ในช่วงที่คนบนโลกกำลังเฉลิมลองการก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2023 ยานอวกาศ Hakuto-R ของบริษัท ispace บริษัทอวกาศเอกชนจากญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุน 46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณหนึ่งพันหกร้อยล้านบาท) กำลังอยู่ระหว่างการไต่ระดับวงโคจร เพื่อไปลงจอดบนดวงจันทร์ตามกำหนดการในเดือนเมษายน 2023 เป็นการนำขบวนยานอวกาศอีกหลายลำที่กำลังตั้งขบวน เตรียมพร้อมเดินทางไปดวงจันทร์อันเนื่องมาจากโครงการนานาชาติ Artemis ที่เป็นแรงขับดัน ให้มนุษย์เดินทางกลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง
ในปี 2022 นับว่าน่าตื่นเต้น ที่เราได้เห็นภาพแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb Space Telescope ออกมาตอกย้ำถึงที่ยืนอันเล็กจิ๋วในเอกภพของเรา และได้เห็น NASA พันธมิตร ประสบความสำเร็จในการส่งภารกิจทดสอบ Artemis I เดินทางโคจรรอบดวงจันทร์เป็นการเปิดทางสู่ภารกิจ Artemis II ที่จะมีมนุษย์เดินทางไปด้วย แต่นั่นก็นับว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ใหญ่กว่าเพียงเท่านั้น เพราะในปี 2023 เมื่อโลกและวงการอวกาศได้กลับมาตื่นตัวอีกครั้ง อะไรที่เคยถูกเลื่อนมา ก็ต้องถูกเร่งรัดขึ้น ในวงการอวกาศจึงอาจนิยามได้ว่า 2023 คือปีกระต่ายดุ กระต่ายที่ไม่ใช่แค่หมายจันทร์ แต่กำลังกระหายจันทร์ พร้อมที่จะขูดรีดทุกศัยภาพเพื่อเริ่มต้นการเดินทางครั้งนี้ให้ได้
ในบทความนี้เราจะมาดูว่าในปี 2023 การเดินทางกลับสู่ดวงจันทร์จะดุเดือดอีกแค่ไหน และนอกจากนี้แล้ว มีภารกิจสำรวจอวกาศอะไรที่น่าจับตามองอีกบ้าง ทั้งในวงโคจรของโลก ดวงจันทร์ และวัตถุที่อยู่ห่างไกลออกไป
กระต่ายกระหายจันทร์
กระต่ายที่ตาลุกเป็นไฟเจ้าแรก เป็นกระต่ายขาวสัญญาติญี่ปุ่น Hakuto มีความหมายว่ากระต่ายขาว มันถูกปล่อยออกจากโลกในวันที่ 11 ธันวาคม 2022 โดยยานจะลงจอดบนดวงจันทร์ในเดือนเมษายนปี 2023 สาเหตุที่การเดินทางของ Hakuto กินระยะเวลายาวนานกว่า 5 เดือน แตกต่างจากภารกิจอื่น ๆ ที่ใช้เวลาเพียงแค่หลักสัปดาห์ ก็เนื่องจากทีม ispace ออกแบบวงโคจรของ Hakuto ให้แตกต่างออกไปจากการเดินทางสู่ดวงจันทร์ปกติ โดยจรวด Falcon 9 ได้เหวี่ยง Hakuto ออกไปไกลเกินกว่าวงโคจรของดวงจันทร์อย่างมาก ไปในอวกาศห้วงลึกที่ห่างออกจากโลกกว่า 1.5 ล้านกิโลเมตร (ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็คือ ไกลพอ ๆ กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb เลย) และยิ่งห่างออกไปคาบการโคจรก็จะยิ่งนานขึ้น ทำให้ Hakuto จะอยู่ในอวกาศห้วงลึกถึง 4 เดือน
