ลำดับเหตุการณ์ความขัดแย้งด้านอวกาศ ที่ใหญ่ที่สุดนับจากยุคสงครามเย็น

ก็คงเป็นที่ทราบกันดีถึงประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดของสังคมโลกในช่วงเวลานี้อย่างการบุกยูเครนของรัสเซีัยที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาจนส่งผลกระทบไปทั้งหลายด้านไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก ด้านสังคมและด้านความมั่นคงของโลก ถึงขนาดที่ United Nation ได้มี การจัดประชุมสมัชชาใหญ่วาระฉุกเฉิน (UN General Assembly Emergency Special Session) ครั้งแรกในรอบ 30 ปี ไปจนถึงด้านกิจการอวกาศที่กระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือต่าง ๆ กันทั้งวงการไม่ว่าจะเป็นฝั่งรัสเซียเอง ฝั่งยุโรป รวมไปถึงฝั่งสหรัฐอเมริกา

แนะนำให้อ่านบทความ ความร้าวฉานในกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียต ที่สะท้อนผ่านโครงการอวกาศ ซึ่งเป็นบริบทก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ จะได้เข้าใจว่ารัสเซียกับยูเครนมีความสัมพันธ์ในโครงการอวกาศกันอย่างไร และรัสเซียทำอะไรไว้กับชาติอดีตสหภาพโซเวียตบ้าง

ซึ่งเราก็ได้รายงานความคืบหน้าของเหตุการณ์ตามช่องทางต่าง ๆ และได้เขียนสรุปภาพรวมของเหตุการณ์และความเป็นได้อย่างคร่าว ๆ (ตามบริบทเมื่อประมาณสัปดาห์ก่อน แต่ก็ยังไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากนี้มากนัก) ซึ่งสามารถตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ความสัมพันธ์ทางอวกาศภายใต้วิกฤตการณ์ยูเครน

ส่วนในบทความนี้จะมาเจาะลึกกันที่ไทม์ไลน์ความเคลื่อนไหวของแต่ละฝ่ายกัน (โดยจะเห็นได้ชัดมากจากในทวิตเตอร์ที่มีอัพเดต + มีการโควตตอบโต้กันไปมาแบบเร็วมาก ๆ)

24 กุมภาพันธ์ เมื่อเกิดการเลือกฝั่งอย่างชัดเจน

จุดเริ่มต้นที่น่านำมาเล่ามากที่สุดของเหตุการณ์นี้คือในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งในภาพรวมก็คือวันที่รัสเซียสั่งกองทัพบุกเข้าไปในยูเครนหลังจากที่ตั้งหลักไว้ที่ชายแดนเป็นเวลาเกือบหลักเดือน บุคคลสำคัญของวงการที่เริ่มออกตัวอย่างรุนแรงคือ Dmitry Rogozin ผู้เป็นผู้อำนวยการของ Roscosmos คนปัจจุบัน ซึ่งต้องเรียกว่าเป็นคนที่โปรรัสเซียสุด ๆ และเป็นคนที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับฝ่ายบริหารของรัสเซียแและปูตินเอง

Rogozin ได้ออกมาโควตโต้ตอบทวิตเตอร์ของสถานทูตอเมริกาในรัสเซียที่บอกให้ระวังข้อมูลที่ผิดเพี้ยนของเครมลินที่จะ justify การไปบุกรัสเซีย โดยได้ระบุไว้สามข้อว่ารัสเซียไม่ได้กำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่ได้บุก Donetsk และ Luhansk (บริเวณของยูเครนเก่าที่ประกาศแยกตัวออกและรัสเซียรับรองให้) และยูเครนไม่ได้ก่อการร้าย (ตามที่รัสเซียเคลม) ซึ่ง Rogozin ก็ได้ออกมาตอบโต้ (ด่า) กลับสั้น ๆ (แปลจากทวิตเตอร์) ว่า Well, guys, did Hitler help you? พร้อมกับโพสต์ภาพของคนยูเครนหัวรุนแรงถือธงนาซี

