ปี 2023 เรียกได้ว่าเป็นปีที่การแข่งขันเดินทางสู่ดวงจันทร์นั้นดุเดือดเป็นอย่างมาก หลังจากที่อินเดียได้กลายเป็นชาติที่ 4 อย่างเป็นทางการที่สามารถส่งยานอวกาศ วิกรม ไปลงจอดในภารกิจจันทรายาน 3 ได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม 2023 ในเดือนกันยายน อีกหนึ่งภารกิจของชาติเอเชียก็ได้เริ่มต้นเดินทางตามไปอีกหนึ่ง ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องราวของยานอวกาศที่ชื่อว่า SLIM หรือ Smart Lander for Investigating Moon
Smart Lander for Investigating Moon จัดได้ว่าเป็นภารกิจการลงจอดบนผิวของดวงจันทร์ภารกิจแรกของญี่ปุ่น พอกล่าวเช่นนี้เราอาจจะสงสัยว่า ทำไมจึงไม่นับยานอวกาศ Hakuto-R ของบริษัท Ispace ที่เดินทาง ที่เดินทางไปลงจอดบนดวงจันทร์แต่เกิดข้อผิดพลาดก่อนหน้านี้ เหตุผลก็เพราะว่า Hakuto-R นั้นเป็นยานวกาศประเภทเอกชนที่ได้ทุนมาจากการระดมทุนบริษัทเอกชนด้วยกันเอง และไม่ได้สังกัดหรือขึ้นตรงต่อ JAXA หน่วยงานสำรวจอวกาศของญี่ปุ่น เราจึงอาจกล่าวได้ว่า SLIM เป็นภารกิจการลงจอดดวงจันทร์ครั้งแรกภายใต้ธงชาติญี่ปุ่นของ JAXA ซึ่งเป็นชาติสมาชิกหนึ่งที่สำคัญในความร่วมมือนานาชาติ Artemis ที่นำโดยสหรัฐฯ นั่นเอง
และด้วยบทบาทของญี่ปุ่นต่อความร่วมมือนานาชาติ Artemis ทำให้ยานอวกาศหนักเพียงแค่ 590 กิโลกรัม กว้าง 1.5 เมตร สูง 2 เมตร นี้เป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก SLIM เริ่มต้นเดินทางออกจากโลกในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 7 กันยายน 2023 เลื่อนมาจากกำหนดเดิมที่จะต้องถูกปล่อยตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2023 พร้อมกับยานอวกาศ XRISM ยานสำรวจทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของ JAXA ที่แชร์พื้นที่ร่วมกันบนจรวด H-IIA ที่บินขึ้นจากฐานปล่อยทาเนกาชิมะ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น
ประวัติศาสตร์การสำรวจดวงจันทร์ของญี่ปุ่น
การสำรวจอวกาศของญี่ปุ่นนั้นต้องย้อนกลับไปในปี 1970 ที่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียม Ohsumi (おおすみ) สำเร็จ (อ่าน – รู้จักกับโอะสุมิ ดาวเทียมดวงแรกจากแดนอาทิตย์อุทัย) ทำให้ญี่ปุ่น เป็นชาติที่ 4 ที่สามารถส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้ รองจากสหภาพโซเวียต, สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ดังนั้นเรียกได้ว่าญี่ปุ่นได้กลายเป็นผู้นำด้านอวกาศในกลุ่มชาติเอเชียตั้งแต่ยุค 70 แล้ว ซึ่งเราจะสังเกตว่าช่วงนั้นตรงกับยุค Apollo พอดี แล้วสหรัฐฯ ก็เริ่มมีศัยภาพในการส่งยานอวกาศต่าง ๆ เดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ เช่น โครงการ Mariner และ Pioneer
