เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันคนเดียวที่ไม่ได้อยู่บนโลกในวันที่ 11 กันยายน 2001

เป็นเรื่องปกติของนักบินอวกาศที่ประจำการอยู่บนสถานีอวกาศนาชาติที่โคจรอยู่เหนือหัวขึ้นเรา 400 กิโลเมตรขึ้นไปภาพของโลกที่เขาเห็นนั้นต่างจากที่เรามองเห็นโดยสิ้นเชิง ในโลกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ความขัดแย้ง และความไม่เข้าร่องเข้ารอยกัน กลายเป็นวัตถุทรงกลมขนาดใหญ่เมื่อมองลองมาจากสถานีอวกาศนานาชาติ มันดูเงียบสงบ เปราะบาง และดูไม่ออกเลยว่าเบื้องล่างนั้นซ่อนความวุ่นวายเหล่านี้อยู่

นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มสร้างสิ่งที่เรียกว่าสถานีอวกาศ ความสามารถในการปฏิบัติงานบนอวกาศของมนุษย์ก็นานขึ้นเรื่อย ๆ นักบินอวกาศชาวรัสเซียเคยใช้ชีวิตอยู่บนสถานีอวกาศนานถึง 438 วันบนสถานีอวกาศเมียร์ สถานีอวกาศของรัสเซียที่ชื่อของมันแปลว่า “โลก หรือ สันติภาพ”

กรุงเทพมหานคร เมื่อมองจากสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – NASA/ESA/Roskosmos

เมื่ออยู่บนนั้นคุณแทบจะไม่ต้องห่วงอะไร สิ่งเดียวที่เราจะเห็นคือก้อนเมฆก้อนใหญ่ที่ก่อตัวเป็นพายุค่อย ๆ พัดเข้าสู่ภาคพื้นทวีป ท้องฟ้าที่ในบางครั้งอาจจะเห็นเมฆเป็นสายที่เกิดจากไอพ่นของเครื่องบิน หรือแม้กระทั่งแสงไฟจากเรือประมงที่ทำให้ท้องทะเลเปลี่ยนจากความมืดเป็นสีเขียว ภาพที่นักบินอวกาศเห็นวนซ้ำไปซ้ำมาเช่นนี้

ในตอนนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย อันที่จริงอินเทอร์เน็ตบนนั้นยังไม่มีด้วยซ้ำพวกเขาไม่สามารถเล่น Twitter หรือ Facebook Liveลงมายังโลกได้เหมือนทุกวันนี้ นั่นทำให้ในปี 2001 บนสถานีอวกาศนานาชาติ เงียบสงบ ทางเดียวที่เขาจะติดต่อกับโลกได้คือผ่านศูนย์ควบคุม ณ กรุงมอสโคว และฮูสตัน มลรัฐเท็กซัสเท่านั้น

วันที่โลกวุ่นวายที่สุดวันนึง

ในวันที่โลกวุ่นวายที่สุดวันนึงเท่าที่เราจะจำได้ วันที่ 11 กันยายน 2001 เมื่อเกิดวินาศกรรมที่เปลี่ยนโฉมหน้าของ การเมืองการปกครอง การทหาร การบิน นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และวิศวกรรม ไปตลอดกาล กลุ่ม Al-Qaeda ทำการจี้เครื่องบินทั้งหมด 4 ลำ ก่อนที่ลำแรกจะพุ่งชนตึก World Trade Center อาคารเหนือ

ในเช้าวันนั้นของสหรัฐอเมริกา หัวค่ำของไทย ทีวีทั่วโลกตัดไปถ่ายทอดสดภาพของอาคารที่มีไฟลุกไหม้ โดยที่ไม่รู้เลยว่าอีกไม่กี่นาทีหลังจากนั้นภาพเครื่องบินพุ่งชนอาคารใต้ ก็ได้ถูกถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

ไม่เพียงเท่านั้นหลังจากประธานาธิบดีออกแถลงพิเศษ ก็มีข่าวเครื่องบินพุ่งชนอาคารเพนตากอนในกรุงวอชิงตันดีซี ก่อนที่จะมีข่าวเครื่องบินตก FAA สั่งปิดน่านฟ้า และภาพการถล่มลงของอาคาร World Trade Center ทั้ง 2 อาคาร ในวันที่ 11 กันยายน มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดเกือบสามพันคน

ความวุ่นวายเมื่อมองจากวงโคจร

คุณ Frank Culbertson นักบินอวกาศของ NASA นักบินอวกาศคนแรกที่รู้ข่าวเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน เคยออกมาเล่าประสบการณ์ผ่านวิดีโอของ NASA ในช่วงเช้าวันนั้นเขาโทรหา Steve Hart หมอของเขาเพื่ออัพเดทเรื่องราวเกี่ยวกับภารกิจ

Hart บอก Culbertson ว่ามีเรื่องอะไรบางอย่างเกิดขึ้นบนโลก Hart เล่าถึงเครื่องบินที่พุ่งเข้าชนอาคาร World Trade Center ทั้ง 1 และ 2 รวมถึงเครื่องบินอีก 2 ลำที่ก็ยังไม่รู้ชะตากรรม ถ้าจะให้เดา ทายว่าเหตุการณ์ ณ ตอนนั้นคือช่วงก่อนหรือประมาณที่ประธานาธิบดี Bush ออกมาแถลงการณ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

Frank Culbertson กับสมาชิกในภารกิจของเขา ที่มา – NASA/Roskosmos

Culbertson เป็นนักบินอวกาศอเมริกันคนเดียว ณ ตอนนั้นบนสถานี เพื่อนร่วมภารกิจของเขาอีกสองคน Vladimir Dezhurov และ Mikhail Tyurin เป็นชาวรัสเซีย นั่นทำให้เขาเป็นชาวอเมริกันคนเดียวที่ไม่ได้อยู่บนโลกในเหตุการณ์ 11 กันยายน

Dezhurov และ Tyurin เข้าใจดีว่า Culbertson จะรู้สึกอย่างไร กรุงมอสโควเคยเป็นเป้าของการก่อการร้ายหลายครั้ง แต่ก็ไม่เท่าครั้งนี้ อันที่จริงความยากของการทำใจในเหตุการณ์ 11 กันยายน ไม่ใช่เพราะว่ามันร้ายแรงแค่ไหน แต่เพราะไม่มีใครรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปต่างหาก

ในตอนนั้นเองสถานีอวกาศนานาชาติกำลังเคลื่อนที่ผ่านจากซีกเหนือลงซีกใต้ ในขณะที่มันกำลังเคลื่อนที่ผ่านประเทศแคนาดา Culbertson รู้ว่าในอีกไม่กี่วินาทีเขากำลังจะเห็นภาพในมุมที่ไม่มีมนุษย์คนใดในโลกเคยเห็นมาก่อนของเหตุการณ์ครั้งนี้ เขารีบหยิบกล้องถ่ายวิดีโอไปยังบริเวณ Russian Segment ก่อนที่จะเตรียมถ่ายวิดีโอวินาทีสำคัญนี้

กลุ่มควันที่พุ่งออกมาจากเกาะแมนฮัตตัน ที่มา – NASA

“มันเป็นวันที่อากาศสดใสมาก ทุกอย่างแทบจะหยุดนิ่งสิ่งเดียวที่ผมเห็นเคลื่อนไหว คือกลุ่มควันที่พวยพุ่งออกมาจากแมนฮัตตัน อีกสิ่งหนึ่งก็คือ กลุ่มก้อนสีเทา ๆ ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น ผมไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ผมเห็น ณ ตอนนั้น คือ -” อาคารกำลังถล่ม Culbertson กำลังถ่ายภาพ World Trade Center ถล่มลงมาจากวงโคจรสูง 400 กิโลเมตร เป็นความบังเอิญที่สถานีอวกาศนานาชาติเคลื่อนที่ผ่านพอดี

90 นาที เวลาที่ภาพเหล่านั้นจะปรากฏอีกครั้ง

สถานีอวกาศนานาชาติเคลื่อนที่รอบโลกด้วยความเร็ว 7 กิโลเมตรต่อวินาที ทุก ๆ 90 นาทีมันจะเคลื่อนที่ผ่านจุดจุดเดิมแม้จะประกอบกับโลกที่หมุนรอบตัวเอง ทำให้อาจจะไม่ตรงกับจุดเดิมเป๊ะ แต่ทุก 90 นาที ภาพ ณ บริเวณเดิม ๆ ก็จะปรากฏขึ้นอีกครั้ง

