ทุกข้อมูล มหกรรมวิทย์ฯ 62 ที่เมืองทอง 16-25 สิงหา มีอะไรบ้าง อะไรน่าดู แผนที่

กลับมาอีกครั้งกับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2562 ซึ่งงานนี้ดำเนินงานโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วเมืองไทย จัดขึ้นมาเป็นประจำทุกปี และแต่ละปีก็มีนิทรรศการมากมายหลายแบบให้เราได้เข้าไปร่วมกิจกรรมกัน

และแนวคิดหลัก (Theme) ในการจัดงานประจำปีนี้คือ “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม” การออกแบบรูปแบบของกิจกรรมต่าง ๆ เน้นไปในด้านที่ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับกิจกรรมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองไปจนถึงการได้ปฏิบัติจริงของผู้เข้าชม โดยเน้นหัวข้อที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงหัวข้อที่เสนอประเด็นของการเปลี่ยนแปลงของวิกฤตโลก เช่น ภาวะโลกร้อน ความหลากหลายทางชีวภาพ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และอื่น ๆ อีกมากมาย

ในงานมีนิทรรศการอะไรบ้าง

ภายในงานจะแบ่งเป็นนิทรรศการต่าง ๆ โดยจะมีนิทรรศการหลักหรือ Pavilion ประกอบไปด้วย

  • นิทรรศการเทิดพระเกียรติ (Royal Pavilion) ในส่วนนี้จะเป็น Highlight ของงานเพราะจะจัดแสดง พระอัฉริยภาพ “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พระอัฉริยภาพพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยต่อวิทยาศาสตร์
  • พลาสติกพลิกโลก (Plastic Changed the World) นิทรรศการนี้จะเป็นส่วนผสมกันระหว่างการนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับขยะพลาสติกรวมกับการทำกิจกรรมที่ต้องคิดแก้ปัญหาเกี่ยวกับขยะล้นโลก การแยกขยะลงถังขยะอย่างถูกวิธี ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • มหัศจรรย์ เมืองแห่งธาตุ (The Miracle of Element City) เนื่องจากปีนี้เป็นปีครบรอบ 150 ปี ตารางธาตุ และฉลองปีตารางธาตุสากล (The International Year of the Periodic Table of Chemical Elements) เมือง ๆ นี้จะนำเสนอ “ธาตุ” ต่าง ๆ กันอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถของผู้นำเสนอกันอย่างแน่นอน เพราะสมบัติของธาตุต่าง ๆ มีความสำคัญและโดดเด่นในเรื่องที่ต่างกันอยู่แล้ว ความพิเศษของธาตุจึงมีไม่ซ้ำหน้ากันในแต่ละเรื่อง และคงไม่แปลกใจที่ใครเข้านิทรรศการนี้ก็ต้องมีตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจจนจบงานเลย
  • นิโคลา เทสลา ยอดนักประดิษฐ์ ผู้คิดเปลี่ยนโลก (Nikola Tesla : The Man who Changed the World) เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่หลายคนคงเคยได้ยินชื่อมาแล้วบ้าง เพราะผู้ชายคนนี้เป็นคนที่คิดค้นระบบไฟฟ้ากระแสสลับแข่งขันกันกับโทมัส เอดิสัน ที่คิดค้นระบบไฟฟ้ากระแสตรง เทสลาเป็นนักคิด นักประดิษฐ์ และเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สำคัญมากบุคคลหนึ่ง เราจึงมีการจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ของเขาไว้ให้ได้ศึกษาและได้ชมกัน เช่น Tesla Coil

  • ภารกิจพิชิตดวงจันทร์ (Mission to the Moon) นิทรรศการนี้เรียกได้ว่า คับแน่นไปด้วยความน่าสนใจและความน่าตื่นเต้น เพราะมีทั้งเสวนาที่เกี่ยวกับผลผลิตจากโครงการสำรวจอวกาศที่น่าทึ่ง การจำลองสถานการณ์จริงเมื่ออยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก (Moon Walk) และร่วมดูนาทีประวัติศาสตร์ที่เท้าของนีล อาร์มสตรองได้เหยียบลงบนพื้นดินของดวงจันทร์ในโรงหนัง 4D

