Boris Volynov นักบินอวกาศยิวคนแรกของโซเวียต กับประสบการณ์เฉียดตาย

หลังจากสงครามที่นองเลือดที่สุกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์สิ้นสุดลง ยุคบุกเบิกของการสำรวจอวกาศได้เริ่มต้นขึ้น สองชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสภาพโซเวียตต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของตนเพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่งในอวกาศ หลังจากที่สหภาพโซเวียตส่งดาวเทียม สปุตนิก 1 (Sputnik 1) ได้สำเร็จในปี 1957 นั้นได้สร้างความเกรงกลัวและตื่นตระหนกไปทั่วโลกทุนนิยม และเพียงแค่ 4 ปีหลังจากนั้น สภาพโซเวียตส่ง ยูริ กาการิน มนุษย์คนแรกที่ขึ้นไปบนอวกาศได้สำเร็จในภารกิจ Vostok 1 เมื่อกลับลงมายังโลกทำให้ ยูริ กาการิน (Yuri Gagarin) มีชื่อเสียงราวกับดาราดัง เขาได้เดินทางไปทั่วยุโรปเพื่อประกาศความสำเร็จในฐานะมนุษย์คนแรกที่ออกจากโลก

อ่านเรื่องราวของ ยูริ กาการิน เพิ่มเติมได้ที่ “บนนี้ไม่มีพระเจ้า” สัญญะสำคัญที่อวกาศถูกใช้เพื่อการเมือง

แต่หนึ่งในนักบินอวกาศที่เข้าร่วมการฝึกรุ่นเดียวกลับ ยูริ กาการิน กลับไม่มีโอกาสได้ขึ้นบินในช่วงแรกของโครงการ เพียงเพราะเขาเป็น “ยิว” ชนชาติที่สหภาพโซเวียตไม่ต้องการให้เป็นหน้าเป็นตาของภาพลักษณ์ประเทศ ชื่อของเขาคือ บอริส โวลีนอฟ (Boris Volynov) นักบินอวกาศแห่งสหภาพโซเวียต ที่ต้องพิสูจน์ตนเองว่ามีคุณค่าพอที่จะเป็นชาวยิวคนแรกที่ได้ขึ้นไปสู่ห้วงอวกาศ

Boris Volynov ขณะฝึกซ้อมภารกิจ

คุณ บอริส โวลีนอฟ (Boris Volynov) เกิดที่หมู่บ้านในเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งในไซบีเรียอันห่างไกล Irkutsk ในปี 1934 และใช้ชีวิตวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่ Prokopevsk ทางตอนใต้ของรัสเซีย ต่อมาเขาเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนทหาร หลังจากนั้นศึกษาต่อที่สถาบันกองทัพอากาศ Stalingrad และสถาบันวิศวกรรมทหาร จนกระทั่งได้ประดับยศระดับพันเอกในกองทัพอากาศโซเวียต

ด้วยความสามารถของเขาจึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่เขาได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 20 นักบินอวกาศกลุ่มแรกของสหภาพโซเวียต ซึ่งเขามีศักยภาพมากพอที่อาจจะได้รับตำแหน่งนักบินอวกาศคนแรกเสียด้วยซ้ำ แต่พอมีการสืบประวัติจากหน่วยงานรัฐบาลกลาง เกิดขึ้นแล้วค้นพบว่าตระกูลของเขาเป็นเชื้อสายยิว ทำให้ Boris Volynov กลายเป็นลูกเรือสำรองในภารกิจ Vostok 3 และ 4 แทน แต่สุดท้าย Boris Volynov ก็ไม่ได้ขึ้นไปในอวกาศในยุคบุกเบิกอวกาศของสหภาพโซเวียตอยู่ดี

นักบินอวกาศโซเวียตกลุ่มแรก ที่มา Museum of Cosmonautics

ในปี 1964 เขาได้รับโอกาสอีกครั้งหนึ่งจากองค์กรปฏิบัติการอวกาศโซเวียตในภารกิจ Voskhod 1 ซึ่งเป็นภารกิจแรกที่จะประกอบไปด้วยลูกเรือสองคน อย่างไรก็ตามในวินาทีสุดท้ายรัฐบาลกลางมีคำสั่งให้ถอนตัว Boris Volynov ออกจากโครงการ Voskhod 1 พร้อมกับเพื่อนร่วมเดินทางของเขา เพราะตัวเขาที่เป็นยิวและนักบินผู้ช่วยที่เป็นลูกชายของเหยื่อที่ Stalin ผู้นำโซเวียตเคยสั่งเก็บมาก่อน ถึงแม้องค์กรปฏิบัติการโซเวียตจะอยากให้ Boris Volynov ขึ้นบินแค่ไหนก็ตาม ทำให้เขาต้องกลายเป็นนักบินสำรองเช่นเคย

