เสินโจว 12 การส่งมนุษย์ไปอวกาศในรอบ 5 ปีของจีน สำคัญอย่างไร

เช้าวันที่ 17 มิถุนายน 2021 จีนส่งยานเสินโจว 12 ขึ้นสู่วงโคจร พร้อมกับนักบินอวกาศ เนี่ยไห่เซิ่ง, หลิวโป๋หมิง และ ทังหงโป ขึ้นสู่สถานีอวกาศแห่งใหม่ของจีนซึ่งอยู่ระหว่างการสร้าง โดยภารกิจเสินโจว 12 นี้ปล่อยจากฐานปล่อยจิ่วเฉวียงของจีน ด้วยจรวด Longmarch 2F นับเป็นการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจรครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยโครงการครั้งก่อนหน้านี้คือโครงการ เสินโจว 11 ในปี 2016 ซึ่งตอนนั้น จีนยังใช้งานสถานีอวกาศเทียนกง 2 อยู่

5 ปี คือเวลาที่จีนว่างเว้นจากการทำงานอวกาศ เนื่องจากก่อนหน้านี้ จีนอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างสถานีอวกาศเทียนกง มายังสถานีอวกาศแห่งใหม่ ที่จะเป็นสถานีอวกาศแบบถาวร และใช้การออกแบบแบบ Modular คือมีโมดูลต่าง ๆ ส่งขึ้นไปประกอบกันต่อ ๆ กัน คล้ายกับเทคนิคการก่อสร้างสถานีอวกาศนานาชาติปัจจุบัน

นักบินอวกาศทั้ง 3 ของจีนในภารกิจเสินโจว 12 ก่อนที่จะเดินทางขึ้นยาน ที่มา – CCTV / CNSA

เฉินโจว คือชื่อของยานอวกาศขนส่งมนุษย์ของจีน เปรียบได้กับยานโซยุสของรัสเซีย ซึ่งจีนได้เริ่มต้นส่งนักบินอวกาศมาตั้งแต่ปี 2003 โดยนักบินอวกาศคนแรกของจีน หยาง หลี่เว่ย ได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศกับยาน เสินโจว 5 ในวันที่ 15 ตุลาคมปี 2003 ก่อนที่จีนจะเริ่มส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจรเรื่อย ๆ และในปี 2011 จีนก็ได้เริ่มต้นส่งสถานีอวกาศ “เทียนกง 1” ขึ้นสู่วงโคจร และภารกิจ เสินโจว 9 ในปี 2012 ก็ได้เป็นภารกิจแรกที่นำลูกเรือจีนเข้าไปปฏิบัติงานในสถานี ตามมาด้วยการส่งเทียนกง 2 ขึ้นไปในปี 2016 และจีนเองก็ได้ปลดระวางสถานีทั้งสอง ได้แก่เทียนกง 1 และเทียนกง 2 และปล่อยให้ Deorbit ลงสู่โลกในช่วงปี 2018-2019 ที่ผ่านมา

เป้าหมายในการสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ของจีน

เรียกได้ว่า เทียนกง 1 และเทียนกง 2 เป็นการทดสอบเทคโนโลยีสถานีอวกาศของจีน ซึ่งจีนก็ได้โชว์ความสามารถในการควบคุมยานไร้ขนขับ “เทียนโจว” ไปทำการ Docking กับตัวสถานีหลายครั้งตลอดการทดสอบ

แผนการสร้างสถานีอวกาศใหม่ของจีน เริ่มต้นจากการส่งตัว Core Module “เทียนเหอ” ขึ้นไปในวันที่ 29 เมษายน 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้ จีนก็จะส่ง Module ต่าง ๆ ขึ้นไป Dock ต่อกันเรื่อย ๆ จนสำเร็จ และสถานีนี้ก็จะชื่อว่า “เทียนกง” เช่นเดิม แต่ไม่มีเลขกำกับแล้ว และมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า  Chinese Large Modular Space Station

