สรุปทุกอย่าง อวกาศไทย 2020 ความร่วมมือ ความขัดแย้ง ความย้อนแย้ง

ในปีที่เริ่มต้นทศวรรษที่สองแห่งสหัสวรรษใหม่และนับเป็นทศวรรษที่หกแห่งการสำรวจอวกาศโดยมนุษย์ การเข้ามาของ Pandemic กรณี Coronavirus สายพันธุ์ใหม่ทำให้ทั่วโลกเหมือนกับการย่ำอยู่กับที่ อย่างไรก็ตามมนุษย์ในฐานะของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ยอมจำนนกลับใช้ช่วงเวลาดังกล่าวได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราได้เห็นเที่ยวบินแรกของยาน Dragon 2 ในภารกิจการส่งมนุษย์ขึ้นสู่สถานีอวกาศจากแผ่นดินอเมริกาในรอบเกือบสิบปี เราได้เห็นยาน Hayabusa 2 และฉางเอ๋อ 5 นำเอาก้อนดินจากดวงดาวมาเป็นของขวัญให้กับชาวโลก เราได้เห็นการปล่อยยานอีกหลายลำ รวมถึงการเริ่มต้นก้าวแรกอย่างเป็นทางการของการกลับไปสู่ดวงจันทร์อีกครั้งในโครงการ Artemis นับว่าเป็นปีที่อาจจะดูเหมือนไม่มีอะไร แต่กลับเป็นการเริ่มต้นการเดินทางหลายอย่างอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อหันกลับมามองบ้านเรา ปีนี้นับว่าเป็นปีแรกในรอบเกือบ 6 ปี ที่บ้านเมืองของเราเป็นประชาธิปไตย (?) จากการเลือกตั้งซักที อย่างไรก็ตาม ที่มาของรัฐบาลยังคงเป็นที่กังขาในกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่และอื่น ๆ การตั้งใจกลั่นแกล้งทางการเมือง และผลงานของ สว. 250 เสียงเริ่มออกลาย เมื่อพูดกันในระดับกระทรวง  ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใหม่ “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ในช่วงกลางปี 2019 ก่อนที่ในปี 2020 จะส่งไม้ต่อไปให้ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ก็ไม่รู้ว่าตอนนี้หน้าที่ของกระทวงฯ คือการพัฒนาวิทยาศาสตร์หรือการเฉลิมพระเกียรติกันแน่

จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมา บทความนี้เราจะมาย้อนดูปี 2020 ในการสำรวจอวกาศ (และวิทยาศาสตร์ขั้นสูงบางส่วน) ในบ้านเรา โดยเราจะเชื่อมโยงกับบริบทของประชาคมโลก และมุมมองทางการเมืองที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์อย่างแยกกันไม่ออก

ผลึกโปรตีนบนอวกาศของไบโอเทค และ สวทช. ร่วมกับญี่ปุ่น

เริ่มต้นที่ข่าวแรกของปีกับผลงานวิจัยจากทาง ไบโอเทค สวทช. ซึ่งทาง สวทช. นั้นได้มีความร่วมมือกับ JAXA หน่วยงานอวกาศญี่ปุ่นในการผลักดันงานวิจัยของคนไทยขึ้นไปสู่อวกาศหลายต่อหลายโครงการ ซึ่งในโครงการรอบนี้ก็คือ NSE หรือ National Space Exploration ที่ทาง GISTDA เข้ามาร่วมด้วย โดยการทดลองหลากหลายการทดลองถูกส่งเข้ามาในช่วงปี 2018 และการทดลองที่ได้รับการคัดเลือกก็ได้แก่ การทดลองทดลองปลูกผลึกโปรตีนของเชื้อมาลาเรียซึ่งเป็นเป้าหมายของยาต้านมาลาเรีย นำโดย ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ และทีมวิจัย

หลังจากทำงานร่วมกันมาหลายเดือน ทาง ไบโอเทค ก็ได้ส่งชุดการทดลองในลักษณะกล่องขนาดเล็กขึ้นไปกับยาน Dragon ของ SpaceX ในภารกิจ CRS-18 ที่ปล่อยขึ้นไปเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2019 และอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 3 เดือน บนโมดูล Kibo ของ JAXA บนสถานีอวกาศนานาชาติ

ภาพถ่ายการตกผลึกของโปรตีนในสภาวะไร้น้ำหนักในอวกาศ ที่มา – Biotech / NSTDA / MHESI / GISTDA / NSE / JAXA

การทดลองถูกส่งกลับมาประเทศไทยในเดือน กันยายน 2020 และจะถูกนำไปศึกษาต่อ โดย ณ ตอนนี้ทั้งทางไบโอเทคและ GISTDA ยังไม่ได้ออกรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวการทดลอง แต่ก็ได้มีการเผยภาพของผลึกโปรตีน ผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวงฯ

สิ่งที่น่าสนใจของเรื่องนี้มีหลายประเด็นด้วยกัน โดยปกติ ทาง สวทช. จะมีความร่วมมือกับ JAXA ในการทำโครงการร่วมกันอยู่แล้ว เช่น Asian Try Zero-G ในขณะที่โครงการ NSE หรือ National Space Exploration ก็เข้ามาร่วมในช่วงปี 2018-2019 ซึ่งก่อนหน้านี้ GISTDA ยังไมไ่ด้เข้ามามีบทบาทในเรื่องการสำรวจอวกาศในลักษณะ Experiment โดยตรง โครงการ NSE ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจึงเห็นความร่วมมือจากหลาย ๆ หน่วยงานมากขึ้น

ยาน Dragon ในภารกิจ CRS-18 เทียบท่าสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – NASA

สิ่งที่น่าจับตามองอีกเรื่องก็คือ การเปลี่ยนผู้อำนวยการ JAXA ประจำประเทศไทย จากคุณสึจิ มาสาโนบุ เป็นคุณโอโนะ อัตสึชิ ในช่วงกลางปีว่าการเข้ามาของคุณโอโนะ จะมาพร้อมกับไอเดียและโปรเจคอะไรใหม่ ๆ ที่น่าสนใจบ้าง

