รัฐประหารจากไทยสู่พม่า กับ อวกาศ สันติ และสิทธิมนุษยชน

“ปล่อยดาวเทียมร้อยดวงไป ประเทศก็ไม่เจริญ ถ้าไม่แก้ที่ต้นเหตุ”

“ไปดาวอังคารไปทำไม สิทธิผู้หญิงยังขับรถไม่ได้ด้วยซ้ำ” คอมเมนต์ใต้โพสต์ข่าว UAE ส่งยาน Hope ไปสำรวจดาวอังคารได้สำเร็จ ชวนให้เราวิเคราะห์ถึง Statement ที่น่าสนใจนี้ อันที่จริงประโยคดังกล่าวอาจจะดูเหมือนคำแซะทั่วไปในโลกอินเทอร์เน็ต แต่สำหรับเรามันคือคำถามสำคัญว่าวิทยาศาสตร์และการสำรวจอวกาศช่วยให้ประเด็นพัฒนาในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร

ก่อนอื่น ต้องปูพื้นว่าเป็นที่ทราบกันดีว่าการเมืองกับการสำรวจอวกาศนั้นเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โลกได้ให้กำเนิดสองสามแนวคิดและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลง Perception ของมนุษยชาติ สำหรับเรา มันคือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษชน (Universal Declartion of Human Right) , การขยายขอบเขตการรับรู้ด้วยการสำรวจอวกาศ , และอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำมาสู่การเกิดการกระจายสูญกลางครั้งใหญ่ เกิดเป็น World Wide Web นำมาซึ่ง Facebook, Instagram ต่าง ๆ ทั้งสามอย่างนี้เรามองว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษชน เป็นแนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันและมีสิทธิต่าง ๆ ไม่แบ่งแยกเพศ ภาษา ชาติพันธุ์ การสำรวจอวกาศทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน (อิงจาก Carl Sagan) และถูกใช้เป็นประเด็นเพื่อขับเคลื่อนเรื่อยมา (กรณีของภาพ Pale Blue Dot, คำพูดถึงการเมืองของนักบินในภารกิจ Apollo) และการเกิดขึ้นของยุคกระจายศูนย์กลาง ที่ทุกคนสามารถมีอำนาจและอิทธิพลได้ผ่านอินเทอร์เน็ต นำมาซึ่งแนวคิดของการทำให้เป็นประชาธิปไตย (Democratization) ซึ่งรวมไปถึงการสำรวจอวกาศที่จากเดิมผูกขาดโดยรัฐมาเป็นเอกชน และประชาชนในที่สุด (อ่าน – โครงการ MESSE ที่เยาวชนก็สามาถสำรวจอวกาศได้ , การสำรวจอวกาศโดยเยาวชน) หรือการเกิดขึ้นของการสนับสนุนกิจการอวกาศสำหรับประเทศกำลังพัฒนา (Space Fairing Nation)

ความเชื่อมโยงที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ทำให้เรานึกถึงกรณีศึกษาต่าง ๆ

กรณีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ย้อนหลับไปที่กรณีของ UAE จากที่บอกว่า “ไปดาวอังคารไปทำไม สิทธิผู้หญิงยังขับรถไม่ได้ด้วยซ้ำ” เราสามารถตีความได้ว่า เพราะผู้หญิงยังขับรถไม้ได้ จึงไม่ควรไปดาวอังคาร ควรจะแก้ปัญหาในประเทศก่อน ซึ่ง Logic ดังกล่าว คล้ายคลึงกับกรณี “ให้ถนนลูกรังหมดประเทศก่อนค่อยพัฒนารถไฟความเร็วสูง” ดังนั้น วิธีการทำให้ Statement ดังกล่าวผิด คือการให้ Argument ไปว่า “การไปดาวอังคาร จะช่วยส่งเสริมประเด็นด้านสิทธิสตรีได้อย่างไร” ซึ่งเป็นการให้เหตุผลแบบ Constructive มากกว่า