ญี่ปุ่นในตอนนั้นจึงได้ก่อตั้ง NASDA หรือ National Space Development Agency of Japan ขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจการอวกาศ และระหว่างปี 1970 จนถึง 1990 ญี่ปุ่นก็เริ่มพัฒนาดาวเทียมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ดาวเทียม Shinsei ในปี 1971 ดาวเทียม Hakucho ในปี 1979 ดาวเทียม Tenma ในปี 1983 เรื่อยมา จนกระทั่งในปี 1990 ญี่ปุ่นก็ได้มีแผนพัฒนายานอวกาศลำแรกที่จะเดินทางไปสู่ดวงจันทร์
ยานอวกาศลำแรกที่เดินทางไปสู่ดวงจันทร์ของ JAXA นั้นมีชื่อว่า Hiten ซึ่งเป็นยานอวกาศขนาดเล็ก ในตอนนั้นแม้ว่านานาชาติจะเริ่มมีศัยภาพในการส่งดาวเทียมต่าง ๆ ขึ้นสู่วงโคจร แต่นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต แข่งขันเดินทางสู่ดวงจันทร์กันในยุคสงครามเย็น ก็ไม่ได้มีชาติใดเลยที่สามารถส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ได้สำเร็จ จนในที่สุด Hiten ก็สามารถเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ได้ แต่ มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เนื่องจากในช่วงแรกการส่งยาน Hiten นั้นผิดพลาดทำให้ Hiten โคจรรอบโลกแทนในวงโคจรลักษณะ High-Eliptical Orbit จนกระทั่งวิศวกรจาก JPL ได้คำนวณหาวิธีให้ยาน Hiten สามารถเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ได้ โดยการใช้เชื้อเพลิงปรับแก้วงโคจรเพียงเล็กน้อย และในที่สุดพวกเขาก็สามารถบังคับยาน Hiten ให้โคจรรอบดวงจันทร์ได้ในที่สุด ปัจจุบันเราเรียกเทคนิคเช่นนี้ว่าการทำ Low Thrust
สำหรับเรื่องราวของยาน Hiten สามารถอ่านได้จากบทความ Trajectory Design and Optimization ศาสตร์เบื้องหลังการออกแบบเส้นทางการสำรวจอวกาศ มรดกของเทคนิคดังกล่าว ได้ถูกส่งต่อมายังยานอวกาศรุ่นใหม่ ๆ รวมถึงจันทรายาน 3 ของอินเดีย และ Hakuto-R ด้วยเช่นกัน
และด้วยสาเหตุนี้เอง ทำให้ญี่ปุ่นก็ได้กลายเป็นประเทศที่ 3 ที่สามารถเข้าสู่วงโคจรดวงจันทร์ได้สำเร็จอย่างเป็นทางการ นั่นทำให้ญี่ปุ่นเอง หันไปมองเป้าหมายที่ไกลออกไปอีกก็คือดาวอังคาร จนในปี 1998 ญี่ปุ่นได้ส่งยานอวกาศชื่อ Nozomi เดินทางไปยังดาวอังคาร เป้าหมายแรกของ Nozomi คือการไปโคจรรอบดาวอังคาร แต่เนื่องจากปัญหาด้านเชื้อเพลิงหลังการปล่อย ทำให้ยานไม่สามารถเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารได้สำเร็จ ทำได้เพียงแค่บินโฉบดาวอังคารเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามความสำเร็จของ Nozomi ก็ทำให้ญี่ปุ่น กลายเป็นชาติที่ 3 หลังจากสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตอีกแล้ว ที่ส่งยานเดินทางไปยังดาวอังคารสำเร็จ (ก่อนหน้า ESA เสียด้วยซ้ำ)