ส่วนหัวเรือของโครงการ NSE จากฝั่ง GISTDA ก็ยังคงเป็น อาจารย์แจ๊ค ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู ที่เข้ามามีบทบาทในการจัดการโครงการในช่วงแรก ๆ ของความร่วมมือ ในส่วนของ สวทช. ผู้ที่ดูแลโครงการความร่วมมือกับ JAXA ก็ยังคงเป็น พี่เบ้ง ปริทัศน์ เทียนทอง เช่นเดิม

ไข่มุกจันทรา งานศิลปะของคนไทยที่ได้ขึ้นไปบนสถานีอวกาศ

ในช่วงปี 2019 ทาง MIT Media Lab ได้จัดโครงการชื่อว่า Sojourner 2020 An international art payload to ISS เป็นการคัดเลือกงานศิลปะที่ผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์กับเรื่องราวของสังคม วัฒนธรรม ความเป็นมนุษย์ ศิลปะแขนงต่าง ๆ ขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติ นำโดยกลุ่ม Space Initiative ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบอวกาศให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ผ่านแนวคิด Democratizing Access to Space อวกาศเป็นของราษฎรและมนุษยชาติ

ชิ้นงานของคนไทยที่ถูกนำขึ้นไปร่วมกับโครงการ ที่ผ่านการคัดเลือกจนถึงรอบสุดท้ายก็ได้แก่งาน ไข่มุกจันทรา หรือ Pearl of Lunar ของเฮนรี แทน ศิลปินที่ได้ร่วมมือกับทั้งทาง Freak Lab ที่เป็นห้องวิจัยเทคโนโลยีอนาคตที่ผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเข้าด้วยกัน และบริษัท Space Zab ที่ผลิตชิ้นส่วนและออกแบบ Instrument ที่สำคัญในการทดลองด้านอวกาศระดับโลก และยังได้ร่วมกับทีมวิจัยอื่น ๆ ในการช่วยสร้างผลงานตัวนี้ขึ้นมา

ภาพของตัว Pod ที่ภายในจะบรรจุงานศิลปะจากประเทศต่าง ๆ เข้าไป ที่มา – MIT Media Lab

ตัวผลงานเป็นคอนเซปไอเดียเล่าถึงการจับจองเส้นทางการค้าในสมัยก่อน (เส้นทางสายแพรไหม) ว่าเปรียบเสมือนการเดินทางสู่อวกาศเพื่อจับจองพื้นที่ในอนาคต (จีนเพิ่งส่งยานฉางเอ๋อไปลงจอดบนดวงจันทร์และปังธง ในขณะที่สหรัฐก็มีโครงการ Artemis) นอกจากจะเป็นการศึกษาการตกผลึกของไข่มุกในทางวิทยาศาสตร์แล้ว งานนี้ก็เป็นสัญญะที่แสดงถึงการสำรวจอวกาศยุคใหม่ (New Space) ที่อวกาศจะกลายเป็นผลประโยชน์มหาศาล

ไข่มุกจันทรา ถูกส่งขึ้นไปกับจรวด Falcon 9 และยาน Dragon ในภารกิจ CRS-20 ในวันที่ 7 มีนาคม 2020 และกลับลงมาในยานลำเดียวกันในวันที่ 7 เมษายน รวมระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งก็มีนัยอีกอย่างหนึ่งเพราะ CRS-20 เป็นการใช้ยาน Dragon รุ่นแรก ซึ่งเป็นยานอวกาศแบบ Commercial ลำแรกที่ถูกนำไปเทียบกับสถานีอวกาศนานาชาติเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ SpaceX จะปรับมาใช้ยาน Dragon 2 แทน อ่าน – รู้จักกับยาน Dragon 2 รุ่น Cargo และกลยุทธ์ลดค่าใช้จ่ายฉบับ SpaceX

Thaicom 5 เสีย หลังให้บริการมา 14 ปี จับตาอนาคตดาวเทียมสื่อสารไทย

ข่าวใหญ่ในวงการ Telecommunication เมื่อดาวเทียม Thaicom 5 ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่เดือน พฤษภาคมปี 2006 เกิดเสียขึ้นมาและไม่สามารถกู้คืนได้ ทำให้มีการประกาศ End of Service ในเดือน กุมภาพันธ์ปี 2020 รวมระยะเวลาให้บริการทั้งสิ้น 14 ปี และมีการปรับย้ายการรับสัญญาณไปเป็นดาวเทียม Thaicom 6 แทน

ภาพจำลองดาวเทียม Thaicom 5 ซึ่งใช้ตัวบัสแบบ Spacebus 3000A พัฒนาโดย บริษัท Thales ที่มา – Thales / Thaicom PLC

เนื่องจากเป็นดาวเทียม Telecommunication ที่ให้บริการสัญญาณโทรทัศน์เป็นหลัก ทำให้การเสียของดาวเทียม Thaicom 5 นั้นกระทบต่อสังคมอย่างเป็นวงกว้าง โดยทาง กสทช. และ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้เข้ามาดูแลเคสนี้และประสานกับทาง บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ถึงการชดเชยการเสียผลประโยชน์ของชาติ อย่างไรก็ตาม ทาง Thaicom ก็ยืนยันว่าทางบริษัทฯ ปฏิบัติตามสัญญาต่าง ๆ และไม่จำเป็นต้องได้รับการลงโทษ

ซึ่งปัจจุบันกรณี Thaicom 5 ก็ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป แต่ที่น่าสนใจก็คือ โมเดลธุรกิจดาวเทียมของบ้านเรา ซึ่งไม่เคยมีผู้เล่นอื่นเลยมาตลอดเวลาหลายสิบปี จนเมื่อบริษัท mu Space ได้เข้ามายื่นขอจองสิทธิในวงโคจร เตรียมเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นในวงการดาวเทียมเชิงการพานิชย์กับทาง กสทช. (ซึ่งที่บอกว่าน่าตื่นเต้น ก็เพราะว่าธุรกิจดาวเทียมในไทย ไม่เคยเปลี่ยนภาพหรือเปลี่ยนโมเดลอย่างมีนัยสำคัญมานานมาก ๆ)

