ปรัชญา อวกาศ เรเนซองส์ ความฝันกับจักรวาล และความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในภารกิจ MESSE

Carl Sagan ชายที่น่าจะเป็นที่รักของใครหลายคนในวงการวิทยาศาสตร์ หนึ่งในสิ่งที่ Sagan ให้ไว้กับโลกคือมุมมองจากอวกาศที่ล้ำค่าเกินกว่าจะถูกประเมินค่าได้ด้วยเงิน หรือผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ Carl พาเราย้อนกลับไปถึงเหตุผลว่าเราสำรวจอวกาศกันไปทำไม และมองไปยังอนาคตว่าการสำรวจอวกาศจะให้อะไรกับเรา ผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาคือการบอกให้ JPL หันยาน Voyager ที่กำลังเดินทางออกนอกระบบสุริยะกลับมาถ่ายภาพโลก ซึ่งภายหลังถูกนำมาบรรยายด้วยร้อยแก้วอันกินใจ “Pale Blue Dot“ ที่สรุปให้เราฟังว่า จริง ๆ แล้ว การศึกษาสิ่งที่ไม่รู้ เป็นการทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน และถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน Sagan ยังทิ้ง Contact เรื่องราวของหญิงสาวผู้เผชิญกับความโดดเดี่ยว อ้างว้างจากการเสียพ่อของเธอ แต่เธอกลับไขปริศนาที่พามนุษย์ก้าวไปยังดินแดนใหม่ที่ไม่รู้จักและพบกับสิ่งมีชีวิตที่รู้จักเราดีและเฝ้ามองเรามานานแสนนาน

MESSE

Molecular Encoded Storage for Space Exploration

เป็นโครงการสำรวจอวกาศที่อยู่บนจุดตัดระหว่างวิทยาศาสตร์ กับศิลปะ โดยการสร้าง DNA Storage จากโน๊ตดนตรีของเพลง “ความฝันกับจักรวาล” เป็นเพลงไทยเพลงแรกที่ถูกนำมาแปลงเป็น DNA และถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ พัฒนาโดยเยาชนไทย

อ่านเพิ่มเติม >

MESSE คือตัวแทนของความหลงใหล และความรักที่มีต่อจักรวาลที่เราเริ่มต้น เราอาจจะไม่สามารถเริ่มโครงการอย่าง SETI, Voyager หรือส่งบทกวีออกไปนอกระบบสุริยะ เหมือนที่ Carl Sagan ทำ แต่สิ่งที่เราทำได้ ณ วันนี้ และเราก็ทำต่อเนื่องเสมอมาคือการสร้างสังคมที่มองวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ปรัชญา ให้เป็นเรื่องเดียวกัน (ซึ่งเราก็หวังว่า Spaceth จะพาทุกคนเข้าสู่โลกของวิทยาศาสตร์ที่ขับเคลื่อนด้วยหัวใจมาได้ไกลพอสมควรนับจากวันแรกที่ เรา – เติ้ล และ กร ก่อตั้งมันขึ้นมา)

อ่าน – Pale Blue Dot ภาพถ่ายที่บอกว่าดาราศาสตร์คือความอ่อนน้อมถ่อมตน

เวทีงาน Beyond The Cradle ที่เป็นการรวมคนจากหลากหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน

ระหว่างทางที่ยาวนานสำหรับเรา แต่เป็นเวลาแสนสั้นของจักรวาล เราได้เจอกับเพื่อน ๆ ทั้งเด็กและโตกว่าที่เข้าใจในความเชื่อและความหลงใหลนี้ และโอกาสที่ทำให้ผมได้เดินทางไปยังจุดที่ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้น คือการเดินทางไปยัง MIT และร่วมงาน Beyond The Cradle ใน MIT Space Week 2019 ที่ทุกคนที่ผมพูดคุยด้วยในงาน ไม่มีใครเลยที่จะไม่บอกว่า Cosmos, Pale Blue Dot ของ Carl Sagan มีอิทธิพลต่อพวกเขาอย่างปฏิเสธไม่ได้ รวมถึงการที่ผมได้เจอกับนักคิดอย่าง Ariel Ekblow และ Maggie Coblentz ที่เป็นผู้นำสำคัญของกลุ่ม Space Initiative ที่หวังจะ Democratize การเข้าถึงอวกาศ เพื่อเปิดมุมมองให้อวกาศไม่จำกัดอยู่แค่ นักบินอวกาศ หรือวิทยาศาสตร์ แต่เป็นพื้นที่ของนักคิด ศิลปิน นักปรัชญา นักภาษาศาสตร์ ซึ่งในงานผมก็ได้เจอกับ Marc Okrand ที่ถ้าพูดชื่อเราอาจจะไม่คุ้น แต่ถ้าบอกว่า เขาเป็นคนที่ออกแบบภาษา Klingon ในจักรวาล Star Trek เราก็คงตื่นเต้นไม่น้อยว่าเขาคิดบนฐานอะไร หรืออย่าง Max Tegmark เจ้าของหนังสือที่อธิบายอนาคตของมนุษย์อย่าง Life 3.0 ก็ยิ่งทำให้ผมอินกับแนวคิดที่เรียกว่า “Anti-disciplinary” มากกว่าที่เคย

อ่าน – เราไม่ได้สำรวจอวกาศเพื่อทิ้งโลก แต่เพื่อดูแลกันได้ดีขึ้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในจักรวาล

โลกของวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และปรัชญา และ Anti-disciplinary

น่าเศร้าที่ในประเทศไทย เรายังคงติดภาพการแบ่งศาสตร์ต่าง ๆ ออกเป็นสาขาต่าง ๆ ทำให้เรายังคงเรียนกับแบบ สายวิทย์ สายศิลป์ ซึ่งแน่นอนว่าก็ยังถูก Stereotype ว่าเด็กจบมาต้องไปทำอะไร เรื่องของอวกาศไม่ต้องพูดถึงถูกมองว่าไกลตัวแน่ ๆ แต่จริง ๆ แล้ว ต้องบอกว่าโลกของเราไม่ได้ถูกแบ่งมาโดยสายวิทย์หรือสายศิลป์ตั้งแต่แรก หรือแม้กระทั่งปริญญาและระบบการศึกษา ทั้งหมดนี้ ถูกสร้างขึ้นมาในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrail Revolution) ที่โลกต้องการแรงงานจำนวนมาก ทำให้เกิดแนวคิดแบบ Mass Production และคำว่า Mass ก็ถูกสร้างขึ้นมา ณ ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็น Mass Media, Mass Communication ที่พอคนจากท้องถิ่นต้องมาทำงานในสังคมเมือง (Urbanization) ก็ต้องสร้างความบันเทิงมา Serve คนเหล่านี้ และที่สำคัญต้องทำให้คนเหล่านี้ชอบอะไรเหมือน ๆ กัน เลยเกิด Pop(ular) Culture ขึ้นมา หรืออย่าง Mass Education การจับเอาคนจำนวนมากมาสร้างหลักสูตรรองรับและมอบใบปริญญาเพื่อบ่งบอกว่าผู้คนเหล่านี้พร้อมจะถูกป้อนสู่อุตสาหกรรม

แต่ถ้าเราไปดูนักคิดสมัยก่อน ตั้งแต่ยุคกรีก การตั้งคำถามกับธรรมชาติ สร้างศาสตร์ที่เรียกว่าปรัชญาขึ้นมา คำถามว่าทำไมพระอาทิตย์ต้องขึ้น ทำไมเราถึงหิว มนุษย์เกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน ทำไมน้ำไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ บนท้องฟ้ามีอะไร เราบินไปดวงอาทิตย์ได้หรือไม่ ซึ่งพวกนี้ทำให้เกิดการพูดคุย ถกเถียง และเกิดเป็นคำว่า φιλοσοφία หรือ philosophia ที่มีรากมาจากคำสองคำ คือคำว่า philos ที่แปลว่าความรัก และ sophia ที่แปลว่าความรู้ รวมกันเป็น ความปรารถนาที่จะเข้าถึงความรู้ หรือความรักในปัญญา นั่นเอง