หมายเหตุ: ใครที่ไม่เข้าใจ context อาจจะงงนิดนึง หนั่งในข้ออ้างที่รัสเซียบุกยูเครนคือรัสเซียจะทำการ Denazification (ล้มล้างระบบนาซี) ออกจากยูเครนให้ (เป็นเหตุผลว่าทำไมมีการอ้างถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยฝั่งรัสเซีย) โดยได้ยกพวกหัวรุนแรงนี้มาเป็นข้ออ้าง ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกนี้มีอยู่จริง ๆ แต่ก็ถือเป็นจำนวนที่เล็กน้อยมากและไม่ได้มีอิทธิพลกับการกระทำของยูเครนอย่างการบุกไปที่อื่นหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งก็ไม่สามารถใช้อ้างความถูกต้องให้รัสเซียในการบุกยูเครนได้ตามความเป็นจริง (แต่รัสเซียก็ยังยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดอยู่เรื่อย ๆ รวมไปถึง Address ในการประชุมสมัชชาใหญ่วาระฉุกเฉินตามที่ได้บอกไว้ในเกริ่นนำ)

25 กุมภาพันธ์ เริ่มการทำ Sanction

สิ่งที่น่าสนใจในวันนี้คือฝั่งสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ออกแถลงการ Sanction รัสเซีย (อย่างรวม ๆ ) โดยส่วนที่พูดถึงกิจการอวกาศจะพูดในเชิงงดการส่งออกเทคโนโลยีให้รัสเซีย งดความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบต่อตัวรัสเซียเองมากกว่า แต่ก็ไม่ได้มีการพูดว่าความร่วมมือด้านอวกาศระดับชาติของทั้งสองประเทศจะเป็นอย่างไร

ทางด้าน Rogozin ได้ออกมาตอบกลับเป็น Thread ทวิตเตอร์ (ที่ยาวมาก ๆ ) สรุปเรื่องของความสัมพันธ์อวกาศหลายอย่างและแง่คิดจากทางฝั่งรัสเซีย ซึ่งก็มีประเด็นนึงที่ถูกนำมาพูดถึงกันอย่างแพร่หลายคือการที่รัสเซียได้ออกตัวว่าเป็นคนที่ควบคุม thruster ของสถานีอวกาศนานาชาติ (ก็จริงของเค้า – Thruster ของ ISS ถูกควบคุมโดยยานอวกาศของทางฝั่งรัสเซีย) เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีรัสเซียมันก็อาจจะตกที่ไหนก็ได้ ซึ่งหลายคนก็มองว่าเป็นการขู่ที่รุนแรงมากกว่าแค่การแถลงทั่วไป

ยาน Progress ยานอวกาศของรัสเซียที่ปกติจะถูกใช้ในการบูส ยกระดับวงโคจรให้กับสถานีอวกาศนานาชาติ

ประเด็น ISS เป็นอะไรที่น่าสนใจมากอย่างหนึ่งเพราะมันเป็นโปรเจกต์ที่ทั้งสองประเทศเหมือน “ถูกล่าม” ติดกันไว้ การดำเนินการณ์อะไรเกี่ยวกับ ISS หลังจากนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าตอดตามมากประเด็นหนึ่ง อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ความสัมพันธ์ทางอวกาศภายใต้วิกฤตการณ์ยูเครน

ตัดภาพมาที่ฝั่งยุโรปบ้าง ทางฝั่งยุโรป (EU) ก็ประกาศ Sanction รัสเซียเหมือนกัน แต่ก็คล้ายคลึงกับของฝั่งสหรัฐอเมริกาที่พูดถึงเรื่องพวกเศรษฐกิจเป็นหลักแต่ไม่ได้กล่าวใน Sanction ตรง ๆ ว่าความสัมพันธ์ของหน่วยงานอวกาศของ EU อย่าง ESA กับรัสเซียอย่าง Roscosmos จะเป็นอย่างไรต่อไป

ยานสำรวจดาวอังคาร Rosalind Franklin ในโครงการ ExoMars 2022 ที่ ESA ร่วมมือกับ Roskosmos

แต่หลังจากนั้นไม่นาน Josef Aschbacher ผู้อำนวยการของ ESA ก็ได้ออกมาชี้แจงว่าความร่วมมือระหว่าง ESA และ Roscosmos จะยังคงดำเนินต่อไปอยู่ ซึ่งก็รวมถึงบน ISS และ ExoMars ที่เป็นความร่วมมือไปสำรวจดาวอังคารที่สำคัญ (และเป็นประเด็นร้อนแรงจาก launch window ไปยังดาวอังคารที่เหมือนเป็น deadline ของโครงการ ที่ถ้าไม่รีบเคลียร์ตอนนี้ก็ต้องรออย่างน้อยอีกสองปีเลย)

