The Planets เป็นผลงานชิ้นที่ 32 ของกุสตาฟ โฮลส์เป็นดนตรีที่ประพันธ์ขึ้นมาสำหรับบรรเลงโดยออร์เครสตราขนาดใหญ่ ซึ่งถูกจัดแสดงครั้งแรกในปี 1918 เป็นเวลา 4 ปีให้หลังจุดเริ่มต้นของการประพันธ์ผลงานชิ้นนี้ในปี 1914 ซึ่งฐานะของนักประพันธ์ในช่วงนั้นและก่อนหน้านั้นแล้ว อาจเรียกว่าไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่กับผลงานชิ้นก่อน ๆ อย่างโอเปร่า Sita, Savitri หรือ Rig Veda
ผลงานในช่วงนี้ของโฮลส์มีความเกี่ยวเนื่องอย่างเห็นได้ชัดจากวัฒนธรรมโบราณทางฝั่งตะวันออก (ซึ่งก็อาจสังเกตได้จากชื่อ เช่น Sita ที่ได้แรงบันดาลใจจากมหากาพย์รามายณะ) ซึ่งเป็นผลของอิทธิพลโดยลัทธิเทวญาณที่มุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจแนวทางของธรรมชาติ (และเรื่องเหนือธรรมชาติ/เทววิทยา) ผ่านการตีความใหม่ของวัฒนธรรมโบราณ ซึ่งก็รวมไปถึงวัฒนธรรมฝั่งตะวันออกด้วยเช่นกัน นอกจากตัวโฮลส์เองแล้วลัทธินี้รวมไปถึงรูปแบบของความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณในทางศาสนาหรือเทววิทยาก็เป็นกลุ่มแนวคิดส่งผลกับศิลปินรวมไปถึงนักประพันธ์คนอื่น ๆ ในยุคนวนิยม (Modernism) จำนวนไม่น้อยเช่นกัน ต่างจากภาพจำปกติที่มักผูกนวนิยมไว้กับวิทยาการหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่
จากความล้มเหลวของตัวเองในความคิดของโฮลส์ ทำให้เขาได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการหยังรู้อนาคตหรือดวงชะตาของตัวเองประกอบกับอิทธิพลจากลัทธิเทวญาณ จอร์จ อาร์. เอส. มีด นักเขียนชาวอังกฤษก็ได้แนะนำให้โฮลส์ศึกษาโหราศาสตร์ (ถึงแม้จะเป็นลัทธิที่มีอิทธิพลต่อตัวโฮลส์แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโฮลส์จะนับถือลัทธินี้เป็นหลักซะทีเดียว จดหมายของแมททิอัส น้องชายของกุสตาฟต่อวารสาร Music and Letters ในเดือนกรกฎาคมปี 1951 ได้ระบุถึงแนวคิดความเชื่อของกุสตาฟซึ่งมีรากฐานจากพุทธศาสนา)
ความสนใจของโฮลส์ต่อดาราศาสตร์ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงการไปพักผ่อนที่สเปนกับเพื่อนนักดนตรีบัลโฟร์ การ์ดิเนอร์กับอาร์โนล แบกซ์และน้องชายของอาร์โนล คลิฟฟอร์ด แบกซ์ ในปี 1913 ที่โฮลส์ได้สนทนากับคลิฟฟอร์ดอในเรื่องโหราศาสตร์อย่างจริงจัง หลักฐานแสดงให้เห็นถึงความสนใจต่อดวงดาวต่าง ๆ ที่เป็น subject ในการศึกษาโหราศาสตร์เป็นพิเศษ เป็นที่เชื่อกันว่าหนังสือเรื่อง The Art of Synthesis ของอลัน ลีโอ นักโหราศาสตร์ยุคใหม่ซึ่งเป็นเพื่อนของมีดที่เป็นแรงบันดาลใจหลักในการประพันธ์ The Planets ของโฮลส์ ซึ่งแต่ละบทของหนังสือเล่มนี้เป็นการอธิบายดาวต่าง ๆ ในระบบสุริยะ (ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, ดาวเคราะห์ตั้งแต่ดาวพุธถึงดาวเนปจูน) ในเชิงโหราศาสตร์ รวมถึงการเล่าตำนานปรัมปราของดาวต่าง ๆ ซึ่งก็คือเรื่องเล่าของเทพแต่ละองค์ของแต่ละดาวที่เล่ากันในยุคโบราณ
