บทสนทนานักบินอวกาศ Claudie และ Jean-Pierre Haigneré ความหลังสถานี Mir และ ISS ยุคบุกเบิก

ส่วนตัวแล้ว เราได้มีโอกาสได้พบเจอกับนักบินอวกาศหลายคน จากหลากหลายยุค บ้างก็เป็นการทักทายกันเฉย ๆ บ้างก็เป็นการพูดคุยกันในช่วงสั้น ๆ ซึ่งก็ทำให้เรามองว่า นักบินอวกาศนั้น จริง ๆ ก็คือคนธรรมดาทั่วไป มีมิติของความเป็นมนุษย์ และมีลักษณะนิสัยเป็นปัจเจก เพียงแต่ว่าพวกเขาเหล่านี้ เคยผ่านประสบการณ์การผจญภัยอันน่าทึ่ง ที่มีเพียงมนุษย์แค่ราว 600 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นแค่ 0.0000005% ของโฮโมเซเปียนส์ ที่เคยเกิดขึ้นมาบนโลก (อิงจากตัวเลข ประมาณหนึ่งล้านล้านชีวิตที่ถูกประเมินว่าเป็นจำนวนของโฮโมเซเปียนส์ที่เคยเกิดขึ้นมาบนโลก) นั่นก็คือ การได้มองโลกจากอวกาศ

แต่สำหรับบทสนทนากับนักบินอวกาศที่สนุกที่สุดตอนนี้ที่เราอยากหยิบยกมาแชร์ให้ฟังก็คือ บทสนทนาบนโต๊ะอาหารกับ Claudie Haigneré (โกลดี แอเญอเร) และ Jean-Pierre Haigneré (ฌ็อง ปิแยร์ แอเญอเร) สองสามีภรรยานักบินอวกาศชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยในการเฉลิมฉลอง France-Thailand Year of Innovation 2023 ที่จัดขึ้นโดยสถานทูตฝรั่งเศส ซึ่งได้มีการจัดงานเปิดตัวไปในวันที่ 26 มกราคม 2023 ณ สวนป่าเบญจกิติ

บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ Year of Innovation 2023 ปีแห่งนวัตกรรมไทยฝรั่งเศส ซึ่งสามารถศึกษาและติดตามข่าวสาร และกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีได้ทาง Year of Innovation 2023

สัมภาษณ์ Claudie และ Jean-Pierre Haigneré ก่อนพิธีเปิดงาน France-Thailand Year of Innovation 2023

ซึ่งนอกจากตัวเราเอง จะได้มีโอกาสขึ้นดำเนินรายการ สัมภาษณ์บนเวทีแล้ว ยังได้นั่งร่วมรับประทานอาการมื้อสุดพิเศษ เพื่อพูดคุยกันในประเด็นเด็ด ๆ ที่อาจจะไม่เคยถูกนำมาเล่าที่ไหนมาก่อน โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “การดื่มบนอวกาศ” ซึ่งเราเคยนำเสนอเรื่องราวนี้ไปในบทความ เราสามารถแอบเอาเหล้าขึ้นไปกินบนอวกาศได้มั้ย ประวัติศาสตร์ของการกินเหล้าในอวกาศ ซึ่งในบทความนี้ เราจะมาสานต่อประเด็นนี้ไปพร้อมกับความจริงที่คุณและคุณนายแอเญอเร เปิดเผยให้ฟัง

ก่อนอื่น เราอยากชวนทุกคนมารู้จักกับคุณและคุณนายแอเญอเร กันให้มากขึ้นกันก่อน

Claudie Haigneré มีนามสกุลเดิมว่า André-Deshays (อองเดร ดิแยร์) เกิดในปี 1957 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่สหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียม Sputnik-1 ขึ้นสู่วงโคจร เรียกได้ว่าเป็นการเปิดฉากการเดินทางในอวกาศ ซึ่งในตอนนั้นประเทศฝรั่งเศส กำลังจะอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านที่เข้าสู่การนำของประธานาธิบดี Charles de Gaulle (ชาร์ล เดอโกล) ซึ่งมีนโยบายสร้างชาติฝรั่งเศสให้ยิ่งใหญ่ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะการบินและอวกาศ จนกระทั่งในปี 1961 ได้มีการก่อตั้ง Centre National D’Études Spatiales หรือ CNES องค์การอวกาศแห่งฝรั่งเศสขึ้นมา และในปี 1965 ตอนที่คุณ Claudie อายุได้ 8 ปี ฝรั่งเศสก็ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมดวงแรกที่มีชื่อว่า Astérix ขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด Diamant A ที่พัฒนาโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส ขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ ทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นชาติที่ 3 รองจากสหภาพโซเวียต และสหรัฐฯ ที่สามารถครอบครองเทคโนโลยีอวกาศได้สำเร็จ