26 กุมภาพันธ์ รัสเซียและยุโรปแตกกันอย่างเป็นทางการ

แต่ก็เป็นฝั่ง Roscosmos เองที่ ออกมาประกาศตัดความสัมพันธ์กับ ESA เอง โดยได้สั่งให้คนรัสเซียที่ทำงานร่วมมือกับยุโรปอยู่ที่ Guiana Space Center ใน French Guiana กลับประเทศ หลังจากนั้นไม่นาน Euromean Commission ก็ออกมา แถลงการณ์ ว่าการกระทำของรัสเซียครั้งนี้จะไม่ส่งผลกับการดำเนินงานของโปรเจกต์ Galileo และ Copernicus (สองโครงการดาวเทียมของทางฝั่งยุโรป) โดยจะดำเนินการพัฒนา Ariane 6 และ Vega-C (จรวด launch vehicle) ต่อไป

ฐานปล่อยในเกียนา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ESA และรัสเซียเนื่องจากบริษัท Arianespace ได้มีสัญญาการซื้อจรวด Soyuz จากฝั่งรัสเซีย ทำให้วิศวกรรัสเซียบางส่วนจะต้องเข้าไป Service ที่ฐานปล่อยด้วย

อีกประเด็นนึงที่ไม่เกี่ยวกันจากทางฝั่ง Roscosmos คือหน่วยงานได้ออกมาประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่ากำลังโดน DDoS แต่รู้แล้วว่าใครทำ และกำลังจะเร่งประสานงานกันภาครัฐต่อไป (แถลงการณ์แอบคุ้น ๆ คล้าย ๆ ที่ประเทศแถวนี้ของทำเลยแฮะ)

27 กุมภาพันธ์ Rogozin ให้สัมภาษณ์โจมตีครั้งใหญ่

Rogozin ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เพิ่มเกี่ยวกับสถานการณ์ โดยได้ออกมาพูดถึง action กับการร่วมมือประเทศต่าง ๆ อย่างเรื่องการยุติโครงการร่วมมือกับเยอรมัน หรือการจะเลิกส่งจรวดให้สหรัฐกับยุโรป รวมถึงการอวยจีนอีกนิดหน่อยรายละเอียดไปอ่านได้ในโพสต์ Facebook รัสเซียเล่นหนักตัดโครงการอวกาศกับชาติพันธมิตร

บริษัทอวกาศใหญ่อย่าง SpaceX เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในวันนี้จากการที่ Mykhailo Fedorov รัฐมนตรีกระทรวง Digital Transformation ได้ออกมาขอให้ Elon Musk สนับสนุน Starlink ให้ เพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ประเทศเริ่มล่มไปเรื่อย ๆ แล้ว ซึ่ง ELon ก็ได้ออกมาบอกว่าจะส่งตัวรับไปให้

28 กุมภาพันธ์ ESA ออกแถลงตอบโต้

จริง ๆ ในวันที่ 28 Rogozin จะมี teleconference กับ Aschbacher เพื่อพูดคุยถึงความสัมพันธ์กับ ESA แต่ก็ถูก ESA ยกเลิกไป ซึ่งหลังจากนั้นภายในวันเดียวกัน ESA ก็ได้ออกมาแถลงว่าได้มีการประชุมกับชาติสมาชิกแทน และได้ออก แถลงการณ์ ออกมา โดยหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือโครงการ ExoMars อาจจะถูกเลื่อนไปก่อน และทาง ESA กำลังจัดการกับเรื่องนี้อยู่

อ่านรายละเอียดได้จากโพสต์ เจรจา ESA และ Roscosmos ล่ม ล้มหลายโครงการ

โครงการ Axiom Space ที่จะเป็นการใช้พื้นที่สถานีอวกาศนานาชาติในอนาคต

ฝั่งสหรัฐอเมริกา NASA ได้มีการจัดงานแถลงข่าวร่วมกับ Partner อย่าง Axiom Space ภายหลังจากการแถลงข่าวแล้ว ได้มีการเปิดให้ถามคำถาม ซึ่ง Eric Berger นักเขียนจาก Ars Technica ก็ได้ออกมาถามถึงประเด็นเรื่องความสัมพันธ์อวกาศกับรัสเซีย