โสเครติส และเพลโต กำลังถกเถียงปรัชญา

ดาราศาสตร์ คือหนึ่งในศาสตร์ที่ทำให้มนุษย์ตั้งคำถามมากที่สุด การเฝ้ามองท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว มีอะไรอยู่บนนั้น ? เราจะขึ้นไปหามันได้ไหม Mythology ได้เล่าเรื่องของ Icarus ชายผู้อยากจะบินให้สูงถึงดวงอาทิตย์ และเรื่องเล่าอื่น ๆ ที่เป็นนิทานแห่งชีวิตที่เป็นคติข้อคิดให้กับมนุษย์ ทำให้ในยุคนั้นมนุษย์ถูกสร้างให้คิดและเป็นผู้สังเกต

นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวเปรียบเปรยว่า ad astra (สู่ดวงดาว) ปรากฏในงานเขียน งานวรรณกรรม ในแต่ละวัฒนธรรม อันตรงกันอย่างน่าประหลาด และที่โด่งดังที่สุดก็คือ ad astra per aspera ที่แปลว่า “หนทางสู่ดวงดาวนั้นไม่ง่ายนัก” แต่ก็แปลได้อีกเช่นกันว่า “เพราะเส้นทางที่ยากลำบากจะพาเราไปสู่ดวงดาว” ซึ่งในอดีตพวกเขาแค่มองท้องฟ้า แต่ก็ฝันที่จะโบยบินขึ้นไปหาสิ่งที่พวกเขาเฝ้ามองมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ​

จนแม้กระทั้งยุคที่มนุษย์หยุดตั้งคำถาม คือยุคมืด ที่กินระยะเวลานานเกือบพันปี โลกที่ไม่มีการคิดค้นวิทยาการใหม่ แต่เต็มไปด้วยสงครามและความเชื่อ แสงสว่างแห่งปัญญากลับมารุ่งเรืองในยุคที่ถูกเรียกว่า เรเนซองส์ หรือ “การเริ่มใหม่” แม้นักคิดผู้ตั้งคำถามและไม่สยบต่อแนวคิดอำนาจนิยมหรือศาสนาส่วนมากในยุคนั้นจะถูกประหารหรือจับขังคุก แต่เรื่องราวที่เป็นตำนานเล่าขนานอย่าง Eppur si muove ที่เป็นเรื่องเล่าว่าตอนที่กาลิเลโอถูกศาสนจักรบังคับให้บอกว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เขากระซิบต่อตามว่า แต่โลกก็ยังโคจร (รอบดวงอาทิตย์) อยู่ดี

อ่าน – Eppur si muove แต่โลกก็ยังโคจรต่อไป ไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล

นั่นทำให้ในอดีต มนุษย์สามารถมีปัญญาและแก้โจทย์ที่ซับซ้อนของธรรมชาติได้หลายต่อหลายครั้ง รวมถึงคำถามต่อธรรมชาติอย่างเราเกิดมาทำไม และเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีตัวตนอยู่ นักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาชื่อ เรอเน เดการ์ต เป็นผู้เสนอแนวคิดว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” หรือ Cogito ergo sum หมายความว่าการที่เราคิดได้ คือสิ่งที่บ่งบอกว่าเรานั้นมีตัวตนจริง ๆ

จนสุดท้ายเราก็พัฒนาสานต่อองค์ความรู้มาเรื่อย ๆ จนไอแซก นิวตัน กล่าวไว้ว่า ที่เขาเห็นได้ไกลก็เพราะว่าเขายืนอยู่บนบ่าของยักษ์ใหญ่ คำพูดที่โด่งดังนี้แสดงถึงการเล่าเรื่องต่อกัน ดังนั้นการทำลายล้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือการทำลายเรื่องราว บันทึก ความรู้ ที่เราส่งต่อมันมาแต่อดีต ถ้าพูดกันในบริบทของประเทศไทย มันก็คือการที่เราไม่ยอมรับความจริงและเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือเรื่องราวความสูญเสียต่าง ๆ ที่ไม่ถูกนำมาถกเถียงกันในสังคม ซึ่งสิ่งนี้คือเหตุผลเดียวกับที่ทำให้มนุษย์เข้าสู่ยุคมืด

