อวกาศที่กินใจใน 5 Centimeters per Second

บทความนี้ผมจะมาพูดถึง Anime กันบ้าง หลายคนอาจจะรู้สึกว่า Anime ที่เกี่ยวกับอวกาศตรง ๆ มีตั้งเยอะแยะ แต่ทำไมผมเลือกที่จะเขียนถึง 5 Centimeters per Second (2007) ที่แทรก element ของอวกาศมาเล็กน้อยไม่ได้มีจุดโดดเด่นอะไร แต่หลังจากที่อ่านบทความนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนอาจจะต้องกลับไปย้อนดู Anime ในตำนานเรื่องนี้กันอีกครั้ง

แม้ 5 Centimeters per Second จะไม่ได้ขายอวกาศหรือวิทยาศาสตร์ตรง ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ก็คือ มีการสอดแทรกเรื่องราวของอวกาศ รวมถึงประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นมาได้อย่างแนบเนียนและสมเหตุสมผล รวมถึงการใช้อวกาศ (ที่เป็นการสำรวจอวกาศจริง ๆ) เป็นสัญญะของเรื่องความรัก ความห่างไกล และการมองไปยังอนาคต

กอดแรก จูบแรก และจูบสุดท้ายของเด็กหนุ่มและเด็กสาวในวันที่หิมะตกและรถไฟช้ายิ่งกว่า BTS วันมีม็อบ

อาจจะต้องเกริ่นเนื้อเรื่องเตือนความจำกันซักนิด 5 Centimeters per Second เป็น anime สั้น ๆ ที่แบ่งเรื่องราวของตัวละครหลักคือ ทาคากิ เป็น 3 ช่วงชีวิตหลัก ๆ ช่วงแรกคือในวัยมัธยมต้น ช่วงที่สองคือวัยมัธยมปลาย และช่วงสุดท้ายคือวัยทำงาน โดยเนื้อเรื่องค่อนข้างตรงไปตรงมาคือ ทาคากิในวัยเด็กตกหลุมรักกับอาคาริ แต่อาคาริต้องย้ายโรงเรียนไปชานเมืองทำให้สองคนไม่ได้เจอกัน แต่ทาคากิก็ต้องย้ายไปไกลกว่านั้นอีกคือไปที่เกาะทาเนกาชิมะ (ซึ่งก็คือที่เดียวกับ Tanegashima Space Center) และการได้เจอกันครั้งสุดท้ายของทั้งคู่คือในวันที่หิมะตกหนักจนรถไฟช้าทั้งเมือง แต่ทั้งคู่ก็ไปหากันจนได้ (ซึ้ง) แต่การที่ทาคากิต้องไปเรียนถึงตอนใต้สุดของญี่ปุ่นทำให้ทั้งคู่ห่างกันไปอีก เป็นการจบช่วงที่หนึ่ง ช่วงที่สองเปิดมาด้วยชีวิต ม.ปลาย ของทาคากิ ซึ่งก็ยังคิดถึงอาคาริอยู่ แต่ทาคากิก็ไปโดนซูมิดะ เพื่อน ม.ปลาย ชอบ แต่นางก็โดนเทและไม่ได้สารภาพรัก เพราะทาคากิเล่นมือถือมาเกินไปและไม่เคยมองนางเลย (ฮา) และนางมารู้ตัวตรงวันที่ NASDA (JAXA ปัจจุบัน) ปล่อยจรวด จนทำให้นางรู้สึกว่าคนบางคนอยู่บนโลกดี ๆ ไม่ชอบ ชอบไปอวกาศ และเรื่องก็ตัดมาตอนสุดท้ายคืออาคาริกลับมาเขียนโปรแกรมหากินที่โตเกียว และเดินสวนกับอาคาริ แต่ทั้งคู่ก็จำกันไม่ได้ จบเศร้า ๆ ไป

การเล่นมือถือมาเกินไปทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าโดนเทได้

สำหรับ element อวกาศ ๆ ที่สำคัญที่ปรากฎชัดมาก ๆ ก็คือในตอนที่สอง ซึ่งมีฉากหลังเป็นที่เกาะทาเนกาชิมะ ที่ตั้งของ Tanegashima Space Center โดยในเนื้อเรื่องนั้นอยู่ในช่วงประมาณปี 1999 ในตอนนั้นหน่วยงานสำรวจอวกาศของญี่ปุ่นยังชื่อว่า NASDA อยู่ ซึ่ง NASDA ชื่อเต็มก็คือ National Space Development Agency of Japan ซึ่งก่อตั้งในปี 1969 (ปีเดียวกับที่มนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์) โดยมีผลงานสำคัญ ๆ มากมายรวมถึงการเซ็นเข้าร่วมโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ ทำให้ในช่วงแรก Logo ที่ปรากฎอยู่บนโมดูล Kibo ของ ISS นั้นเป็น Logo ของ NASDA ไม่ใช่ JAXA และนักบินอวกาศญี่ปุ่นคนแรก โมฮาริ มาโมรุ ที่เดินทางสู่อวกาศในปี 1994 รวมถึงนักบินอวกาศในช่วงแรกที่เดินทางไป ISS ก็ใช้ป้าย NASDA เช่นกัน

ก่อนอื่น อาจจะต้องบอกก่อนว่า มีจุดสังเกตอะไรน่าสนใจที่เราจะมาพูดคุยกันบ้าง ซึ่งก็ได้แก่

  • การปรากฎของโลโก้ NASDA ในช่วงปี 1999 (ตอนที่สอง) แต่พอมาปี 2008 (ตอนที่สาม) ชื่อ NASDA ได้เปลี่ยนมาเป็น JAXA ตามเหตุการณ์จริง ๆ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นควบรวมหน่วยงานอวกาศเข้าด้วยกันและสร้าง JAXA ในปี 2003
  • ฉากการขนย้ายจรวด H-II ซึ่งเป็นจรวดขนส่งของญี่ปุ่น ที่ใช้ในการปล่อยยานอวกาศและดาวเทียมสำคัญ ๆ หลายลำ ซึ่งปล่อยขึ้นจากฐานปล่อย Tanegashima Space Center
  • โปสเตอร์ดาวเทียม ADEOS ของญี่ปุ่น ซึ่งมีจริง ๆ ในประวัติศาสตร์
  • ยานอวกาศ ELISH ที่ไม่มีอยู่จริง และใช้รูปยาน Cassini แทน (แถมไปสำรวจดาวเนปจูนไม่ใช่ดาวเสาร์ ก่อนที่จะออกนอกระบบสุริยะ)

การเปลี่ยนจาก NASDA มาเป็น JAXA นั้นเกิดขึ้นในปี 2003 เมื่อญี่ปุ่นตัดสินใจควบรวมองค์กรที่ทำงานอวกาศทั้งหมดในประเทศให้มาเป็นหน่วยงานเดียวในชื่อ JAXA หรือ Japan Aerospace Exploration Agency ที่เราคุ้นเคย

แต่อย่างที่บอกไป NASDA เป็นเจ้าของผลงานหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น เช่นโครงการพัฒนาจรวด H-II และ H-IIA ร่วมกับ Mitsubishi ซึ่งภายหลังออกรุ่นปัจจุบันเป็น H-IIB ตามลำดับ โดย H-II นั้นบินขึ้นครั้งแรกในปี 1994

ใน 5 Centimeters per Second เราจะได้เห็นการปรากฎของ NASDA ในหลาย ๆ ฉากเริ่มต้นจากโปสเตอร์ในโรงเรียน ซึ่งตรงนี้เราอยากให้สังเกตสองจุดสำคัญ ๆ ก็คือ มีโปสเตอร์ที่พูดถึงดาวเทียม ADEOS หรือ Advanced Earth Observing Satellite ที่ถูกปล่อยไปในปี 1996 (สามปีก่อนเหตุการณ์ในเรื่อง) ซึ่งดาวเทียมดวงนี้มีตัวตนจริง ๆ ทางประวัติศาสตร์

ตามมาด้วยเหตุการณ์ที่คาบเกี่ยวกับในเรื่อง ก็คือ ญี่ปุ่น (NASDA) กำลังทำยานอวกาศที่ชื่อว่า ELISH (แต่ลำนี้ไม่มีจริง) เพื่อส่งออกไปสำรวจนอกระบบสุริยะ (เหมือนยาน Voyager ของ NASA) โดยมีกำหนดปล่อยในปี 1999 และฉากการปล่อยยานอวกาศลำนี้ก็เป็นฉากที่ทำให้ anime เรื่องนี้โด่งดังด้วยเช่นกัน และเรียกได้ว่าฉากนี้สร้างความประทับใจและฉายภาพการปล่อยจรวดไว้อย่างน่าทึ่ง (จนซูมิดะ ที่กำลังร้องห่มร้องไห้ที่เขาไม่รักอยู่ยังต้องเลิกร้องไห้มาดูการปล่อย)

เฮ้ย ทำไมมาช้าวะ โทดทีกูไม่ได้ติดขบวนเสด็จว่ะ แต่ติดขบวนจรวด

นอกจากนี้ยังมีฉากสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับ ELISH และจรวด H-II ก็คือตอนที่อาคาริและซูมิดะกลับบ้านด้วยกัน ในขณะที่มี NASDA กำลังขนชิ้นส่วนจรวดไปยังฐานปล่อย