งานวิจัยของคนไทย ณ ขั้วโลกใต้

ในปีนี้มีการนำงานวิจัยและพัฒนาวิธีการในการตรวจวัดอนุภาคคอสมิกจากอวกาศด้วยวิธีการที่ริเริ่มและพัฒนาโดยประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับการยอมรับให้ติดตั้งและใช้งานที่สถานีวิจัยทางดาราศาสตร์ที่แอนตาร์กติกา โดยจัดงานเปิดตัวโครงการในช่วงเดือน มกราคมปี 2020 และเริ่มออกเดินทางในไม่กี่สัปดาห์ต่อมา

โครงการ Cosmic ray monitoring at Mawson and Kingston to study space weather and space physics เป็นโครงการวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับสภาพอวกาศและผลกระทบของรังสีคอสมิกต่อโลกและกิจกรรมของมนุษย์ โดยโครงการนี้ได้เป็นการร่วมมือของคณะผู้วิจัยที่นำโดย ศาสตราจารย์พิเศษ เดวิด จอห์น รูฟโฟโล ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, University of Tasmania จากประเทศออสเตรเลีย, Shinshu University จากประเทศญี่ปุ่น และ Chonnam National University จากประเทศเกาหลี ได้นำเสนอโครงการนี้ในชิงทุนวิจัยที่แอนตาร์กติกาจาก Australian Antarctic Division (AAD) ซึ่งโครงการวิจัยนี้ผ่านการแข่งขันจากหลายโครงการวิจัยและได้รับทุนวิจัยนี้

อ.ดร.อเลฮานโดร ซาอิส ริเบรา และ นายประดิพัทธ์ เหมืองห้า ที่สถานีตรวจวัดอนุภาค ที่ Mawson Station ในแอนตาร์กติกา ที่มา – Thai Space Physics & Space Weather

โครงการได้ส่ง 2 นักวิจัยจากประเทศไทยไปยังแอนตาร์กติกา คือ อ.ดร.อเลฮานโดร ซาอิส ริเบรา อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายประดิพัทธ์ เหมืองห้า นักศึกษาระดับปริญญาเอก ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้นำเทคนิคใหม่ที่ได้กล่าวไปข้างต้นในการตรวจวัดรังสีคอสมิกจากอวกาศที่พัฒนาโดยทีมนักวิจัยจากประเทศไทยไปติดตั้งอุปกรณ์วัดรังสีคอสมิก พร้อมปรับปรุงระบบตรวจวัดรังสีคอสมิกที่สถานีตรวจวัด Mawson ที่แอนตาร์กติกาให้สามารถตรวจวัดได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ปรับปรุงดูแลรักษาเครื่องวัดมิวออนที่ Mawson อีกทั้งติดตั้งระบบที่สามารถส่งข้อมูลที่ได้รับจากเครื่องตรวจวัดที่สถานีวิจัยที่แอนตาร์กติกาส่งกลับมายังประเทศไทย เพื่อทำการศึกษาและพัฒนาต่อยอดวิธีการในการตรวจวัดรังสีคอสมิกให้ดียิ่งขึ้น

จานดาราศาสตร์วิทยุของ NARIT สร้างเสร็จเกือบ 90%

ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) เป็นหน่วยงานทางดาราศาสตร์ของไทยที่มีความร่วมมือและผลงานที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก อย่างไรก็ตามทาง NARIT นั้นไม่ได้ทำแค่งานวิจัยแต่ก็ได้มีการพัฒนาทั้งศัยภาพคน (ทั้งตัวหน่วยงานเอง และงานบริการวิชาการแก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา) และการสร้างหรือการทำอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ภายในประเทศใช้งานเอง นอกจากโครงการหอดูดาวภูมิภาคต่าง ๆ โครงการหอดูดาวบนดอยอินทนนท์ และ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร แล้ว อีกหนึ่ง Mega Project ของทาง NARIT ก็ได้แก่การสร้าง กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ เส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร โดยถอดแบบมาจากกล้อง Yebes Observatory ประเทศสเปน

ภาพมุมสูงของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ในเดือนตุลาคม 2020 ที่มา – NARIT

กล้อง NRTO หรือ National Radio Telescope Observatory ทีมงานสเปซทีเอช เคยพาไปดูในขณะก่อสร้างเมื่อกลางปี 2019 แต่ความคืบหน้าในการก่อสร้างกล้องต้องบอกว่าเร็วกว่าที่คิด เพราะตอนนี้ตัวกล้องนั้นสร้างเสร็จแล้วกว่า 90%

หลังจากสร้างเสร็จ NARIT จะใช้งานกล้อง NRTO ในการทำงานดาราศาสตร์วิทยุ ตั้งแต่การศึกษาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่าง ๆ จากอวกาศ การศึกษาวัตถุท้องฟ้าอย่างพัลซาร์และดาวนิวตรอน โดยร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั่วโลก ซึ่งเป็นเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ทำให้เกิดการค้นพบต่าง ๆ มากมาย

เปิดตัว BCC-Sat 1 ดาวเทียมดวงแรกของไทยที่ทำโดยเด็กมัธยม

BCC-Sat 1 เป็นดาวเทียมขนาด 1U ที่ทางโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ทำการพัฒนาโดยการศึกษาและสานต่อดาวเทียมรุ่นพี่อย่าง Knacksat ที่พัฒนาโดยทีมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศไปในปี 2019 ที่ผ่านมา (และปัจจุบัน Knacksat ขาดการติดต่อกับ Ground Station พื้นโลก ไม่สามารถกู้คืนมาได้) เดิมที ดาวเทียม BCC-Sat 1 มีกำหลดปล่อยในช่วงกลางปี 2020 จากฐานปล่อยที่ดินแดนเกียนา ดินแดนโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับดาวเทียมของเกาหลีใต้ แต่การเลื่อนการปล่อยก็ผลักให้ BCC-Sat 1 ต้องปล่อยในปี 2020 แทน