จรวด Longmarch 5B ที่จีนใช้ในการส่งตัว Core Module ของสถานีอวกาศแห่งใหม่ขึ้นสู่วงโคจรในเดือนเมษายน 2021

ภารกิจเสินโจว 12 นี้ จึงน่าจับตามองเป็นพิเศษทั้งในแง่นัยทางการเมือง ในแง่เทคโนโลยี และท่าทีของจีนในการสำรวจอวกาศในอนาคต

การส่งมนุษย์ขึ้นสู่วงโคจร ท่ามกลางการแข่งขันกลับสู่ดวงจันทร์

โครงการ Artemis นับว่าเป็นโครงการอวกาศขนาดใหญ่ในรอบเกือบ 50 ปี ที่ NASA เลือกที่จะให้โครงการนี้เป็น International Program หรือโครงการความร่วมมือนานาชาติ และดันให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การให้ ESA (ยุโรป) เข้ามาทำ Service Module หรือการเปิดให้ SpaceX เข้ามาทำระบบลงจอด Human Landing System ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ โครงการ Artemis แม้จะวางรากฐานในเรื่องของการสนับสนุนเอกชนและการยกเลิกการใช้งานกระสวยอวกาศมาตั้งแต่ปี 2011 ในสมัยของรัฐบาลโอบาม่า แต่ Artemis ก็กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งภายใต้การบริหารแบบชาตินิยมของ Trump ที่ Trump โปรโมตโครงการอย่างสุดโต่งในช่วงท้ายของสมัยของเขา และรัฐบาล Joe Biden ก็มารับช่วงต่อไปที่สุด

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนตอนนี้น่าจับตามอง โดยเฉพาะเรื่องของโครงการอวกาศ เราทราบกันดีว่า แม้เรื่องอื่นจะยอม ๆ กันบ้าง แต่เรื่องอวกาศ สหรัฐฯ กับจีนนั้นไม่มีใครยอมใคร และเป็นศัตรูกันอย่างเปิดเผย แซะกันไปแซะกันมา (ตอนที่จีนส่งยานเทียนเวิ่นไปลงจอดดาวอังคาร ผู้บริหารระดับสูงของ NASA ก็ออกมาแซะผ่าน Twitter ว่าหวังว่าข้อมูลที่ได้ จีนจะเปิดให้ทั่วโลกเข้าถึงเพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติ) และจีนเองก็ถูกแบนจากโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ที่ทำให้จีนต้องมาสร้างสถานีอวกาศ เทียนกง เป็นของตัวเอง

แต่จุดผลิกพันก็มาเริ่มต้นขึ้น เมื่อสหรัฐฯ ไม่ต้องง้อรัสเซียอีกแล้ว เพราะสามารถส่งนักบินอวกาศได้เอง ความสัมพันธ์ในโครงการสำรวจอวกาศระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียก็เริ่มถอยออกห่างกันมากขึ้น ประกอบกับมีข่าวว่า รัสเซียกับจีนจะมีความร่วมมืออวกาศกัน ในช่วงที่ NASA เองยังไม่ได้ประกาศโครงการ Artemis ด้วยซ้ำ (ข่าวเก่า – วิเคราะห์ : รัสเซียอาจหันหลังให้สหรัฐ และไปร่วมมือกับจีนในการสำรวจอวกาศ) ซึ่งเวลาผ่านมาจนถึงตอนนี้ จากที่เป็นแค่บทวิเคราะห์ ตอนนี้เราก็ลงข่าวจริง ๆ ได้แล้วว่า จีนกับรัสเซีย ร่วมมือกันสำรวจอวกาศจริง ๆ ในช่วงเดียวกับโครงการ Artemis ของ NASA นี่แหละ โดยจะเป็นการส่งนักบินอวกาศ และร่วมกันสร้างฐานสำรวจบนดวงจันทร์ ที่ชื่อว่า International Lunar Research Station หรือ ILRS