สถานีอวกาศในภาพยนตร์เรื่อง Interstellar ที่มนุษย์อยู่ระหว่างการเดินทางเพื่อหาดาวดวงใหม่ เรื่องราวของตระกูล Cooper ถูกเก็บรักษาไว้ในบ้านที่เป็นเหมือนมิวเซียมให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

เมื่อมาถึงตรงนี้ เราก็น่าจะเห็นแล้วว่าการส่งต่อความรู้ และการเก็บรักษาองค์ความรู้ของมนุษยชาตินั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ และทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ ดังนั้นในอนาคต วันที่มนุษย์ต้องเดินทางท่องอวกาศ ล่าสุดถ้าจำกันได้ ผมเคยได้มีโอกาสสัมภาษณ์ท่านผู้หญิง Jocelyn Bell Burnell นักดาราศาสตร์เอกของโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ เธอบอกว่าวันหนึ่ง มนุษย์อาจจะต้องเดินทางไปยังดวงดาวที่ห่างไกล เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ และการเดินทางนั้นจะต้องใช้ระยะเวลานานหลายพันหลายหมื่นปี สิ่งที่เราต้องนำไปก็คือความรู้ของมนุษยชาติ DNA ของสัตว์และพันธุ์พืชต่าง ๆ เพื่อที่ว่าเมื่อเราไปถึง เราจะได้ปลุกทุกอย่างกลับขึ้นมา

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ถูกพูดโดยนักวิทยาศาสตร์เอกของโลกมากมาย ตั้งแต่ Max Tegmark ที่ผมเคยได้โชคดีเจอตัวเป็น ๆ ที่ MIT และ Stephen Hawking ที่จากเราไปก่อน

อ่าน – จงฝากรอยเท้าไว้ในจักรวาล และฝากความคิดไว้ในความทรงจำ เพื่อชีวิตอันเป็นนิรันดร์

เพราะการบันทึกเรื่องราวคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นเรา

ดังนั้นนอกจากปรัชญาที่แฝงอยู่ในวิทยาศาสตร์แล้ว ตัวเนื้อแท้ของวิทยาศาสตร์คือการตั้งคำถามว่าทำอย่างไรเราจึงจะสามารถเก็บข้อมูล ความรู้ของมนุษยชาติให้ได้ตราบนานเท่านาน เพราะแม้ว่าข้อมูลจะอยู่ในรูปแบบไหน มนุษย์ (ในอนาคต) ย่อมจะสามารถหาทางที่จะถอดกลับมาได้อยู่ดี เหมือนกับบันทึกโรเซตตาในอดีต

การจะสร้างบันทึกที่สามารถรวบรวมองค์ความรู้ของมนุษยชาติได้ แน่นอนว่ามาถึงจุดนี้ ไม่ใชแค่เรื่องของศาสตร์ศาสตร์เดียวอีกต่อไป แต่ต้องเป็นการหลอมรวมเอาทุกแขนงศิลปะวิทยาการมาเป็นตัวแทนของมนุษย์ นั่นรวมถึงศิลปะ วิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ดนตรี และสิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์สรรสร้างขึ้นในเวลาหลายพันหลายหมื่นปี

สุดท้าย MESSE จึงเป็นการศึกษาเทคโนโลยีที่เรียกว่า DNA Storage คือการบันทึกข้อมูลลงใน DNA โดยอาศัย “สิ่งมีชีวิต” เป็นตัวบันทึก การเก็บข้อมูลลงในชีวิตนั้นมั่นใจได้ว่าชีวิตจะพยายามที่จะเอาตัวรอด และส่งต่อพันธุกรรมนั้น ๆ ไปเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน เรายังสามารถเก็บ DNA ในลักษณะของการแช่แข็ง เหมือนกับในหนังเรื่อง Jurassic Park ที่เราสามารถศึกษา DNA ของสัตว์โบราณที่ถูกเก็บรักษาไว้ในอำพัน นั่นหมายความว่า ถ้าสิ่งที่ท่านผู้หญิง Burnell พูดไว้เป็นจริง เราก็จะสามารถใช้ DNA ในการเก็บข้อมูลและแช่แข็งไว้ในยานอวกาศ เพื่อรักษาองค์ความรู้ของมนุษยชาติได้