ซึ่งในระยะเวลานี้ Hakuto จะค่อย ๆ ใช้ Truster บนยาน ปรับวงโคจรอย่างปราณีต เพื่อเล็งให้ตัวยานมีทิศทางการโคจรไปยังดวงจันทร์ของโลก ที่อยู่ห่างออกไปราวสี่แสนกิโลเมตรจากโลกเท่านั้น (และถ้าคุณเคยเล่น Kerbal Space Program คุณจะรู้ว่ายิ่งอยู่วงโคจรไกลแค่ไหน การยิง Truster ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น) ก่อนที่เวลาประมาณ 5 เดือนหลังจากการปล่อย Hakuto จะค่อย ๆ เข้าสู่เขตแดนอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงดวงจันทร์อย่างช้า ๆ และมีความเร็วสัมพันธ์ไม่มากเกินไป ช่วยให้สามารถลงจอดได้ด้วยเชื้อเพลิงปริมาณน้อย ซึ่งนอกจากตัวมันเองแล้ว Hakuto ยังบรรทุกยาน Rover ชื่อว่า Rashid ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และหุ่นยนต์ SORA-Q ที่ บริษัทผลิตของเล่น Tomy พัฒนาร่วมกัน JAXA ไปลงจอดบนดวงจันทร์อีกด้วย
ซึ่งทีมที่พัฒนายานอวกาศลำนี้ ก็คือ ispace อดีตผู้ท้าชิงในโครงการ Lunar X Prize ที่ท้าทายให้เอกชน ส่งยานอวกาศแบบ Rover ไปวิ่งบนดวงจันทร์ ตั้งแต่ปี 2007 เพื่อชนะเงินราววัล 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งโครงการนี้กินเวลากว่า 10 ปี สุดท้ายในปี 2018 มีการปิดโครงการพร้อมประกาศว่า ไม่มีทีมใดเลยที่ชนะเงินรางวัลนี้
สาเหตุที่เราพูดถึง Lunar X Prize ก็เพราะว่า โครงการนี้ แม้จะไม่มีผู้ชนะ แต่ก็นับว่าประสบความสำเร็จในการปั้นบริษัทอวกาศเอกชนหน้าใหม่ ขึ้นมาทำภารกิจอันแสนท้าทาย ซึ่งถ้าให้พูดชื่อ ผู้ที่ร่วมท้าชิงในโครงการ Lunar X Prize ในวันนั้น ก็ต่างเป็นหนึ่งในผู้ส่งยานไปลงดวงจันทร์จากแรงขับของโครงการ Artemis ทั้งสิ้น หรือแม้กระทั่งทีม SpaceIL จากอิสราเอล ก็ได้ส่งยาน Baresheet ไปพยายามลงจอดดวงจันทร์ในปี 2019 (แม้จะไม่สำเร็จ แต่พวกเขาก็ได้ซีนที่ดีมาก ๆ ในปีนั้นไป) โดยที่ SpaceIL และ ispace เป็นผู้ที่อยู่ในการแข่งขันจนถึงวินาทีสุดท้าย
ทีมอื่น ๆ ที่ว่านั้น ก็เช่น Redwire, Realitivity Space, Firefly Aerospace, Astrobotic ซึ่งชื่อพวกนี้เป็นชื่อที่คุ้นหูกัน สืบเนื่องมาจากโครงการ Commercial Lunar Resupply Service หรือ CLPS ของ NASA ที่อธิบายง่าย ๆ ก็คือการให้ทุน เพื่อว่าจ้างเอกชน นำ Payload และการทดลองต่าง ๆ ไปลงจอดบนผิวดวงจันทร์ คล้ายกับโครงการ Commercial Resupply Service หรือ CRS ที่เป็นเหมือนเลือดหยดสุดท้ายที่เติมพลังให้ SpaceX จนยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน
อันที่จริงแล้วกำหนดการของภารกิจ CLPS นั้น ควรจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2022 แต่เนื่องจากมีการเลื่อนภารกิจต่าง ๆ ออกไป ทำให้ยังไม่มีบริษัทใดเลย เริ่มทำภารกิจ CLPS ซึ่งรายชื่อตอนนี้ ก็ได้แก่
- ไตรมาสแรกปี 2023 ภารกิจ CLPS-1 ยาน Peregrine ของ Astrobotic บรรทุก Payload 28 ชิ้น เป็นของ NASA 14 ชิ้น หนักรวม 256 กิโลกรัม นำส่งโดยจรวด Vulcan ลงจอดในบริเวณที่มีชื่อว่า Lacus Mortis (แปลว่าทะเลสาบแห่งความตาย) ซึ่งเป็นบริเวณแอ่งลาวาในอดีตของดวงจันทร์ ซึ่งบริเวณนี้ คือเป้าหมายของ Astrobotic สำหรับโครงการ Lunar X Prize ด้วย
- มีนาคม 2023 ภารกิจ CLPS-2 ยาน Nova-C ของ Intuitive Machines นำส่งโดยจรวด Falcon 9 บรรทุก Payload ของ NASA และลูกค้ารายอื่น ลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์
- ภารกิจ CLPS-3 เป็น Nova-C เช่นเดียวกัน รอบนี้มีความพิเศษ บรรทุก Payload สำคัญคือ Polar Resources Ice Mining Experiment-1 (PRIME-1) ความพยายามครั้งแรกในการขุดเจาะน้ำแข็งจากขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งจะเป็นกุญแจชิ้นสำคัญสำหรับการบริหารทรัพยากรบนดวงจันทร์ นำส่งโดย Falcon 9 เช่นกัน
- ภารกิจ CLPS-4 ยาน XL-1 ของบริษัท Masten Space นำส่งโดย Falcon 9 บรรทุก Payload จาก NASA และลูกค้ารายอื่น ลงจอดบน
นี่คือรายชื่อของ CLPS ที่จะเกิดขึ้นในปี 2023 อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าหลายคนรอคอยภารกิจ VIPER กับยาน Rover ส่องไฟฉายที่จะนำแสงสว่างสู่หลุมแห่งความมืดนิรันด์ (Permanently shadowed crater) (อ่าน – VIPER โรเวอร์ที่จะถูกส่งขึ้นไปบนดวงจันทร์เพื่อไปหา “น้ำ” สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต) แต่สำหรับ VIPER นั้นมีกำหนดการอยู่ที่ 2024 แต่ก็บอกได้ว่า ภารกิจ CLPS ทั้ง 4 นั้น ถ้าสำเร็จจะนับว่าเป็นการเปิดฉากการกลับสู่ผิวดวงจันทร์ที่สวยงามและน่าจดจำมาก
สำหรับความน่าสนใจในบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ เราเคยสรุปไปแล้วในบทความ สรุปทุกอย่างที่เรารู้เกี่ยวกับจุดลงจอด Artemis III โดยละเอียด
ภารกิจสำรวจดวงจันทร์โดยมนุษย์ และ HLS
สำหรับภารกิจสำรวจดวงจันทร์โดยมนุษย์ หรือตระกูลภารกิจ Artemis ลำดับต่าง ๆ นั้น ในปี 2023 เราอาจจะยังไม่ได้เห็นความคืบหน้ามากนัก เพราะภารกิจ Artemis II นั้น ต้องรอยาว ๆ ไปจนถึงปี 2024 เลย ดังนั้น ข่าวที่น่าติดตามในปีนี้ น่าจะเป็นเรื่องของผลการทดสอบจาก Artemis I และความคืบหน้าของโครงการ Human Lander System หรือ HLS ที่ NASA นั้น ว่าจ้าง SpaceX ในการส่งมนุษย์ลงจอดดวงจันทร์สำหรับ Artemis III ในปี 2025 มากกว่า
SpaceX นั้น อยู่ระหว่างการพัฒนยาน Starship ที่ออกแบบมาเพื่อรับนักบินอวกาศจากยาน Orion ของ NASA โดยความเป็นไปได้ของภารกิจนั้นมีสองแบบ แบบแรกคือมีการใช้สถานีอวกาศ Lunar Gateway (โมดูล ESPIRIT) ประกอบด้วย กับแบบที่สองคือ Orion จะ Dock เข้ากับ Starship โดยตรง ซึ่งทั้งสองแบบนั้น Gateway จะมีหรือไม่มีก็ได้ เพราะยานทั้งสองจะไปเจอกันในวงโคจร Near-Rectilinear Halo Orbit อยู่แล้ว (อ่านบทความโคตรละเอียดเกี่ยวกับ Gateway ได้ที่ – สรุป Lunar Gateway สถานีดวงจันทร์ แผนวงโคจร ทุกโมดูล ทุกระบบ โดยละเอียด) แต่ยาน Starship ยังไงก็ต้องมีแน่ ๆ ความกดดันจึงตกอยู่กับ SpaceX ในการที่จะต้องเข็น Starship ให้มีการทดสอบที่ใกล้เคียงกับภารกิจจริงมากกว่านี้ ซึ่งในตอนนี้ Starship นั้น เคยมีการทดสอบเพียงแค่พุ่งขึ้นไปและกลับมาลงจอดเท่านั้น ยังไม่เคยถูกใช้งานร่วมกับจรวด Super Heavy พูดตรง ๆ ก็คือ เรายังไม่เคยเห็น Super Heavy บินจริง ๆ เสียที
เดิมมี SpaceX เคยประกาศจะทดสอบ Super Heavy พร้อม Starship ในปี 2022 แต่ก็ถูกเลื่อนออกไปเป็นในปี 2023 แทน ซึ่งรายละเอียดเองก็ยังไม่ได้ออกมามากนัก แต่ก็เดาได้ว่า SpaceX คงต้องเร่งสดทอบอย่างสุดขีด ไม่เช่นนั้น มีแววว่าเราอาจจะได้เห็นภารกิจ Artemis III เลื่อนออกไปอีกก็เป็นได้
Low Earth Orbit ยังคงเดือด
แม้ว่า Artemis จะมาแรงแค่ไหน แต่สถานการบน Low Earth Orbit ก็เรียกได้ว่า มีอะไรใหม่ ๆ ให้เราได้ตื่นเต้นอยู่ไม่เว้นวัน รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย กับชาติตะวันตก ที่ทำให้ในปี 2022 โครงการสำรวจอวกาศหลาย ๆ โครงการ ต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด (โดยเฉพาะโครงการ ExoMars) อย่างไรก็ตามรัสเซียยังคงร่วมมือกับโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ และการแลกเปลี่ยนการส่งนักบินอวกาศกับ NASA ก็ยังคงมีอยู่ โดยในปี 2023 เราจะเริ่มต้นด้วยการมาไล่ดูรายชื่อ Expendition ที่จะถูกส่งขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติกันก่อน
ปัจจุบัน ในเดือนมกราคม 2023 ลูกเรือบนสถานีอวกาศนานาชาตินั้นคือ Expendition 68 จำนวน 7 คน โดยเป็นลูกเรือที่ Transfer มาจาก Expedition 67 จำนวน 3 คน คือ Sergey Prokopyev, Dmitriy Petelin, และ Francisco Rubio โดยที่ Rubio เป็นนักบินอวกาศ NASA ที่เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนนักบินอวกาศกับรัสเซีย ซึ่งทั้งสามจะกลับสู่โลกในวันที่ 28 มีนาคม 2023 ด้วยยาน Soyuz MS-22 (ลำเดียวกับที่ขึ้นไปนั่นแหละ)
ในขณะที่ลูกเรือ Expendition 68 ที่เหลือ คือ Nicole Aunapu Mann, Josh A. Cassada, Koichi Wakata และ Anna Kikina (โครงการแลกเปลี่ยน) ที่ถูกส่งขึ้นไปในวันที่ 6 ตุลาคม 2022 ในภารกิจ SpaceX Crew 5 จะถูกโยกไปเป็น Expedition 69 และกลับสู่โลกในเดือนเมษายน 2023
โดยที่ในเดือนเมษายนนั้น ลูกเรือที่เป็น Expendition 69 จะขึ้นยาน Soyuz-MS 23 ไป ได้แก่ Oleg Kononenko, Nikolai Chub, และ Loral O’Hara (โครงการแลกเปลี่ยน) โดยทั้ง 3 จะถูก Transfer ไปยัง Expendition 70 ในอนาคต ซึ่งก็จะเป็นช่วงเดียวกับที่ทางฝั่งสหรัฐฯ จะส่ง ภารกิจ Crew 6 ขึ้นมาพร้อมกับ Stephen Bowen, Warren Hoburg, Sultan Al Neyadi, และ Andrey Fedyaev โดยที่ Sultan Al Neyadi นั้นจะเป็นนักบินอวกาศจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คนแรก ซึ่ง Crew 6 นี้จะนับว่าเป็น Expendition 69 และ 70 และในเดือนกันยายน ก็จะมีการเปลี่ยนผ่าน Expendition อีกครั้ง ให้ทีม MS 23 กลับโลก
สามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการนับ Expendition ของ ISS ได้ที่ สถานีอวกาศนานาชาติ มีขั้นตอนการผลัดเปลี่ยนลูกเรืออย่างไร รู้จัก Direct และ Indirect Handover
จะสังเกตว่า NASA และ Roscosmos นั้น จะยังพาเอานักบินของตัวเองขึ้นยานของประเทศอื่นอยู่ เราจะยังเห็นนักบินอวกาศรัสเซียขึ้นยาน Dragon และเห็นนักบินอวกาศสหรัฐฯ ขึ้นยาน Soyuz อยู่
นอกจากนี้ ความคืบหน้าในฝั่งเอกชนก็คือ ในเดือน มีนาคม 2023 SpaceX จะทำภารกิจ Polaris Dawn ร่วมกับมหาเศรษฐี Jared Isaacman ที่ก่อนหน้านี้ เคยขึ้นบินในภารกิจการสำรวอวกาศพลเรือนล้วนเชิงการกุศล Inspiration4 ไปแล้ว รอบนี้เขากลับมาพร้อมกับโครงการที่ชื่อว่า Polaris เพื่อทำสิ่งคล้าย ๆ กัน โดยในรอบนี้ ชื่อภารกิจว่า Polaris Dawn ความพิเศษก็คือ ตัวภารกิจจะบินไปในวงโคจรสูงถึง 1,400 กิโลเมตร (สถานีอวกาศอวกาศนานาชาติ โคจรอยู่ที่ประมาณ 400 กิโลเมตรเท่านั้น) นับว่าเป็นภารกิจอวกาศพลเรือนที่ไปไกลมาก ๆ (ไกลกว่านี้ต้อง Dearmoon แล้ว) และในรอบนี้จะมีการทำ Spacewalk จากยาน Dragon ครั้งแรกด้วยชุดนักบินอวกาศแบบ Starman ของ SpaceX ด้วย
ภารกิจสำรวจอวกาศห้วงลึก
หลุดออกจาก Low Earth Orbit และ Near-Rectilinear Halo Orbit สู่การสำรวจอวกาศที่ห่างไกลกันบ้าง เป็นปกติที่ในทุกปีภารกิจแนว ๆ การส่งยานไปสำรวจดาวต่าง ๆ จะเป็นที่ถูกพูดถึงและมีอะไรให้ว้าวกัน ในปีนี้ ยานที่มีกำหนดบินออกจากโลกเพื่อเดินทางสู่ดาวเคราะห์กันไกลโพ้นก็ได้แก่
- ยาน JUICE หรือ Jupiter Icy Moons Explorer กับภารกิจสำรวจดวงจันทร์แกนิมีด ยูโรปา และคัลลิสโต ของดาวพฤหัสบดี นำทีมโดย ESA และ Airbus
- ยาน Psyche ของ NASA เตรียมเดินทางสำรวจดาวเคราะห์น้อยโลหะรูปหัวกะโหลก ที่ชื่อว่า Psyche เหมือนกัน โดยมีกำหนดปล่อยในเดือนตุลาคม 2023 ด้วยจรวด Falcon Heavy จากเดิมที่ถูกเลื่อน
และการเลื่อนของ Psyche นั้นก็อาจ ทำให้ Rendezvous กับดาวเคราะห์น้อยช้าจากปี 2026 เป็นปี 2030 เลยทีเดียว
จะเห็นว่าในปีนี้ อาจจะไม่ได้มีภารกิจปล่อยยานอะไรใหม่มาก ในส่วนของการสำรวจระบบสุริยะ แต่ก็มีหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นมาก ๆ ที่ต้องเฝ้ารอก็คือ ยาน OSIRIS-REx จะเดินทางกลับมาถึงโลก และหย่อนเอาตัวอย่างหินที่เก็บได้จากการขุดเจาะดาวเคราะห์น้อย Bennu กลับมาให้เราได้ศึกษาต่อบนโลก โดยก่อนหน้านี้เราได้รายงานความคืบหน้าล่าสุดของการสำรวจ Bennu ในปี 2021 ในบทความ การสำรวจดาวเคราะห์น้อย Bennu ของ OSIRIS-REx ครั้งสุดท้ายก่อนกลับโลก
อวกาศไทยก็เดือดไม่แพ้กัน
หันกลับมามองที่ประเทศไทยของเรากันบ้าง บอกได้เลยว่าปี 2022 นั้น เราได้เห็นข่าวใหญ่ ๆ ในวงการอวกาศไทยกันมาค่อนข้างเยอะ ซึ่งเราได้สรุปไว้ในบทความ สรุป 2022 ในวงการอวกาศไทยเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไปแล้ว โดยในปี 2023 นี้ เราจะได้เห็นการปล่อยดาวเทียมสัญชาติไทยถึง 4 ดวง ได้แก่
- THEOS-2 ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงที่ 2 ของไทย สานต่อภารกิจของ THEOS-1 โดยจะถูกปล่อยด้วยจรวด Vega-C ณ ฐานปล่อยที่เกียนา ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศสในอเมริกาใต้
- THEOS-2A ดาวเทียม ที่ GISTDA ส่งวิศวกรไทยไปเรียนรู้การผลิตดาวเทียม ภายใต้โครงการ THEOS-2 ที่นอกจากเราจะได้ดาวเทียมแล้ว เราจะยังได้ประกอบดาวเทียมเอง โดยทีมจาก Surrey Satellite Technology เป็นผู้สอนและพาทำ (บริษัทลูกของ Airbus) THEOS 2A นั้นจะถูกปล่อยด้วยจรวด PLSV ของอินเดีย ในภารกิจแบบ Rideshare
- TSC-Pathfinder ยานอวกาศสัญชาติไทยดวงแรก ที่เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนา TSC ดวงต่อ ๆ ไป ดวงนี้ทาง NARIT ได้ส่งวิศวกรไปเรียนรู้การประกอบและทำที่ Changchun Institute of Optics and Fine Mechanics ประเทศจีน โดยการปล่อย คาดว่าจะได้ปล่อยกับภารกิจของจีน
- KNACKSAT-2 อีกหนึ่งดาวเทียมสัญชาติไทย ของ INSTED ที่ในรอบนี้มีความ Commercial มากขึ้น ด้วยการร่วมมือกับเอกชนอย่าง AIS และภาคการศึกษา มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในไทยและในเอเชีย
บอกได้เลยว่า ปีหน้าใครที่อยากจะเริ่มต้นทำงานอวกาศในไทย น่าจะเป็นโอกาสอันดีแล้ว (จริง ๆ ใครอยากทำก็เริ่ม ๆ ไปเถอะ ไม่ต้องรอ ไม่รู้จะรออะไร เริ่มตอนนี้หรือตอนหน้าก็เหนื่อยหาเงินอยู่ดี – ฮา)
สรุป 2023 คือปีที่ไม่หวือหวา แต่เป็นก้าวที่น่าจดจำ
ปี 2023 นี้ อาจจะไม่ได้มีการปล่อยกล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นใหม่อย่าง James Webb หรือไม่ได้มีภารกิจอย่าง Artemis I ให้เราชม แต่บอกได้เลยว่า ทุกภารกิจที่จะเกิดขึ้นในปีนี้มีความสำคัญอย่างมาก และเป็นการปลดปล่อยพลังจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง เหมือนกับว่า มีเจ้าใหญ่มาเปิดทางให้แล้ว ทีนี้ใครพร้อมจะลุยก็ลุยเอาตามศัยภาพตัวเองจะเค้นออกมาได้ แน่นอนว่ามันไม่ง่าย แต่ช่วงเวลานี้นั้นช่างน่าจดจำ เพราะมันคือรุ่งสางของการเป็นสิ่งมีชีวิตที่จะสามารถศึกษา เติบโต และปกป้องตัวเราเองในจักรวาลที่กว้างใหญ่ และมีเพียงเราเท่านั้นที่ช่วยเหลือตัวเราเอง
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co