วันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา วง BNK48 ได้เปิดตัว MV เพลง BNK Festival ซึ่งเป็นซิงเกิ้ลที่ห้าของวงออกมา และเนื่องจากมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับด้านดาราศาสตร์และอวกาศอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้เขียนจึงได้เรียบเรียงเรื่องราวที่น่าสนใจจากใน MV นี้มาให้ดูกัน
ความน่าสนใจของมันอยู่ตรงที่ว่า เพลงนี้เป็นเพลงที่จะนำไปสู่การโปรโมต Concert ของ BNK48 ซึ่งมาในธีมท่องอวกาศเช่นกัน เราจึงจะเห็นการนำอวกาศมาเชื่อมโยงให้อยู่กับ BNK โดยมีความน่ารักและสีชมพูตามสไตล์ของวง
ในภาพนี้ถ้ามองดี ๆ จะมีคำว่า BNK48 Space Station เขียนอยู่ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับต้นแบบสถานีอวกาศที่คุณ Wernher von Braun นักวิทยาศาสตร์จรวดแห่งแผ่นดินสหรัฐฯ เคยออกแบบไว้เมื่อ 60 ปีที่แล้ว แนวคิดการออกแบบสถานีอวกาศแบบนี้เราอาจจะคุ้นชินกันในหนัง Sci-fi ต่าง ๆ การที่มันมีรูปร่างเป็นเหมือนโดนัท เป็นการออกแบบให้ตัวสถานีมีการหมุนรอบตัวเอง และสร้างแรงสู่ศูนย์กลางเกิดเป็นแรงโน้มถ่วงจำลอง (Artificial Gravity)
แนวคิดของ Artificial Gravity นี้ถูกพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ ดังนั้นในภาพยนตร์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น 2001 Space Oddsey หรือภาพยนต์สมัยใหม่อย่าง Interstellar หรือ The Martian ก็มีการออกแบบตัวสถานีอวกาศให้เป็น Artificial Gravity เช่นกัน สิ่งนี้จะทำให้นักบินอวกาศที่อยู่ในตัวสถานีจะสามารถยืนบนพื้นที่มีทิศทางเข้ามาทางศูนย์กลางของจุดหมุน และสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เหมือนกับอยู่บนโลก
ต่อด้วยซีนในยานอวกาศ ที่จะได้เห็นเมมเบอร์ของ BNK อยู่ในชุด Flightsuit สีน้ำเงินที่หลายคนคุ้นหูคุ้นตา เนื่องจากนี่คือชุดที่นักบินอวกาศของนาซาใส่ระหว่างการฝึกซ้อม และแทบจะทุกกิจกรรมที่ปรากฏตัวออกสู่สาธารณะ ยกเว้นเพียงแค่ตอนปล่อยยานและตอนลงจอด ที่พวกเขาจะเปลี่ยนไปใส่ชุดปรับความดันแทน
เหตุผลที่ต้องใส่ชุดนี้เอาจริง ๆ ก็คือจะได้รู้ว่าคือนักบินอวกาศ (ฮา) ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าเวลาอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ พวกเขาไมไ่ด้ใส่ชุดแบบนี้กัน แต่ก็จะใส่ชุดธรรมดา ๆ ทั่วไปแบบที่เราใส่กันนี่แหละ เราเรียกว่า Shirt-sleeve environment ซึ่งเอาไว้เรียกภาวะที่ไม่จำเป็นต้องใส่ชุดเครื่องแบบที่ออกแบบมาพิเศษ