และนี่เองก็นำมาซึ่งโครงการหินสุด ๆ ก็คือโครงการไปเก็บหินจากดาวเคราะห์น้อยกลับโลกอย่าง Hayabusa ที่ออกเดินทางในปี 2003 ที่นำไปสู่การค้นพบสำคัญมากมาย (อ่าน – สรุปการค้นพบสารอินทรีย์บนดาวเคราะห์น้อย Itokawa ในตัวอย่างจากยาน Hayabusa 1) หลังจากนั้นก็มีภารกิจอีกมากมายโดย JAXA เช่น Akatsuki และ IKAROS ไปดาวศุกร์ และหนึ่งในนั้นก็คือการกลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้งก็คือโครงการ Kaguya ในปี 2007
อีกบทความที่เราอยากให้อ่านหากใครสนใจประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศของญี่ปุ่น ก็คือ อวกาศที่กินใจใน 5 Centimeters per Second ที่ถ่ายทอดความฝันด้านการสำรวจอวกาศของญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจน
การสำรวจดวงจันทร์ในปี 2007
จากที่ไล่มาด้านบนเราจะเห็นว่าญี่ปุ่นเองนั้น มีพัฒนาการด้านอวกาศไปไกลมาก ๆ ซึ่งเอาจริงก็คือไกลกว่าดวงจันทร์ไปอีก แต่ในปี 2007 ญี่ปุ่นก็หันกลับมาอยากสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง สิ่งนี้มันต้องมีเหตุผล ทีนี้เราอาจจะลองมาดูเลขปีกันก่อน ปี 2007-2008 เป็นช่วงที่เรียกได้ว่า ทั้งโลกหันกลับมาสนใจการสำรวจดวงจันทร์กันอีกครั้ง จีนได้ส่งยานฉางเอ๋อ 1 เดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ และทำสำเร็จด้วย ในขณะที่ในปี 2008 อินเดียก็ได้ส่งยานจันทรายาน 1 เดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ และสำเร็จอีกเช่นกัน ในขณะที่ปี 2009 NASA ก็ได้ส่งยาน Lunar Reconnaissance Orbiter (LRO) ไปโคจรรอบดวงจันทร์พร้อมอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ยุค Apollo และในช่วงนั้นโลกก็ได้สร้างการค้นพบที่นำมาสู่โครงการ Artemis ในยุคปัจจุบัน นั่นก็คือการยืนยันการมีอยู่ของน้ำบนดวงจันทร์
อยากให้ลองอ่านเหตุการณ์ในช่วงเวลาเดียวกันในบทความ – กว่าจะเป็น จันทรายาน 3 บทเรียนจากความผิดพลาด สู่ชาติที่สี่ที่พิชิตดวงจันทร์
Kaguya จึงจัดว่าเป็นอีกหนึ่งยานอวกาศลำสำคัญที่ช่วยให้โลกหันกลับไปมองดวงจันทร์อีกครั้ง ชื่อจริง ๆ ของยาน Kaguya คือ SELENE ที่ย่อมาจาก Selenological and Engineering Explorer ที่ตั้งชื่อแบบนี้ก็คือล้อตามชื่อเทพเซเลนา หรืออาร์ทีมิส เทพแห่งดวงจันทร์ซึ่งก็คือพระจันทร์เทวาตามคติอินเดีย โดยที่ตามคติความเชื่อญี่ปุ่นอาจมีเรื่องราวที่แตกต่างไป แต่โดยรวมก็คือเทพแห่งดวงจันทร์ซึ่งก็คือองค์เดียวกับฉางเอ๋อ นั่นเอง