Culbertson และทีมใช้เวลา 90 นาทีนั้นในการตั้งกล้องทุกตัว ภาพนิ่ง, วิดีโอ ทุกอย่างที่พวกเขาจะนึกได้เพื่อบันทึกเหตุการณ์นี้ให้ได้มากที่สุด เมื่อ 90 นาทีผ่านไปพวกเขา เห็นควันพวยพุ่งออกมาจากกรุงวอชิงตัน ดีซี จากเหตุการณ์เครื่องบินชนเพนตากอน Culbertson เล่าว่าเขาเห็นแม้กระทั่งแสงไฟของรถดับเพลิง ก่อนที่พวกเขาจะโคจรผ่านมหานครนิวยอร์คอีกครั้ง

ภาพจากดาวเทียม IKONOS ถ่ายบริเวณ Ground Zero ที่มา – NASA

“ทุก ๆ วงโคจรเราพยายามเฝ้ามองว่าเกิดอะไรขึ้น” สิ่งหนึ่งที่พวกเขาเห็นก็คือเมฆสายจากเครื่องบินค่อย ๆ หายไปจนสุดท้ายเหลือเพียงท้องฟ้าที่ว่างเปล่า FAA สั่งให้เที่ยวบินทุกเที่ยวบินหยุดทำการบิน น่านฟ้าอเมริกันถูกสั่งปิด มีเพียงแค่เมฆจากเครื่องบินลำเดียวที่ Culbertson มองเห็นเขารู้ทันทีว่านั่นคือเมฆของเครื่องบิน Air Force One

แม้กระทั่งศูนย์ควบคุมที่ฮูสตัน เท็กซัส ยังต้องถูกย้ายชั่วคราว พวกเขาย้ายฮูสตันไปยังที่ซักที่นึงเป็นความลับเพื่อความมั่นคง

สิ่งที่ทำให้ 11 กันยายนกลายเป็นเรื่องเศร้าไปอีกสำหรับ Culbertson เช้าวันต่อมาเขาได้รู้ว่า เที่ยวบินที่พุ่งชนเพนตากอนเป็นเที่ยวบินของกัปตัน Charles Burlingame เพื่อนร่วมรุ่นของเขาที่ U.S. Naval Academy

โลกที่ไม่มีวันสงบ หากผีเสื้อยังไม่เลิกอวดปีก

คงไม่ต้องให้บอกอีกว่าวันนี้เราอยู่ในโลกที่วุ่นวายแค่ไหน ทุกวันเกิดเรื่องราวใหม่ ๆ ขึ้น เกิดความวุ่นวาย แต่หากมองจากอวกาศแล้วโลกก็เป็นเพียงดาวเคราะห์ดวงเล็ก ๆ วันที่ 11 กันยายน วันที่วุ่นวายและเป็นบาดแผลที่ฝังลึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ Culbertson อาจจะมองเห็นภาพเหล่านี้จาก 400 กิโลเมตร แต่ลองคิดดู ถ้าเราออกห่างไปกว่านี้อีกนิด เราก็แทบจะไม่เห็นอะไรแล้ว

The Falling Man หนึ่งในภาพถ่ายประวัติศาสตร์ ที่มา – Richard Drew (Fair use)

ลองมองจากดวงจันทร์ โลกทั้งโลกก็ยิ่งกลายเป็นดาวสีฟ้าใส และเมื่อมองจากมุมมองของยานโวยาเจอร์ โลกก็ยิ่งเป็นแค่จุดเล็ก ๆ สีฟ้าท่ามกลางทะเลแห่งดวงดาวอันกว้างใหญ่ ความวุ่นวายที่มนุษย์สร้างขึ้นนี้เทียบไม่ได้เลยกับความยิ่งใหญ่ของจักรวาล

The Blue Marble ที่มา NASA

หากแต่การฆ่ายังคงมีอยู่ การต่อสู้ยังคงมีอยู่ สงครามยังคงมีอยู่ ก็ไม่ได้แปลว่ามนุษย์จะมีอำนาจมากไปกว่าจุดเล็ก ๆ สีฟ้านี้เลย จักรวาลไม่ได้เดือดร้อน จะเดือนร้อนกันก็แต่สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่กล้าดีคิดว่าตัวเองจะเปลี่ยนจักรวาลนี้ได้ด้วยการคิดว่าตัวเองคือผีเสื้อที่กระพือปีกได้แค่วันเดียว แล้วมโนไปว่ามันคือชั่วนิรันดร์

อ้างอิง

Tell Me A Story: 9/11 Perspective from Space

Astronaut Frank Culbertson Letter from September 11, 2001

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.