เติ้ล พร้อม และปั๊บกำลังลุ้นผลการทำ Gel electrophoresis

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จากหลาย ๆ สำนักก็ได้ศึกษาและสร้าง DNA Storage แต่เราใช้วิธีที่แตกต่างกันออกไป ด้วยการทดลองเก็บบันทึกโน้ตดนตรีสากล ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของข้อมูลที่มนุษย์สร้างขึ้น และแสดงถึงศิลปะ การมองโลก และสัญญะอื่น ๆ ได้อย่างดี

ทำไมต้องความฝันกับจักรวาล

จริง ๆ แล้วเพลงความฝันกับจักรวาลเป็นเพลงที่ไม่ใช่แค่ผมและ กร ชื่นชอบกันมานานแล้ว ย้อนกลับไปตอนที่เราไปถ่ายงานบั้งไฟกันที่จังหวัดอุบลราชธานี เราก็ได้เจอกับพี่ตูน บนเครื่องบิน และก็ได้มอบเสื้อ Spaceth ให้พี่ตูนไป พร้อมเล่าเรื่อง Spaceth ให้ฟัง ตอนนั้นเรายังคุยกันเล่น ๆ ว่าถ้าได้ร่วมงานกับพี่ตูนซักครั้งก็คงดี ผ่านไปปีกว่า ๆ โชคดีที่เราได้กลับมาคอนเนกกันอีกครั้งผ่านพี่ไก่ ณฐพล บุญประกอบ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน Music Video และภาพยนตร์ของ Bodyslam มาหลายชิ้น และเกิดไอเดียว่าเราอยากนำเพลงที่มีความเกี่ยวข้องกับปรัชญาการมีชีวิตอยู่ และความพยายามในการก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ ที่คนหนึ่งคน หรือมนุษยชาติจะเจอ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต (ที่ผมเล่ามาตั้งแต่ต้นทั้งหมด) และเพลงที่จะเหมาะสมไปกว่านี้ก็คงไม่มี ถ้าไม่ใช่เพลง “ความฝันกับจักรวาล”

ภาพถ่ายกับพี่ตูนของเติ้ลและกรเมื่อปี 2019

“เหมือนเป็นดั่งคุกสีคราม กลางท้องฟ้าที่มืดมิด” คือท่อนที่ตรงกับที่ Carl Sagan บอกเอาไว้ว่าทุกคนต้องอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ นักการเมืองผู้คดโกง นักบุญที่สูงส่ง คนรวย ยาจก ต่างถูกจองจำไว้ที่นี่ และ ณ ปัจจุบันไม่มีใครที่เคยออกไปได้ไกลกว่านี้อีกแล้ว

ความฝันและจักรวาลเป็นเพลงที่กล่าวถึงผู้สร้าง ผู้สร้างที่เราจะตีความเป็นเชิงศาสนาหรือในเชิงปรัชญาหรือวิทยาศาสตร์ก็ได้ สำหรับเรา เราไม่อาจหลุดพ้นจากความจริงที่เป็นอยู่ “แต่อย่างน้อยใครคนนั้นก็ยังคงเหลือไว้ซึ่งความฝัน อาจยังเมตตาหัวใจอ่อนล้า” เป็นการบอกเนื้อหาหลักของเพลง แม้เราจะถูกจองจำอยู่ในคุกสีคราม มีชีวิตที่ต้องเล่นตามบทจากฟ้ากำหนดไว้ แต่สิ่งที่เรามี (และมีมาตลอด และจะมีไปตลอดกาล) ก็คือความฝัน ความฝันที่เราจะเข้าใจธรรมชาติ และให้เราก้าวต่อไป และมีชีวิตต่อไปในแต่ละวัน

“บอกกับฟ้าหนึ่งคนนี้จะใช้ชีวิตให้มีความหมาย โปรดยังเมตตาให้ดาวพร่างพรายส่องนำทางชีวิตเมื่อยามทุกข์ทนเดียวดายให้มีความหมาย หากหนึ่งชีวิตมืดมนแค่ไหนค่ำคืนยังมีความฝัน” ท่อนนี้สำหรับเราคือ Cogito ergo sum เพราะฉันคิด ฉันจึงมีชีวิต และชีวิตของฉันอยู่ได้ด้วยความฝัน และดวงดาวบนท้องฟ้าจะเป็นแสงให้กับชีวิต นำทางมนุษย์เสมอเหมือนที่มันเคยทำมา

