ถ้าคุณได้ขึ้นไปอยู่บนอวกาศจะรู้สึกอย่างไร? มันอาจจะน่าตื่นเต้นในชั่วโมงสองชั่วโมงแรก แต่หลังจากนั้นหล่ะ? ถ้าคุณต้องใช้ชีวิต 24 ชั่วโมงภายใต้สภาวะไร้แรงโน้มถ่วง กินอาหารหน้าตาประหลาด พบเจอแต่กับคนกลุ่มเดียว ภายในสถานที่เล็ก ๆ แคบ ๆ เดิม ๆ ที่แทบจะไม่สามารถมีใครมาช่วยคุณได้ถ้าเกิดอุบัติเหตุอะไรไป คุณจะอยู่ได้นานแค่ไหน?
จิตวิทยาเป็นศาสตร์หนึ่งที่ถูกให้ความสำคัญในยุคแรกเริ่มของการสำรวจอวกาศ ก่อนที่มนุษย์ซักคนจะได้ขึ้นไปถึงชั้นวงโคจรโลก (หรือแม้แต่ sub-orbital) ได้มีการใช้สัตว์ทดลองเป็นการนำร่องก่อนและได้เกิดคำถามทางจิตวิทยาว่าสิ่งมีชีวิตจะสามารถรักษาระดับสติปัญญาของตนในการเดินทางหรือไม่
แม้ว่าผลจะยังไม่ชัดเจนจากการสังเกตการ Able และ Baker ลิงกระรอกตัวเมียสองตัวในภารกิจ Jupiter AM-18 ที่เป็นไพรเมทคู่แรกของโลกที่ขึ้นไป sub-orbital และลงมาอย่างปลอดภัย ว่า Able สามารถกดปุ่มโทรเลขตามสัญญาณไฟกระพริบได้ตามภารกิจที่ต้องการ (อ้างอิงจาก Before Human Flight ของ Smithsonian National Air and Space Museum การทดลองดังกล่าวได้ถูกยกเลิกจากการเปลี่ยนลิงตัวที่ใช้ทำให้ฝึก Able ไม่ทัน/ อ้างอิงจาก The Use of Nonhuman Primates in Space (NASA-CP-005, A-6133) ของ R.C. Simmonds (ที่สะกดชื่อ Able ผิดเป็น Abel) ระบบได้เกิดข้อผิดพลาดทำให้ไม่สามารถวัดผลได้) แต่จากภารกิจครั้งหลังของลิงชิมแปนซี Ham ใน Mercury-Redstone 2 และ Enos ใน Mercury-Atlas 5 ทำให้นักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาพบว่าแม้ประสิทธิภาพการทำงานจะลดลงเมื่อได้รับแรง g ที่เปลี่ยนแปลงไป (ที่ลิงสองตัวนั้นได้พบเจอคือถึงระดับ 7g) แต่เมื่อแรง g อ่อนลง ประสิทธิภาพการทำงานและการตอบสนองก็ฟื้นฟูกลับมาได้ดี และเจ้าลิงชิมแปนซีทั้งสองตัวก็กลับมาบนโลกได้อย่างปลอดภัยด้วยสภาวะที่แข็งแรงเหมือนเดิม
ในการคัดเลือกนักบินอวกาศในโครงการ Mercury ได้มีนักจิตวิทยามาเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบคุณสมบัติของนักบิน และเข้ามามีบทบาทเรื่อยมา จนในปี 1962 นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ถูกสั่งห้ามเก็บข้อมูลด้านสภาวะจิตใจของนักบินอวกาศแบบรายคนอีกต่อไปและรัฐยังริบข้อมูลในอดีต สาเหตุของการสั่งห้ามนี้ไม่เปิดเผย แต่เชื่อกันว่าเป็นเพราะความตึงเครียดที่สูงขั้นของสงครามเย็นที่ส่งผลต่อสภาวะสังคม สภาพจิตของนักบินอวกาศถ้าถูกเปิดเผยอาจจะเป็นเป้าให้องค์การมีปัญหาได้ทั้งจากการโจมตีจากนอกประเทศและความวิตกของประชาชนในประเทศ
ในช่วงยุคของ Space Race ความสำคัญของการดูแลจิตใจนักบินอวกาศอาจจะยังไม่ได้ส่งผลให้เห็นถึงความสำคัญเนื่องจากกรอบระยะเวลาของโครงการที่ไม่ได้ยาวมาก (อย่างมากใน Apollo ก็แค่ประมาณ 2 อาทิตย์) แต่พอมาถึงยุคของ Skylab ที่กรอบระยะเวลานานขึ้น การละเลยถึงสุขภาพจิตของนักบินอวกาศก็เริ่มส่งผลกระทบให้เห็นมากยิ่งขึ้น
การประท้วงหยุดงานของลูกเรือ Skylab 4
Karl E. Weick อธิบายความย่ำแย่ของสถานการณ์ตอนนั้นผ่านบทความเรื่อง Organization design: Organizations as self-designing systems ตีพิมพ์ใน Organizational Dynamics ฉบับฤดูใบไม่ร่วง ปี 1977 ว่า
“ศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินที่ฮูสตันลบกิจกรรมที่เนือยเกือยทั้งหมดของนักบินออกจากตาราง แล้วปฏิบัติราวกับพวกเขาเป็นหุ่นยนต์ เพื่อให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางศูนย์ควบคุมลดเวลาการกินอาหาร เวลาเตรียมอุปกรณ์การทำการทดลองโดยละเลยความเป็นจริงที่ว่าลูกเรือชุดก่อนเก็บอุปกรณ์ไว้ไม่เป็นระเบียบ และกิจกรรมโปรดของนักบินอวกาศอย่างการดูดวงอาทิตย์และโลก กลายเป็นสิ่งต้องห้าม“
จากการที่ Skylab 4 เป็นภารกิจ Skylab สุดท้าย ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์กดดันว่านักบินอวกาศจะทำการทดลองของพวกเขา เสร็จทันทั้งหมดหนือไม่ และความกดดันนั้นก็ตกมาที่ศูนย์ควบคุมก่อนที่จะไปอยู่กับนักบินอวกาศอีกที ภายหลังการโต้เถียงกับศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินหลายต่อหลายครั้งกับ workload 16 ชั่วโมงต่อวันที่ตารางของพวกเขาถูกกำหนดเป็นหลักนาที ฟิวส์ก็ขาดลงในวันที่ 28 ธันวาคม 1973 ที่ลูกเรือทั้งสามของ Skylab ตัดสินใจปิดวิทยุสื่อสารกับภาคพื้นดินและไปพักผ่อน 1 วัน หลังจากนั้นนาซ่าได้ตัดสินใจเพิ่มเวลาพักผ่อนและเวลาทานข้าวของนักบินอวกาศ และเปลี่ยนตารางหลักนาทีเป็นเพียงลิสต์รายการที่ต้องทำให้เสร็จโดยให้สิทธิในการบริหารเวลาเอาเอง
แต่เป็นที่น่าสนใจหลังจากการผ่อนปรน ถึงนักบินอวกาศจะได้เวลาพักผ่อนมากยิ่งขึ้นและตารางที่ไม่เข้มงวดเท่าเดิม นักบินอวกาศก็สามารถทำงานเสร็จได้ทันด้วยสุขภาพจิตที่ดีมากกว่าเดิม
Mutiny in Space: Why These Skylab Astronauts Never Flew Again
The day when three NASA astronauts staged a strike in space
Shuttle-Mir Program
ลูกเรือทั้งสามของ Skylab 4 เป็นชาวอเมริกัน 3 คนสุดท้ายที่ได้ขึ้นไปอยู่บนสถานีอวกาศจนกระทั่งเกือบ 20 ปีถัดมาในโครงการ Shuttle-Mir ที่สหรัฐอเมริกาและรัสเซียร่วมมือด้านอวกาศอีกครั้งในช่วงปี 1994-1998 มีเที่ยวบิน Shuttle 11 เที่ยวบินที่ข้องเกี่ยวกับโครงการไม่ว่าจะเป็นการ Rendezvous มาเจอกัน การต่อ Shuttle เข้ากับสถานีอวกาศ Mir การส่งของต่าง ๆ หรือนักบินอวกาศ มีนักบินอวกาศชาวอเมริกัน 6 คนที่ได้ไปอาศัยระยะยาวอยู่บน Mir
John Blaha เป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกันคนที่ 2 ที่ได้เข้าไปอาศัยอยู่บนสถานีอวกาศ Mir ถึง 4 เดือน ร่วมกับนักบินอวกาศจากรัสเซียที่เขาแทบไม่รู้จักอีก 2 คน ในภายหลังคุณ John ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่าง ๆ ว่าการอาศัยอยู่บนนั้นมันสร้างความตึงเครียดอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงเดือนแรก จนเขารู้สึกได้ถึงสภาวะซึมเศร้าของตัวเอง
Blaha Got the Blahs on His 4-Month Visit to the Russian Space Station (LA Times – 1997)
ปัญหาทางด้านจิตใจนี้ที่เป็นปัญหาการอยู่ร่วมกับคนแตกต่างสัญชาติที่ไม่รู้จัก เป็นปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นแตกต่างจากครั้งเมื่อโครงการ Skylab ที่เกิดจากการทำงานระยะยาวในสภาวะที่ไม่ได้พักผ่อน (ที่แก้ไขได้แล้วจากการให้นักบินพัก)
ในที่สุด NASA ได้เขียน Article หลายชิ้นถึงความสำเร็จของโครงการทั้งในด้านองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ได้เรียนรู้วิธีการที่มนุษย์จะอาศัยในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงในระยะยาวมากขึ้น (อย่างการดูแลรักษากล้ามเนื้อ) และที่สำคัญคือ “ด้านจิตวิทยา” การดูแลจิตใจของนักบินอวกาศเริ่มกลับมาได้รับความสำคัญอีกครั้ง มีงานวิจัยและบทความจำนวนมากที่วิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นบน Mir รวมถึงข้อเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหา
โครงการ Shuttle-Mir ยังถูกเรียกด้วยชื่อเล่นว่า “Phase One” เพื่อรออภิมหาโปรเจกต์นานาชาติใน Phase Two นั่นคือการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ
The International Space Station
ถึงแม้จะคงมีปัญหาบางอย่างมีมนุษย์ไม่สามารถแก้ได้ อย่างการที่ ISS โคจรรอบโลกวันละ 16-17 รอบ ทำให้ไม่มีเวลากลางวันกลางคืนชัดเจนซึ่งอาจเป็นอุปสรรคของนักบินอวกาศในการนอนหลับ หรือการอยู่ในที่แคบ ๆ นาน ๆ แต่จากบทเรียนที่ผ่าน ๆ มา Space Agency ก็ได้พยายามช่วยรักษาสภาพจิตใจของนักบินอวกาศเท่าที่ทำได้ อย่างการเปิดโอกาสให้คุยกับครอบครัวหรืออาจจะจัดตารางนัดให้ได้คุยกับคนที่นักบินอวกาศชื่นชอบ ส่งเซอร์ไพรซ์เล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างอาหารใหม่ ๆ ขึ้นมาพร้อมกับ Payload และมีนัดให้คุยกับนักจิตวิทยาอยู่บ่อย ๆ
อีกเคสหนึ่งที่น่าสนใจนำมาพูดถึงคือรูปลักษณ์ของเจ้าหุ่น CIMON ที่ IBM สร้างขึ้นมาร่วมกับ German Aerospace Center และ Airbus เพื่อช่วยเหลือนักบินอวกาศในด้านต่าง ๆ บนสถานีอวกาศนานาชาติ จากที่เห็นในภาพ จะสังเกตได้ว่า CIMON ถูกออกแบบมาให้มี interface แบบคล้ายมนุษย์ การที่หุ่นยนต์ตัวนี้มีหน้าตาแบบนี้เพื่อทำให้นักบินอวกาศรู้สึกมีความเครียดน้อยลงเวลาใช้ คล้ายกับการได้คุยกับมนุษย์จริง ๆ ไม่ใช่แค่การสั่งคอมพิวเตอร์ให้ทำงาน โดย IBM ตั้งเป้าหมายให้ CIMON เป็นเหมือนเพื่อนร่วม ISS คนหนึ่งจริง ๆ
คีย์เวิร์ดที่สำคัญคือการสร้างสภาพแวดล้อมด้านจิตใจที่ดีขึ้นให้กับนักบินอวกาศ
New, Emotionally Intelligent Robot CIMON 2 Heads to Space Station
CIMON, the AI-powered robot, launches a new era in space travel
ดาวอังคาร เป้าหมายที่ยากกว่าเดิม
การเดินทางไปดาวอังคารไม่เหมือนการโคจรรอบโลกของสถานีอวกาศหรือการเดินทางไปดวงจันทร์ที่ว่ายากลำบากแล้ว สิ่งที่แตกต่างคืออะไร ? การเดินทางไปดาวอังคารไม่ได้กินเวลาเป็นหลักอาทิตย์เหมือนไปดวงจันทร์ หรือสามารถสื่อสารแบบ realtime กับโลกได้แทบทุกเมื่อเหมือนบน ISS แต่คือการเดินทางกว่า 5-7 เดือน ที่การติดต่อสื่อสารกับโลกอาจดีเลย์ได้ถึงประมาณ 40 กว่านาที นั่นหมายความว่าการเตรียมสภาวะที่เหมาะสมในการดำรงอาศัยอยู่ของนักบินอวกาศที่จะไปดาวอังคารทั้งด้านกายภาพและจิตใจเป็นจะเป็นประเด็นที่สำคัญมากกว่าครั้งไหน ๆ
Astronaut Scott Kelly on the psychological challenges of going to Mars
วิธีการหนึ่งที่ได้รับการเสนอขึ้นมาคือการใช้ AI ในการช่วยเหลือดูแลสภาพ Mental Health: MIT Technology Review ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการร่วมมือกันระหว่าง NASA’s Jet Propulsion Laboratory กับบริษัทสัญชาติออสเตรเลียชื่อ Akin ในการสร้าง AI ที่สามารถตรวจจับการแสดงออกทางสีหน้าและคำพูดผ่านกระบวนการ Deep Learning มาใช้ในหุ่นยนต์ ซึ่ง Prototype ตอนนี้ของบริษัทคือหุ่น Rover ที่ถูกนำมาใช้เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์ของนาซ่า แต่เป้าหมายของบริษัทไม่ได้หยุดแค่นั้น พวกเขาต้องการสร้าง Platform ที่ถูกนำไปใช้บนยาน/สถานีอวกาศต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักบินอวกาศในงานต่าง ๆ พร้อมกับการตรวจจับและประเมินสุขภาพจิตใจของนักบินอวกาศในอนาคต