อ่านบทความเกี่ยวกับโครงการ Axiom ได้ที่ Axiom แบบสถานีอวกาศเอกชนแห่งแรกสำหรับนักท่องเที่ยว ที่พร้อมก่อสร้างปี 2024 นี้

คำถามนี้ Kathy Lueders ผู้เป็น Associate Administrator ฝ่าย Space Operations ของ NASA ได้ออกมาคนชี้แจง แต่ก็ไม่ได้มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจนักนอกจากยังคงร่วมมือกันอยู่อย่างปกติ และก็ moniter สถานการณ์ไปเรื่อย ๆ

1 มีนาคม รัสเซียตัดกำลังชาติตะวันตก

ฝั่งรัสเซียบอกว่า จะไม่ช่วยเหลือเรื่องเครื่องยนต์ RD-180 ให้กับสหรัฐฯ อีกต่อไป แล้วก็โม้อีกนิดหน่อยว่าจากความช่วยเหลือของรัสเซียทำให้การทำงานที่ผ่านมาราบรื่นไปได้ด้วยดี แต่หลังจากนี้ไม่ได้รัสเซียช่วยก็คง screw up แหละ

หมายเหตุ: เครื่องยนต์ RD-180 เป็นเครื่องยนต์ที่ถูกใช้ในจรวด Atlas V ของ ULA แต่จรวดรุ่นนี้ก็กำลังจะเลิกใช้ใน 24 ไฟลท์ (ซึ่งก็ถูก book ไว้หมดแล้ว) และทางรัสเซียก็ส่งเครื่องยนต์ที่ต้องใช้สำหรับประกอบจรวดทั้ง 24 ไฟลท์มาครบแล้วตั้งแต่ก่อนหน้านี้

ก็ได้ มีคนทวีตไปถาม Tory Bruno CEO ของ ULA (เยอะมาก) ถึงเรื่องนี้ แต่ก็ได้คำตอบประมาณว่าก็โอเคแหละ อีกประเด็นหนึ่งจากฝั่ง Roscosmos ในวันนี้คืองานหน่วยงานได้ออกมา บอกว่าตัวเองได้ permission สำหรับการดำเนินการของ ISS ถึงแค่ปี 2024 เท่านั้น เรื่องความตกลงเรื่องความหลังจากนี้ยังคลุมเครืออยู่ นอกจากนั้น Fedorov ได้ทวีตบอกว่า Starlink ที่เขาขอ Elon เอาไว้มาถึงยูเครนแล้ว

จานรับสัญญาณดาวเทียม Starlink จำนวนมากที่ถูกขนส่งด่วนมายังยูเครน

และ Loren Grush นักเขียนด้านอวกาศจาก The Verge ก็ได้ออกมาบอกว่าเหมือนว่า สงครามอวกาศครั้งนี้จะสู้กันบนทวิตเตอร์ แล้วแหละ (ก็ทุกฝ่ายเล่นทวิตกันรัว ๆ จะขนาดนั้น)

2 มีนาคม รัสเซียเริ่มยึดดาวเทียม One Web เป็นตัวประกัน

Bill Nelson ผู้อำนวยการ NASA ได้มีการพูดถึงการ รับรู้ประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้มีการเมนชั่นชื่อ หรือ action อะไรนอกเหนือไปจากที่เคยเป็นมา

Rogozin ได้ออกมาบอกว่าการดำเนินงานของ Roscosmos หลังจากนี้จะให้ priority ในเรื่องความเป็นเอกเทศจากทั่วโลกหรือง่าย ๆ คือจะไม่พึ่งพิงต่างชาติในการทำโปรเจกต์หลังจากนี้ (ซึ่งก็น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับ supply chain ไม่น้อยในอนาคต) และความร่วมมือกับนานาชาติจะเน้นไปที่ด้านการทหารเป็นหลัก