ในที่สุดแล้ว โฮลส์ก็ได้เริ่มประพันธ์ The Planets ในปี 1914 ไม่นานนักก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะปะทุขึ้น ในขณะที่เขาทำงานประจำเป็นอาจารย์อยู่ที่ St Paul’s Girls’ School และ Director of Music ที่ Morley College โฮลส์ได้ประพันธ์ Mars และ Venus ตามลำดับในปี 1914 ตามด้วย Jupiter ในปี 1914 Saturn, Uranus และ Nepture ในปี 1915 และ Mercury ในปี 1916 รวมกันแล้วทั้งหมด 7 ท่อน ก่อนที่จะทำการเรียบเรียงให้แล้วเสร็จทั้งหมดในปี 1917 โดยในช่วงแรกมันถูกประพันธ์สำหรับการแสดงด้วยเปียโนสองตัว (ยกเว้น Neptune ที่ประพันธ์ให้ออร์แกน) ก่อนที่จะเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นสำหรับออร์เครสตราทั้งวง
ในการเรียงแต่ละท่อน ลำดับของการบรรเลงได้ถูกจัดเรียงใหม่ไปจากลำดับการประพันธ์ โดย Mars ถูกวางไว้เป็นมูฟเมนต์แรก ตามด้วย Venus, Mercury, Jupiter, Uranus, และ Neptune ในที่นี้มีประเด็นที่น่าสนใจก็คือลำดับของมูฟเมนต์ไม่ได้เรียงตามดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ (และหนังสือ The Art of Synthesis ที่ก็เรียงตามลำดับในระบบสุริยะเช่นกัน)
จากหนังสือของริชาร์ด กรีน นักดนตรีวิทยาแล้ว กรีนได้สังเกตว่าในดราฟช่วงแรก ๆ ของ The Planets โฮลส์ได้วางลำดับ Mercury ไว้เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งก็อาจเชื่อได้ว่าไอเดียเริ่มแรกก็คงมาจากการเรียงลำดับดาวเคราะห์ในระบบสุริยะตามปกติ แต่ลำดับก็ได้ถูกแก้ไขในดราฟหลัง ๆ มา ในงานวิเคราะห์บางชิ้นได้สัณนิษฐานว่าเกิดมาจากบุคลิคเพลงของ Mars ที่รวดเร็วและดุดัน จึงเหมาะวางไว้เป็นลำดับแรก ขณะที่ชิ้นอื่นเชื่อว่ามาจากคติทางความเชื่อที่เดือน March (ที่ตั้งชื่อตามเทพ Mars) เป็นเดือนแรกของปี
ชื่อเดิมของ The Planets คือ Seven Pieces for Large Orchestra ที่ตั้งขึ้นมาล้อกับงานของอาร์โนล โชเอนเบิร์ก นักดนตรีและนักประพันธ์คนสำคัญของศตวรรษที่ 20 จากแนวคิดเรื่อง Serialism (แนวคิดของการใช้ตัวโน้ตทั้ง 12 ตัวใน 1 ออคเทฟอย่างเท่าเทียมกัน ตัดขาดออกจาก tonal system แบบเดิม) อย่าง Five Pieces for Orchestra ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น The Planets ก่อนการแสดงครั้งแรกเดือนกันยายน ปี 1918 ซึ่งเพลงแต่ละท่อน (ซึ่งคือดาวเคราะห์แต่ละดวง) ได้ถูกประพันธ์ให้มีบุคลิคที่แตกต่างกันออกไปตามเรื่องราวของเทพเจ้าแต่ละองค์ที่เป็นตัวแทนของดาวแต่ละดวงในเรื่องเล่าปรัมปราดังนี้