ทีนี้ดูในกรณีของ UAE ประเทศเขาตั้งวัตถุประสงค์ว่า โครงการสำรวจอวกาศจะทำให้ประเทศชนชาติอาหรับกลับมาเป็นผู้นำด้านศิลปะวิทยาการอีกครั้ง (ซึ่งเราเคยเล่าไปแล้วในบทความ – จากพันหนึ่งราตรีจินนี่จ๋าสู่ดาวอังคาร การท่องอวกาศของ UAE เปลี่ยนโลกอาหรับอย่างไร) โดยการบ้านที่ UAE ต้องทำคือ การพัฒนาด้านการเข้าถึงความรู้ของประชากร กับเทคโนโลยีในประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าชาติในกลุ่มอาหรับ มีการกีดกันทางเพศค่อนข้างสูง แต่โครงการสำรวจอวกาศของ UAE ก็เลือกที่จะทำลาย Norm ตรงนี้ด้วยการให้วิศวกรหลักของโครงการเป็นผู้หญิง และสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาว่า “วิศวกรหลักของโครงการสำรวจอวกาศที่ประสบความสำเร็จ ยังเป็นผู้หญิงได้ ดังนั้นเพศไม่ใช่อุปสรรคในการทำงาน การบอกว่าเพศใดเพศหนึ่งเก่งกว่ากันจึงผิด” ซึ่งก็จะสร้างภาพจำต่อ ๆ ให้กับคนรุ่นใหม่ว่า Concept ของการแบ่งความสามารถตามเพศนั้น ไม่ถูกต้องเลย เป็นค่านิยมใหม่ให้กับสังคม ดังนั้นแล้ว การบอกว่า “ไปดาวอังคารไปทำไม สิทธิผู้หญิงยังขับรถไม่ได้ด้วยซ้ำ” จึงไม่ Makesense เนื่องจาก การไปดาวอังคารของเขาช่วงกระตุ้นให้ขอบเขตการรับรู้ของคนในประเทศในเรื่องเพศกว้างขึ้นด้วยซ้ำ

เป็นเหตุผลที่หัวบทความนี้ จั่วว่า “ปล่อยดาวเทียมร้อยดวงไป ประเทศก็ไม่เจริญ ถ้าไม่แก้ที่ต้นเหตุ” เพราะเราไม่สามารถห้ามการปล่อยดาวเทียมด้วยการบอกว่าต้องทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยหรือมีสิทธิมนุษยชนก่อน เพราะทั้งสองอย่างต้องทำควบคู่กันไป เพียงแต่ว่าถ้าเราแก้ปัญหาไม่ตรงจุด หรือไม่ได้แก้ปัญหาที่เราอยากจะแก้ การทำดาวเทียมเป็นร้อยเป็นพันดวงก็จะไม่ช่วยให้เราไปไหนนั่นเอง

ทีนี้ในเมื่อ Trend ของโลกไปในทางการส่งเสริมสิมธิมนุษยชน การใช้อวกาศเพื่อเป็นการ “สวนกระแส” จะเกิดอะไรขึ้น เราอยากยกตัวอย่างกรณีล่าสุดของอวกาศพม่าหลังเหตุรัฐประหาร

กิจการอวกาศหลังรัฐประหารของพม่า

“เผด็จการกับอวกาศ” เป็นของคู่กัน กรณีของ Vladimir Kamarov ที่ต้องเสียชีวิตเพราะต้องขึ้นบินให้ทันวันฉลองวันเกิดของเลนิน (อ่าน – Soyuz 1 หายนะกลางเวหาในม่านเหล็กสีแดง) กลายเป็นบทเรียนของการสำรวจอวกาศเพื่อมนุษยชาติ (For All Mankind) ที่สำคัญ อวกาศชาตินิยมค่อย ๆ จางหายไปหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศเผด็จการอย่างจีนจะถูกแบนจากสหรัฐฯ ในโครงการอวกาศต่าง ๆ ด้วยเหตุผลด้านรูปแบบการปกครองแต่อวกาศก็ไม่ได้บ้าระห่ำเหมือนเมื่อก่อนที่ส่งคนไปตายแข่งกันอีกแล้ว แม้กระนั้น ประเทศที่ไม่ได้ใช้อวกาศเพื่อสันติจึงถูกแบนเรื่อย ๆ (ถ้าคุณไม่ได้เล่นท่าแยบยลอย่างสหรัฐฯ)

ล่าสุดกรณีของพม่า หลังเกิดรัฐประหาร พม่ามีดาวเทียม MMSATS-1 ซึ่งอยู่ภายใต้ความช่วยเหลือจาก JAXA ในการช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถสร้างและประกอบดาวเทียม พร้อมช่วยส่งให้จากสถานีอวกาศนานาชาติอีก แต่ทาง REUTERS ก็ได้มีรายงาน (และมีวง Club House แซบ ๆ โดยคนในวงการ) ออกมาบอกว่า JAXA เลือกที่จะไม่ปล่อยดาวเทียม MMSATS ให้พม่า จากการใช้งานอวกาศเพื่อสันติ ซึ่งต้องเข้าใจว่าคำว่าอวกาศเพื่อสันตินั้น เป็นการผนวกเอาแนวคิดของ UN ในกรณีของสิทธิมนุษยชน และการเข้าถึงทรัพยากรของประเทศกำลังพัฒนา (รวมถึงเรื่องของความรู้ ศาสตร์ต่าง ๆ) มาผนวกรวมกับการสำรวจอวกาศหลังจากยุคสงครามเย็น ซึ่ง UN เองก็ได้มีการตั้ง UNOOSA เพื่อมาสนับสนุนกิจกรรมด้านนี้