ประเด็นร้อนแรงใหม่ที่เพิ่มเข้ามาคือเรื่องของ OneWeb โครงข่ายดาวเทียมจากฝั่งอังกฤษที่ส่งกับ Roscosmos (ส่งไปแล้วเป็นหลักร้อยดวงและมีที่กำลังจะส่งและกำลังดำเนินการอยู่) ที่มีแพลนจะส่งเซ็ตล่าสุดในวันที่ 4 มีนาคม ที่ Roscosmos ได้ออกมาเรียกร้องให้ (รัฐ) อังกฤษถอนตัวออกจากโครงการ (และมีอีกเงื่อนไขนึงคือให้ยืนยันว่าจะไม่ใช้ fleet ดาวเทียมนี้ในด้านการทหาร) ไม่งั้นจะไม่ดำเนินการปล่อยให้

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน Roscosmos ได้ rollout เอา Soyuz 2.1b ที่เป็น Launch Vehicle ออกมาติดตั้งที่ฐานปล่อยใน Baikonur Cosmodrome เอาไว้ก่อน เพื่อรอการตอบโต้กลับจากฝั่งชาติ EU และตะวันตก ซึ่งกำหนดการปล่อยเดิมจะอยู่ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2022

และหลังจากที่นำขึ้นฐานปล่อยแล้วก็ได้ เอาสติกเกอร์สีขาวไปแปะทับธงชาติของชาติพันธมิตรบนตัวจรวด โดยบอกว่า จรวดของพวกเขาจะสวยกว่าเยอะเลยหากไม่มีธงชาติของชาติเหล่านี้ ซึ่งเป็นการตอบโต้การกระทำจากฝั่งตะวันตกโดยตรง

3 มีนาคม Rogozin ให้สัมภาษณ์เรื่องเครื่องยนต์จรวด

Rogozin ได้ให้สัมภาษณ์กับ Russia24 ว่าจะไม่ส่ง Supply เครื่องยนต์จรวดให้กับสหรัฐอีกต่อไป (อย่างที่เคยทำในกรณี RD-18 ของ Atlas V ของ ULA) และบอกให้ “ไปขี่ไม้กวาดแทนละกัน”

Rogozin ขณะให้สัมภาษณ์ทางช่องทีวี

ความคืบหน้าจากทาง OneWeb ทางโครงการได้ประกาศยุติแผนการปล่อยทั้งหมดจาก Baikonur และตัดสินใจไม่ทำตามข้อเรียกร้องทั้งสองของรัสเซีย และทาง OneWeb ก็ได้ให้ทีมที่ทำเดินทางออกจากฐานปล่อยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในตอนนี้ OneWeb ได้ปล่อยดาวเทียมไปแล้วทั้งหมด 428 ดวงจาก 650 ดวง ส่วน OneWeb จะใช้หน่วยงานไหนมาปล่อยดาวเทียมที่เหลือให้แทน Roscosmos เราก็คงต้องติดตามกันต่อไป

4 มีนาคม รัสเซียนำจรวด Soyuz พร้อมดาวเทียม One Web ลงจากฐษนปล่อย

Roscosmos ได้นำ Soyuz 2.1b ที่เป็น Launch Vehicle ของ OneWeb ลงจากฐานปล่อย และดำเนินการนำกลับไปที่โรงประกอบ เนื่องจากการตัดสินใจจากทาง One Web ที่จะยังไม่ปล่อยดาวเทียมชุดดังกล่าว แถม Rogozin ยังออกมาเยาะเย้ยบอกว่า One Web นั้นสามารถล้มละลายจากการตัดสินใจครั้งนี้ได้เลย

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจับตามองก็คือ นับจนถึงตอนนี้ (4 มีนาคม) CNSA หน่วยงานอวกาศของจีนยังแทบไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เลย ก็เป็นที่น่าสนใจว่าแล้วจีนจะเอายังไงต่อกับงานด้านอวกาศในระดับนานาชาติ โครงการ ILRS กับ Roscosmos จะเป็นอย่างไรต่อไป อย่างที่ประชุมสมัชชาใหญ่วาระฉุกเฉิน จีนก็โหวตเป็นกลาง ไม่โหวตเข้าข้างรัสเซียแล้ว (เห็นได้ชัดว่าหลังจากถูกกดดันมาระยะหนึ่งจีนก็แสดงท่าทีต่อเรื่องนี้น้อยลงจากที่ช่วงแรก ๆ ยังที่นัยยะที่เชียร์รัสเซียอยู่)