SELENE เป็นภารกิจใหญ่มาก หนักมาก หนักกว่า 3 ตัน ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 14 กันยายน 2007 ก่อนที่ในปี 2009 ตัวยานจะถูกบังคับให้พุ่งชนดวงจันทร์ บริเวณทางขั้วใต้ของดวงจันทร์ โดยมันได้ทิ้งข้อมูลชิ้นสำคัญไว้ก็คือ การสำรวจบริเวณหลุม Shackleton ซึ่งเป็นที่ตั้งของดินแดนที่เรียกว่าบริเวณไร้แสงนิรันดร์ (Permanently shadowed crater) ซึ่งเป็นจุดสำรวจที่สำคัญของโครงการ Artemis (อ่าน – สรุปทุกอย่างที่เรารู้เกี่ยวกับจุดลงจอด Artemis III โดยละเอียด )
SLIM ภารกิจการสำรวจดวงจันทร์ครั้งที่สามของญี่ปุ่น
ที่ต้องไล่เรียงประวัติศาสตร์กันยืดยาวก็เพราะว่า เราอยากให้ทุกคนเห็นถึงเส้นเวลาที่ตรงกัน และที่สำคัญก็คือเพื่อที่จะบอกว่า SLIM เป็นเพียงยานอวกาศลำที่ 3 ของญี่ปุ่นเท่านั้นที่เดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ ตามหลัง Hiten (1990) และ SELENE (2007) แถมยังเป็นภารกิจที่เป็นการเปิดฉาก Artemis ให้กับญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการด้วย การกลับสู่ดวงจันทร์ครั้งที่สามของญี่ปุ่น ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
โครงการ SLIM เริ่มมีการพูดถึงมาเป็นเวลานับสิบปีแล้ว โดยหนึ่งในรายละเอียดแรก ๆ ของโครงการนั้นถูกอธิบายไว้ใน Exploration of Lunar Holes, Possible Skylights of Underlying Lava Tubes, by Smart Lander for Investigating Moon (SLIM) ซึ่งเป็น Paper ที่ถูกตีพิมพ์ในปี 2011 พูดถึงการค้นพบที่สำคัญของ SELENE เกี่ยวกับโพรงลาวาบนดวงจันทร์ ว่า SLIM อาจปล่อยตัวโรเวอร์ขนาดเล็ก วิ่งเข้าไปในโพรงดังกล่าวได้
ในปี 2018 และ 2019 SLIM ได้ผ่านการทำ Preliminarily Design Review (PDR) และ Critical Design Review (CDR) ตามลำดับ
SLIM นั้นนับว่าเป็นภารกิจในกลุ่ม Technology Demonstration หรือเป็นการสาธิตเทคโนโลยี ไม่ได้มีเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน (แต่ก็มีการติด Instrument ต่าง ๆ ไปอยู่) ออกแบบโดยวิศวกร JAXA และผลิตโดยบริษัท Mitsubishi Heavy Industries
เป้าหมายของตัวยาน คือการโคจรรอบดวงจันทร์เป็นะระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ก่อนที่จะจุดเครื่องยนต์ชะลอความเร็วเพื่อลงจอดบนดวงจันทร์ แต่การลงจอดที่ว่านี้จะเป็นการลงจอดในลักษณะ Soft-Landing ครั้งแรกด้วย ไม่ได้พุ่งชนเหมือน SELENE โดยการลงจอดของ SLIM จะเป็นการทำ Belly Landing หรือการใช้ท้องลงจอด (งงล่ะสิ)
อธิบายคือ ตัวยานจะค่อย ๆ จะลอความเร็วจนถึงพื้นผิวเหมือนปกติ แต่แทนที่ยานจะลงจอดในแนวตั้งตัวยานจะค่อย ๆ เอนตัวลงมาตอนแทน ซึ่งเทคนิคนี้ไม่เคยถูกใช้งานมาก่อนในโลกแห่งความเป็นจริง แต่เป็นที่นิยมมากในเกม Kerbal Space Program (ฮา)