ยานจู่หรงของจีนที่ลงจอดสำเร็จบนดาวอังคาร พาจีนให้เป็นชาติที่ 2 ที่สามารถ Operate ยานบนดาวอังคารได้สำเร็ข ที่มา – CNSA

แต่ก่อนที่จะไปถึง ILRS ก็อย่าลืมว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จีนค่อนข้าง Active ในโครงการอวกาศมาก ไม่ว่าจะเป็นการ ส่งยานไปลงดวงจันทร์ในโครงการฉางเอ๋อ และการเป็นชาติที่ 2 ที่สามารถ Operate ยานบนผิวของดาวอังคารได้สำเร็จรองจากสหรัฐฯ ทำให้จีนนับว่ากำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสำรวจอวกาศ

แล้วเสินโจว 12 บอกอะไรเรา จะนำไปสู่อะไร

สำหรับการส่งภารกิจเสินโจว 12 ขึ้นสู่วงโคจร ก็จะเป็นการเปิดฉากการเดินทางไปกลับสถานีอวกาศฉบับ “ปกติ” ของจีน เหมือนกับที่เราเห็นข่าวการขึ้นลงสถานีอวกาศนานาชาติของทั้งฝั่ง NASA และ Roskosmos กันเป็นประจำ ซึ่งจีนเองก็จะได้ใช้โอกาสนี้ในการเทรนนักบินของตัวเองเพื่อให้พร้อมกับการปฏิบัติภารกิจอวกาศในเวลาอันยาวนาน เปิดทางไปสู่โครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน และการสำรวจดาวอังคารในอนาคต (ปัจจุบันจีนยังไม่มีแผนที่ชัดเจน หรือแบบของยานที่ชัดเจน แต่การวางเป้าหมายโครงการ ILRS กับรัสเซีย ทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่า จีนกำลังพัฒนายานลงจอดสำหรับมนุษย์บนทั้งดวงจันทร์และดาวอังคารอยู่)

ลูกเรือทั้งสาม ในยานเสินโจว 12 ระหว่างการถ่ายทอดสดของ CCTV ที่มา – CCTV/CNSA

ภารกิจเสินโจว 12 ลูกเรือทั้งสามจะใช้ชีวิตบนสถานีอวกาศเทียนกงแห่งใหม่นี้เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งก็นับว่าไม่สั้น แล้วก็ไม่ยาวจนเกินไป ภารกิจหลักของพวกเขาก็คือการสร้างตัวสถานี ทดสอบระบบต่าง ๆ เตรียมพร้อมในอนาคต และหลังจากที่ลูกเรือเสินโจว 12 กลับโลก ลูกเรือเสินโจว 13 ก็จะขึ้นไปต่อทันที ไม่ได้เว้นระยะเหมือนกับสมัยเทียนกง 1 และ 2 แล้ว

ภารกิจเสินโจว 12, 13, 14, 15 จะเน้นไปที่การสร้างตัวสถานีเป็นหลัก เตรียมความพร้อมระบบต่าง ๆ โดยจีนวางแผนไว้ในช่วงปี 2021-2023 และหลังจากนั้น ในโครงการเสินโจว 16 จะเป็นการใช้ชีวิตในระยะยาวในอวกาศ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การสำรวจอวกาศในระยะยาว และปูทางสู่ดวงจันทร์ในที่สุด

นับว่าเป็นท่าทีที่น่าจับตามองที่สุดของจีนช่วงนี้เลยก็ว่าได้ และก็ทิ้งคำถามให้เราไว้เต็มไปหมด ว่าจริง ๆ แล้ว จีนวางแผนยังไงกับรัสเซียต่อกันแน่? จีนจะไปดวงจันทร์ต่ออย่างไร? แล้วถ้าโครงการ International Space Station ถึงที่สิ้นสุด โฉมหน้าของการ “แบ่งข้าง” จะไปในทางไหน

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.