นิทรรศการศิลปะ คลื่นสมอง โมเดลสามมิติ แบคทีเรีย หินดวงจันทร์และเจ้าหญิงคางุยะ

เมื่อเจ้าหญิงคางุยะแห่งดวงจันทร์เข้าสู่ห้วงนิทรา ความทรงจำของเธอได้กลายสภาพเป็นหินไร้ชีวิตบนดาวที่ว่างเปล่า เป็นภารกิจของเราที่จะทำการ terraforming ดวงจันทร์ให้มีชีวิตชีวาและปลุกเจ้าหญิงผู้เลอโฉมองค์นี้ขึ้นมา

ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านอาจจะจำกันได้ถึงเรื่องไข่มุกจันทราที่เฮนรี่ แทน ศิลปินชาวไทยที่ได้ถูกรับเลือกเข้าร่วมโครงการ Sojourner 2020 ของ MIT Media Lab ในการส่งขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติบนเที่ยวบิน CRS-20 ของ SpaceX และทำการทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงเป็นเวลา 1 เดือน ที่ทาง Spaceth.co ได้เคยนำเสนอไว้เมื่อช่วงปีที่แล้ว

Sojourner 2020 – ที่มา MIT Media Lab, Wenjun Liang

ในช่วงเวลานี้จนถึงวันที่ 15 มีนาคม เฮนรี่ แทนได้ร่วมมือกันกับศิลปินและนักวิจัยจากหลายแขนง (ในชื่อ henryandpartner) ได้สร้างงานนิทรรศการศิลปะข้ามศาสตร์ Short Circuit – Lunartic Dream and Princess Kaguya นี้ขึ้นมาเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ของการค้นคว้า องค์ความรู้และแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของเส้นทางสู่ดวงจันทร์ของมนุษยชาติขึ้นมาผ่านแรงบันดาลใจตำนานของเจ้าหญิงคางุยะของญี่ปุ่น

เมื่อนานมาแล้ว ชายแก่อาชีพตัดไผ่คนหนึ่งได้เข้าไปตัดไผ่ในป่าตามปกติ แต่แล้วก็ได้พบเข้ากับปล้องไผ่ที่เปล่งแสงออกมา เมื่อตัดแล้วค้นพบเด็กทารกหญิงภายในจึงได้เก็บมาเลี้ยงและตั้งชื่อว่าคางุยะฮิเมะ เจ้าหญิงคางุยะ หรือเจ้าหญิงแห่งราตรีเรืองรอง เมื่อเวลาผ่านไป เด็กทารกได้เติบโตเป็นหญิงงามที่ถูกหมายปองจากผู้คนทั้งหลายรวมถึงองค์ชายห้าพระองค์ เจ้าหญิงคางุยะได้ตั้งคำเงื่อนไขให้องค์ชายหาสิ่งของหาที่แตกต่างกันออกไปแต่สุดท้ายก็ไม่มีใครหามาให้เจ้าหญิงคางุยะได้สำเร็จ

ช่วงถัดมาจักรพรรดิมิกะโดะแห่งญี่ปุ่นได้หมายปองเจ้าหญิงคางุยะและมาสู่ขอนาง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามเจ้าหญิงคางุยะก็ปฏิเสธไปในที่สุด หลังจากนั้น เจ้าหญิงคางุยะได้เผยความจริงว่านางมิได้มาจากโลกนี้และกำลังจะต้องกลับไปยังที่ที่จากมา ในท้ายที่สุดแล้ว ชาวจันทรประเทศได้เดินทางกลับมารับนางกลับสรวงสวรรค์ เจ้าหญิงคางุยะได้ฝากสิ่งของต่าง ๆ ให้แก่ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ก่อนที่จะลืมเลือนเรื่องราวและความรู้สึกบนโลกไปจนหมดสิ้น

Taketori no Okina takes Kaguya-hime to his home โดย Tosa Hiromichi และ Tosa Hirosumi – จาก ISBN 4-3097-6032-5

สถาปัตยกรรมจากคลื่นสมอง

นิทรรศการนี้อาจเรียกได้ว่าเริ่มต้นมาจากเรื่องราวการลืมขององค์หญิงคางุยะ กลุ่มศิลปินได้จินตนาการเรื่องราวต่อไปว่า ความทรงจำขององค์หญิงไม่ได้มลายหายไปโดยสิ้นเชิง แต่ได้ถูกควบแน่นและเก็บไว้ในรูปทรงทางคณิตศาสตร์ที่กลายเป็นสถาปัตยกรรมบนดวงจันทร์

ผลงานชิ้นแรกของนิทรรศการจึงได้ถูกประดิษฐ์มาเพื่อตอบสนองต่อจินตนาการนี้ ศิลปินได้ใช้สายรัดหัว Muse เพื่อตรวจจับคลื่นสมองของผู้สวมใส่ และส่งข้อมูลเข้า Blender เพื่อนำมาสร้างเป็นโมเดลสามมิติขึ้นมา โมเดลชิ้นนี้ได้เกิดเป็นคำถามใหม่ขึ้นมาถึงความแท้จริงของการผูกโยงตัวตนกับความทรงจำ กล่าวอีกนัยคือ ความทรงจำเป็นสิ่งที่สร้างตัวตนหรือไม่?