“ทุกคืนในคุกสีครามเพียงความฝันก็สุขใจ”

แผ่นภาพและสัญญะของ MESSE

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของ แผ่นภาพที่ถูกวาดไว้บน Instrument ที่ถูกส่งขึ้นไปยังอวกาศเพื่อทดลองในภารกิจ MESSE ภาพนี้ถูกถอดแบบมาจากงาน Vitruvian Man ของลิโอนาร์โด ดา วินชี นักคิดที่มีอิทธิพลมากคนหนึ่งในยุคเรเนซองส์

ภาพนี้แสดงถึง 3 สิ่งสำคัญที่เราให้มันแทน ได้แก่ ความเป็นนักคิด, ความอ่อนน้อมถ่อมตน, และความพยายามในการผลักดันกรอบแห่งการค้นพบของมนุษย์ โดยสายตามองขึ้นไปยังดวงจันทร์ และดาวอังคาร อันเป็นเป้าหมายการสำรวจต่อไปของมนุษย์ ณ ตอนนี้ (Spaceth กำลังผลักดันและเป็นตัวแทนของ Moon Village Asscociation ประจำประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจด้าน Moon Economy) นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์ของ DNA และสัญญาณ Analog Waveform ตัวแทนของการเก็บข้อมูลลงใน DNA Storage ที่บันทึกว่าภาพนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร

เรายังได้เลือกคำสองคำที่เราได้เล่าถึงที่มาของมันไปแล้วก็คือ Cogito ergo sum เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่ ไว้ที่ฐานของภาพ เพื่อบอกว่าฐานคิดของเราคือปรัชญา และ Ad Astra Per Aspera อยู่เบื้องบน ล้อตามที่ Stephen Hawking เคยพูดไว้ว่า ให้แหงนมองดวงดาวไม่ใช่ก้มมองเท้าของตัวเอง

ภาพสะท้อนของสังคมไทยในการทำงานอวกาศและเยาวชนไทย

นอกจากการตั้งคำถามต่อมนุษยชาติโดยรวม และการฝากความหวังถึงอนาคตของมนุษยชาติแล้ว การทำงานอวกาศในไทยทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง ในวันที่เราไปที่มหาวิทยาลัยนเรศวร อาจารย์ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร ได้พาให้เราไปเจอกับอาจารย์ บุรินทร์ กำจัดภัย ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงท้าย ๆ ที่อาจารย์ตัดสินใจลาออกจาก IF – Institute for Fundamental Study ซึ่งทำให้เราได้พูดคุยกับผลงานวิจัยชิ้นใหม่ ที่ใช้ศาสตร์ของเทอร์โมไดนามิกในการอธิบายกลไกความซับซ้อนของเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ข้ามศาสตร์อย่างน่าทึ่ง อาจารย์บุรินทร์ลาออกจากความเหนื่อยล้าในการผลักดันการศึกษา ในลักษณะของ Academia (ซึ่งตกทอดมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณอย่างที่เราเล่าไป) และกำลังอยู่ระหว่างตั้งสำนักอีกแห่งที่หวังจะให้เป็น Academia ที่ศึกษา ปรัชญาธรรมชาติ (Natural philosophy) ในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ แบบที่เราเล่าไปด้านบน ซึ่งผมก็เชื่อว่าการพูดคุยกันในวันนั้น เราต่างเป็นความหวังให้กันไม่น้อย ระหว่างความฝันของคนสองวัย และความรักในความรู้ที่เราต่างมี

อาจารย์บุรินทร์ กำลังอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างเทอร์โมไดนามิกกับเศรษฐศาสตร์