เมื่อหาจุดลงจอดได้แล้วตัวยานจะปรับวงโคจรส่วนใกล้ดวงจันทร์ให้อยู่ที่ความสูงประมาณ 15 เมตร ก่อนที่จะชะลอความเร็วลงเพื่อปรับทิศทางการบินลงในแนวดิ่ง หลังจากนั้นระบบคอมพิวเตอร์บนยานที่เป็น Vision Based ร่วมกับระบบ Laser, Radar จะทำงานร่วมกันเพื่อพายานลงจอด โดยตัวยานจะลอยอยู่นิ่ง ๆ เหนือผิวดวงจันทร์จากนั้นค่อย ๆ นอนลงมา ให้ขาตั้งสองชุดแรกแตะพื้นตามด้วยขาตั้งชุดที่สองจนยานลงจอดสำเร็จ
บริเวณที่ SLIM จะลงจอดนั้น ก็คือบริเวณหลุม Shioli ซึ่งอยู่ไม่ห่างไปจากเส้นศูนย์สูตรของดวงจันทร์ โดยบริเวณดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นเนินเขาเล็กน้อย อย่างไรก็ตามในรอบนี้ SLIM จะยังไม่ได้บรรทุกโรเวอร์ขนาดเล็กตามที่ได้มีการพูดถึงไว้ก่อนหน้านี้ แต่จะเป็นการโชว์เทคโนโลยีการลงจอดที่ JAXA เรียกว่า Pinpoint Landing คือเป็นการลงจอดที่แม่นยำราวกับจัดวาง หรือจะเรียกว่า In-situ Observations ก็ได้ ก็คือ ในตอนแรกที่ปล่อยไปตัวยานอาจจะไม่ได้มีเป้าหมายจุดลงจอดชัดเจน แต่อาศัยข้อมูลที่เก็บได้ล่าสุด เพื่อหาจุดลงจอด โดยความท้าทายก็คือการจัดการกับเชื้อเพลิง และอัลกอริทึมในการลงจอด (และถ้าถามว่าอัลกอริทึมสำคัญแค่ไหน ที่ลงพลาดกันนี่ก็เพราะอัลกอริทึมทั้งนั้น)
ISAS และ JAXA เชื่อว่า หากเราสามารถกำหนดจุดการลงจอดที่แม่นยำได้ Artemis ก็สบาย เนื่องจากเราสามารถเสี่ยงลงจอดในบริเวณที่อาจจะเจอแสงบ้างบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ แต่ก็ยังใกล้กับบริเวณที่เป็นดินแดนมืดมิดนิรันดร์ที่แสงส่องไม่ถึงเลย (ถ้าลงบริเวณนั้นก็คือตายอย่างเดียว) และที่สำคัญก็คือ เราสามารถส่งโรเวอร์ขนาดเล็กไปสำรวจในบริเวณนั้นได้ (ก็วัตถุประสงค์เดียวกับ Paper ด้านบนว่าลงให้แม่น แล้วโรเวอร์จะได้ไม่ต้องวิ่งเยอะ)
ดังนั้นเป้าหมายของ SLIM นั้นจึงเป็นการ
- ทดสอบการลงจอดที่แม่นยำ ในหลักไม่เกิน 100 เมตร จากจุดที่ตั้งใจไว้ (การลงจอดโดยเทคโนโลยีเดิม ๆ จะมีความแม่นยำในหลักกิโลเมตร)
- พิสูจน์ไอเดียเรื่องการส่งยานอวกาศขนาดเล็ก ซึ่งแน่นอนว่าสร้างความคล่องตัวให้กับการออกแบบภารกิจในอนาคตได้
แม้ตัวยาน SLIM จะมีมวลรวมกันอยู่ที่ครึ่งตัน แต่แท้จริงแล้วมวลส่วนมากมาจากเชื้อเพลิงแทบทั้งหมด ตัวยานจริง ๆ มีมวลเพียงแค่ 120 กิโลกรัมเท่านั้น ในขั้นตอนการลงจอด เครื่องยนต์แรงขับ 500 นิวตันจำนวนสองตัว และเครื่องยนต์ขนาดเล็กอีก 12 ตัว
วัสดุที่ใช้ทั้งหมดได้ถูกออกแบบให้มีความเบาเป็นพิเศษ ขนาดแผง Solar Array ที่ใช้ ยังมีลักษณะเป็นแผ่นฟีล์มที่เบาและบางผลิตโดยบริษัท Sharp Corporation ในขณะที่อุปกรณ์ Instrument บนยานจะเน้นติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์สำหรับลงจอด เรียกว่า ISC หรือ Integrated Spacecraft Control System เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างระบบ Radar, Laser และ Optical Image เพื่อกำหนดจุดลงจอดอย่างแม่นยำ