วิดิโอภายในงานแสดงสาธิตการ Transform ของรูปทรงสามมิติที่สร้างขึ้นมาจากข้อมูลคลื่นสมอง

Writer note: ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ได้เริ่มมีการวิจัยของวงการวิทยาศาสตร์ถึงความสัมพันธ์ของความทรงจำ คลื่นสมอง และการสร้างภาพในสมองเช่นกัน ที่โดดเด่นและเป็นที่พูดถึงมากคงไม่พ้นกลุ่มงานวิจัยที่ทำการสร้างภาพในสมองขึ้นมาจากการเทรนข้อมูลที่ส่งออกมาจากสมอง ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไป จากที่ได้คุยกับเฮนรี่แล้วคลื่นสมองที่สร้างเป็นโมเดลในนิทรรศการเป็นเหมือนโปรโตไทป์ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะถูกพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ

Terraforming Moon?

แนวคิดของสถาปัตยกรรมดวงจันทร์จากคลื่นสมองได้พัฒนาต่อไป หากสถาปัตยกรรมนี้ได้เกิดขึ้นจริง และก่อร่างมาจากหินดวงจันทร์​ เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ในการ Terraforming ดวงจันทร์ให้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้หรือไม่

ภายในงานจึงได้มีการพิมพ์สามมิติจาก Sodium Algenate ผสมหินดวงจันทร์เทียม (Lunar Simulant) และอาหารเพาะเชื้อ (LB) ที่ทำการแข็งตัวด้วย Calcium Cloride ในการ Culture แบคทีเรีย ที่เป็นหนึ่งในแนวทางที่เป็นไปได้คือการใช้จุลชีพหลากชนิดในการสร้างแก๊สที่ทำเป็นต่อมนุษย์และจะกลายเป็นบรรยากาศ

เครื่อง 3d Printer ที่ถูกใช้ในการพิมพ์ Base สำหรับการ Culture แบคทีเรีย

ในอีกส่วนหนึ่ง ก็ได้มีการเพาะเลี้ยง E. Coli ที่ทำการตัดต่อพันธุกรรมในการหาธาตุเหล็กและทองแดง – ในอนาคตที่หากเราต้องการ Colonize ดวงจันทร์ ความสามารถพึ่งพาตัวเองภายในอาณานิคมเท่าที่เป็นไปได้จะกลายเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นการหาแร่ธาตุก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นประเด็นที่ถูกสนใจเช่นกัน

Lunar Simulant? บริษัท Space Zab ที่เป็นบริษัทอวกาศสัญชาติไทยได้ทำการวิจัยสร้างหินดวงจันทร์เทียมขึ้นมา จากการวิเคราะห์องค์ประกอบของหินบนดวงจันทร์ ตามหาหินที่มีความใกล้เคียงและทำการปรับสภาพให้มีความเหมือนมากที่สุดที่เป็นไปได้ – เพิ่มเติม: หินดวงจันทร์เทียม ทำไปทำไม?

Writer note: การศึกษาและใช้ประโยชน์จุลชีพกำลังเป็นประเด็นหนึ่งอีกเช่นกันที่ได้รับความสนใจในช่วงเวลานี้ และนอกจากการใช้จุลชีพในกระบวนการสองอย่างที่กล่าวมาแล้ว การทดลองอีกสิ่งที่น่าสนใจคือการใช้แบคทีเรียในการทำ Biomining หรือการใช้แบคทีเรียในการสกัดแร่จำเพาะจากบริเวณที่ตัวมันอยู่ ดังที่ได้ถูกทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติในช่วงที่ผ่านมา – อ่านเพิ่มเติม: Biomining คืออะไร เจาะลึกการใช้จุลชีวิน ทำเหมืองแร่ในอวกาศ

ระบบจำลองสามรูปแบบ

ทางศิลปินได้สร้าง Simulation ขึ้นมาสามรูปแบบในนิทรรศการนี้ จากสามมุมมองที่ต่างกัน

Virtual Reality (VR)