ผมเองเชื่อว่ายังมีผู้ที่หลงใหลและรักในความรู้อีกหลายคน ที่อาจถูกบีบให้อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ถ้าเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะนักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา ศิลปิน ผู้คิด ผู้สร้าง ผู้รักในความรู้เหล่านี้ก็ต่อสู้มาไม่น้อย และตามที่กล่าวไว้ Ad Astra Per Aspera หนทางที่ยากลำบากจะนำทางเราไปสู่ดวงดาวเสมอ แม้เส้นทางนี้จะไม่ง่ายนัก แต่ความรักในความรู้ ความฝันกับจักรวาลนี้ จะพามนุษยชาติเดินไปข้างหน้าเสมอ

ในขณะเดียวกัน กระแสของเยาวชนไทยที่ตั้งคำถามต่อการเรียนในระบบ ก็ยิ่งทำให้เรามีความหวังในการมองไปข้างหน้าถึงอนาคตของรูปแบบการศึกษาที่ดียิ่งขึ้นเช่นกัน มีเรื่องตลกตรงที่สำนักข่าวฝ่ายขวา พยายามหยิบยกการที่นักเรียนเจ้าของโครงการ BCC-Sat ดาวเทียม Cubesat โดยเด็กมัธยมดวงแรกของไทยใช้เวลาไปกับการพัฒนาว่าดีกว่ากลุ่มเด็กที่ไปม็อบและเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง เรื่องนั้นจบลงตรงที่ว่าในงาน Party ที่เรานัดดูการปล่อยภารกิจ MESSE กัน นีโอ หนึ่งในแกนนำของนักเรียนกลุ่มที่ไปประท้วง ซึ่งเป็นแฟนของปั๊บ นักเขียนประจำ Spaceth ผู้พัฒนาอัลกอริทึมในการแปลงโน้ตดนตรีไปเป็น DNA ก็ได้ชวนบุ๊ค (และทีมที่ทำ BCC-Sat) มางานของเราด้วย ซึ่งมันทำให้เห็นว่า เด็กพวกนี้มันกลุ่มเดียวกัน มันเป็นเพื่อนกัน และมันก็ไปม็อบเหมือนกันนั่นแหละ

MESSE จึงไม่ใช่แค่การทดลอง แต่มันคือความรักต่อความรู้ของเรา

สุดท้ายแล้ว เราอยากให้ทุกคนมองว่า MESSE นั้นไม่ใช่แค่งานวิจัยงานหนึ่งที่ทำแล้วจบ ไม่ใช่แค่การได้รับโอกาสก็เลยหาอะไรทำ ไม่ใช่แค่การส่งเพลงขึ้นไปเท่ ๆ หรือเรียกร้องกระแส แต่มันคือตัวแทนของ ฟิลอส และโซเฟีย ของพวกเรา ที่ไม่ใช่แค่ Spaceth หรือ Freak Lab แต่เป็นเหมือนบันทึกการเดินทางของผู้ที่หลงรักในความรู้ และความหวังที่จะรักษาความรู้ของมนุษยชาติ และความเคารพต่อธรรมชาติผ่านการศึกษาปรัชญา และการตั้งคำถาม โดยอาศัยความฝัน ความหวัง เป็นหนทางให้เราเดินหน้าต่อไปในจักรวาลมืดมน ที่ค่ำคืนจะมีดวงดาวส่องนำทางเสมอ

“ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน”
“ดอกไม้จะบาน บริสุทธิ์กล้าหาญจะบานในใจ”
“จะฝ่าลมแรงด้วยแรงท้าทาย สู่จุดหมายที่ไกลลิบตา”
“จะขอเป็นนกพิราบขาว เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี”

อ่านคอนเทนต์ชุด MESSE
1U ตัวเลขมหัศจรรย์ จุดเริ่มต้นในการทำงานอวกาศ บนพื้นที่ 10x10x10 เซนติเมตร
DNA Storage อนาคตของการเก็บข้อมูล เยอะกว่าล้านเท่าตัว ซับซ้อนด้วยกลไกของชีวิต
เขียนโปรแกรมให้ชีวิตด้วย Synthetic Biology รู้จัก Gibson Assembly ในภารกิจ MESSE
ปรัชญา อวกาศ เรเนซองส์ ความฝันกับจักรวาล และความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในภารกิจ MESSE

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.