ตัวยานยังได้มีการติดตั้ง Laser Retro-reflector Array (LRA) สำหรับใช้สะท้อนเลเซอร์จากโลกในการวัดระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ไปอีกด้วย
ในการออกแบบวงโคจรของยานก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เนื่องจาก SLIM ถูกปล่อยพร้อมกับยานอวกาศ XRISM ทำให้จรวด H-II นั้นจะสามารถพา SLIM ให้ขึ้นไปอยู่บนวงโคจรของโลกที่ระยะใกล้เท่านั้น ทำให้ที่เหลือ SLIM จะต้องใช้เชื้อเพลิงของตัวเองในการเดินทางไปยังดวงจันทร์ ซึ่งก็อย่างที่บอกว่า ทุกวันนี้เรานำเอาการออกแบบวงโคจร Low-Thrust มาใช้ ทำให้เราไม่ได้ Burn ทีเดียวไปดวงจันทร์ สามวันเจ็ดวันแน่นอน แต่จะใช้การค่อย ๆ ไต่วงโคจรขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วยการจุดจรวดซ้ำ ณ จุดเดิม เพื่อให้ตัวยานมีจุดโคจรด้านไกล (Perigee) ไปแตะกับวงโคจรของดวงจันทร์ และให้ตัวยานกับดวงจันทร์มาเจอกันและใช้แรงโน้มถ่วงจากดวงจันทร์ เหวี่ยงตัว SLIM ออกไป ให้จุดโคจรด้านไกล (Perigee) ห่างไปไกลจากดวงจันทร์อีก จากนั้น ก็ค่อยปรับวงโคจร
ท่านี้ก็เป็นท่าเดียวกับที่ยาน Hakuto-R และ Hiten เคยใช้มาก่อนนั่นเอง (ย้ำอีกรอบว่าอยากให้อ่าน – Trajectory Design and Optimization ศาสตร์เบื้องหลังการออกแบบเส้นทางการสำรวจอวกาศ)
นั่นหมายความว่า การเดินทางของ SLIM จะค่อนข้างยาวนาน เราคาดว่าจะได้เห็นยาน SLIM เดินทางถึงดวงจันทร์เพื่อเตรียมพร้อมลงจอดจริง ๆ ก็น่าจะในปี 2024 เลย
ความสำคัญของ SLIM
เชื่อว่าหลังจากที่เล่าทั้งประวัติศาสตร์ที่มาการสำรวจดวงจันทร์ และลักษณะการทำงานของ SLIM แล้ว เราน่าจะได้เห็นว่า ญี่ปุ่นวางแผนการสำรวจอวกาศอย่างชาญฉลาดมาก ๆ SLIM ไม่ใช่ยานที่จะไปโคจรรอบดวงจันทร์เพื่อเก็บเขาข้อมูลเพิ่มเติม เพราะจริง ๆ ญี่ปุ่นได้ส่ง Kaguya นำร่องไปก่อนแล้ว และข้อมูลเกี่ยวกับดวงจันทร์ปัจจุบันก็ได้มาจาก Kaguya และ LRO ค่อนข้างเยอะ ในขณะที่อินเดียเองก็มี จันทรายาน 1, 2, 3 ครบ ญี่ปุ่นจึงเลือกที่จะพัฒนาและศึกษาความเป็นไปได้ของการสำรวจดวงจันทร์ในลักษณะของการทำ Precision Landing มากกว่า
ซึ่งพูดถึง Precision Landing นั้นอย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นเองก็ได้ประสบความสำเร็จในการทำ Hayabusa 1, 2 รวมถึงมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ในโครงการ MMX หรือ Martian Moon Exploration ที่จะเดินทางไปยังดวงจันทร์ของดาวอังคารอีกด้วย ทั้งหมดนี้อาศัยการทำ Precision Landing ทั้งสิ้น
SLIM จึงเป็นภารกิจที่มีความสำคัญต่อ JAXA อย่างมาก และก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในปี 2024 ที่เราต้องจับตามองกัน
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co