  • พินิจ พิพิธ-พันธ์ุ (Biodiversity AMUSE-um) นิทรรศการนี้จะเป็นการนำเสนอตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายมากทั้งในด้านสปีชีร์และในด้านความหายาก จึงมีตัวอย่างที่นำมาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึึ่งจะมาในรูปของตัวอย่างดอง ตัวอย่างแห้ง หรือสัตว์สตัฟฟ์
  • ข้าวคือชีวิต (Rice is Life) นิทรรศการนี้จะเป็นการติดตามชีวิตของข้าว ตั้งแต่เป็นเมล็ดหว่านลงผืนนา เจริญเติบโตไปเป็นต้นกล้า จนกระทั่งออกดอกออกผลเป็นรวงข้าวสีเหลืองทองให้ได้เก็บเกี่ยวแล้วนำเอาไปทำเป็นอาหารขึ้นชื่อต่าง ๆ ซึ่งมีการสาธิตการทำอาหารจากข้าวแต่ละชนิดให้ได้ดูด้วย พร้อมบอกความสำคัญของข้าว
  • Maker Space ย้อนอดีตสิ่งประดิษฐ์ พลิกความคิดสู่อนาคต (Everyone can be an Engineer) พบกับกิจกรรมที่เน้นคิด เน้นประดิษฐ์ เน้นสร้างสรรค์ และเน้นลงมือทำกันอย่างท่วงที มีการเสนอเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ที่ทำให้การดำรงชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
  • LEGO Space Challenge Land แค่เห็นชื่อก็รู้แล้วว่านิทรรศการนี้มีกิจกรรมสนุก ๆ ให้ทำกันอย่างมากมายแน่นอน เพราะมันคือกิจกรรมที่จะต้องมีการคิด ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ จินตนาการ ฝึกฝน และเริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากชิ้นส่วนของเลโก้กลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เปี่ยมไปด้วยความตั้งใจจริงจากผู้ร่วมกิจกรรม

นอกเหนือจากนิทรรศการที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น เรายังมีกิจกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่น ๆ อีกมากมายให้ได้เข้าร่วมเล่นหรือแข่งขันกันเป็นทีม เช่น แข่งเครื่องบินกระดาษพับ แข่งตอบคำถามชิงรางวัล ซึ่งสามารถเข้าร่วมได้ทุกเพศทุกวัยตามความเหมาะสม

ผู้ร่วมจัดแสดงอื่น ๆ อีกกว่า 102 หน่วยงาน 17 ประเทศ

นอกจากนิทรรศการแล้ว ยังมีการร่วมจัดแสดงของหน่วยงานต่าง ๆ 38 หน่วยงานจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 18 หน่วยงานจากกระทรวงต่าง ๆ ภาครัฐ 28 หน่วยงานต่างประเทศ รวม 16 ประเทศ และ 18 หน่วยงานภาคเอกชน, สมาคม เต็มพื้นที่ 40,000 ตางรางเมตร ตัวอย่างหน่วยงานที่เข้ามาร่วมจัดเช่น

  • สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
  • สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
  • สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
  • สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
  • สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ

ซึ่งจะเป็นทั้งการจัดแสดงนิทรรศการตามเหตุการณ์สำคัญและโชว์ผลงานของแต่ละกระทรวงรวมถึงมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย สามารถดูแผนผังของงานได้ที่ NST Maps

โดย ณ เวทีกลางก็จะมีกิจกรรมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น แถลงข่าว Thailand Space Week, พิธีมอบรางวัลประกวดรางวัล นวัตกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมวิทย์, เสวนาเส้นทางนี้มีให้ถึงอวกาศ, มอบรางวัลภาพถ่ายดาราศาสตร์ สดร. และอีกมากมาย สามารถเช็คตารางของกิจกรรมเวทีกลางได้ที่ กิจกรรมเวทีกลาง

งานเสวนา สัมนา ในหัวข้อต่าง ๆ

นอกจากนิทรรศการแล้วในงานยังมีการจัดเสวนา ในหัวข้อต่าง ๆ

  • พลิกวิกฤติขยะพลาสติกสู่ทางออกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 – 17.00 น. ณ ห้องประชุมฟีนิกซ์ 1,2
  • 50 ปี ก้าวแรกบนดวงจันทร์ 17 สิงหาคม 2562 ระหว่างเวลา 14.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุมฟีนิกซ์ 1,2
  • แรงบันดาลใจจากตารางธาตุ 18 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมฟีนิกซ์ 1,2

เปิดให้เข้าชมฟรี เดินทางอย่างไร วันไหนบ้าง

ช่วงเวลาของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจะมีตั้งแต่วันที่ 16-25 สิงหาคม 2562 เปิดให้บริการระหว่างเวลา 09.00 – 19.00 น. (เข้าชมฟรี) ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค (Hall 6-12) เมืองทองธานี

  • สามารอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thailandnstfair.com
  • ติดต่อเข้าชมแบบเป็นหมู่คณะที่ 025779960

งานนี้จัดขึ้นแต่ละครั้งก็ไม่เคยที่จะหยุดอยู่เพียงแค่ความพีคเท่าเดิม เพราะยิ่งทำยิ่งมีความน่าตื่นเต้นและน่าสนใจมากขึ้นทุกปี เราจึงอยากเชิญชวนทุกคนเข้ามาร่วมสนุกกับกิจกรรมดี ๆ เสริมสร้างความรู้และทักษะการทำงานของสมอง วินัยและฝีมือ เดินชื่นชมนิทรรศการที่เปี่ยมไปด้วยความรู้อันอัดแน่นและพร้อมที่จะส่งต่อให้ผู้เข้าร่วมนำไปใช้ในชีวิตประจำวันกันได้อย่างแน่นอน

อัน อธิยาภรณ์ ลุล่วง จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนยโสธรพิทยาคม นักศึกษาปี 1 ม.ขอนแก่น คณะวิทยาศาสตร์ ชอบดาราศาสตร์ ดูหนัง และเล่นเกม