“ถ้าในอนาคตไม่ใช่แค่นักบินอวกาศที่จะเดินทางในอวกาศหล่ะ”
ปัจจุบันเรามีเครื่องบินบินอยู่บนท้องฟ้านับแสนไฟลท์ต่อวัน เป็นเวลาเพียงแค่ 116 ปีกว่า ๆ นับจากที่สองพี่น้องตระกูลไรท์สามารถนำเครื่องบิน Kitty Hawk โลดแล่นไปบนท้องฟ้าได้สำเร็จในเดือนธันวาคม ค.ศ.1907 จากการเดินทางที่ดูเป็นเรื่องห่างไกลในสมัยนั้นกลายมาเป็นเรื่องธรรมดาในสมัยนี้ ก็คงจะเป็นแบบเดียวกันกับการเดินทางในอวกาศในอนาคต
สิ่งที่จะตามมาคืออะไร?
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราได้เห็นความเคลื่อนไหวอย่างก้าวกระโดดในวงการอวกาศ สหรัฐอเมริกาประกาศโครงการ Artemis ที่จะนำคนขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งด้วยเทคโนโลยีที่ดีกว่าเดิม ในราคาที่ต่ำกว่าเดิม Elon Musk เปิดตัวยาน Starship ที่จะบินไปดาวอังคาร ในการเสวนา นาSa : Mini-Symposium on Space Exploration, Biotechnology, and Asian Cultures ที่ Future Tales Lab เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา พี่เติ้ล บรรณาธิการบริหารของ Spaceth.co ได้ขึ้นไปพูด Keynote ก่อนปิดงานว่า เมื่อไม่กี่ทศวรรษที่แล้วที่เราเริ่มนั่งเครื่องบินไปหาลูกค้าในประเทศอื่น ในอีกไม่กี่ทศวรรษเราอาจจะได้นั่งยานอวกาศไปหาลูกค้าที่ดาวดวงอื่นเหมือนกัน
การเดินทางไปอวกาศจะไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่กับกลุ่มนักบินอวกาศขององค์การอวกาศประเทศต่าง ๆ แต่จะกลายเป็นการเดินทางของประชาชนผู้คนทั่วไปที่แน่นอนว่าไม่ได้ทรหดถึกทนแบบนักบินอวกาศที่ถูกฝึกมา จะเกิดสิ่งของและบริการที่เกิดขึ้นหรือถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการ/ความสะดวกสบายของมนุษย์ ผ่านบริษัทภาคเอกชนจำนวนมากที่มาเจาะตลาด (แน่นอนว่าถ้ามีมีอุปสงค์ อุปทานก็จะเกิดขึ้น หลายภาคส่วนเริ่มหันมาจับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอวกาศมากขึ้นจนตอนนี้ธุรกิจเกี่ยวกับอวกาศกลายเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองในปัจจุบัน) อย่างประเด็นเรื่องสุขภาพจิตก็เป็นที่มั่นใจได้ว่าจะถูกนำมาพูดถึงอย่างแน่นอน
ทุนนิยมบนดวงจันทร์ ทำไม NASA ให้ SpaceX, Blue Origin ช่วย เศรษฐศาสตร์ของการกลับสู่ดวงจันทร์
การสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นของการเดินทางบนอวกาศจะเกิดขึ้นและมันจะไม่ได้จบแค่เพียงแค่บนอวกาศ แต่เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเหล่านั้นจะถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์บนโลกต่อเหมือนกับเคสของคอมพิวเตอร์, ลวดดัดฟัน, อุปกรณ์กันไฟ และสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกสร้างหรือพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในโครงการ Apollo แล้วกลับมาใช้บนโลกต่อไป
การสำรวจหาโลกใบใหม่และการใช้ชีวิตในอวกาศเป็นทางเลือกสำหรับทุกชีวิต เพราะสภาพแวดล้อมของโลกกำลังเข้าสู่จุดที่ไม่อาจย้อนกลับและเสื่อมโทรมจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales Lab ภายใต้ MQDC เดินหน้าหาพันธมิตรที่เข้าใจและศึกษาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางและการดำรงชีวิตบนอวกาศทั้งไทยและต่างประเทศ