ภาพ – henryandpartners

นาซ่าได้เปิด Open Source ข้อมูลสภาพพื้นผิวของดวงจันทร์ ซึ่งข้อมูลของแผนที่จุดลงจอดยานฉางเฮ๋อ 4 จากประเทศจีน ได้ถูกนำมาใช้สร้างโลกเสมือนในนิทรรศการนี้ ซึ่ง VR ก็ประกอบด้วย 2 ส่วนย่อย ๆ คือพื้นที่ว่างเปล่าซึ่งเปิดโอกาสให้เราทำการ Terraform และพื้นที่ที่ถูก Terraform จนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ที่เปิดโอกาสให้เราสำรวจ

กระต่ายบนดวงจันทร์
จะพบว่าได้มีการนำกระต่ายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ถูกใช้ใน VR หลายต่อหลายครั้ง – เฮนรี่ได้ให้ความสนใจกับตำนานของกระต่ายบนดวงจันทร์ โดยเน้นไปที่สิ่งที่กระต่ายทำอยู่ (ญี่ปุ่น: ตำโมจิ – จีน: ผสมสารประกอบแห่งชีวิต) ซึ่งเฮนรี่ก็ได้ทำการตีความในแบบฉบับของตัวเองในรูปแบบของการสร้าง Primodial Soup ที่เป็นทฤษฎีขององค์ประกอบเริ่มแรกของสิ่งมีชีวิตที่อาจนำมาตั้งคำถามและพูดคุยกันต่อไปในอนาคต

ทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ Chang’e 4 ภารกิจแรกสู่ด้านไกลของดวงจันทร์

Augmented Reality (AR)

กระบะหินดวงจันทร์เทียม

เทคโนโลยี AR ได้ถูกนำใช้ฉายลงบนกระบะหินดวงจันทร์เทียมที่เปิดให้ผู้เข้าชมมาเล่นปรับพื้นผิวได้ เปิดโอกาสให้จินตนาการ Terrain/Topology ของดวงจันทร์ นอกจากนี้ ยังได้มีองค์ประกอบเล็ก ๆ เป็นการจำลองสิ่งมีชีวิตที่จะเคลื่อนที่ไปมาตามรูปแบบพื้นผิวที่เราได้ทำการปรับ

Terrarium

ได้มีการลองปลูกพืชบางชนิดลงบนหินดวงจันทร์เทียมจริง ๆ ใน Terrarium มาเกือบ 2 อาทิตย์แล้ว ซึ่งพืชก็ยังคงมีชีวิตอยู่ได้ การสร้าง Terrarium ชิ้นนี้จึงเป็นการทดลองที่สาธิตการปลูกพืชลงบน Lunar Simulant ในเชิงปฏิบัติจริง ๆ และระบุปัญหาที่เกิดขึ้น

พืชภายใน Terrarium

เวิร์คช็อป

โดยนอกจากตัวนิทรรศการแล้ว ยังได้มีการจัดเวิร์คช็อปขึ้นมาในช่วงเย็นของวันหยุด 3 วัน ในสามหัวข้อที่แตกต่างกันได้แก่

เสารที่ 6 มีนาคม: The moon represents my mind: 3D Print memory from brain waves

ย้อนกลับไปที่การลืมเลือนของเจ้าหญิงคางุยะ เวิร์คช็อปครั้งแรกที่จัดขึ้นในงานนี้ ได้สำรวจลึกลงไปถึงการทำงานของสมองต่อความนึกคิดและความทรงจำ คุณนุชนาถ นาอาจ พยาบาลวิชาชีพระดับปฏิบัติการด้านประสาทจิตเวชศาสตร์ จากสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ได้อธิบาย Keynote และเล่นกิจกรรมเพื่อสำรวจกลไกการทำงานของสมองในระดับเบื้องต้นและได้อธิบายเพิ่มเติมเข้าไปในเรื่องของผลกระทบของอวกาศหรือสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำต่อสมอง

ภาพจากเวิร์คช็อป – ที่มา henryandpartners

สรุปโดยย่อ: สภาวะอวกาศจะส่งผลทำให้ปริมาตรของสมองเพิ่มมากขึ้น (สมองบวม) และเมื่ออยู่ในสภาวะนั้นไปเป็นเวลาสักระยะ จะเกิดการลดการทำงานของส่วนควบคุมร่างกาย แต่เพิ่มการทำงานของส่วนคิดวิเคราะห์ อย่างไรก็ตามมันก็ได้ส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือดซึ่งอาจเป็นปัญหาในระยะยาวได้