ในขณะที่คุณ Jean-Pierre นั้น เกิดในปี 1948 และมีอายุมากกว่าคุณ Claudie ราว 9 ปี ในวันที่จรวด Diamant A ขึ้นสู่วงโคจร Jean-Pierre จะมีอายุประมาณ 17 ปี ความฝันของเขาคือการเป็นนักบิน นั่นทำให้ Jean-Pierre ในวัยรุ่นตัดสินใจสมัครเข้ามาเป็นทหารอากาศ ในกองทัพอากาศฝรั่งเศส ในช่วงปี 1973-1980 นั้น Jean-Pierre รับหน้าที่เป็นนักบินทดสอบเครื่องบินรุ่นต่าง ๆ รวมถึงเครื่อง Mirage 2000 สุดยอดเครื่องบินขับไล่ที่ฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการพัฒนา

Jean-Pierre นั้น สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นนักบินอวกาศของ CNES ในปี 1985 ซึ่งในตอนนั้นฝรั่งเศสประกาศรับนักบินอวกาศเพิ่ม หลังจากที่นักบินอวกาศรุ่นแรกที่ CNES ประกาศคัดเลือกในปี 1980 (CNES Group 1) ได้เริ่มทยอยเดินทางขึ้นสู่อวกาศ นำโดย Jean-Loup Chrétien (ฌ็อง ลูป เฌอเทีย) กับการเดินทางในภารกิจ Soyuz T-6 เพื่อไปยังสถานีอวกาศ Salyut 7 ของสหภาพโซเวียต

Jean-Pierre ได้รับการคัดเลือกเป็นนักบินอวกาศในปี 1990 หลังจากที่สมัครมาเป็น CNES Group 2 และเดินทางไปฝึกที่ Star City ในรัสเซีย เพื่อเป็นลูกเรือชุดสำรอง และเขาก็ได้เป็นตัวจริงในภารกิจ 1993 ในภารกิจ Mir Altaïr และเดินทางขึ้นสู่อวกาศด้วยยานอวกาศ Soyuz TM-17 เพื่อปฏิบัติภารกิจบนนั้นเป็นเวลา 21 วัน

Jean-Pierre Haigneré บนสถานีอวกาศ Mir ในปี 1993 ที่มา – Roscosmos Archive

ในขณะที่คุณ Jean-Pierre มาสายนักบินและวิศวกรรมอากาศยาน คุณ Claudie นั้นเธอมาสายวิทยาศาสตร์เต็มขั้น ได้รับปริญญามากมาย ได้แก่ปริญญาทั้งในสาขาชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) สาขาสรีรวิทยา (Physiology) และได้รับปริญญาเอกในสาขาวิทยารูมาติก (Rheumatology) และปริญญาเอกด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) คือเป็นปูชนียบุคคลด้านการตั้งใจเรียนหนังสือมาก โดยเธอสิ้นสุดการเรียนปริญญาเอกในปี 1991

คุณ Claudie นั้นสมัครเข้ามาเป็น CNES Group 2 (1995 เช่นกัน) และเธอก็เป็นผู้หญิงแค่คนเดียวในหกคนของรุ่น และนั่นเองคือสาเหตุที่ทำให้ทั้ง Claudie และ Jean-Pierre ได้เจอกัน โดยในภารกิจ Mir Altaïr นั้น คุณ Claudie ก็ได้เป็นลูกเรือสำรองให้กับ Jean-Pierre ทำให้ทั้งคู่มีเวลาด้วยกันมากขึ้น

คุณ Claudie ได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกในปี 1996 ในภารกิจ Cassiopée โดยได้เดินทางไปกับภารกิจ Soyuz TM-24 บนสู่สถานีอวกาศ Mir เป็นเวลา 16 วัน โดยได้ร่วมทำการทดลองที่เกี่ยวกับสาขาวิชาที่เธอเชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ และด้านสรีรศาสตร์ รวมถึงกลศาสตร์ต่าง ๆ