ดาวเทียม BCC-Sat 1 ในกล่องบรรจุเพื่อเตรียมส่งมอบให้กับ Launch Provider ที่มา – BCC Space Program

BCC-Sat 1 มี Payload ด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ 1 ตัวก็คือตัวกล้อง Multi-spectrum Camera ที่เป็นการถ่ายภาพในแต่ละย่านแสง คล้ายกับดาวเทียมสำรวจทรัพยากรหรือดาวเทียมสำรวจโลกต่าง ๆ นับว่าเป็นการเริ่มต้นการพัฒนาดาวเทียมในระดับมัธยม ซึ่งเป็นหนึ่งใน Trend ที่มาแรงของวงการอวกาศ

โครงการทั้ง Knacksat และ BCC-Sat ยังทำให้เกิดความร่วมมือ นำโดย ดร.พงศธร สายสุจริต ในการสร้าง สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (INSTED) ซึ่งจะเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เข้าร่วมศึกษากับ Thai Space Consortium ด้วย

mu Space ส่งงานวิจัยไทยไปอวกาศ และ TOT ร่วมเป็นผู้จัดการหลักภารกิจ

มาถึงภาคเอกชนกันบ้าง ทางบริษัทอวกาศสัญชาติไทย mu Space ซึ่งก่อตั้งโดยคุณเจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง ในปีนี้ จับมือกับทาง TOT บนเที่ยวบินที่ 4 ของบริษัท หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทาง mu Space ได้ร่วมมือกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ ในการส่งการทดลองขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด New Shepard ของบริษัท Blue Origin ซึ่งให้บริการการบินแบบ Sub-Orbital เน้นศึกษาวิทยาศาสตร์ภายใต้สภาวะไร้น้ำหนักและสภาวะอวกาศ ที่เป็นที่นิยมเพราะเข้าถึงได้ง่าย ทำให้เราได้เห็นงานวิจัยต่าง ๆ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศกันมากขึ้น mu Space เองก็ได้ใช้โอกาสนี้ในการขับเคลื่อนวงการอวกาศไทยด้วยการสนับสนุนและมีความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยเจ้าถึงอวกาศได้ง่ายขึ้น

ในปี 2020 ทาง mu Space ได้ร่วมมือกับ TOT ในการส่ง Payload การทดลองชุดที่ 4 ในภารกิจ NS-13 ทดลองส่ง Server Payload ที่ประกอบไปด้วย Web Server, IoT (Internet of Things) Platform, Big data device ต่าง ๆ เพื่อการวิจัยสำหรับการพัฒนาดาวเทียมสื่อสาร Low-Earth orbit (LEO) ในอนาคต เพื่อทดแทนระบบอินเทอร์เน็ต Broadband ในปัจจุบัน

จรวด New Shepard จรวดแบบ Sub-Orbital ที่ทำให้การเดินทางไปอวกาศนั้นง่ายขึ้น ที่มา – Blue Origin

ทั้งหมดถูกส่งสู่อวกาศในวันที่ 13 ตุลาคม 2020 นอกจากนี้ยังมีการทดลองอื่น ๆ ถูกส่งขึ้นไปร่วมด้วยเช่น Ultrasonic fluid level measurement experiment: UFLMX, Fluid in microfluidic device experiment – FMX1, Geiger-Muller counter experiment – GMCX และ Molecular Encoded Storage for Space Exploration – MESSE

อ่าน – สรุป Payload ที่อยู่ในเที่ยวบิน NS-13 ที่มีของคนไทยถึง 5 การทดลอง และการทดสอบที่สำคัญของ NASA

รัฐบาลเริ่มศึกษาเศรษฐกิจอวกาศ แต่ใครศึกษากันแน่

อวกาศกลายมาเป็น Buzzword ใหม่สำหรับปี 2020 หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราได้ยินคำว่า Crypto, Startup กันรัว ๆ ในที่สุดมันก็มาจนได้สำหรับคำว่าอวกาศ หรือเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy) รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการเริ่มต้นการประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ มาตั้งแต่ช่วงปี 2018 ซึ่งเป็นผลพวงมาจากแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี โดยการนำของ ประวิตร วงษ์สุวรรณ (อืม) ภายใต้การทำงานของกระทรวงดิจิทัลฯ โดยเน้นไปที่การร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ โดยได้มีการนำเอาตั้งแต่ GISTDA และหน่วยงานต่าง ๆ (รวมถึงทางสเปซทีเอชเองก็เคยเข้าไปร่วมฟังด้วย)

ประวิตร ประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2563 ที่มา – ทำเนียมรัฐบาล

โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ก็ ยังคงมีเรื่อยมา จนถึงในช่วงสิ้นปี 2020 โดยประวิตรเช่นเดิม

ในขณะเดียวกันในช่วงปี 2020 ก็ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีกชุดก็คือ คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการเรียกประชุมในฝั่ง สส. เพื่อรับฟังความเห็นจากบุคคลที่อยู่ในแวดวงอวกาศ​ (ซึ่งเราก็เข้าไปร่วมด้วยเช่นกัน) ซึ่งคาดว่าสองคณะทำงานนี้จะไปเจอกันในกระบวนการนิติบัญญัติ หรือร่างกฏหมายในส่วน พรบ.อวกาศ ในช่วง 1-2 ปีนี้