ในช่วงหลังจากนั้น เฮนรี่ แทนและทาเคมูระ มาซาโตะ (ซึ่งเฟสไทม์จากญี่ปุ่น) ก็ได้ทำการสาธิตการสร้างโมเดลสามมิติจากคลื่นสมองและเปิดให้ผู้เข้าร่วมที่สนใจได้ลองสร้างโมเดลจากคลื่นสมองของตนเอง

อาทิตย์ที่ 7 มีนาคม: How to survive on any side of The Moon? : Terraforming the Moon

พร้อม เสือทิม นักวิจัยจาก FREAK Lab กลุ่มวิจัย Futuristic Research Cluster ในประเทศไทย ร่วมกับธมน ศิริไกร นักเรียนจาก JSTP ร่วมกันจัดเวิร์คช็อปนี้ในเรื่องการ Culture แบคทีเรียลงบนแผ่น Sodium Algenate + Calcium Cloride + Lunar Simulant + LB ที่ทำการพิมพ์สามมิติออกมา

หนึ่งในผลงานจากการพิมพ์สามมิติ

เวิร์คช็อปนี้ได้เริ่มจาก Keynote อธิบายหลักการของการ Terraform ดวงจันทร์ด้วยจุลชีพ ก่อนที่จะแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมให้ได้ผสมสารละลายและสร้างดีไซน์สามมิติที่จะพิมพ์ออกมา โดยผลงานที่ได้ ได้ถูกนำมา Culture แบคทีเรีย (จากตัวของผู้เข้าร่วมเอง) ลงไป ซึ่งผลงานก็ได้ถูกตั้งไว้ในงานนิทรรศการด้วย โดยในตอนนี้ก็จะเห็นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียอย่างชัดเจน

อาทิตย์ที่ 14 มีนาคม: Dancing in the (Primordial) Soup: Mix Reality Dance on Moon and Mars Gravity

ในเย็นวันนี้ (14 มีนาคม) คุณซูฟี ยามา ศิลปินด้านมิกส์เรียลลิตี้ คุณกรกนก รุ่งสว่าง นักออกแบบท่าเต้นและนักเต้น และคุณมัตสึมูระ โทโมกิ จาก metaPhorest จะทำเวิร์คช็อปในเรื่องของการเคลื่อนไหวในแรงโน้มถ่วงต่ำ

จินตนาการถึงการเคลื่อนไหวของคุณในแรงโน้มถ่วงที่แตกต่างบนมิกส์เรียลลิตี้ เรียนรู้การเคลื่อนไหวของจุลินทรีย์ในพื้นที่และสภาวะต่างๆ การออกกำลังกาย และการทำอักเม้นต์เรียลลิตี้ด้วยตนเองที่บ้าน – Japan Foundation, Bangkok

ภาพ – henryandpartners

Writer note: เฮนรี่ได้เล่าให้ผมฟังไว้ว่า ในฐานะของศิลปิน หลังจากที่ได้เริ่มเปิดประสบการณ์การทำงานข้ามศาสตร์ในปี 2018 หลังจากการไปทำงานศิลปะที่ญี่ปุ่นซึ่งทำให้เขาค้นพบกับองค์กรอย่าง FREAK Lab หรือ Fablab ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการประยุกต์องค์ความรู้สาขาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และการได้ไป Biosummit ที่ MIT ในสหรัฐอเมริกา เขาก็ได้เริ่มทำงานที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์วิทยาศาสตร์เข้ามาในศิลปะ และได้ให้ความสนใจกับเรื่องความทรงจำ ความฝัน และการหลับลึกเป็นพิเศษ ซึ่งก็ได้มีการพัฒนาและ Connect the dots มาเรื่อย ๆ

โดยความตั้งใจที่จะใช้ศิลปะเป็นตัวตั้งคำถาม จุดประเด็น และสร้างเรื่องราวใหม่ ๆ ขึ้นมา และไม่ใช่แค่เป็นตัว Visualize ของวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว ก็นับเป็นบทบางและมุมมองที่น่าสนใจ น่าค้นหาและติดตามของบทบาทของศิลปินในแง่ของความเป็น Inter/Antidisciplinary ในปัจจุบันโดยเฉพาะในไทยซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดูใหม่มากอย่างหนึ่งของสังคม

นิทรรศการจัดแสดงอยู่ที่ BASE Playhouse ชั้น 2 ของสามย่านมิตรทาวน์ โดยจะจัดไปถึงวันที่ 15 มีนาคม วันธรรมดาตั้งแต่เวลา 12.00-18.00 น. และวันเสาร์อาทิตย์ เวลา 13.00-21.00 น. เข้าชมฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย

แมว วาราบิโมจิ ปิศาจสปาเกตตี้บินได้