ยาน Soyuz Soyuz TM-24 เชื่อมต่อกับสถานีอวกาศ Mir ที่มา – Roscosmos Archive

ในปี 1999 Jean-Pierre ได้รับภารกิจการขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งที่สองด้วยภารกิจ Soyuz TM-29 และอยู่บนอวกาศนานถึง 189 วัน รวมถึงมีภารกิจ Spacewalk เป็นเวลา 6 ชั่วโมง 19 นาที เป็นการทำ Spacewalk ครั้งแรกและครั้งเดียวของเขา ทำให้ Jean-Pierre มีความผูกพันธ์กับสถานีอวกาศ Mir เป็นอย่างมาก ซึ่งภารกิจของเขา ก็เป็นภารกิจ “ก่อนสุดท้าย” ของ Mir เนื่องจากที่เราทราบกันดี ในตอนนั้น Mir ถูกปลดประจำการและบังคับตกกลับสู่โลกในปี 2001

การทำ EVA ของ Jean-Pierre ในปี 1999 ที่มา – Roscosmos Archive

อันที่จริงแล้ว เราจะเรียกว่า Soyuz TM-29 (ลูกเรือ Mir EO-27) เป็นภารกิจสุดท้ายของ Mir ก็ได้ เนื่องจากหลังจากที่ลูกเรือเดินทางกลับสู่โลก รัฐบาลรัสเซียก็ไม่ได้ให้งบในการเดินทางขึ้นสู่ Mir อีก และหันมาเดินหน้าโครงการความร่วมมือสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ International Space Station แทน ทำให้หลังจากที่ Jean-Pierre และเพื่อนนักบินอวกาศชาวรัสเซีย Viktor Afanasyev และ Sergei Avdeyev เดินทางกลับโลก Mir ถูกทิ้งร้างเป็นเวลาถึง 8 เดือน ก่อนที่จะมีความพยายามโดยเอกชน อัดฉีดเงินสนับสนุนให้มีภารกิจเดินทางไปยัง Mir อีกครั้งในเดือนเมษายน 2000 เพื่อซ่อมแซม และพยายามจะใช้งานเป็นสถานีอวกาศเอกชน แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จ สถานีอวกาศ Mir ถูกบังคับให้ตกลงสู่โลกวันที่ 23 มีนาคม 2001

Claudie และ Jean-Pierre ทั้งสองแต่งงานกันในเดือนพฤษภาคมปี 2001 ซึ่งนั่นก็ทำให้ทั้งคู่ที่เป็นนักบินอวกาศเซเลบอยู่แล้ว เป็นที่สนใจในสังคมมากขึ้นไปอีก และนั่นก็เป็นช่วงเวลาแค่ไม่กี่เดือนก่อนภารกิจที่สองของ Claudie

Claudie ในยาน Soyuz ขณะเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – ESA

Claudie ได้กลับสู่อวกาศอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นความร่วมมือครั้งใหม่ ในโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ โดยในเดือนตุลาคมปี 2001 Claudie ได้เดินทางไปพร้อมกับยาน Soyuz TM-33 สู่สถานีอวกาศนานาชาติ และนี่ก็ทำให้ Claudie กับเพื่อนลูกเรือ Viktor Afanasyev และ Konstantin Kozeyev เป็นลูกเรือกลุ่มที่สี่ที่เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติสมัยที่ยังใหม่ป้ายแดง ซึ่งในภารกิจนั้น Claudie ใช้ชีวิตอยู่บนสถานีเป็นเวลา 8 วัน อย่างไรก็ดี ภารกิจ Soyuz TM-33 นั้น ไม่นับว่าเป็น Expendition ของ International Space Station เนื่องจากเป็น Ferry flying คือการนำยานอวกาศลำใหม่ไปส่งเพื่อเป็นยานสำรอง อย่างไรก็ดี Claudie ใช้เวลาสั้น ๆ ทำการทดลองในอวกาศให้กับ CNES ด้วยเช่นกัน

Soyuz TM-33 ลงจอดพร้อมกับ Claudie ในวันที่ 31 ตุลาคม 2001 หลังจากกลับจากสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – NASA

ในปี 2002 Claudie ยังได้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือการเป็น Minister Delegate for Research and New Technologie และ Minister Delegate for European Affairs ในปี 2004 – 2005