ซึ่งนอกจากนี้ ถ้าตามที่เราเล่ามาตั้งแต่แรก เราก็จะเห็นชื่อของอีกหน่วยงานหนึ่งคือ สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (INSTED) ซึ่งหน่วงานนี้จะเป็นหน่วยงานใน พระจอมเกล้าพระนครเหนือฯ ซึ่งสังกัด อว. แต่นอกจาก อว. แล้ว ก็ยังมีกระทรวงดิจิทัลฯ DE ที่ทำงานอีก (งงมั้ย) ดังนั้นเวลามองเรื่องนโยบายอวกาศในไทย ให้เริ่มมองจากรัฐบาลก่อน ซึ่งงานก็จะมีประมาณ 1-2 งาน ได้แก่สนับสนุน (ผ่านหน่วยงานเช่น อว. ที่มี NARIT, GISTDA, สวทช. อยู่ภายใต้อีกที) แล้วก็จะมี DE ที่ทำหน้าที่เน้นไปทางศึกษา โดยเน้นพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ ส่วน คณะกรรมาธิการ กมธ. นั้น ไม่ได้อยู่ในนี้แต่เป็นกลไกของรัฐสภาในการเปิดรับฟังเสียงจากผู้ทำงาน แถมดันมีหลาย กมธ. อีก ทั้ง สส. สว. (เอาเข้าไป งงมั้ยล่ะ)

ซึ่งในช่วงปี 2018 – 2019 คณะทำงานต่าง ๆ ได้ผุดงอกขึ้นมามากมาย แต่ละฝ่ายมีความเกี่ยวข้องกันบ้าง บ้างก็ไม่ ยังไม่นับรวมกิจการในฝั่งกองทัพอย่าง ศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศ (ที่เดี๋ยวเราจะพูดถึงต่อเรื่องดาวเทียม NAPA) ซึ่งก็จะมีความร่วมมืออื่น ๆ ที่เกิดจากหน่วยงานร่วมมือกัน เช่น Thai Space Consortium หรืออย่างการที่ NIA ไปร่วมมือกับ GISTDA และยังมี สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) อีก

เอาเป็นว่าพอเท่านี้ก่อนที่จะงงไปมากกว่านี้

MESSE งานวิจัย DNA Storage ในอวกาศงานแรกของไทย และเพลงความฝันกับจักรวาล ได้ไปอวกาศจริง ๆ

ในปี 2019 หลังจากที่ เติ้ล ณัฐนนท์ บรรณาธิการบริหารสเปซทีเอช ได้ไปร่วมงาน Beyond the Cradle ที่ MIT Media Lab ซึ่งเป็น Community ของการพัฒนาอวกาศจากฝั่งประชาชน (Citizen Space Exploration) นำโดย Space Initative จาก MIT Media Lab สเปซทีเอชก็ได้ทำงานร่วมกับ Freak Lab โดยมีพีพี พัทน์ ภัทรนุธาพร นักวิจัยไทยใน MIT Media Lab คอยเชื่อมองค์ความรู้ระดับโลกให้ (ซึ่งผลพวงก็นำมาสู่ความร่วมมือ Citizen Space Exploration ในไทยหลายตัวอย่าง งาน Design the Universe หรือคอร์สเรียน Space Lab ที่สเปซทีเอชพัฒนาร่วมกับ Space Zab) ลากยาวมาจนถึงการทำ Space Mission ของตัวเองอย่าง MESSE – Molecular Storage for Space Exploration

MESSE เป็นการศึกษาเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแห่งอนาคตอย่าง DNA Storage โดยอาศัยความร่วมมือจาก Freak Lab ในการตัดต่อและออกแบบชิ้น DNA ตาม Sequence (นำโดย พร้อม เสือทิม จาก Freak Lab) ที่ออกแบบไว้โดยอัลกอริทึมที่พัฒนาโดยทีมวิจัยของสเปซทีเอช (พัฒนาอัลกอริทึมโดย ชยภัทร อาชีวระงับโรค จากสเปซทีเอช) และนำส่งขึ้นอวกาศโดยบริษัท mu Space ในเที่ยวบิน NS-13 ของ Blue Origin

ทีมพัฒนา MESSE ในห้อง Cleanroom ขณะประกอบตัว Payload ขั้นสุดท้ายก่อนนำขึ้นอวกาศ

การทดลองนี้เป็นการศึกษาผลกระทบของอวกาศต่อ DNA สังเคราะห์ที่ถูกประกอบโดยกระบวนการ Gibson Assembly ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงอัลกอริทึมแปลงข้อมูลดิจิทัลให้กลายเป็น Sequence DNA ที่พัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัย (ในระดับชั้นมัธยม) ของไทย และมีการแสดงนัยทางปรัชญาด้วยการใช้เพลงความฝันกับจักรวาลของ Bodyslam เป็นต้นแบบข้อมูลที่นำบันทึกลงใน DNA โดยตัวการทดลองถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 13 ตุลาคม 2020

การทดลองเลี้ยงไข่น้ำที่ได้รับทุนจาก ESA HyperGES

โครงการ HyperGES เป็นโครงการของ ESA ที่สนับสนุนโดยทาง UNOOSA ซึ่งเป็นหน่วยงานย่อยภายใต้องค์การสหประชาชาติ (UN) ในการสนับสนุนพัฒนาการด้านอวกาศของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะมีการคัดเลือกการทดลองไปทำการทดลองใน Hyper Gravity หรือแรงโน้มถ่วงที่มากกว่าปกติ ซึ่งการทดลองของคนไทยก็ได้รับเลือกให้ไปวิจัยใน HyperGES เช่นกัน

งานตัวนี้นำโดย ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ (อาจารย์อาร์ม) และทีมจากมหาวิทยาลัยมหิดล ในการทดลอง พืชภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงสูง ด้วยพืชที่ชื่อว่าไข่น้ำ (Watermeal) พืชดอกที่เล็กที่สุดและเจริญเติบโตเร็วที่สุดไปใช้ประโยชน์ในการผลิตก๊าซออกซิเจนและเป็นแหล่งอาหารยังดาวนพเคราะห์ที่มีสภาพแรงโน้มถ่วงแตกต่างจากโลก

เครื่องเหวี่ยง Hypergravity ของ ESA ที่มา – ESA / ESA HyperGES

โครงการเลี้ยงไข่น้ำนี้มีจุดเริ่มต้นมาจาก NSE ในช่วงปี 2018 และมีการศึกษาต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ นับว่าเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยด้านอวกาศที่น่าสนใจ เพราะการปลูกพืชในภาวะ Hyper Gravity นั้นน่าสนใจไม่น้อยไปกว่า Microgravity เลย