ดังนั้นจะเห็นว่าโครงการต่าง ๆ ที่ไทยเราได้รับสนับสนุนจากประเทศที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีตั้งแต่สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ไปจนถึงญี่ปุ่น (โครงการต่าง ๆ ที่ทาง JAXA ร่วมมือกับ สวทช.) ก็ล้วนมาจากแนวคิดการช่วยพัฒนาการเข้าถึงอวกาศเพื่อทำให้ประชาชนในประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

การก่อรัฐประหารในพม่าจึงเป็นการกระทำที่สวนทางต่อการสำรวจอวกาศเพื่อสันติ อธิบายง่าย ๆ คือเป็นการรัฐประหารเป็นการริดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงเพราะแม้แต่รัฐธรรมนูญที่ใช้ในการบริหารประเทศยังถูกฉีกออกได้โดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง เราจึงไม่แปลกใจที่ JAXA เลือกที่จะ “Hold” การปล่อย รวมถึงอาจจะยึดตัวดาวเทียมที่ช่วยพัฒนาด้วยซ้ำ

โครงการ Thai Space Consortium ที่น่าจับตามอง

อ่านกันมาขนาดนี้ ก็คงต้องขอเลี้ยวมาที่ประเด็น TSC อีกแล้ว (ซักหน่อย) ให้ตรงกับหัวข้อที่บอกว่า ปล่อยดาวเทียมไปร้อยดวงประเทศก็ไม่เจริญถ้าแก้ปัญหาไม่ตรงจุด จริง ๆ Argument นี้ไม่ได้เกิดมาจากประเด็นว่าไทยจะทำดาวเทียมวิทยาศาสตร์ฯ แต่มาจากประเด็นที่ว่า ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้กล่าวไว้ว่าการทำดาวเทียมฯ จะช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสิ่งนี้ก็นำมาซึ่งแนวคิดที่ว่า ถ้าทำดาวเทียมสำเร็จ = ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเราค้านอย่างหนักหน่วง

ปัจจุบันสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยนั้นล้าหลังไม่ได้มีเป็นความเจริญทางวัตถุ แต่เป็นเรื่องของ ความเหลื่อมล้ำ, สิทธิมนุษยชน และการเมืองที่ขาดเสถียรภาพ

ถ้าจะบอกว่าประเทศไทยจะทำดาวเทียม จะสร้างยานอวกาศ จริง ๆ แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะความสามารถของวิศวกรของเรานั้นเรียกได้ว่าเก่งไม่น้อย แถมเงินเราก็ไม่ได้ยากจน แต่คำถามที่เราพยายามนำเข้ามาสู่ตัวโครงการนี้คือ “แล้วโครงการ Thai Space Consortium จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สิทธิมนุษยชน และเสถียรภาพทางการเมืองอย่างไร” ซึ่งคำตอบก็อาจจะสามารถตอบได้ว่า “ไม่ได้ช่วยแก้” ก็ได้ หรือ “ช่วยแก้” ก็ได้ แต่มันก็ต้องมีเหตุผล Support ไม่ใช่พออะไรดีก็ Take Credit พออะไรไม่ดีก็โบ้ยบอกว่าเป็นเพราะประเทศเป็นแบบนี้เหมือนรูปแบบการทำงานของรัฐฯ ไทย

กรณีที่น่าศึกษาที่เราหยิบยกมาทั้ง 2 กรณี ทั้งของ UAE และของพม่า รวมถึงการให้ Context ในเรื่องของแนวโน้มการให้ความสำคัญกับการสำรวจอวกาศเพื่อสันติ และการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชน ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ที่เราจะต้องจับตามองโครงการ Thai Space Consortium ที่จะมีการ Allocate งบในระดับพันล้านบาทมาใช้ เพื่อให้เราในฐานะประชาชนเจ้าของประเทศช่วยกันตรวจสอบว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีในระดับนี้มี Mindset ตรงไหนบ้างที่เราต้องเปลี่ยนหรือทำความเข้าใจ เพื่อให้โครงการวิทยาศาสตร์เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยจริง ๆ และช่วยให้เราหลุดพ้นจากปัญหาเดิม ๆ ที่เผชิญมาตลอดเสียที

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.