ในวันเดียวกันนี้ Roskosmos ก็ได้แสดงออกอย่างชัดเจน ด้วยการติดสติกเกอร์ V และ Z ซึ่งเป็นการสนับสนุนการบุกยูเครน เป็นสัญลักษณ์เดียวกับที่รัสเซียใช้ติดไว้กับอาวุธ รถถัง รถหุ้มเกราะ ที่ใช้ในการโจมตียูเครน

ที่ปฏิเสธไม่ได้อย่างหนึ่งในเหตุการณ์ครั้งนี้คือแทบทุกฝ่ายใช้ social media (โดยเฉพาะทวิตเตอร์) ตบตีกันหนักมาก โดยเฉพาะ Rogozin ที่ทวิตแทบจะเป็นรายชั่วโมง พอมาประกอบกันดี ๆ แล้วก็จะเห็นการโต้ตอบการไปมาอย่างดุเดือดอย่างที่เราเอามาเรียงเป็นไทม์ไลน์ในบทความนี้ เมื่อมองเป็นภาพใหญ่แล้วเราก็จะเห็นว่า Space Geopolitics ที่คุกรุ่นมานานนับ 10 ปีก็เหมือนจะมาระเบิดเอาตอนนี้แล้ว จนหลายคนมองว่าภาพของ Space Race ครั้งใหม่นี้ก็ได้ชัดเจนและเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิมมากในช่วงนี้

5 มีนาคม รัสเซียออกภาพ Render แยกตัวส่วน Russian Segment ออกจากสถานีอวกาศนานาชาติ

ใน Telegram ของ Roskosmos ได้มีการส่งต่อวิดีโอ ที่ผลิตโดย RIA ซึ่งเป็นสื่อโปรรัฐบาลฝั่งรัสเซีย กับวิดีโอที่อ้างว่าทำโดยทีม Roskosmos TV (ฝ่ายทำสื่อ) เป็นคลิปนำเอา Footage ต่าง ๆ มาเรียงต่อกันเป็นเรื่องราว ประมาณว่า นักบินอวกาศรัสเซีย โบกมือลาให้กับนักบินอวกาศสหรัฐฯ จากนั้นก็เข้าไปยังยาน Soyuz และสถานีอวกาศนานาชาติ ก็แยกตัวออกเป็นสองส่วน ได้แก่ส่วนของ สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และส่วนของฝั่งรัสเซีย ก่อนที่สถานีอวกาศฝั่งสหรัฐฯ และพันธมิตรจะตกลงสู่โลกไป

เป็นการสร้างความตึงเครียดต่อสถานีการของสถานีอวกาศนานาชาติเป็นอย่างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการพูดถึงการแยกตัวระหว่างสถานีอวกาศนานาชาติฝั่งรัสเซียมาก่อน (แม้จะมีแนวโน้มที่เราเคยวิเคราะห์ไว้ในบทความ – โมดูลใหม่ Prichal กับยานอวกาศหัวโตน่าเกลียด และอนาคตของรัสเซียกับ ISS )

7 มีนาคม Scott Kelly เปิดกับ Rogozin

สงครามยังคงดำเนินไปในโลกอินเทอร์เน็ต เมื่อนักบินอวกาศชื่อดังอย่างคุณ Scott Kelly ออกมาทวีตด่า Dimitry Dogozin โดยตรง และมีปากเสียงกันอยู่พักหนึ่งก่อนที่จะถูก Rogozin แบนไป แต่เนื้อหาก็จะประมาณว่ารัสเซียยังคงทวงบุญคุณ และมองว่าตัวเองเป็นตัวสำคัญในโครงการสถานีอวกาศนานาชาติอยู่ เพราะคุณ Kelly เองก็เดินทางไปอวกาศกับยาน Soyuz นี่แหละ

โดยที่ คุณ Kelly เอง ก็ยังคงติดตามสถานการการเมืองอย่างใกล้ชิดมาจนถึงทุกวันนี้ แถมยังออกตัวเต็มอีกด้วย ใครที่สนใจสามารถไปตาม Twitter ส่วนตัวของคุณ Scott Kelly ได้ที่ @stationcdrkelly