กองทัพอากาศส่งดาวเทียม NAPA-1

มาถึงอัพเดทจากฝั่งทหารบ้าง กองทัพอากาศ นำโดย ศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศ ได้มีโครงการดาวเทียมทางการทหารดวงแรกของไทย ซึ่งก็เริ่มต้นด้วยโครงการ NAPA-1 ดาวเทียม 6U ที่พัฒนาโดยบริษัท ISISpace ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเป็นการจัดซื้อในลักษณะ Purchase and Learn คือเป็นการซื้อตัวดาวเทียมพร้อมกับความรู้ในการ Operate บริหาร จัดการ การออกแบบ Ground Station ซึ่งบริษัท ISISpace มีสินค้าให้เลือกมากมายหลากหลายประเภทตั้งแต่ดาวเทียมแบบ 1U จนถึง 12 หรือ 16U ตัวที่ทางกองทัพฯ เลือกนั้นเป็นแบบ 6U

NAPA-1 ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศพร้อมกับดาวเทียมขนาดเล็กอื่น ๆ ในวันที่ 3 กันยายน 2020 โดยจรวด Vega ของบริษัท Arianespace ขึ้นสู่วงโคจร Low-Earth Orbit

ดาวเทียม NAPA-1 ขณะถูกติดตั้งเข้าสู่ Payload Adaptor ของจรวด Vega โดย ISISpace ที่มา – ISISpace

ในส่วนของเว็บไซต์กองทัพอากาศนั้น ไม่ได้มีการระบุราคาว่าการซื้อดาวเทียม NAPA-1 (รวมถึงโครงการทั้งหมด ตั้งแต่การจัดอบรม การซื้อบริการเสริมเพิ่มเติม Software ต่าง ๆ) มีมูลค่าเท่าไหร่กันแน่ (ซึ่งยังคงเป็นคำถามคาใจมาจนถึงปัจจุบัน) ในขณะที่ เว็บไซต์ของทาง ISISpace ได้ระบุรายละเอียดของดาวเทียม NAPA 1 ไว้ว่าทางบริษัท เป็นผู้ดำเนินการ designed, built, และ tested the satellite platform and ground segment รวมถึงดูแลการปล่อยให้กับกองทัพอากาศไทย โดยมีตัว Payload หลักคือ Gecko Imager เป็นอุปกรณ์ถ่ายภาพ  RGB ความคมชัดระดับ 39 เมตร และกล้องอีกตัว TriScape ที่ความคมชัด 5 เมตร โดย ISISpace ยังระบุว่า พวกเขาได้รับ Order ในการทำดาวเทียม NAPA-2 ด้วยเช่นกัน

Space Education เริ่มต้นจริงจังแล้วในไทย โครงการอวกาศกับการศึกษา ผุดขึ้นเยอะมาก

ในปี 2019 ทาง Freak Lab ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ในการทำหลักสูตร Astrobiotechnology และปล่อย Material ให้สามารถศึกษาได้ฟรี รวมถึงมีการจัดงาน สัมนา Astrobiotech ครั้งแรกในไทย ที่ Future Tales Lab ของ MQDC เปิดทางการนำหลักสูตรการศึกษาเทคโนโลยีอวกาศที่ไม่ใช่แค่ในฝั่งวิศวกรรมหรือฟิสิกส์เข้ามาในไทย ในปี 2020 เราก็ได้เห็นหลักสูตรต่าง ๆ ถูกพัฒนาขึ้นมามากขึ้น และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็ได้เริ่มนำหลักสูตรเหล่านี้ไปใช้สอนจริง ๆ

ผู้ชนะโครงการ Kibo Robot Challenge ตัวแทนประเทศไทย ที่มา – NSTDA

กิจกรรมด้านการศึกษาเกี่ยวกับอวกาศที่น่าสนใจในปี 2020 ก็เช่น เวิร์คชอป Design the Universe ออกแบบอาหารอวกาศ และสอนแนวคิดแบบ Antidisciplinary ในงาน Bangkok Design Week 2020 โครงการ Kibo Robot Challenge ซึ่งเป็นการแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์บนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่ทาง สวทช. ร่วมมือกับ JAXA ในการนำเข้ามา หรือคอร์สออนไลน์อย่าง Space Lab ที่ทาง Space Zab จัดร่วมกับสเปซทีเอช นำเอาผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานอวกาศ ทั้งในฝั่งวิศวกรรม ชีววิทยา การออกแบบ อาหาร ที่เคยเป็นผลงานวิจัยอวกาศหลัก ๆ ในไทย มาให้เยาชนสามารถเลือกลงทะเบียนเรียน และเข้าถึงได้ทางออนไลน์

การจัด Workshop การออกแบบแฟชันกับอวกาศในโครงการ Space Lab ที่ Dek-D

ในขณะที่กิจกรรม Space Lab ก็มีความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยมากขึ้น ตั้งแต่ ความร่วมมือกับทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในการจัดการเรียนการออกแบบสถาปัตยกรรมบนดวงจันทร์ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย นำโดยทีมวิศวกรจาก Space Zab ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการไปทำการสอนร่วมกับ Denla British School

Space Zab ประสบความสำเร็จ พัฒนาหินดวงจันทร์จำลองได้เจ้าแรกเจ้าเดียวในไทย

NASA ประกาศแผนโครงการสำรวจดวงจันทร์ Artemis อย่างจริงจังในปีนี้ และเริ่มวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรบนดาวอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นดวงจันทร์ หรือดาวอังคาร (อ่าน – แผนการบริหารทรัพยากรบนดาวอังคาร In-Situ Resource Utilization) รวมไปถึงการจัดการปักรากลงฐานบนดวงจันทร์เพื่อเป็นแหล่งอยู่อาศัยของมนุษย์ในอนาคต