2 ปีต่อมา เขาได้ก้าวขึ้นรับตำแหน่งผู้บัญชาการภารกิจ Voskhod 3  โดยที่รอบนี้รัฐบาลกลางโซเวียตไม่ได้มาวุ่นวายกับชีวิตเขาแล้ว แต่ภารกิจก็ดันกลับยกเลิกก่อนการปล่อยเพียง 10 วันเท่านั้น เพราะการตายของหัวหน้าวิศวกรจรวด Sergei Korolev ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของแคปซูล Voskhod ที่อันตรายถึงชีวิตได้ และในปีเดียวนั้นเองก็เกิดโศกนาฎกรรมที่น่าสลดของภารกิจ Soyuz 1 เกิดขึ้น

อ่านเรื่องราวหายนะของภารกิจ Soyuz 1 ได้ที่นี่ Soyuz 1 หายนะกลางเวหาในม่านเหล็กสีแดง

จรวดสำหรับภารกิจ Soyuz 5 ขณะที่กำลังเคลื่อนย้ายด้วยรถไฟ

หลังจากที่ถูกปฏิเสธไปในปีนั้น เลยจนกระทั่ง 5 ปีต่อมาในปี 1969 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ภารกิจ Apollo 11 มีแผนจะเดินทางไปดวงจันทร์ Boris Volynov ก็ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจเป็นกัปตันของ Soyuz 5 โดยมีลูกเรือทั้งสิ้น 3 คน นับเป็นเวลา 8 ปีที่ Boris Volynov รอคอยกว่าที่จะได้ขึ้นไปบนอวกาศในวันที่ 15 มกราคม 1969

ภารกิจ Soyuz 5 นั้นเป็นภารกิจทดสอบการเชื่อมต่อยานอวกาศ Soyuz 5 กับ Soyuz 4 ที่ขึ้นไปบนวงโคจร 1 วันก่อนหน้า เพื่อที่จะถ่ายโอนลูกเรือ 2 คนจาก Soyuz 5 ไปยัง Soyuz 4 ซึ่งเป็นภารกิจแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการแลกเปลี่ยนลูกเรือกันบนอวกาศ ก่อนหน้าภารกิจ Apollo 9 จะทำแบบเดียวกันในอีก 2 เดือน หลังจากที่มีการถ่ายโอนลูกเรือสำเร็จเรียบร้อย Boris Volynov นักบินอวกาศชาวยิวของเราก็กลับเริ่มทำการแยกยาน Soyuz 5 ออกมา และดำเนินการ re-entry กลับสู่โลก แต่ยานส่วน Service Module ส่วนของยานที่ควรจะถูกแยกตัวออกก่อนที่จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกกลับไม่ยอมแยกตัวออกดื้อ ๆ เสียอย่างนั้น

ภาพจำลองการ Docking ระหว่าง Soyuz 4 และ Soyuz 5

พอคุณ Boris Volynov จะเริ่มยกเลิกการ re-entry กลับสู่โลกก็สายไปเสียแล้ว ถึงแม้จะเคยมีความผิดพลาดลักษณะนี้เกิดขึ้นมาก่อนในเที่ยวบินของยาน Vostok และ Voskhod กรณีของ Boris Volynov นั้นหนักกว่ามากเนื่องจาก Service Module นั้นมีขนาดที่ใหญ่กว่ายานอวกาศรุ่นก่อนหน้า ทำให้ไม่สามารถปรับองศาของยานให้เหมาะสมต่อการ re-entry ได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ยานส่วนที่หนักกว่าอย่าง Service Module หันทิศทางดิ่งลงตรงไปยังโลก

เมื่อยานลดระดับลงมาถึงชั้นบรรยากาศที่มีความหนาแน่นมากขึ้น ทำให้เริ่มเกิดแรงเสียดทานสร้างพลังงานและความร้อนขึ้นมาแทรกผ่านแผ่นโลหะบาง ๆ ที่เริ่มเกิดไฟลุกขึ้น อุณหภูมิห้องโดยสารที่ Boris Volynov อยู่อย่างโดดเดี่ยวเริ่มสูงขึ้นพร้อมกับควันที่อบอวล แรง G จากการ re-entry ที่ผิดทิศผิดทางทำให้ Boris Volynov หลุดจากสายรัดที่นั่ง ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ เขาได้เตรียมตัวเตรียมใจอยู่แล้วว่าอาจจบชีวิตลงในภารกิจ ทำให้ Boris Volynov แทบไม่ตื่นตระหนกในสถานการณ์ขับขันแบบนี้เลย แทนที่เขาจะโหวกเหวกโวยวายใส่วิทยุ เขากลับบันทึกเสียงตัวเองและรายงานข้อผิดพลาดที่เคยขึ้นกับยาน เพื่อส่งข้อมูลที่จำเป็นให้ฝ่ายภาคพื้นได้มากที่สุด

ขณะสถานการณ์กำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤตอย่างสุดขีด อยู่ ๆ Service Module ที่กำลังติดไฟอยู่ได้หลุดออกจากตัวยาน Soyuz ทำให้สมดุลกลับคืนมา เกราะกันความร้อนกลับมาอยู่ตำแหน่งที่มันควรจะเป็น แต่ในความโชคดีก็มีโชคร้ายแฝงอยู่ พอถึงจุดที่ร่มชูชีพของเขาทำงาน ร่มชูชีพของเขากลับพันกันอย่างยุ่งเหยิงทำให้ไม่สามารถชะลอความเร็วของยานได้เท่าที่ควร ทำให้ยาน Soyuz ของเขากระแทกลงพื้นเข้าอย่างจังกล่างทุ่งโล่ง บริเวณเทือกเขาอูรัลของรัสเซียใจกลางฤดูหนาว ห่างจากจุดลงจอดที่กำหนดไว้ประมาณ 600 กิโลเมตร

การลงจอดนั้นทำให้บริเวณอกของเขาช้ำและฟันบนหักไปหลายซี่ ทันทีที่ยานได้แตะพื้นโลกเขาต้องสัมผัสกับอุณหภูมิสุดโหดของไซบีเรียที่ -38 องศาเซลเซียส โชคดีที่ลูกเรือของเครื่องบินโดยสารแถวนั้นสังเกตเห็นแคปซูล Soyuz ของ Boris Volynov จากบนฟ้าจึงรายงานตำแหน่งให้ทางการทราบ ต่อมาไม่นานหน่วยกู้ภัยได้เดินทางมายังจุดลงจอด คำถามแรกทันที Boris Volynov เจอหน้าเจ้าหน้าที่คือ “ผมของผมกลายเป็นสีเทาหรือยัง” ก่อนที่จะขอบุหรี่จากเจ้าหน้าที่มาสูบ

หน่วยกู้ภัยที่ช่วยเหลือ Boris Volynov

บทส่งท้าย

ถึงแม้เหตุการณ์นี้จะไม่ได้รุนแรงเท่ากับภารกิจ Soyuz 1 แต่ก็ทำให้ Boris Volynov เสียขวัญพอสมควรรวมถึงเขาต้องเข้ารักษาตัวอยู่พักใหญ่ ก่อนที่อีก 7 ปีต่อมาในปี 1976 เขาได้ขึ้นไปอวกาศอีกครั้งหนึ่ง ในภารกิจ Soyuz 21 ขึ้นไปในสถานีอวกาศ Salyut 5 เป็นเวลา 50 กว่าวัน หลังจบภารกิจคุณ Boris Volynov ก็ไม่ได้กลับขึ้นไปอวกาศอีกเลย และเรื่องราวของนักบินอวกาศยิวคนนี้ก็ถูกเก็บเป็นความลับ จนกระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปี 1991

ต่อมา Boris Volynov ได้เดินทางมาที่ ศูนย์อวกาศ เคเนดี้ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2006 และบอกเล่าเรื่องราวอันแสนน่าทึ่งของเขาแก่สาธารณชน ทำให้เราได้รับรู้ถึงเรื่องราวของเขามาจนปัจจุบัน คุณ Boris Volynus ใช้เวลาทั้งหมด 52 วัน 7 ชั่วโมง กับอีก 17 นาที บนอวกาศ ปัจจุบันเขายังมีชีวิตอยู่ดีที่อายุ 86 ปี ในปี 2021 นี้ นอกจากเขาจะเป็นที่จดจำในฐานะชาวยิวคนแรกบนอวกาศ เขายังถูกเล่าขานว่านักบินอวกาศที่โชคดีที่สุดในโลกอีกด้วย

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Mostly being a space-nerd who dreamt to work at NASA, but now a 21 years old Film Student dedicating to generalize space communication.