ถ้ายังจำกันได้ มีอีกหนึ่งวงดนตรีที่เคยทำอะไรแนว ๆ นี้เกี่ยวกับอวกาศก็คือวง One Direction และเพลง Drag Me Down ที่เหมือนกับว่าเป็น Advertorial ให้กับโครงการ Orion ของ NASA ตอนนั้น พวกเขาปรากฏตัวในชุดสีส้มซึ่งเหตุผลก็จะอยู่ในข้อต่อไป
นอกจากนี้ยังมีเรื่องสีของชุด ชุดสีฟ้านั้นจะถูกใส่ตอนช่วงซ้อมหรือออกสื่อ ชุดสีส้มจะใส่ตอนขึ้นหรือลงกระสวยอวกาศ (ในสมัยที่กระสวยอวกาศยังคงใช้งานอยู่) เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาหากเกิดอุบัติเหตุ และชุดสีขาว (ชุด EVA) ที่ใส่ตอนออกไปนอกยานเพราะสีขาวจะสะท้อนแสงให้เห็นได้ชัดที่สุด และสะท้อนรังสีไม่ดูดซับพลังงานความร้อนด้วย
และบนชุดจะมี badge ต่าง ๆ ติดอยู่ เช่น โลโก้โครงการ Space Camp ซึ่งเป็นค่ายสำหรับเยาชนในการฝึกหลักสูตรของนักบินอวกาศ (โครงการนี้มีการสอบแข่งขันในประเทศไทยเพื่อเลือกตัวแทนไปเข้าร่วมด้วย) โลโก้ของ องค์การนาซา Astronaut Badge (ที่มีชื่อเขียนอยู่) โลโก้ของ สถานีอวกาศนานาชาติ ธงชาติจากสามประเทศ ได้แก่ไทย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และที่ขาดไม่ได้ โลโก้ BNK48 นั่นเอง
ส่วนเรื่องราวของ Space Camp นั้นถ้ายังจำกันได้ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เฌอปราง ได้เคยขึ้นเวทีเวทีนึงร่วมกับตัวแทนประเทศไทยที่เดินทางไปยังค่าย Space Camp ในงานเสวนาเทียนกง 1 ที่จะตกลงสู่โลก ซึ่งจัดโดย GISTDA, CPN และ National Geographic ณ ห้างเซ็นทรัลเวิร์ล
น้อง ๆ ที่ใส่เสื้อ Space Camp คือ 3 ตัวแทนประเทศ พอ และ โจอี้ ส่วนหนุ่มผู้โชคดีที่กำลังโม้อยู่ในภาพก็มีชื่อว่า นาวิน ซึ่งเป็นหนึ่งในเยาชนประเทศไทยตัวแทนโครงการ Discover Thailand’s Astronauts Scholarship Program (ทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย) ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ในภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นรุ่นพี่ที่น่ารักให้กับนักเขียนของเราหนึ่งคนคือคุณอิงค์ จิรสิน ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 1
ย้อนกลับมาที่ MV เพลงอีกครั้งฉากนี้ก็จะบอกกลุ่มดาวอีกเช่นเคย โดยไล่จากซ้ายมาขวาคือ กลุ่มดาววัวหรือ Taurus กลุ่มดาวแกะหรือ Aries และกลุ่มดาวปลาหรือ Pisces
ถ้าพูดถึงการลงเดินบนดาวเคราะห์ดวงอื่นที่นอกเหนือจากโลก ในความจริงนักบินอวกาศจะต้องใส่ชุดอวกาศสีขาวที่มีชื่อเรียกย่อ ๆ ว่า EMU (แบบที่ใส่เดินบนดวงจันทร์) และแน่นอนว่าพวกเธอจะไม่สามารถอยู่ดี ๆ ก็ออกมาเดินนอกยานด้วยชุดแบบนี้ได้ แต่มันก็ราคาชุดละประมาณ 390 ล้านบาท ดังนั้น … ก็ไม่เป็นไรครับ