คุณและคุณนาย Haigneré หลังจากนั้น ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการศึกษา STEM และทำงานอย่างใกล้ชิดกับ ESA ในการวิจัยและพัฒนาคนด้านอวกาศมาจนถึงปัจจุบัน

เรียกได้ว่าเป็นการเกริ่นประวัติที่ยาวนานมาก แต่ก็เชื่อว่าทำให้เราพอเห็นภาพว่าทั้งคู่มีประสบการณ์มากแค่ไหน ซึ่งสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับสองคนนี้ก็คือ

  • Claudie Haigneré เป็นนักบินอวกาศหนึ่งในแค่หลักสิบคนเท่านั้น ที่ได้เดินทางไปยังทั้งสองสถานีอวกาศ ได้แก่ Mir และ International Space Station
  • Claudie ยังเป็นลูกเรือกลุ่มที่สี่ที่เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ และปฏิบัติภารกิจในตัวสถานี
  • Claudie Haigneré เป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของฝรั่งเศส และเป็นผู้หญิงคนแรกที่รับตำแหน่งผู้บังคับยาน Soyuz กลับสู่โลก
  • Jean-Pierre เป็นนักบินอวกาศที่ไม่ใช่ชาวรัสเซียคนแรกที่รับตำแหน่งวิศวกรประจำยาน Soyuz จากประสบการณ์ด้านวิศวกรรมการบิน

เรื่องราวและตัวตนของ Claudie และ Jean-Pierre

26 มกราคม 2023 ช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงก่อนงาน France-Thailand Year of Innovation 2023 จะเริ่มขึ้น เราได้มีโอกาสทักทายผู้ที่เดินทางจากฝรั่งเศสมาร่วมงาน ณ โรงแรม Mövenpick BDMS Wellness Resort Bangkok ซึ่งก็ได้แก่

คุณ Olivier d’Agay (โอลิวิแยร์ ดาแก) หลานชายของ Antoine de Saint-Exupéry (อ็องตวน เดอ แซ็งชูเปรี) ผู้ประพันธ์วรรณกรรมเจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) และคุณ Nicolas Delsalle (นีกอลา เดซาเล) ทั้งสองเป็นตัวแทนจาก Antoine de Saint Exupéry Youth Foundation ที่เป็นผู้ดูแลและสนับสนุนการนำวรรณกรรม เจ้าชายน้อยเผยแพร่เพื่อเยาวชน

คุณ Pierre-Emmanuel Le Goff (ปิแยร์ เอ็มมานูเอล เลอ โกฟ) ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีชาวฝรั่งเศส เจ้าของสารคดี  16 Levers de Soleil (16 Sunrises) ที่เล่าเรื่องภารกิจการเดินทางในอวกาศของ Thomas Pesquet (โตมา แป็สเก) เป็นเวลา 6 เดือนบนสถานีอวกาศนานาชาติ ในช่วงปี 2016 ซึ่งได้มีการส่งกล้องความคมชัดระดับ 8K ขึ้นไปใช้ในการถ่ายทำ โดยภาพยนตร์สารคดี ฉายครั้งแรกในปี 2018 ซึ่งภาพปกสารคดี ก็เป็นภาพของ Pesquet กำลังเป่าแซกโซโฟน ในโมดูล Cupola ซึ่งภายหลัง เป็นไอเดียที่ถูกนำมาทำซ้ำเป็นวิดีโอโปรโมตโอลิมปิก ปารีส 2024 ในพิธีปิดโอลิมปิกโตเกียว 2020 ที่ผ่านมา

และที่สำคัญก็คือสองนักบินอวกาศของเรา คุณ Claudie และ Jean-Pierre Haigneré ทั้งสี่คนนี้เป็นแขกที่ทางสถานทูตฯ เชิญมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและผู้เข้าร่วมงาน โดยมีคุณ Xavier Grosmaitre (ซาวิแยร์ โกซแมร์) เป็นผู้ช่วยทูตด้านความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารด้วย

ไล่ลำดับซ้ายไปขวา ปั๊บ ชยภัทร, เติ้ล ณัฐนนท์, Le Goff, Grosmaitre, d’Agay, Delsalle, Claudie และ Jean-Pierre Haigneré

Claudie และ Jean-Pierre เพิ่งเดินทางกลับมาจากการเยี่ยมชม GISTDA ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ก่อนที่เราจะได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้งสองเป็นครั้งแรก ทั้งคู่แต่งตัวอย่างเป็นทางการ เตรียมพร้อมสำหรับงานในช่วงเย็น เราทักทายกับคุณ Claudie ก่อนตามด้วยคุณ Jean-Pierre ที่แกล้งพูดต่อจากการแนะนำตัวเป็นภาษาฝรั่งเศส (โดยบอกว่า ณัฐ ผมจะพาคุณฝึกพูดฝรั่งเศสเอง) เป็นการเจอกันครั้งแรกที่ปั่นและฮามาก (โชคดีที่หลังจากนั้นเราคุยกันต่อเป็นภาษาอังกฤษ)

ก่อนที่ทุกคนจะทักทายกันอย่างเป็นมิตร ซึ่งถามไปถามมาก็ทราบว่าทั้งหมดรู้จักและช่วยเหลือกันในการสร้างการรับรู้ด้านอวกาศในประเทศฝรั่งเศสผ่านเครื่องมือที่ตัวเองมี และร่วมงานกันมาหลายงานแล้ว คุณ d’Agay และ Le Goff เป็นผู้ริเริ่มไอเดียให้นักบินอวกาศ Thomas Pesquet นำเอาเจ้าชายน้อยฉบับปกคลาสสิกขึ้นไปอ่านบนอวกาศ และในงานเปิดตัวภาพยนตร์ของคุณ Le Goff ก็ได้มูลนิธิ Saint Exupéry มาร่วมจัดงานด้วย รวมถึงหนังสือของ Pesque ก็เขียนคำนิยมโดย Claudie Haigneré ซึ่งเป็นนิเวศน์ที่น่าชื่นชมและทำให้เราสบายใจได้ว่า แม้ประเทศที่มีการพัฒนาด้านอวกาศอย่างจริงจังการทำกิจกรรมเช่นนี้ ก็ยังเป็นที่จำเป็นเพื่อทำให้อวกาศนั้นอยู่ใกล้ตัวกับคนทั่วไป และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนอยากสำรวจอวกาศ

แอลกอฮอล์บนอวกาศ

ทุกคนบนโต๊ะอาหารสั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คนละหนึ่งแก้ว บ้างเบียร์ บ้างไวน์ ขาวแดง ตามความชอบและรสนิยมของแต่ละคน เราได้โอกาสเปิดประเด็นว่าด้วยการดื่มบนอวกาศ เป็นที่ว่ากันว่า ในสถานีอวกาศ Mir ของรัสเซียนั้น มีการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้นไปเก็บไว้ ซึ่งเมื่อมีนักบินอวกาศ Mir ถึงสองคนอยู่ตรงหน้า ก็ได้โอกาสถามให้รู้จักกันไปเลย “มี” คือคำตอบจากทั้งคุณ Claudie และ Jean-Pierre

คุณ Jean-Pierre ขยายความให้ว่า ตัวเขาเองนี่แหละที่เป็นคนเปิดไวน์บนอวกาศ ซึ่งจะทำในช่วงเวลาสำคัญ และดื่มกันทีละเล็กน้อยเท่านั้น (ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลที่เราได้ศึกษามาก่อนหน้า) โดยนักบินอวกาศแต่ละคนจะได้รับโอกาสให้นำเอา “สิ่งของส่วนตัว” ขึ้นไป ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ดูเหมือนว่าคุณ Jean-Pierre จะอินกับการดื่มบนอวกาศเป็นพิเศษ เพราะคุณ Claudie เองก็ไม่ได้เสริมอะไร แต่กลับนั่งฟังอย่างใจจดใจจ่อ

สุดท้ายก็ได้คำเฉลยว่าสิ่งที่ทำให้คุณ Jean-Pierre อินกับเรื่องนี้ก็เพราะเขา เป็นแฟนหนังสือของ Jules Verne (ฌูล แวร์น) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่มีผลงานเด่น เช่น Vingt mille lieues sous les mers (ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์) หรือ De la Terre à la Lune (จากแผ่นดินสู่ดวงจันทร์) ที่ถูกยกย่องให้เป็นสุดยอดนิยายวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะ la Lune นั้น เป็นการจินตนาการวิธีการไปดวงจันทร์ที่ใกล้เคียงกับฟิสิกส์ยุคปัจจุบัน คือการใช้ปืนใหญ่ยิงกระสุนที่เป็นแคปซูลคนนั่งขึ้นไป ซึ่งต้องอย่าลืมว่า จินตนาการของ Verne ในยุค 1800 กว่า ๆ นั้นมาก่อนกาลสำหรับเทคโนโลยีอย่างยานอวกาศหรือเรือดำน้ำมาก ๆ

Jean-Pierre เล่าถึงในนิยาย la Lune ที่ในระหว่างการเดินทางไปดวงจันทร์ ในบทที่สามของหนังสือ มีการเล่าบรรยากาศที่ตัวละครเอกทั้งสาม ดื่มไวน์กันในระหว่างที่ชื่นชมโลกและดวงจันทร์ในระหว่างการเดินทางในอวกาศ ซึ่ง Jean-Pierre เอง ก็กล่าวว่า เขาเองก็เคยมีประสบการณ์ดังกล่าว ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตัวละครทั้งสาม ในขณะที่กำลังประจำการอยู่บนสถานีอวกาศ Mir

การได้เป็นนักบินอวกาศกลุ่มสุดท้ายที่เยือน MIR

คุณ Jean-Pierre เล่าถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนิยายของ Jules Verne อีกเรื่องหนึ่งก็คือ Vingt mille lieues sous les mers ที่เป็นเรื่องราวของกัปตันนีโม เจ้าของเรือดำน้ำนอติลุส ซึ่ง Jean-Pierre เล่าว่า ในสถานีอวกาศ Mir จะมีชั้นสำหรับเก็บของใช้ส่วนตัวซึ่งเขาใช้ในการเก็บหนังสือ ซึ่งตรงข้ามกันนั้นก็จะมีหน้าต่างขนาดใหญ่ ที่ทำให้มองเห็นโลก ซึ่งเขาเปรียบเทียบว่า มันเหมือนกับห้องสมุดในเรือดำน้ำของกัปตันนีโม

สิ่งที่น่าสะเทือนใจก็คือ ในภารกิจการเดินทางไปยัง Mir ครั้งสุดท้ายของ Jean-Pierre นั้น เขาจำเป็นที่จะต้องทิ้งสิ่งของบางอย่างที่เป็นของส่วนตัว เช่น หนังสือเอาไว้ ซึ่งมันน่าเศร้ามากที่จะต้องเห็นภาพสถานีอวกาศ Mir เผาไหม้ไปในบรรยากาศพร้อมกับของใช้เหล่านั้นที่เขาคุ้นเคย Jean-Pierre เล่าให้เราฟัง

Jean-Pierre หลังจากเที่ยวบินสุดท้ายในอวกาศ กลับจากสถานีอวกาศ Mir ในปี 1999

ยุคของสถานีอวกาศนานาชาติ

คุณ Claudie คือนักบินอวกาศไม่กี่คนที่มีโอกาสได้เดินทางไปยังสองสถานีอวกาศ เราลองให้เธอเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง ISS และ Mir ซึ่งเธอไม่ได้ให้ความเห็นอะไรมาก แต่ก็บอกว่า ISS นั้นใหญ่มาก แม้จะมีเพียงแค่สองโมดูลเพียงเท่านั้นในตอนที่เธอเดินทางไป (เชื่อมต่อเข้ากับสถานีวันที่ 23 ตุลาคม 2001) ในตอนนั้นสถานีอวกาศนานาชาติมีเพียงแค่โมดูล Zarya, Unity, Zvesda และ Destiny เพียงเท่านั้น และมีแผง Solar Array ขนาดใหญ่เพียงแค่คู่เดียว (ปัจจุบันมี 8 คู่)

ภาพของสถานีอวกาศนานาชาติ ในช่วงปี 2001 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ Claudie ขึ้นไปเป็นนักบินอวกาศกลุ่มที่สองที่ได้เดินทางไปเยือนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – NASA

สิ่งนี้น่าจะพอให้เราเห็นได้ว่า การที่ได้ฟังเรื่องราวจากนักบินอวกาศในช่วงการเปลี่ยนผ่านระหว่างยุคของการสำรวจอวกาศ (ในช่วง Apollo, Skylab มาจนถึงช่วงสถานีอวกาศนานาชาติ) นั้น มีเรื่องราวน่าสนใจเกิดขึ้นเยอะมาก ซึ่งเรามองว่าช่วงนี้ไม่ค่อยถูกนำมาพูดถึงเท่าไหร่ การได้ฟังจากตัวนักบินอวกาศเองจึงเหมือนเป็นการจุดประกายการศึกษาข้อมูลในช่วงเวลานี้ให้มากขึ้นให้กับเราด้วยเช่นกัน

เรื่องราวของเจ้าชายน้อยในอวกาศ

นอกจากการได้พูดคุยกับ Claudie และ Jean-Pierre แล้ว เรื่องราวของเจ้าชายน้อยก็ยังเป็นธีมสำคัญของงานในวันนี้ เนื่องจากคุณ Olivier d’Agay ได้นำหนังสือเจ้าชายน้อยฉบับคลาสสิกที่ผ่านการเดินทางไปอวกาศกับ Thomas Pesquet มาให้เราได้ชมกันด้วยเช่นกัน รวมถึงตุ๊กตาเจ้าชายน้อยที่เคยไปลอยอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติมาแล้ว ก็ถูกนำมาจัดแสดงในโซนนิทรรศการด้วย

หนังสือและตุ๊กตาเจ้าชายน้อยที่ผ่านการเดินทางไปอวกาศกับ Thomas Pesquet

สำหรับใครที่สนใจประเด็นเรื่องเจ้าชายน้อยกับอวกาศ แนะนำให้ฟัง Podcast ตอน นักบินอวกาศชื่อ “เจ้าชายน้อย”

เวลาตกเย็น ทุกคนก็เตรียมพร้อมสำหรับงาน Year of Innovation 2023 ที่ในค่ำคืนนี้ นอกจากการสัมภาษณ์พูดคุยกันบนเวที การฉายภาพยนตร์ของคุณ Le Goff ที่เป็นเรื่องราวของ Thomas Pesquet แล้ว ยังมีการแสดง Droneshow ที่มีการนำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับอวกาศและเจ้าชายน้อยมาวาดบนท้องฟ้าอย่างน่าตื่นตาตื่นใจอีกด้วย

ภายในงาน เราได้ขึ้นเวทีเพื่อพูดคุยกับ Jean-Pierre และ Claudie อีกครั้ง ในประเด็นเรื่องการเดินทางไปอวกาศ และที่สำคัญก็คือ ได้ตอบคำถามกับผู้ร่วมงานในประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ไปอวกาศต้องใช้ Passport หรือเปล่า ? หรือการฝึกกินระยะเวลานานแค่ไหน ? ซึ่งแม้จะเป็นคำถามที่ไม่ได้ลึกมาก แต่ก็ช่วยกระตุ้นความช่างสงสัยให้กับคน โดยเฉพาะเด็ก ๆ และเยาวชน

เอาจริง ๆ แล้ว อย่างที่เราชอบบอกบ่อย ๆ อวกาศนั้นมันทำหน้าที่เชื่อมต่อคนเข้ากันได้ดีมาก เราต่างชื่นชมในสิ่งที่แต่ละคนทำ และสิ่งที่เราได้รับจากเรื่องราวเหล่านี้ก็คือ เราอาจจะไม่ต้องเป็นนักบินอวกาศเพื่อที่จะทำงานอวกาศ สมมติว่างานนี้ถูกจัดภายใต้แนวคิดว่าวิทยาศาสตร์คือวิศวกรรม การบินเพียงเท่านั้น เราก็คงไม่ได้เห็นการปรากฎตัวของ นักเขียน, ผู้กำกับสารคดี หรือหากเราจำกัดความอวกาศอยู่แค่การสำรวจอวกาศ ทั้งคุณ Jean-Pierre และ Claudie ก็คงไม่ได้พูดถึงมุมมองชีวิต การอ่านหนังสือ และมิติของความเป็นมนุษย์

เพราะอวกาศเป็นของทุกคน และอวกาศคือเครื่องมือที่จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น

ขอบคุณทางสถานทูตฝรั่งเศสที่เปิดโอกาสให้เกิดเรื่องราวน่าประทับใจเหล่านี้

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ Year of Innovation 2023 ปีแห่งนวัตกรรมไทยฝรั่งเศส ซึ่งสามารถศึกษาและติดตามข่าวสาร และกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีได้ทาง Year of Innovation 2023

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.