9 มีนาคม Roskosmos ออกตัวเต็มอีก จัดแปรอักษร สนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย

ในเมืองไบคัวนอร์ ซึ่งเป็นฐานปล่อยสำคัญในคาซักสถาน ที่ Roskosmos ใช้เป็นพื้นที่ในการปล่อยยานอวกาศนั้น ได้มีการจัดการชุมนุม การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และการแปรอักษรเป็นรูปตัว Z และ V เพื่อสนับสนุนแนวทางของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และการปฏิบัติการทางการทหารของกองทัพรัสเซีย

โดยสิ่งนี้ ไม่ได้ปรากฎบน Social Media อื่น ๆ (โดยเฉพาะบน Twitter) นอกจากบน VK ของ Roskosmos เอง เป็นอีกหนึ่งการแสดงท่าทีที่ชัดเจนของ Roskosmos ต่อเหตุการณ์นี้

12 มีนาคม รัสเซียเตรียมส่งภารกิจ Soyuz-MS 21 แต่นักบินอวกาศยังให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่มีความขัดแย้งในลูกเรือสถานี

จากข่าว นักบินอวกาศ Soyuz-MS 21 ให้สัมภาษณ์ การแบนรัสเซีย ไม่กระทบการทำงานบนสถานี นักบินอวกาศในภารกิจ Soyuz MS-21 ซึ่งมีแผนจะเดินทางขึ้นไปประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ 18 มีนาคมนี้ ได้ให้สัมภาษณ์บอกว่า

“ความขัดแย้งทางการเมืองในโลก ไม่มีผลเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของนักบินอวกาศนานาชาติ ที่ปฏิบัติงานอยู่บนสถานีฯ พวกเราทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ และพวกเราก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เพราะพวกเราต้องทำสิ่งที่พวกเราควรทำ พวกเราทำงานวิทยาศาสตร์บนสถานีฯ” 

อ้างอิงจากโพสต์บน VK Social Media ของ Roskosmos

อย่างไรก็ตาม การกลับโลกของ Soyuz-MS 20 ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะ Mark Hei ยังมีแผนต้องกลับมาอยู่ และ NASA ยังไม่ได้ให้ความเห็นใด ๆ ต่อเรื่องนี้

สิ่งที่ต้องทราบตอนนี้

  • รัสเซียมีแผนต้องนำนักบินอวกาศสหรัฐฯ กลับโลก คือ Mark Hei ด้วยยาน Soyuz ซึ่งยังไม่มีใครให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ (แต่สถานการแบบนี้ก็รอดูพี่ Musk ของเราโชว์เหนือด้วยการส่งยาน Dragon ไปรับ ก็อาจจะเป็นได้)
  • เป็นที่แน่นอนแล้วว่า Roskosmos กับ ESA ตึงใส่กันเต็มที่ โครงการ Exo Mars 2022 มีปัญหาและไม่ได้ปล่อยแน่ ๆ นักวิทยาศาสตร์ก็ซวยกันไป
  • จีนและรัสเซียยังมีความร่วมมือโครงการ ILRS เพื่อสร้างฐานบนดวงจันทร์ด้วยกัน ในขณะที่รัสเซีย จะถอนตัวออกจากโครงการ ISS ในปี 2024 และเริ่มต้นการสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ของตัวเอง
  • ไทยเรา มีการศึกษาการเข้าร่วมทั้งโครงการ ILRS ของจีน, รัสเซีย และโครงการ Artemis, Lunar Gateway ของฝั่งพันธมิตร NASA, ESA, JAXA
  • ใครบอกว่าอวกาศไม่เกี่ยวกับการเมืองอย่างไปเชื่อมัน

สรุปแล้วเราก็คงต้องติดตามกันต่อ (เหมือนเคย) ว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งทาง Spaceth.co ก็จะมาอัพเดตสถานการณ์ในครั้งนี้เรื่อย ๆ ตามปกติ ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่ว่าผลลัพท์จะเป็นอย่างไร ก็มั่นใจได้เลยว่าวงการอวกาศหลังจากนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

แมว วาราบิโมจิ ปิศาจสปาเกตตี้บินได้