สัญลักษณ์ที่ปัญถืออยู่นี้ คือสัญลักษณ์ของกลุ่มดาวแกะหรือ Aries ซึ่งเป็นกลุ่มดาวแรกใน 12 กลุ่มดาวจักรราศี อยู่ในราศีเมษ และจากนั้นพวกเธอก็ยังได้เดินทางต่อ มีเพิ่มมาใหม่อีกสองกลุ่มดาว นั่นคือกลุ่มดาวคนคู่หรือ Gemini และกลุ่มดาวสิงโตหรือ Leo กลุ่มดาวคนถือธนูหรือ Sagittarius
ในภาพนี้จะเป็นการรวมสัญลักษณ์จากทั้ง 12 กลุ่มดาวจักรราศี จากซ้ายไปขวา … คนถือธนู (Sagittarius) คนคู่ (Gemini) ? คนถือหม้อน้ำ (Aquarius) มังกร (Capricorn) วัว (Taurus) สิงโต (Leo) ปู (Cancer) ปลา (Pisces) แกะ (Aries) และหญิงพรหมจารีย์ (Virgo) ส่วนอีกสองอันที่เห็นจางมาก ๆ คือคันชั่ง (Libra) และแมงป่อง (Scorpio) นั่นเอง
เมื่อกี้บอกมี 12 จักราศี แล้วกลุ่มดาวนี้ล่ะคืออะไร ? นี่คือกลุ่มดาวคนแบกงูที่ถูกลืมนั่นเอง ก่อนหน้านี้ทีมงานได้เคยนำเสนอเรื่อง ดูดวงใช้ 12 ราศี แต่ทำไมดูดาวใช้ 13 รู้จักกับคนแบกงู ราศีที่ถูกลืม อธิบายง่าย ๆ คือตั้งแต่โบราณ เขานับจักรราศีแค่ 12 กลุ่มดาวมาโดยตลอด ขณะที่กลุ่มดาวคนแบกงู ก็เป็นกลุ่มดาวอื่นๆ บนท้องฟ้าที่รู้จัก จนกระทั่งในปี 1930 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล International Astronomical Union ได้กำหนดขอบเขตกลุ่มดาวทั้ง 88 กลุ่ม ที่ใช้เป็นมาตรฐานจวบจนปัจจุบันขึ้น และเขตแดนของกลุ่มดาวนี้เอง ทำให้พื้นที่ของกลุ่มดาวคนแบกงูบางส่วนอยู่ในแนวเส้นสุริยวิถีด้วย และปัญหาเรื่องจักรราศีก็เป็นประเด็นถกเถียงขึ้นจนถึงทุกวันนี้ มีทั้งฝ่ายที่ควรจะเอาคนแบกงูเข้าไปเป็นจักรราศีที่ 13 และฝ่ายที่ควรให้จักรราศีมีเพียง 12 กลุ่มดาวก็พอ
ช่วง End Credit ก็จะมีสาระดาราศาสตร์จากทาง BNK48 มาฝาก
สุดท้ายนี้ MV เพลง BNK Festival ก็เป็น MV ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวอวกาศที่น่าสนใจมากมาย ทั้งกลุ่มดาวที่เปล่งประกายบนท้องฟ้ายามค่ำคืน และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ถูกสอดแทรกเข้ามา แม้ว่าจะไม่ได้เป็นการให้ข้อมูลในเชิงวิชาการอะไรมาก และจากการพูดคุยกับหลาย ๆ คนก็อาจจะมองว่า กลุ่มดาว อาจจะสร้าง Misconception หรือความเข้าใจที่ผิดได้ เพราะกลุ่มดาวนั้นหมายถึงดาวฤกษ์ แต่การเดินทางไปของ BNK48 ไปลงจอดบนดาวเคราะห์ ซึ่งก็อาจจะตีความเพิ่มเติมกันได้ว่าดาวเคราะห์เหล่านั้นโคจรรอบ ๆ ดาวแม่ของมัน ที่เป็นดาวฤกษ์และอยู่ในกลุ่มดาวนั้นอีกที (อะไรจะซับซ้อนปานนั้น)
แต่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องน่าสนใจที่อวกาศได้มาปรากฏใน Popular Culture เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่งแล้ว ซึ่งหากคุณผู้อ่าน อ่านมาถึงตรงนี้แล้วสนใจอยากอ่านต่อ ก็สามารถติดตามพวกเรา SPACETH.CO กันได้นะครับ ~
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO