คอมพิวเตอร์คืออุปกรณ์ที่สามารถสร้างผลลัพท์ด้วยกระบวนการและลำดับขั้นตอนที่เป็นดังเดิมเสมอเมื่อข้อมูลป้อนเข้าเป็นแบบเดิม
เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว คอมพิวเตอร์นำพามนุษย์ไปยังดวงจันทร์ ภายในครึ่งศตวรรษถัดมา คอมพิวเตอร์ได้กลายสภาพจากเครื่องมือขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนและเทอะทะสำหรับวิทยาศาสตร์ชั้นสูงและธุรกิจขนาดใหญ่ สู่เครื่องใช้พกพาขนาดเล็กที่พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ถึงแม้ว่าขนาดของมันจะลดลงไปตามยุคสมัย แต่ประสิทธิภาพของมันกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
อ่านเพิ่มเติม: Spaceth.co – Apollo Guidance Computer ในวันที่โลกยังไม่รู้จักคอมพิวเตอร์
นอกเหนือไปจากนั้นขอบข่ายการใช้งานของคอมพิวเตอร์ก็เพิ่มขึ้นไปอย่างมากด้วยเช่นกัน จากกล่องโลหะที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ทางไฟฟ้าติดตั้งในห้องขนาดใหญ่ที่รอคอยมนุษย์เข้าไปสับสวิตช์และกดปุ่มเพื่อป้อนคำสั่ง มันได้เข้าไปใกล้ชิดกับมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกวันนี้ มนุษย์สามารถใช้คอมพิวเตอร์ (อย่างโทรศัพท์หรือแทบเล็ต) ได้บนฝ่ามือเดียว สามารถสวมใส่มัน สามารถควบคุมมันจากระยะไกล หรือแม้แต่ฝังมันเข้าร่างกายเพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ
หากจะสรุปแบบง่าย ๆ เราจะเห็นได้ถึงการช่องว่างระหว่างจุดมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ที่ลดลงเรื่อย ๆ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป ด้วยเหตุนี้ จึงมีสายของการวิจัยที่ชื่อว่า HCI หรือ Human-Computer Interaction เกิดขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจ หาทางพัฒนาและลดรอยต่อของมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ในด้านต่าง ๆ
Conference on Human Factors in Computing Systems หรือ CHI คือ Conference ที่จัดขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ปี 1982 โดย Association for Computing Machinery (ACM) ซึ่งงาน CHI นี้ก็มักได้รับการพิจารณาว่าเป็น Conference ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกเกี่ยวกับด้าน HCI โดยภายในช่วงเวลาของงานนี้ นักวิจัยจากทั่วโลกก็จะทำการส่งงานวิจัยเข้ามาในงานเพื่อรับการพิจารณาให้เข้ามานำเสนอผลงานภายใน Conference นี้ ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ผลกระทบของ COVID-19 ทำให้งาน CHI ประจำปี 2021 ที่วางแผนไว้ว่าจะจัดในญี่ปุ่นต้องถูกเปลี่ยนเป็นรูปแบบออนไลน์แทน
นอกจาก Main Event ของ CHI แล้ว ภายในช่วงเวลาของงานก็ยังมี Workshop และ Symposia ย่อยในกลุ่มหรือสายงานที่แตกต่างกันอีกด้วย ซึ่งหนึ่งใน Workshop หลากหลายสายนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ SpaceCHI ในสายที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ ซึ่งจัดขึ้นโดย MIT Media Lab ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จากภาคมหาวิทยาลัย (MIT, San Jose State University, Vienna University of Technology, Politecnico di Milano, UCL) สถาบันวิจัย Translational Research Institute for Space Health รวมถึงหน่วยงานที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีอย่าง NASA
“การสำรวจอวกาศได้กลายเป็นหนึ่งในจินตนาการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ มันทำให้มนุษย์เข้าถึงองค์ความรู้มหาศาลและท้าทายให้มนุษย์สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา อย่างไรก็ตามการดูแลมนุษย์ในอวกาศเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากในการสำรวจอวกาศในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้นักวิจัยได้พัฒนาระบบการเชื่อมต่อ (human-computer interfacing system – HCI) ในหลายรูปแบบเพื่อซัพพอร์ตทั้งด้านร่างกายและจิตใจของมนุษย์ในอวกาศ ซึ่งโปรเจกต์ HCI เหล่านี้ก็มีตั้งแต่ exoskeleton เพื่อรอบรับร่างกายในสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำ ไปจนถึง VR และ AR เพื่อการสำรวจระหว่างดวงดาว หรือแม้แต่ดนตรีในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงเพื่อความบันเทิงระหว่างภารกิจอวกาศ” – SpaceCHI
Workshop SpaceCHI ได้มีการเปิดให้นักวิจัยส่งผลงานมาได้ในสองรูปแบบคือ Conference Paper ขนาดสั้นไม่เกิน 4 หน้ากระดาษ (ที่จะพรีเซนต์ในวัน Main Event) หรือ Poster (ที่เปิดเป็นนิทรรศการออนไลน์ให้เข้าชมได้) โดยตัวงานได้ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนหลัก ๆ ได้แก่ Pre-event ในวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคมและ Post-event ในวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม เพื่อให้ผู้ส่งผลงานวิจัยได้มาพูกคุยแลกเปลี่ยนกัน และ Main Event ในวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคมที่มีการ Present Keynote ของ Paper งานวิจัยที่ได้รับการคัดเลือก
มี Paper ทั้งหมด 21 ชิ้นที่ถูกนำเสนอในงาน แยกออกมาได้เป็น 4 หมวดหมู่ 4 เซสชั่น คือ 1. Human-Machine Collaboration & Future of Work in Space 2. Space Health 3. Humanizing Space และ 4. Mission Operation ซึ่งผมจะยกมา 2 ถึง 3 Paper จากแต่ละหมวด รวม 10 ชิ้นมานำเสนอในบทความนี้
งานวิจัยในหมวดนี้เน้นไปที่การศึกษา ออกแบบ และทำความเข้าใจกับ Paradigm และ Methodology ต่าง ๆ ของความสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ ของมนุษย์และหุ่นยนต์ในงานด้านอวกาศเป็นหลัก เพื่อนำความเข้าใจนี้ไปประยุกต์หรือสร้างงานอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
Opening Keynote: ไซบอร์ก วีอาร์ สังคม
“สวัสดีชาวโลก (หรือจะบอกว่า) ว่าที่ชาวดาวอังคาร” ผู้จัดงานได้กล่าวต้อนรับทุกคนใน Meeting Zoom เข้าสู่ Main Event ของงาน SpaceCHI 2021 อย่างเป็นทางการ หลังจากแนะนำตัวงาน SpaceCHI อย่างคร่าวตามพิธีแล้ว เนื้อหาของ Opening Keynote ได้เริ่มพาผู้เข้าร่วมย้อนกลับไปเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อน ในวันที่แนวคิดของ Cyborg ถูกพัฒนาขึ้น
เราอาจลองมองไปที่งานของแมนเฟรด ไคลน์ และเนธาน ไคลน์ในช่วงปี 1960 ที่พวกเขานิยามคำว่า Cyborg หรือสิ่งมีชีวิตจักรกล (Cybernatics Organism) ขึ้นมา อธิบายว่าเราสามารถเสริมเติมแต่งร่างกายมนุษย์เพื่อให้สามารถรองรับสภาพแวดล้อมที่รุนแรงอย่างอวกาศได้ คอนเซ็ปต์นี้มันเป็นเรื่องที่ก้าวลำมากในสมัยนั้น และผมเชื่อว่ามันนำไปสู่การพัฒนา Apollo 11
และในยุคถัด ๆ มา เราก็จะว่าไซบอร์กได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่แทรกซึมเข้าไปอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของสังคมทั้งในความเป็นจริงและในนิยาย จนถึงปัจจุบันที่การพัฒนาของ Wearable Technology สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป
และนอกจากนี้ [แนวคิดของ Cyborg] ยังนำไปสู่แนวคิดที่พบเห็นได้อย่างแพร่หลายของการพัฒนาเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ (Wearable Technology) ที่ทำให้เราตระหนักถึงการเพิ่มขีดจำกัดของมนุษย์ด้วยเซนเซอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ
นอกจาก Cyborg แล้ว ผู้จัดงานยังได้กล่าวถึงการเติบโตขึ้นของเทคโนโลยีอีกอย่างที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมและการสำรวจอวกาศอย่าง VR หรือ Virtual Reality
ในปี 1995 NASA ได้ริเริ่มใช้งานของ VR ในฐานะอุปกรณ์สำหรับการฝึกนักบินอวกาศ มันไม่ได้ถูกมองเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากขนาดนั้น แต่ในปัจจุบัน มันได้การเป็นส่วนสำคัญของการสื่อสารและการพัฒนาสิ่งบันเทิง โดยเฉพาะในช่วงของการระบาด [ของ COVID-19] นี้
ผู้จัดงานแสดงให้เห็นถึงการ Democratize ของเทคโนโลยีที่ริเริ่มจากงานด้านอวกาศ สู่สิ่งของที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในสังคม และยังส่งผลในเชิงกลับกันที่ Mass Production นั้นของเทคโนโลยีอย่างหนึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและส่งเสริมการพัฒนาขั้นที่สูงขึ้นต่อไปเป็น feedback loop ในสองทาง
ผู้จัดงานได้แนะนำผลงานชิ้นต่าง ๆ ที่จะถูกนำเสนอในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ที่ครอบคลุมในหลากหลายประเด็นมาก ๆ และก็เชื่อได้ว่าจะนำไปสู่การ Democratize และกลายเป็นรากฐานของแนวคิดการพัฒนาเทคโนโลยีในยุคต่อ ๆ ไป
ผมหวังว่าทุกคนจะเปิดใจรับกับแนวคิดหลาย ๆ อย่างที่จะเข้ามาในวันนี้ที่ดูบ้าและล้ำสมัยมาก ๆ หลายไอเดียอาจฟังดูเหมือนหลุดมาจากนิยายไซไฟ แต่ก็อย่างที่เล่าไปแล้ว แนวคิดบ้า ๆ เหล่านี้นี่แหละที่จะนำไปสู่การก้าวข้ามของเทคโนโลยีในยุคต่อ ๆ ไป
ประเด็นสุดท้ายที่คงจะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยก็คือผู้จัดงานที่ว่าในครั้งนี้ (a.k.a ผู้พูด Opening Keynote) ก็คือพีพี พัทน์ ภัทรนุธาพร คนไทยแห่ง MIT Media Lab นี่เอง พีพีก็ได้ส่งท้ายไว้ว่า เขาเชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้วการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์จะเป็นรากฐานสำคัญของอนาคตของการสำรวจอวกาศและรวมถึงอนาคตของเผ่าพันธุ์มนุษย์โดยรวม
ผมขอจบบทกล่าวนำนี้ด้วยคำพูดของ Manfred Clynes และ Nathan Kline ว่าสำหรับมนุษย์ในอวกาศแล้ว นอกจากการบินพาหนะของเขาแล้ว เขายังจำเป็นต้องตรวจสอบสิ่ง [กลไกของอุปกรณ์และพาหนะ] ต่าง ๆ และคอยที่จะปรับแต่งมัน เขาได้กลายเป็นทาสของเครื่องจักร จุดประสงค์ของไซบอร์กคือการมอบระบบการจัดการที่ปัญหาของหุ่นยนต์สามารถถูกจัดการได้โดยอัตโนมัติ
ทิ้งให้มนุษย์เป็นอิสระ อิสระที่จะสำรวจ ที่จะสร้างสรรค์ ที่จะคิด และรู้สึก
พัทน์ ภัทรนุธาพร
Part I: Human-Machine Collaboration & Future of Work in Space
Toward Designing Social Human-Robot Interactions for Deep Space Exploration
Long-Duration Space Exploration หรือ LDSE กำลังจะกลายเป็นเรื่องสำคัญเรื่องต่อไปในการสำรวจอวกาศ ที่สำคัญ รูปแบบของ LDSE ที่มีแนวโน้มเกิดและเพิ่มจำนวยมากขึ้นมหาศาลจะเป็น LDSE แบบ Crewed Mission หรือภารกิจที่มีมนุษย์เป็นลูกเรือไปกับยานด้วย (เช่นการเดินทางไปยังดาวอังคาร) สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของภารกิจก็คือสภาวะทางจิตวิทยาที่ต้องปรับตัวเนื่องจากสภาวะของการสำรวจอวกาศของลูกเรือในสองระดับคือ ในระดับบุคคล (สภาพจิตใจ) และในระดับสังคม (การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางกับลูกเรือคนอื่นและทีม)
อ่านเพิ่มเติม: Spaceth.co – สุขภาพจิต ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามในการสำรวจอวกาศ
ผู้วิจัยได้ตั้งข้อสังเกตถึงพัฒนาการของหุ่นยนต์ในภารกิจอวกาศ จากเป้าหมายเพื่อตอบสนองต่อภารกิจเพียงอย่างเดียวในยุคก่อน ในยุคถัดมาก็ได้เริ่มมีการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ตอบสนองหรือรองรับสภาวะทางจิตวิทยาของลูกเรือในภารกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการซัพพอร์ตสุขภาพจิตในระดับบุคคล สู่การเริ่มพัฒนาหุ่นยนต์ที่ช่วยในการประสานการสื่อสารระหว่างทีมงานและลูกเรือ คำถามก็คือ หุ่นยนต์ (หรือโดยเจาะจงแล้วคือ Social Robot -> หุ่นยนต์ที่มีหน้าที่ในการสนับสนุนสภาวะทางจิตวิทยาของมนุษย์ในภารกิจ) ในยุคต่อไปจะมีการพัฒนาให้เหมาะสมอย่างไร
เพื่อตอบคำถามนี้ ผู้วิจัยได้แนวทางถึงการวิเคราะห์ HCI บนโลกก่อนเป็นอย่างแรก เพื่อทำให้ทราบถึงข้อมูลและแนวทาง และถอดบทเรียนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในงานอวกาศต่อไป จากการวิเคราะห์แล้ว ผู้วิจัยได้นำเสนอ Key Question 10 ข้อจาก 3 หมวดในการพัฒนา Social Robot สำหรับงานอวกาศด้วยกัน เช่น
หมวดที่ 1: การออกแบบบทบาทหน้าที่ของ Social Robot
– ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์-หุ่นยนต์แบบใด ที่นักบินอวกาศรับรู้ว่าส่งผลดีในเชิงสังคม การรับรู้และอารมณ์ของนักบินอวกาศในภารกิจสำรวจอวกาศระยะยาว
– พื้นเพที่แตกต่างกันของมนุษย์อวกาศแต่ละคนส่งผลต่อการรับรู้และการยอมรับปฏิสัมพันธ์ของหุ่นยนต์และมนุษย์ในเชิงสังคมอย่างไร
– บทบาทของหุ่นยนต์ใดบ้างที่สามารถ [เหมาะสมต่อการ] ออกแบบเพื่อรองรับต่อปฏิสัมพันธ์กับลูกเรือแต่ละคนในภารกิจสำรวจอวกาศระยะยาว
จะเห็นได้ว่าบทความชิ้นนี้ ไม่ได้เป็นการนำเสนอผลลัพธ์ของสิ่ง ๆ หนึ่ง แต่เป็นการทำความเข้าใจ เจาะลงไปถึงปัญหาและสภาวะที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อนำเสนอปัญหาหรือข้อขบคิดที่น่าสนใจต่อการนำไปศึกษาค้นคว้าและพัฒนาต่อไปมากกว่า
The Dynamics of Trust and Adaptability in Human-Robot Interaction
ในโครงการอวกาศปัจจุบันที่ห่างไกลออกไปจากที่ ๆ มนุษย์สามารถไปอยู่ด้วยตัวเองได้ มนุษย์ก็มักจะจำเป็นที่จะต้องใช้หุ่นยนต์ต่าง ๆ อย่าง rover หรือยานสำรวจในการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่นั้นแทน และหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อประสิทธิภาพของการภารกิจก็คือความลื่นไหลของการประสานการทำงานระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ งานชิ้นนี้ได้ทำการวิเคราะห์ถึงตัวแปรที่ส่งผลต่อปัจจัยดังกล่าว กล่าวออกมาให้เป็นรูปธรรมในรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อใจ (Trust) และการปรับตัว (Adaptability) ระหว่าง agent สองฝ่าย ซึ่งเกิดจากการวัดด้วย matric หลายรูปแบบแตกต่างกันออกไป
ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ผู้วิจัยย้ำก็คือการแยกพิจารณาระหว่าง Trust และ Adaptability ของมนุษย์ที่จะทำให้ผลลัพท์ของการวิเคราะห์ความสัมพันธ์กระจ่างชัดมากกว่าเดิม จากนิยามของทั้งสองที่ไม่ได้เป็นคาบเกี่ยวอยู่ในขอบข่ายเดียวกัน แต่มีลักษณะของการเป็นลูปที่ส่งผลต่อกันมากกว่า จาก framework ที่ผู้วิจัยได้ตีกรอบมาแล้วนั้น พรีเซนเตชั่นนี้จบลงที่คำถามที่เกิดขึ้นจากขอบเขตของการตีความที่น่านำไปค้นคว้าต่อ และ proposal ของทดลองนำ framework นี้ไปเก็บข้อมูลและทำการวิเคราะห์จากภารกิจอวกาศจริงเพื่อนำผลมาแปรค่าและพัฒนาต่อไป
ผู้วิจัยได้แสดงถึงจุดท้าทายที่ควรไต่ตรองใน Interface ของระบบการควบคุมภารกิจอวกาศ 5 อย่าง แบ่งแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือประเด็นของการออกแบบระบบ และประเด็นของการนำระบบมาใช้งาน
ในประเด็นของการออกแบบระบบ ผู้วิจัยได้ชี้ถึง point สามจุดที่ควรนำมาขบคิดในการพัฒนา ประเด็นแรกเกิดขึ้นมาจากการเพิ่มขึ้นของข้อมูลที่ต้องจัดการและวิเคราะห์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จากภารกิจอวกาศที่เพิ่มมากและซับซ้อนยิ่งขึ้น ที่จนถึง ณ จุดหนึ่ง จะก้าวข้ามขีดจำกัดการรับรู้ของมนุษย์ ณ ชั่วขณะ ประเด็นที่สองคือเรื่องของการเพิ่มสมาธิ/ความสนใจของผู้ควบคุมระบบควบคุมภารกิจอวกาศ ที่ระยะเวลาโดยรวมของมันมักจะยาวนาน แต่เหตุการณ์สำคัญจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น นั่นทำให้โดยปกติแล้วสมาธิของผู้ควบคุมจะหลุดลอยไป และฟื้นกลับมาให้มีประสิทธิภาพเท่าเดิมไม่ทันการเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ขึ้น และประเด็นที่สามคือข้อสังเกตถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจากตลาดทั่วไป (ผู้วิจัยยกตัวอย่างหน้าจอ touchscreen) ที่ดูน้อยกว่าที่เป็นไปได้/สมควรเป็น
และในประเด็นของการนำระบบมาใช้งาน จุดแรกคือเรื่องของขั้นตอนและวิธีการการประเมินความเหมาะสมของการนำ Interface หนึ่ง ๆ มาใช้งานหรือ Integrate เข้ามาในระบบที่ควรจะมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ และจุดที่สองคือการหาความเป็นไปได้ของการปรับปรุง Interface เก่าจากภารกิจเมื่อนานมาแล้วให้เข้ามาใช้ระบบใหม่ที่ (ควรจะ) เข้าใจง่าย ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพกว่าเดิม เช่นเดียวกับในงานชิ้นแรกที่เสนอไปในบทสรุปของบทความชิ้นนี้ ผู้วิจัยไม่ได้ต้องการที่จะหา Solution จากจุดท้าทายที่ว่ามา แต่เป็นเหมือนการตามหาและนำเสนอปัญหาที่น่าสนใจที่เปิดให้ผู้ที่สนใจได้ลองนำไปศึกษาและพัฒนาต่อมากกว่า
Part II: Space Health
ในอนาคตที่มนุษย์จะขึ้นไปอยู่อาศัยบนอวกาศหรือบนดาวดวงอื่นเป็นระยะเวลานานขึ้นและจำนวนเยอะขึ้น สิ่งที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งที่ต้องจับตามองและค้นคว้าวิจัยมารองรับการไปอยู่อาศัยของมนุษย์ครั้งนี้ก็คือเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ ที่สภาวะบนนั้นแตกต่างจากบนโลกเป็นอย่างมาก เกิดเป็นคำถามต่าง ๆ อย่าง มนุษย์จะปรับตัวอย่างไร? จะรักษาสภาพร่างกายอย่างไร? หรือจะรับมือกับความเจ็บปวดอย่างไร?
Design of Wearable Soft Robotic System for Gait Muscles Stimulation during Lunar Colonization
โลกมีค่า g ประมาณ 9.8 เมตรต่อวินาที ขณะที่ดวงจันทร์มีค่าแค่ประมาณ 1.62 เมตรต่อวินาที หรือประมาณ 1 ใน 6 ของโลกเท่านั้น แรงโน้มถ่วงที่ต่ำลงจะส่งผลต่อระบบกล้ามเนื้อที่ประสิทธิภาพจะต่ำลงเนื่องจากการทำงานที่น้อยลง และระบบการไหลเวียนของเลือดที่ธรรมชาติ optimize มาสำหรับทำงานบนโลก ด้วยเหตุนี้ การไปอาศัยอยู่ดวงจันทร์เป็นเวลานาน (โดยเฉพาะในอนาคตที่มนุษย์ตั้งเป้าหมายไปตั้งรกรากบนนั้นเลย) ย่อมไม่ดีต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์ในระยะยาวอย่างแน่นอน (หรืออย่างน้อยก็มีปัญหาแน่ ๆ ถ้ากลับมาบนโลกที่ร่างกายต้องรองรับแรงโน้มถ่วงเป็น 6 เท่าของบนดวงจันทร์)
งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นการออกแบบเครื่องมือในการกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบไหลเวียนโลหิตของมนุษย์ (โดยโฟกัสเริ่มต้นไปที่รยางค์ส่วนล่างหรือช่วงขาของมนุษย์ – สำหรับการเดินเป็นหลัก) ซึ่งประกอบไปด้วยอุปกรณ์ชื่อ Soft Pneumatic Actuator ที่วางไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ของตัวเครื่องมือ ที่จะทำหน้าที่ในการสร้างแรงดันในการกดเพื่อเพิ่มการทำงานของกล้ามเนื้อ ร่วมกับการติดตั้งเซนเซอร์ประเภทต่าง ๆ เพื่อวัดสภาวะการทำงานของร่างกายในด้านต่าง ๆ
อ่านเพิ่มเติม: Spaceth.co – ผลกระทบที่มีต่อหัวใจ เมื่อมนุษย์ต้องไปอยู่บนอวกาศ
ในท้ายที่สุดแล้ว ผู้วิจัยเชื่อว่านอกจากการนำไปใช้งานในอวกาศแล้ว งานนี้ยังสามารถประยุกต์เพื่อใช้ในการรองรับกับปัญหาสุขภาพของมนุษย์ในโลกได้อีกในหลายแง่มุมตั้งแต่สำหรับผู้ป่วยที่การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ ที่มีระบบหมุนเวียนเลือดย่ำแย่ ไปจนถึงคนทั่วไปที่คุ้นชินกับการใช้ชีวิตที่ไม่ได้ใช้งานกล้ามเนื้อเป็นเวลานานอีกด้วย
Astronaut Health & Task Performance for Deep Space Operations: Clinical Decision Support Needs
การสำรวจ Deep Space จะสร้างปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างโลกกับตัวยาน ด้วยการเดินทางของคลื่น (ที่เป็นตัวกลางของการสื่อสาร) ก็มีขีดจำกัดด้านความเร็วของตัวมันเอง ดีเลย์ของการสื่อสารระหว่างโลกกับ ISS บนวงโคจรโลกในปัจจุบันหรือบนดวงจันทร์เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว มีค่าเพียงไม่ถึง-ไม่กี่วินาทีเท่านั้น ทำให้มันไม่เป็นปัญหาระดับใหญ่มาก แต่เมื่อมนุษย์จะเดินทางไปดาวอังคารที่อาจเกิดการดีเลย์ระหว่างการสื่อสารหลักหลายนาที จะทำให้ Ground Control และลูกเรือไม่สามารถสื่อสารแบบต่อเนื่องได้อีกต่อไป
อ่านเพิ่มเติม: Spaceth.co – การป่วยในอวกาศ ประวัติศาสตร์ และวิธีรับมือ
ปัญหาของการสื่อสารนี้เองได้นำไปสู่ปัญหาใหญ่อีกอย่างคือเรื่องของการ Monitor และรับมือกับสุขภาพของลูกเรือ ในอดีตที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญบนพื้นโลกสามารถรับรู้และแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้แทบจะทันที แต่ดีเลย์ในการสื่อสารของภารกิจการเดินทางไปดาวอังคารนี้เองจะบีบบังคับให้นักบินอวกาศต้องตัดสินใจเองในกรณีฉุกเฉินที่ไม่สามารถรอการสื่อสารกับ Ground Control ได้ แนวทางในยุคก่อน ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้คือการสร้างชุดข้อมูลอาการที่เป็นไปได้ และแนวทางการดำเนินการรับมือที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ลิสต์นี้เพียงอย่างเดียวก็คงจะไม่พอ NASA จึงตัดสินใจที่จะทำการศึกษาเพื่อออกแบบระบบต่าง ๆ เพื่อช่วยนักบินอวกาศให้การตัดสินใจออกมาดีมากยิ่งขึ้น
โดยสรุปแล้ว การสำรวจ Deep Space จะบังคับให้ลูกเรือของภารกิจต้องตัดสินใจรับมือกับความผิดปกติ [ของร่างกายและสุขภาพ] ได้ด้วยตัวเอง [จาก latency ระหว่างการสื่อสาร] NASA จึงเลือกที่จะสร้างเครื่องมือทางเทคนิคเพื่อช่วยซัพพอร์ตและรองรับการแก้ไขปัญหาของลูกเรือ
ช่วงพิเศษ: Special Keynote โดยคุณ Jeffrey Hoffman
คุณ Jeffrey Hoffman เป็นนักบินอวกาศที่ปัจจุบันอายุ 76 ปี ที่เคยได้ทำการซ่อมกล้องโทรทัศน์อวกาศ Hubble บนวงโคจรโลกครั้งแรกในภารกิจ STS-61 ในปี 1993 โดย EVA ของเขาครั้งนั้นกินเวลายาวนานเกือบ 8 ชั่วโมง แต่อย่างไรก็ตาม Keynote ของเขาไไม่ได้เป็นเพียงแค่การเล่าเรื่องเมื่อเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นเรื่องของผลงานใหม่ของเขา (Second Author ของ Paper) ก็คือ MOXIE เครื่องทดลองการสร้าง Oxygen บนดาวอังคารที่ได้ถูกติดตั้งและส่งไปกับ Rover Perseverance ของภารกิจ Mars 2020 ที่ส่งไปถึงดาวอังคารเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
พรีเซนเตชั่นของคุณ Jeffrey ได้เริ่มต้นด้วยคอนเซปต์ของการไปสำรวจดาวอังคาร ไปยังแนวคิดของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนนั้น คุณ Jeffrey นำผู้ฟังสำรวจดำลึกลงไปและตั้งคำถามกับปัจจัยที่จะทำให้เป้าหมายนั้นเกิดขึ้นได้จริง และหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของอากาศและบรรยากาศ ประเด็นนี้ก็ได้โยงเข้าสู่เรื่องของ MOXIE ที่เป็นประเด็นหลักของ Keynote นี้
ในพาร์ทนี้คุณ Jeffrey ได้เลกเซอร์รายละเอียดของที่มาของงาน ไปสู่การออกแบบ การสร้าง องค์ความรู้ที่เป็นฐานรองรับในการสร้างงานชิ้นนี้ ไปจนถึงการปฏิบัติการและความคาดหวัง หลังจากช่วง Keynote จบแล้ว ก็ได้มีการเปิด Session Q&A ที่ค่อนข้างยาวนาน (และสนุก) มาก ซึ่งทางทีมของเราก็ได้มีโอกาสถามคำถามเค้าด้วยเหมือนกัน
เราได้ถามความคิดเห็นของคุณ Jeffrey เรื่องของความเป็นไปได้และความ practical ของการทำเครื่องสร้างออกซิเจนที่เป็น biological-based แทนกระบวนการที่เป็นกระบวนการทางไฟฟ้าและเคมีในปัจจุบันอย่างในเคสของ MOXIE คุณ Jeffrey ได้แสดงความสนใจในประเด็นดังกล่าว และได้สันนิษฐานว่าจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจต่อไปในอนาคตในแง่ของการสร้าง Greenhouse หรือ Environment ภายในตัวอาคารของมนุษย์ แต่เขาก็ยังเชื่อว่า แนวทางการสร้าง Oxigen ด้วยเคมีและไฟฟ้ายังง่ายต่อการควบคุมและสเกลอัพมากกว่า และน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบกันแบบ 1 ต่อ 1
ถ้าไม่ต้องการรับความเสี่ยงอะไรเลยก็คงไม่ต้องสำรวจ
Jeffrey Hoffman
เมื่อเราลองพิจารณาลงลึกไปอีกขั้น นอกจากเนื้อหาที่เป็นองค์ความรู้แล้ว สิ่งที่เราได้จาก Session นี้ยังประกอบไปด้วยแง่คิด Culture และ Mindset ที่น่าสนใจหลาย ๆ อย่างของการสำรวจอวกาศที่สะท้อนออกมา มีคำถามหนึ่งที่ถามเกี่ยกับเรื่องความเสี่ยงของงานด้านการสำรวจอวกาศ เขาได้ให้แง่คิดว่าทุกวันนี้เรานำความปลอดภัยมาเป็นประเด็นสำคัญของการสำรวจอวกาศเสมอ เพื่อจะลดอุบัติเหตุให้มากสุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ขณะเดียวกันความเสี่ยงก็คือความเสี่ยง และถ้าไม่ต้องการรับความเสี่ยงอะไรเลยก็คงไม่ต้องสำรวจ ในความคิดเห็นส่วนตัวของผมแล้ว มันเป็นการสอดแทรกถึงความพยายามในการก้าวข้ามขีดจำกัดของมนุษย์ที่ดีมาก ๆ อย่างหนึ่ง
Part III: Humanizing Space
อวกาศอาจเคยเป็นพื้นที่อันหนาวเหน็บที่อันตรายและยากลำบากต่อการเดินทางของมนุษย์ แต่มันก็เป็นเช่นเดียวกับป่าเขาหรือทะเลทรายในอดีต ที่มีผู้บุกเบิกที่เผชิญความยากลำบากเดินทางไปเพื่อริเริ่มอยู่อาศัยที่นั่น แต่พอกาลเวลาผ่านไป สถานที่แห่งนั้นก็จะเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น
เมื่อหลายทศวรรษก่อน อวกาศเป็นเสมือนดินแดนอันตรายที่มีแต่โครงสร้างเชิงอำนาจที่สำคัญเท่านั้นที่เข้าถึงมันได้ ที่สามารถมอบหมายให้บุคคลฝ่าอันตรายเพื่อเข้าถึงมัน แต่ในปัจจุบันนี้ กำแพงการผูกขาดของอวกาศได้กำลังถูกทำลายลงไป เมื่อกลุ่มโครงสร้างที่ขนาดเล็กลงก็สามารถเข้าหามันได้เหมือนกัน และในอนาคต มันก็จะเป็นคนทุก ๆ คนที่เข้าถึงมันได้ ความยากลำบากของอวกาศจะเริ่มหายไป และความเป็นมิตรและ “เป็นมนุษย์” ก็จะเข้ามาแทนที่และเติมเติมแทน
อ่านเพิ่มเติม: Spaceth.co – Democratizing Access to Space อวกาศเป็นของราษฎรและมนุษยชาติ
Humanizing Space คือการทำความเข้าใจถึงการทำลายความยากลำบากของอวกาศ การสร้างความเป็นมิตรและความเป็นมนุษย์ของอวกาศ ประกอบกับแนวคิดและแนวทางในการที่จะเอื้อมไปถึงเป้าหมายนั้น
งานชิ้นนี้เป็นความพยายามของผู้วิจัยในการเข้าใจการรับรู้ของมนุษย์ผ่านผลงานในอดีตของตัวผู้วิจัยเอง โดยแบ่งออกเป็นสองพาร์ทหลัก ๆ ได้แก่รสชาติ และกลิ่น ร่วมกับงานปัจจุบันของตัวผู้วิจัยที่ตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ในเชิงชีววิทยาของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ซึ่งตัวผู้วิจัยเชื่อว่าการวิเคราะห์เหล่านี้จะเป็นประเด็นที่น่าสนใจถึงการออกแบบสภาวะในอวกาศที่สอดคล้องกับการรับรู้ของมนุษย์
ผู้วิจัยเชื่อว่าการรักษาถึงวัฒนธรรม (ในบริบทของการอธิบายการดำรงชีพของมนุษย์) เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการรักษาสุขภาพจิตของมนุษย์ เพราะฉะนั้นก็คงจะเป็นการดีที่การไปอวกาศในอนาคตจะสามารถปรับปรุงและประกอบวัฒนธรรมเหล่านี้ขึ้นมาใหม่เพื่อรักษาการรับรู้ของมนุษย์ไว้
งานชิ้นนี้เป็นงานที่น่าสนใจในแง่ของบริบทการสร้างผลงานที่อาจเรียกได้ว่าค่อนข้างมีเอกลักษณ์สูงมาก ผู้วิจัยของงานชิ้นนี้เป็นนักเรียนป.โท สถาปัตยกรรมศาสตร์ในสาขาการประยุกต์ชีววิทยาเข้ากับงานดีไซน์ (Bio-Integrated Design program) ของ UCL โดยข้อมูลที่เกิดขึ้นมาจากงานชิ้นนี้ เป็นการตั้งคำถามถึงสุนทรียะของมนุษย์ผ่านผลงานศิลปะหลายชิ้นที่สื่อถึงประเด็นที่แตกต่างกันไป ซึ่งผลงานเหล่านี้ก็เป็นการประยุกต์กันระหว่างงานศิลปะและวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจมาก ๆ
เราจะเห็นได้ว่าศิลปะในผลงานไม่ได้เป็นแค่ Medium เพื่อไว้สื่อถึงคอนเซปต์เชิงวิทยาศาตร์เท่านั้น แต่ศิลปะและวิทยาศาสตร์ก็สามารถผสมผสานกันได้อย่างกลมกลื่นเพื่อค้นหาและอธิบายแนวคิดบางอย่างที่จะนำไปสู่มุมมองใหม่ ๆ ของมนุษย์ได้เช่นกัน นอกจากนี้งานชิ้นนี้ก็คงเป็นตัวอย่างที่ดีมากอย่างหนึ่งที่จะอธิบายถึงการ Democratize Space ที่งานด้านอวกาศจะไม่ได้เป็นเพียงการออกแบบวิศวกรรมการบินอีกต่อไป แต่จะรวมศาสตร์ทุกด้านเพื่อปูทางสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษย์ในอวกาศอีกด้วย และสิ่งหนึ่งที่มนุษย์จะไม่ทิ้งไปอย่างแน่นอนก็คือสุนทรียะของตัวเอง
แนะนำ: Spaceth.co – นิทรรศการศิลปะ คลื่นสมอง โมเดลสามมิติ แบคทีเรีย หินดวงจันทร์และเจ้าหญิงคางุยะ
Designing for Earth-to-Mars Family Communication
ดังที่ได้กล่าวมาใน section ก่อนหน้า ความยากลำบากของการติดต่อระหว่างโลก – ดาวอังคาร เกิดมาจากข้อจำกัดความเร็วของตัวกลางในการส่งข้อมูล โดยทำให้การสื่อสารระหว่างโลก – ดาวอังคาร ไม่มีทางเป็นการสื่อสารแบบต่อเนื่องได้เลย จากที่ระยะเวลาในการส่งข้อมูลไปอีกฝ่ายกินเวลาหลายนาที ซึ่งผู้วิจัยเชื่อว่าการดีเลย์ที่กินระยะเวลาขนาดนี้ (สูงสุดถึงประมาณ 22 นาทีในการสื่อสารทางเดียว) จะนำไปสู่การห่างเหินกันที่มากยิ่งขึ้นระหว่างบุคคลจากทั้งสองฝั่ง เพราะฉะนั้นแล้วผู้วิจัยจึงได้นำเสนอไอเดียที่จะช่วยเชื่อมโยงกันและกันให้มากยิ่งขึ้นในสามรูปแบบได้แก่
