบ สร้างองค์ความรู้และฐานข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่จะอยู่คู่กับมนุษยชาติไปตลอดกาล
ผลงานของกล้อง Kepler >
มหานวดาราและความตายของดวงดาว >
26 พฤศจิกานน
InSight Landing
หลังจากการเดินทางนาน 6 เดือน ยานอวกาศอีกลำก็ได้สัมผัสผิวของดาวอังคารเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การลงจอดของยาน Curiousity ในปี 2012 ในครั้งนี้ JPL ก็ทำสำเร็จเช่นเคย ยาน InSight ลงจอดบริเวณดินแดนที่มีชื่อว่า Elysium Planitia บนดาวอังคาร และได้ถ่ายภาพมาฝากชาวโลกนับตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของภารกิจ ซึ่งหลังจากนี้มันจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจของธรณีดาวอังคารได้มากกว่ายานลำใดในประวัติศาสตร์
ความยากในการลงจอดบนดาวอังคาร >
ชมการถ่ายทอดสดย้อนหลัง >
10 ธันวาคม
Touch The Sun, leave the sun.
ปิดท้ายการสำรวจอวกาศของปีนี้ด้วยการเดินทางออกนอกระบบสุริยะอย่างเป็นทางการของยาน Voyager 2 ตามหลังรุ่นพี่ของมัน Voyager ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราตื่นเต้นก็คือ มันเดินทางออกนอกระบบสุริยะ ในวันเดียวกับที่ยาน Parker Solar Probe เดินทางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นการบอกว่ามนุษย์นั้นกำลังจะได้เข้าใจจักรวาลมากกว่าครั้งไหน ๆ
ยานโวยาเจอร์ สองฟาแฝดนักท่องจักรวาล >
อ่านข่าว >
ยังมีเรื่องราวอีกมายมายที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ทั้งความสำเร็จ ความผิดพลาด และโอกาสต่าง ๆ ในการสำรวจอวกาศนั้นเรากำลังอยู่ในยุคที่มนุษย์มุ่งมั่นที่สุด และพัฒนาศักยภาพเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดอันไม่มีที่สิ้นสุดของการสำรวจอวกาศ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่บทพิสูจน์หนึ่งเท่านั้น ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ช่วยให้ปี 2018 กลายเป็นอีกหนึ่งปีที่บอกว่าเราเก่งขึ้นแค่ไหน
และสุดท้ายมนุษย์เราจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้แน่ ๆ การสำรวจอวกาศนั้นไม่ได้ทำเพื่อประกาศศักดา หรือแสดงความเย่อหยิ่งผยองของมนุษย์ แต่มันถูกทำเพื่อให้เราได้รู้จักกับตัวเอง รู้จักกับธรรมชาติ สานต่อองค์ความรู้ที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ทุกชีวิตบนโลกสามารถดูแลกันได้ดียิ่งขึ้น
และเราก็เชื่อว่า 2019 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่เราจะช่วยกันสานต่อให้มนุษย์ได้รู้จักตัวเองและธรรมชาติมากขึ้น และเราก็จะไม่พลาดที่จะนำเรื่องราวเหล่านี้มาบอกเล่าให้ทุกคนฟัง เหมือนกับในปี 2018 ปีแรกที่เราอยู่เป็นสักขีพยานของการสำรวจอวกาศด้วยกัน สำหรับจักรวาล โลกอาจจะแค่หมุนรอบดวงอาทิตย์ครบอีก 1 รอบ แต่สำหรับเราแล้ว ในหนึ่งปีนี้ช่างมีความหมายมากมายเหลือเกิน
สุขสันต์ปีใหม่ 2019 ขอให้อย่าหยุดสงสัย
ด้วยรัก
ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน กรทอง วิรยะเศวตกุล
กองบรรณาธิการ นักเขียน และทีมงานสเปซทีเอชดอทซีโอ ทุกคน