Jim Bridenstine ออกมาประกาศว่า NASA นั้นรับซื้อหินดวงจันทร์หรือดินดวงจันทร์จากบริษัทเอกชน (ซึ่งจะถูกนำมาวิจัยและพัฒนาวางแผนการอยู่อาศัยบนดวงจันทร์) ล่าสุดก็มีการกวนตีนด้วยการ ประกาศว่า ใช้เงินแค่ 1 เหรียญฯ ก็ซื้อได้แล้ว (เข้าใจว่าล้อเลียนโครงการฉางเอ๋อ 5 ของจีน) แต่ตอนนี้บริษัทอวกาศของไทยอย่าง Space Zab ก็ได้มีการเริ่มผลิตและทดสอบคุณสมบัติของหินดวงจันทร์จำลอง (lunar simulant) จากการศึกษาหินจำลองต้นแบบของประเทศญี่ปุ่น และเลือกใช้แหล่งขุดและผลิตในประเทศทั้งหมด

Lunar Simulant จะเปิดทางงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์ในราคาที่เข้าถึงได้ ที่มา – Space Zab

Lunar Simulant จะช่วยให้นักวิจัยสามารถทดสอบหรือทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์โดยไม่ต้องไปลงจอดบนดวงจันทร์หรือใช้หินดวงจันทร์จริง ๆ ที่มีมูลค่าสูงมากในความเป็นจริง (หรือถ้าใครจะไปขอซื้อ 1 เหรียญก็เชิญ) โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่นักวิจัยไทย หรือบริษัทอวกาศในต่างประเทศในกลุ่มบริษัทขนาดเล็กหรือสตาร์ทอัพต่าง ๆ

ดร.วเรศ จันทร์เจริญ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Space Zab เล่าให้เราฟังว่า Lunar Simulant ของ Space Zab มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับหินดวงจันทร์จริง ๆ มาก คำนวณค่าทางฟิสิกส์ต่าง ๆ ด้วย Computer Simulation เพื่อการพัฒนาเทคนิคต่างๆ สำหรับการวิจัยต่อยอด เช่น เทคนิคการขุดเจาะพื้นดวงจันทร์ เทคนิคการใช้หินดวงจันทร์เพื่อก่อสร้าง

ราชพฤกษ์และโหระพาอวกาศ

อีกหนึ่งโครงการความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นโดย สวทช. โครงการนี้อยู่ในโครงการ Asian Herb in Space ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ชาติพันธมิตรได้ร่วมส่งการทดลองขึ้นสู่อวกาศในลักษณะการปลูกพืชบนอวกาศควบคู่กับบนโลก ในปีนี้พืชที่ได้รับการทดสอบปลูกได้แก่โหระพาโดยทาง สวทช. ได้เปิดให้สถาบันการศึกษาที่สนใจเข้ามาร่วมทดลองด้วย

เมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ที่ถูกส่งขึ้นไปกับภารกิจ Crew-1 โดยยาน Dragon ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง NASA กับ JAXA ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังมีการส่งเมล็ดราชพฤกษ์ ขึ้นไปสู่อวกาศโดยมีสัญญะคือเป็นต้นไม้ประจำชาติไทย ซึ่งเมื่อเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวกลับลงมาจะมีการนำไปแจกจ่ายเพื่อปลูกในบริเวณต่าง ๆ ในประเทศไทยเป็นการสร้าง Story เกี่ยวกับอวกาศ

ซึ่งทั้งสองโครงการก็เดินทางไปสู่สถานีอวกาศนานาชาติในภารกิจ Crew-1 ของ SpaceX ซึ่งส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา ก

ดราม่าประกาศโครงการไปดวงจันทร์ วุ่นวายทั้งวงการ และแง้ม Thai Space Consortium

ปิดท้ายแยกย้ายกลับบ้าน วงแตก ด้วยรัฐมนตรีเอง ด้วยการประกาศไปดวงจันทร์ของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (ซึ่งไปพูดในงานระดมทุนวัคซีน COVID-19 ที่จุฬาฯ) โดยรัฐมนตรีบอกว่า ประเทศไทยจะทำยานไปโคจรรอบดวงจันทร์ในเวลา 7 ปี แถมยังบอกว่าเขา (ใคร ?) ยังไม่ให้ผมพูด แต่ผมพูดก่อน (งง อะไรกันแน่)

แน่นอนว่าหลังจากที่พูดไปอย่างไร้บริบทก็เรียกเอาเสียงตอบรับด้านลบจากสังคมเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบเรื่องถนนลูกรัง (ล้อกรณีรถไฟความเร็วสูง) การบอกว่าไทยจะไปสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติบนดวงจันทร์​ (ล้อกรณีที่ ดร.อเนก ชอบโหน) แต่สุดท้ายปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่น่าจะวุ่นวายที่สุดก็ได้แก่ทุกคนที่เล่ามาด้านบนนี่แหละ (ฮา) เพราะก็อย่างที่ ดร.เอนกบอกไปว่าโครงการดังกล่าวยังไม่ได้มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามแนวโน้มการพัฒนาด้านอวกาศไทยในตอนนี้โครงการที่ใหญ่และน่าจับตามากที่สุดก็คือ Thai Space Consortium ซึ่งนำโดย GISTDA, NARIT และ SLRI (สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน) ในการพัฒนาดาวเทียมวิทยาศาสตร์ของคนไทย

จริง ๆ ก็เดาไม่ยากว่า ดร.อเนก กำลังพูดถึงโครงการดังกล่าว แต่ก็อย่างที่บอกว่า ทาง TSC ยังไม่ได้มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ดังนั้นในกระบวนการทำงานจึงยังไม่สามารถเล่าออกมาได้

สุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เรามองว่าไม่ได้เกิดจากการประกาศทำโครงการแต่เกิดจากการวางตัวของรัฐมนตรีที่ขาดความระมัดระวังในการสื่อสารเรื่องอวกาศ เพราะเราเองเชื่อว่านักวิจัยไทยนั้นมีความสามารถ และถ้ามองย้อนกลับไปข้างบนทั้งหมดไม่ยากเลยถ้าจะมีการส่ง หรือซื้อ หรือพัฒนาเอง หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่กระทรวงฯ ต้องสื่อสารและสิ่งที่เราต้องมีร่วมกันคือทิศทางในการพัฒนา การประกาศก่อนการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการจึงน่าจะนับเป็นการสร้างความวุ่นวายให้กับ TSC (ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการแบ่งงานกันศึกษาไปบ้างแล้ว) ไม่น้อย

มองแนวโน้มที่น่าสนใจ และเทรนด์น่าจับตามองปีต่อไป

จากที่เล่ามาทั้งหมด จะเห็นว่าในปี 2020 นั้นเกิดอะไรขึ้นเยอะแยะเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นฝั่งรัฐบาล, เอกชน ฝั่งรัฐบาลที่ไม่งง ฝั่งรัฐบาลที่งง ฝั่งเอกชนที่งง แต่คนที่งงมากที่สุดน่าจะเป็นประชาชนว่าสรุปทิศทางการพัฒนาด้านอวกาศของเราจะไปในทางไหนกันแน่ เพราะตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าขั้วการสำรวจอวกาศนั้นแบ่งได้ชัดว่าเราจะไปทางจีน หรือจะไปทางประชาคมโลก (คือร่วมกับโครงการ Artemis) ซึ่งเอาจริง ๆ ไม่มีแบบไหนถูกแบบไหนผิด หรือจะทำ Hybrid ก็ได้ จะสนับสนุนเอกชนให้มีที่ยืนในประชาคมโลก ในขณะที่รัฐบาลเน้นการสำรวจอวกาศกับจีน แต่สุดท้ายสิ่งที่เราต้องการก็คือ National Agenda หรือแผนกลาง วาระแห่งชาติ หรืออะไรก็แล้วแต่ว่าเราวาง Position ตัวเองในวงการอวกาศอย่างไร

Lunar Gateway สถานีอวกาศที่ถูกออกแบบให้โคจรรอบดวงจันทร์เพื่อเตรียมพร้อมการเดินทางสู่ดาวอังคาร ที่มา – NASA

เหมือนที่เล่าไปตอนแรกว่าไทยเรามีขีดความสามารถสูงมากในฝั่งของวิศวกร, นักวิจัย และมี Space Community และ Culture ที่กำลังถูกสร้างขึ้นมา ดังนั้นโอกาสในการผลักดันงานอวกาศไทยและความเข้าใจของสังคมที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่ควรทำใน 2-3 ปีที่จะถึงนี้ ก่อนที่ประเทศอื่นเขาจะไปกันไกลกว่านี้ ซึ่งเราเองก็เห็นหลายหน่วยงานที่ทำได้ดี และหลายหน่วยงานที่เราก็ยังงง ๆ ว่าทำอะไรกันแน่

และสุดท้าย ขอทิ้งท้ายไว้กับสิ่งที่เราคิดว่าจะได้เห็นเป็น Trend ที่น่าจับตามองในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้

  • ความชัดเจนของโครงการ Thai Space Consortium ว่าจะมีการแบ่งงาน การจัดการอย่างไร ใครทำอะไรบ้าง เป้าหมายจะใหญ่แค่ไหน จะกินไปไกลถึง Industry ไหน
  • ความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศเพื่อนบ้าน ไทยมีศักยภาพในการนำด้านวิชาการ เพื่อการถ่วงดุลอำนาจ ถ้าเกิดสมมติว่าไทยต้องทำ Treaty Organization งานด้านวิชาการเป็นสิ่งหนึ่งที่คนไทยเชี่ยวชาญและมีหน่วยงานที่สามารถทำ Treaty Organization ได้ไม่ยาก (ยกตัวอย่างเช่นโมเดล CERN, ESO)
  • ความชัดเจนต่อไปของโครงการ NAPA-2 ของกองทัพฯ ที่ทาง ISISpace ระบุไว้ว่าจะมีการทำโครงการต่อ
  • การผลักดันงานอวกาศในระดับ Citizen และการเกิดขึ้นของ Space Accessibility ใคร ๆ ก็ส่งงานวิจัยไปอวกาศได้ และมีความหลากหลายในงานวิจัยมากขึ้น รวมถึงการเกิด Space Education ในภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย โรงเรียนมัธยม ประถม อนุบาล

และเรื่องสุดท้ายคือเสถียรภาพการทำงานของรัฐบาลฯ ปัจจุบันการเมืองไทยขาดเสถียรภาพและแนวทางการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในช่วง Q1 และ Q2 ปี 2020 ทำให้เราอาจจะเดาอะไรยากว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่สุดท้ายแม้ว่าจะเกิดอะไร หน่วยงานก็ยังทำงานกันต่อไปขึ้นอยู่กับความตั้งใจและรู้งาน แต่เป้าหมายของประเทศนั้นถ้าเรายังคงหาความชัดเจนไม่ได้ เราก็จะทำงานกับแบบงง ๆ ต่อไปแบบนี้

สรุปการปล่อยจรวดที่มีงานของคนไทย

  • SpaceX Falcon 9 CRS-20 (Pearl of Lunar – Henry Tan / MIT Media Lab / Freak Lab) – 17 มีนาคม 2020
  • Vega VV16 (NAPA1 – Royal Thai Airforce) – 3 กันยายน 2020
  • Blue Origin NS-13 (TOT / muSpace / Spaceth) – 13 ตุลาคม 2020
  • SpaceX Falcon 9 Crew-1 (Asian Herb in Space – NSTDA) – 16 พฤศจิกายน 2020
  • Soyuz 2.1 – N/A Mission (BCC-Sat-1 – BCC Space Program) – TBD

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

สื่อออนไลน์ คอนเทนต์ด้านอวกาศ การสํารวจอวกาศ และการค้นพบใหม่ ๆ โดยเน้นสร้างสรรค์เนื้อหาที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย และสนุกไปกับความรู้ที่ได้รับ