- Visual Togetherness: การใช้เฟรมดิจิทัลสร้างภาพ abstract ด้วยแนวคิดของ slow technology (movement การออกแบบเทคโนโลยีที่เน้นไปที่การลดความรุนแรง/ความรวดเร็วที่มากเกินไปจนเกิดสภาวะตึงเครียดของจิตใจที่เกิดจาก interaction ระหว่างอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์กับผู้ใช้งาน) ที่จะเปลี่ยนแปลงไปสัมพันธ์กันตามอากัปกิริยาของแต่ละฝั่งและถ่ายทอดไปที่อีกฝั่งหนึ่ง ด้วยความเป็น slow technology แล้วผู้ใช้ที่ฝั่งหนึ่งจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปของอีกฝั่ง (ที่ถึงแม้จะไม่ทันที) แต่ก็สามารถช่วยกระตุ้นความรู้สึกของความสัมพันธ์ได้ผ่านการเข้าใจความเป็นไปของชีวิตของอีกฝ่าย
- Audio Togetherness: สร้างอุปกรณ์ในการเล่น/บันทึก/ถ่ายทอดเสียงแบบ asynchronous โดยออกแบบ User Interface ให้รับข้อความได้เมื่อเงื่อนไขบริบทของผู้รับเชื่อมโยงกันกับผู้ส่ง
- Haptic Togetherness: ใช้ถุงมือที่ประกอบด้วยอุปกรณ์การสั่นเพื่อบันทึกลักษณะของมือของผู้ส่งไปยังผู้รับ (เช่นการจับมือ) ผู้วิจัยเชื่อว่าระบบนี้สามารถนำไป integrate เข้ากับการสื่อสารอื่น ๆ อย่างเช่นวิดิโอคอลได้
ในงานนี้เราได้เข้าใจถึงความสำคัญของการสื่อสารในด้านการเชื่อมโยงอารมณ์และความสัมพันธ์ของทั้งสองฝั่ง เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาถึงทางตันที่ข้อจำกัดของธรรมชาติ ที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถสื่อสารแบบ synchronous ระหว่างดาวได้ เราก็ต้องลอกเปลือกของการสื่อสารออกไปให้เหลือแก่นของมันคือการสร้างความสัมพันธ์และจำลอง/สร้างมันออกมาในรูปแบบอื่นแทน
Space Aged: Prepping Space for Grandma
เราจะสร้างสภาวะการดำรงชีวิตอยู่ในอวกาศให้เหมาะสมกับคุณย่าเราได้อย่างไร? ผู้วิจัยได้แรงบันดาลใจในการตั้งคำถามนี้จากการไปทำงานวิจัยที่ขั้วโลกเหนือที่ได้ทึ่งกับความสามารถในการทำการทดลองของเพื่อนร่วมงานที่อายุมากกว่าหลายสิบปีที่ได้ให้คำแนะนำ/ช่วยเหลือเขาในการทำงาน จากเรื่องร่วนี้เขาได้ตั้งแง่คิดว่าในอนาคตมนุษย์อาจะได้พึ่งพิงผู้มากประสบการณ์ (aka ผู้สูงอายุ) เหล่านี้ในการทำงานในอวกาศด้วยเช่นกัน
ซึ่งแง่คิดนี้ก็ได้สอดคล้องกับสถิติของอายุผู้เดินทางไปยังอวกาศที่ดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แนวคิดการสร้างสภาวะการดำรงชีวิตในอวกาศให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุจึงเข้ามาในความคิดเขา และการออกแบบสภาวะนี้ให้ “คุณย่า” ผู้ซึ่งทั้งมีสกิลการสื่อสารและการเป็นผู้นำที่ดีเยี่ยม อบขนมเก่ง และไม่ต้องกังวลกับการได้รับรังสี gamma ในระยะยาวก็คงเป็นจุดโฟกัส/ตัวแทนที่ดีของการออกแบบสภาวะการดำรงชีพให้ผู้สูงอายุเหล่านี้
ซึ่งผู้วิจัยก็นำเสนอการประยุกต์ Universal Design และระบบต่าง ๆ ที่ซับซ้อนเป็นโครงข่ายเพื่อ cross check การทำงานของกันและกันเพื่อลด task ที่ผู้สูงอายุต้องดูแล นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้เขียน section เพื่อ discuss เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการพัฒนา spacesuit ให้สะดวกสบายมากขึ้นผ่านข้อมูลของการดีไซน์เครื่องสวมใส่ในปัจจุบันอีกด้วย
Part IV: Mission Operation
Using Augmented Reality in a Planetary Surface Greenhouse for Crew Time Optimization
งานชิ้นนี้เป็นการนำเสนอระบบ AR เพื่อใช้สำหรับการดูแลโรงปลูกพืชของสถานีอวกาศ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากแนวทางในปัจจุบันคือ ตารางเวลาของนักบินอวกาศที่ควร optimize ได้มากกว่านี้ถ้าไม่ต้องเสียเวลามาดูแลโรงเพาะปลูกมากนัก ปัญหาการ scaling เมื่อการเพาะปลูกพืชจำเป็นต่อการดำรงชีพของนักบินอวกาศมากยิ่งขึ้นมากกว่าการเป็นระบบเล็ก ๆ เพื่องานวิจัยอย่างในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้นักบินอวกาศต้องทุ่มเทกับงานส่วนนี้มากกว่าที่ควร และการซัพพอร์ตแบบ realtime จาก control center บนโลกที่ควบคุม ISS อย่างในปัจจุบันซึ่งจะเป็นไปไม่ได้ในการตั้งรกรากบนดาวอังคาร
อ่านเพิ่มเติม: Spaceth – อนาคตของการปลูกพืชในอวกาศ ความมั่นคงด้านอาหารแห่งอนาคต
ผู้วิจัยได้เสนอแนวทางการพัฒนาระบบ AR เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการดูแลพืชบนสถานีอวกาศ โดยประยุกต์จากคอนเซปต์ที่ออกแบบไว้สำหรับ Eden ISS greenhouse ในแอนตาร์กติกาให้เหมาะสมกับงานในอวกาศมากยิ่งขึ้น โดยใน Workshop นี้ ก็เป็นการนำเสนอ system ของ Eden ISS นี้นั่นเอง
MESSE : Molecular Encoded Storage for Space Exploration
คงเป็นงานที่หลายคนอาจเคยผ่านหูผ่านตากันบ้าง เพราะเป็นงานร่วมระหว่าง FREAK Lab กับ Spaceth.co เองนั่นเอง (ฮา) ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ที่ดีมากที่เราได้มีโอกาสนำเสนอโปรเจกต์ของเราในงาน SpaceCHI นี้ด้วย
เราเชื่อว่า DNA Storage หรือการเก็บข้อมูลไว้ใน DNA ที่สังเคราะห์ขึ้นมาจะเป็นแนวทางที่จะถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในอนาคตที่จะถึง เนื่อจากลิมิตทางทฤษฏีที่สามารถเก็บข้อมูลได้เข้มข้น (อัตราส่วนข้อมูลที่เก็บได้ต่อพื้นที่เก็บ) มากกว่าวิธีการในปัจจุบันเป็นอย่างมาก (DNA ที่ 215,000,000 GB ภายใน DNA 1 กรัม) เราจึงได้เก็บเพลงความฝันกับจักรวาลของ Bodyslam เป็นข้อมูลตัวอย่างเพื่อสื่อถึงการตั้งคำถามและก้าวข้ามขีดจำกัดของมนุษย์ลงไปใน DNA สร้างเป็น DNA Storage ส่งขึ้น Sub-orbital ด้วยจรวด New Shepard ของ Blue Origin เพื่อศึกษาผลกระทบของสภาวะอวกาศต่อสาย DNA
ในช่วงเวลานี้ Payload ที่ส่งขึ้นอวกาศได้กลับลงมายังโลกและส่งกลับมาที่ไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ในไทยในปัจจุบัน ทำให้การทดลอง Post-flight เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นบน DNA ยังต้องเลื่อนออกไป
อ่านเพิ่มเติม: Spaceth.co – Molecular Encoded Storage for Space Exploration
Extreme Problem Solving: The New Challenges of Deep Space Exploration
งานสุดท้ายที่เราจะพูดถึง (และก็เป็นงานสุดท้ายที่พรีเซนต์ใน Workshop นี้ด้วย) เป็นงานของทีมที่ NASA Ames Center ที่ทำการวิเคราะห์โดยละเอียดถึงปัญหาของการรับมือกับความผิดพลาดบนยานอวกาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากปัญหาเดิมของเรา – ดีเลย์ระหว่างการสื่อสารของลูกเรือและ ground control
ผู้วิจัยได้ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลทางสถิติของความผิดปกติที่ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นบนภารกิจอวกาศที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ และในบางครั้งก็เป็นอันตรายอย่างมากหากแก้ไขปัญหาไม่ทัน ผู้วิจัยจึงได้วิเคราะห์แยกปัจจัยเหตุ ความซับซ้อนและทรัพยากรในการรับมือกับปัญหาเหล่านี้อย่างละเอียด ซึ่งก็นำไปสู่ข้อสรุปของการรื้อระบบ ground control แบบปัจจุบันทิ้งในอนาคตข้างหน้า ซึ่งก็เป็นการพรีเซนต์ปิดท้ายที่ดีมาก ๆ หลังจากผ่านมา 21 โปรเจกต์จากสี่กลุ่มที่ผ่านมา
หมายเหตุ: paper ชิ้นนี้เป็นผลงานที่ละเอียดและครอบคลุมอย่างมากชิ้นหนึ่งในแง่ของการวิเคราะห์การรับมือกับความผิดปกติบนอวกาศ ซึ่งผมก็ขอแนะนำให้ไปลองอ่านดูสักรอบหากสนใจในประเด็นนี้
บทส่งท้าย
เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วมนุษย์เดินทางไปอวกาศในกระป๋องโลหะชิ้นเล็ก ๆ ที่ไร้ชีวิตและระบบซับซ้อนยากต่อการเข้าใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป อวกาศที่เคยเปรียบเหมือนดินแดนลี้ลับอันตรายในอดีตก็เริ่มเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น จากที่เคยมีเพียงรัฐเท่านั้นที่เอื้อมถึงมัน ทุกวันนี้บริษัทเอกชนก็เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก เทคโนโลยพัฒนาขึ้นไปตามกาลเวลาและราคาลดลงตามคุณสมบัติของการแข่งขันของภาคเอกชนในระบบทุนนิยม ก็คงเป็นเวลาอีกไม่นานที่อวกาศจะเข้าถึงประชาชนทุกคนมากกว่าที่เคยเป็นมา
มอบพลังให้มนุษย์ ให้ออกสำรวจ ให้สร้างสรรค์ และให้รู้สึก
Manfred E. Clynes & Nathan S. Kline
งาน CHI Conference เป็นงานที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาปฏิสัมพันธ์ของคอมพิวเตอร์และมนุษย์ และเมื่อเราได้เข้ามามีส่วนร่วมกับงานนี้ เราก็จะได้เข้าใจว่าทำไมปฏิสัมพันธ์คู่นี้ถึงสำคัญ ก็คงเป็นเพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์ก็จะตามหาวิธีการสักอย่างที่ถ้าหากไม่ใช่เพื่อการพัฒนาก้าวต่อไปของมนุษย์ ก็คือเพื่อตอบสนองสุนทรียะและความเป็นมนุษย์นั่นเอง
เมื่ออวกาศคือเป้าหมาย คอมพิวเตอร์ก็จะเข้ามาเป็นสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับอวกาศเพื่อตอบสนองต่อความต้องการทั้งสอง: ความก้าวหน้าอย่างการออกแบบระบบที่เหมาะสมและปลอดภัยในภารกิจการไปดาวอังคารหรือเพื่อรักษาสภาวะร่างกายเมื่อเราไปถึงบนนั้นได้จริง และสุนทรียะทั้งด้านรูป รส กลิ่น เสียง ความรู้สึก และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อให้มนุษย์ยังคงเป็นมนุษย์ต่อไป
เรียบเรียงโดยทีมงาน Spaceth.co