ในโลกของความเป็นจริงนั้นในปี 1999 ญี่ปุ่นไม่ได้มีการปล่อยยานอวกาศแต่อย่างใด มีแค่การปล่อยดาวเทียม Himawari 6 เท่านั้น ส่วนภารกิจสำรวจอวกาศที่เป็นยานอวกาศของญี่ปุ่นที่โดดเด่นในโลกแห่งความเป็นจริงช่วงนั้นก็น่าจะเป็นภารกิจการเดินทางไปดาวเคราะห์น้อยของ Hayabusa ที่ปล่อยไปในปี 2003 มากกว่า และการปล่อย Hayabusa ก็ไม่ได้ใช้จรวด H-II แต่ใช้จรวด M-V (M-5) ซึ่งผลิตโดย Nissan แทน ซึ่งในปี 1998 ญี่ปุ่นเคยใช้จรวดลำนี้ปล่อยยานสำรวจดาวอังคารชื่อ Nozomi แต่ยานก็ไม่สามารถเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารได้สำเร็จ ปัจจุบันญี่ปุ่นไม่ได้ใช้จรวด M-V แล้ว แต่พัฒนาจรวดอีกลำชื่อว่า Elipson มาใช้แทน

ที่ต้องรู้อีกอย่างก็คือฐานปล่อยของ Elipson และ M-V นั้น อยู่คนละฐานกับ H-II โดยฐานของ Elipson จะอยู่ที่ Uchinoura Space Center และ H-II อยู่ที่ Tanegashima Space Center แม้ทั้งคู่จะอยู่ในจังหวัดคาโกชิมะ เหมือนกัน แต่อูชิโนอูระ อยู่บนแผ่นดินใหญ่ ส่วนทาเนกะชิมะ อยู่บนเกาะ ทั้งสองฐานปล่อยใช้จุดใต้สุดของญี่ปุ่นเพราะใกล้เส้นศูนย์สูตร และอยู่ในจุดที่ล้อมรอบไปด้วยทะเล (ทางตอนใต้)

Tanegashima Space Center ในเรื่อง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะทาเนกะชิมะ

เป็นอันว่า ผู้สร้าง 5 Centimeters per Second นั้นเลือกที่จะฉายภาพบริเวณเกาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่นอันเป็นที่ตั้งของปลายทางสู่อวกาศของญี่ปุ่นในการเล่าเรื่องความรักหนุ่มสาว และเป็นสัญญะของการมองไปยังที่อันแสนไกลนั้นนับว่าเป็นอะไรที่แหลมคม และสามารถเข้าถึงทั้งอารมณ์แถมยังสามารถขายโครงการอวกาศของประเทศตัวเองได้อีกด้วย

ส่วนกรณีของยานอวกาศที่ไม่มีจริงในเรื่องนั้น ก็อาจจะนับว่าผู้สร้างอยากที่จะสื่อถึงเป้าหมายการมองไปข้างหน้าของโครงการอวกาศญี่ปุ่น ร่วมกับการแสดงให้ถึงการเดินทางอันแสนยานานาของการสำรวจอวกาศ ซึ่งก็ใช้เวลา 10 ปีเต็มในการเดินทางออกนอกระบบสุริยะ ตอนนั้นทาคากิเพิ่งอยู่ชั้น ม.ปลาย แต่ตอนที่เดินทางออกนอกระบบสุริยะทาคากิทำงานแล้ว และเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นในปี 2008

เมื่อบรรณาธิการเข้าเว็บ Stock Photo แล้วดันไปซื้อรูปยาน Cassini ของ NASA มาแทน

การใช้การเดินทางของยานอวกาศเป็นสัญญะของการเดินทางอันแสนยาวนานนั้นก็ตรงกับ concept หลักของเรื่องด้วย ไม่ว่าจะเป็นซากูระที่ร่วงหล่นจากต้นด้วยความเร็ว 5 เซนติเมตรต่อวินาที (อันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง) รถไฟที่ใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมงกว่าจะพาให้เด็กสองคนได้มาเจอกันเป็นครั้งสุดท้าย การขนส่งจรวดที่ใช้ความเร็ว 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และการเดินทางของยานอวกาศที่ใช้เวลา 10 ปี สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ท้าทายหัวใจของมนุษย์เช่นกัน

มันกินใจ ไม่ใช่อะไรหรอก

A rocket desperately hurtling through the blackness of empty space, farther and father, to dizzying distances, to the unknown. Desperately chasing after it — a much slower rocket.” – คานาเอะ ซูมิดะ

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.