ตอนเป็นเด็กฉันอยากเป็นนักดาราศาสตร์ แต่ต่อมาจำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพ – ในหลวงรัชกาลที่ 9

เด็กทั่วไปที่หันมองท้องฟ้ายามค่ำคืนแล้วสงสัยว่ามีอะไรอยู่บนนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราขณะทรงพระเยาว์ก็เช่นกัน

พระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชในขณะที่ท่านทรงเยาว์วัยนั้น ท่านมีความประสงค์จะเป็นนักดาราศาสตร์อย่างที่สุด แต่ก็ต้องเปลี่ยนอาชีพด้วยความจำยอมเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน แต่ด้วยความสนพระทัยในดาราศาสตร์และการดูดาวอย่างยิ่งส่งผลให้เกิดการศึกษาทางดาราศาสตร์ หอดูดาวที่ได้มาตรฐาน ดังเช่นหอดูดาวแห่งชาติ บนยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

ตอนเป็นเด็กฉันอยากเป็นนักดาราศาสตร์ แต่ต่อมาจำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 พ่อของชาวสยามทุกคน ได้สรรค์สร้างสิ่งที่ดีงามให้กับบ้านหลังใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพระราชกรณียกิจที่คอยช่วยเหลือลูกของพระองค์ทุกคนไว้ รวมไปถึงศาสตร์ที่น่าสนใจดังเช่นดาราศาสตร์ก็ได้สร้างสรรค์ไว้มากมายเช่นกัน

จากพระราชปณิธานสู่กล้องดูดาว

ด้วยความปราถนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ให้ความสนพระทัยในดาราศาสตร์ เหล่าคณะอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร. ธัญบุรี) ได้ร่วมกันประดิษฐ์กล้องดูดาวแบบนิวโตเนียน เรียกว่า “ROTAR1” ซึ่งในระหว่างการประดิษฐ์กล้องดูดาวนั้นเหล่าคณะอาจารย์ได้เข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการสร้างกล้อง ROTAR1

คณะอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 พระองค์ได้ทอดพระเนตรแบบร่างของกล้องดูดาว ROTAR1 แล้วมีพระราชปรารภทันทีว่ากล้องจะหัวคะมำไปด้านหน้า แล้วทรงรับสั่งว่าตำแหน่งประเทศไทย อยู่ละติจูดต่ำเพียงสิบกว่าองศา ใช้ฐานกล้องแบบอิเควทอเรียลไม่ได้ ต้องใช้แบบบริติช ซึ่งเมืองไทยยังไม่เคยมีให้ทีมงานออกแบบมาถวาย ทางคณะอาจารย์ทีมงานได้ฟังแล้วก็นำคำสอนของพระองค์ไปปรับใช้

นอกจากกล้อง ROTAR1 แล้วยังมีอีกโครงการเป็นโครงการที่สอง สานต่อจากโครงการ ROTAR1 นั้นคือ ROTAR2 ซึ่งก็เป็นการสร้างกล้องดูดาวของคณะครูอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เช่นเคย แต่ในเมื่อกรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว กล้องดูดาวก็ไม่สามารถสร้างเสร็จภายในปีเดียวเช่นกัน

กล้องดูดาว ROTAR – ที่มา มธร. ธัญบุรี

นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กับทางคณะครูและอาจารย์ได้นำแบบร่าง โครงสร้างของโครงการหอดูดาว ROTAR1 มาเป็นต้นแบบในการสร้างกล้องดูดาว ROTAR2 ต่อไป ซึ่งในโครงการนี้พิเศษกว่าเดิมนั้นคือทางคณะทีมงานที่จัดทำได้ขออนุญาตเข้าชมกล้องดูดาวแบบบริติช ที่หอดูดาวโลเวล รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหอดูดาวเดียวกันที่ค้นพบดาวพลูโต เมื่อปี ค.ศ. 1930 แต่คณะเดินทางไปถึงก็ไม่พบ ทางเจ้าหน้าที่หอดูดาวบอกว่ากล้องได้ถูกย้ายไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ข้าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ทางทีมงานจึงขอเข้าไปชมเพื่อจะนำไปร่างแบบกล้องดูดาวถวายให้พระเจ้าแผ่นดินไทย และได้รับอนุญาตให้เข้าชมพร้อมกับถ่ายภาพตามประสงค์

ถึงแม้จะมีประสบการณ์จากการสร้างกล้องดูดาว ROTAR1 แล้ว กล้องดูดาว ROTAR2 ก็ยังใช้เวลามากกว่า 2 ปีในการสร้าง เนื่องจากอุปกรณ์ ระบบและกลไกที่มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมและค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากต้องซื้อของจากต่างประเทศเข้ามาใช้ผลิต ต้องใช้รถเครนในการยกและขนส่งสินค้า แต่ก็เสร็จตามกำหนดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007

ทดสอบกล้อง ROTAR1 ที่คลองหก ได้ส่องผิวของดวงจันทร์เห็นหลุมอุกกาบาตที่ชัดเจน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007

ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 ทางคณะอาจารย์และนักศึกษาได้เข้าเฝ้าเพื่อถวายกล้องดูดาว ROTAR1 และ 2 แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และมีรับสั่งว่าให้นำกล้องดูดาว ROTAR1 ไปติดตั้งที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และนำกล้อง ROTAR2 ไปติดตั้งไว้ที่ดาดฟ้าโรงเรียนวังไกลกังวล

ปัจจุบันกล้อง ROTAR1 ได้ถูกปรับเปลี่ยนใช้สำหรับสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ ตั้งอยู่ ณ หอสุริยทัศน์ราชมงคล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีและกล้อง ROTAR2 ได้นำไปติดตั้งไว้ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ โรงเรียนวังไกลกังวล ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาดาราศาสตร์แก่ประชาชนต่อไป

หอดูดาวบนยอดดอยสูง

มีพระดำรัสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงรับสั่งถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลายโอกาสว่า “ถ้าไม่ได้เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปรารถนาที่จะเป็นนักดาราศาสตร์ และอยากมีหอดูดาวที่จังหวัดเชียงใหม่” นั้นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของโครงการหอดูดาวบนดอยอินทนนท์ก็ได้

ตาม บันทึกการจัดตั้งหอดูดาวแห่งชาติ ได้มีบันทึกเกี่ยวกับการจัดตั้งหอดูดาวแห่งชาติไว้อย่างละเอียดตั้งแต่แรงบันดาลใจในการสร้างที่มาจากการอยากดูดาวหางเฮล-บอพพ์ ประกอบกับช่วงเวลานั้นแถวเชียงใหม่ได้มีหมอกควันลงอย่างหนาแน่นทำให้การสังเกตการดาวหางนั้นเป็นไปได้ยาก คณะสำรวจจึงได้ขออนุญาตอุทยานแห่งชาติดอยอิทนนท์ขึ้นมาสังเกตการณ์ดาวหาง ทำให้สังเกตเห็นหางของดาวหางทั้งหางฝุ่นและหางแก๊ส สว่างเห็นชัดด้วยตาเปล่าเลยทีเดียว

นั่นก็นำไปสู่การเขียนโครงร่าง เขียนโครงการเพื่อจัดตั้งหอดูดาวแห่งชาติต่อไป แต่โดนยกเลิกทิ้งไปด้วยความพยายามของทีมงานและคณะนักวิจัยต่าง ๆ ก็ได้นำโครงร่างนั้นกลับมาปรับปรุงอีกทำให้ผ่านเข้าไปในที่ประชุมได้อีกครั้ง จนผ่านโครงการมาได้

ข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ “กระทรวงวิทย์ฯ สร้างหอดูดาวถวายในหลวง” ที่มา – NARIT

กรมสมเด็จพระเทพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จทอดพระเนตรการสร้างหอดูดาวแห่งชาติที่บนยอดดอยอินทนนท์ บริเวณสถานีทวนสัญญาณของบริษัททีโอที เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2009 ได้ทอดพระเนตรการทดสอบสภาพท้องฟ้าของหอดูดาวแห่งชาติ และก่อนกลับได้ทรงปลูกต้นกุหลาบพันปีไว้ประดับหอดูดาวอีกด้วย

นอกจากนี้ท่านยังได้รับเอาโครงการหอดูดาวแห่งชาติไว้เป็นโครงการพระราชดำริ เนื่องจากทรงสนพระทัย และได้ติดตามความก้าวหน้าของโครงการตลอดมา และในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 2011 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้รับพระราชทานชื่อหอดูดาวจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา” นั่นเอง

TNO (Thai National Observatory) ที่มา – NARIT

ดาราศาสตร์ ถือเป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก และยังมีประราชประสงค์อยากให้ใช้ดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือในการสร้างคนตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ดาราศาสตร์คือเครื่องมือในการสร้างคนที่สำคัญที่สุด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชาในหัวใจของชาวไทยทั้งปวง บิดาของลูกชาวไทยที่ได้ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยแม้กระทั้งช่วงที่มีพระอาการประชวร ท่านยังทำงานเพื่อความสุข และความสงบสุขของลูกมาโดยตลอด

จนกระทั่งวันนี้เมื่อสองปีที่แล้ว พ่อของลูกทุกคน ได้เสด็จขึ้นไปอยู่บนฟากฟ้าดวงดารา กลายเป็นดวงดาวที่คอยส่องแสงให้ความสว่างแก่โลกในยามค่ำคืน เป็นทางสว่างในการดำเนินชีวิตต่อไปของลูกทุกคนที่อยู่บนโลกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายต่อไป

อ้างอิง

๙ นักวิทย์คิดถึงในหลวง | สวทช.

ROTAR และหอสุริยทัศน์ อีกหนึ่งพระอัจฉริยภาพ | RMUTT

บันทึกการจัดตั้งหอดูดาวแห่งชาติ | NARIT

Astronomy in Thailand | SAO/NASA Astrophysics Data System (ADS)

มายด์ - บรรณาธิการและนักเขียน นิสิตปี 1 ภาคฟิสิกส์ จุฬาฯ สนใจเรื่องอวกาศ วิทยาศาสตร์ BLACKPINK อดีตไอดอลที่ออกวงการมาแล้ว และในปัจจุบันนี้เป็น Atomic Queen Ambassador of Physics 2019