Mars, the Bringer of Wars
มาร์สในตำนานเทพปกรณัมโรมันหรือเทียบเท่าแอรีสในตำนานเทพปกรณัมกรีกคือเทพแห่งสงคราม ดังนั้น Mars จึงถูกเขียนขึ้นมาให้ดุดัน รุนแรงและทรงพลัง ให้เหมือนอยู่ในสงคราม มูฟเมนต์นี้ถูกกำกับ Tempo (จังหวะ/อัตราเร็ว) เป็น Allegro (รวดเร็วและมีชีวิตชีวา – ประมาณ 120-156 bpm) และถูกกำกับด้วยจังหวะ 5/4 ซึ่งไม่ค่อยที่จะพบเห็นในดนตรีตะวันตก ให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างผิดธรรมดาสามัญ
รูปแบบตัวโน๊ตของ Mars ค่อนข้างที่จะเรียบง่ายและตรงไปตรงมา แต่จะเน้นไปที่การใช้คาร์แรคเตอร์ของเครื่องดนตรีในการสร้างความรู้สึกมากกว่า โดยอาจแยกทำนองหลักออกมาได้เป็น 3 ท่อนหลัก ๆ โดยทำนองที่อาจเรียกได้ว่าโด่งดังมาก คือทำนองแรกของท่อน ที่เป็นการเล่น ostinato (การเล่นที่มีแพทเทิร์นซ้ำกันไปมาเรื่อย ๆ เช่น C D C D / C D C D / C D C D) ปรากฎครั้งแรกที่ห้องแรก (ต้นเพลง) ที่บรรเลงด้วยการใช้วิธีการ col legno (การใช้ด้ามคันชักสีไปบนสายแทนการใช้หางม้า (สาย)) บนเครื่องสายทั้งไวโอลิน วิโอล่า เชลโล่ และดับเบิลเบส ในขณะเดียวกันก็มีการใช้เครื่องเป่าลมทองเหลืองและเครื่องเป่าลมไม้เล่นโน้ตทำนองยาวไต่เป็นขั้นบันได (ขึ้น 5 เสียงและลงครึ่งเสียงไปเรื่อย ๆ) ostinato ท่อนนี้มีการปรากฎซ้ำอีกหลายครั้งโดยบรรเลงโดยเครื่องดนตรีที่ต่างกันไป
ความรุนแรงของ Mars ได้ถูกถ่ายทอดมาจากการใช้คู่เสียงกัดผสมกับคู่เสียง perfect ผสมกันไปเช่นการในการไล่ขึ้นของเครื่องเป่าที่มีส่วนหนึ่งเล่นเป็น Eb G Bb ในขณะที่อีกส่วนเล่น Db Ab F ซึ่ง Eb และ Db กับ G และ Ab เป็นคู่ Minor second ที่ทำให้เกิด dissonance ขึ้นในขณะที่ Ab และ Db เป็น Perfect fourth และที่น่าสนใจคือ โฮลส์ยังได้มีการกำกับ dynamic (อาจเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นความดัง-เบาของตัวโน้ต – สัญลักษณ์โดยพื้นฐานที่สุดสองตัวคือ p หรือ piano ที่แปลว่าเบา และ f หรือ forte ที่แปลว่าดัง) ไว้เป็น ffff (ดังมาก) ถึงสองช่วงคือช่วง Climax กลางเพลงและจบเพลง ซึ่งการกำกับ ffff นี้แทบไม่เคยปรากฎในดนตรียุคก่อนศตวรรษที่ 20 จากที่โดยทั่วไปนิยมใช้ถึงแค่ fff (fortississimo) หรือ ppp (pianississimo) เท่านั้น
เป็นที่เข้าใจผิดกันอย่างแพร่หลายว่าว่า Mars ถูกประพันธ์ขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่แท้จริงแล้ว แม้จะแต่งขึ้นในปี 1914 ที่สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นแต่ Mars ถูกแต่งขึ้นในช่วงก่อนสงครามจะปะทุขึ้น ในภายหลัง Mars ได้กลายเป็นหนึ่งเพลงที่มีอิทธิพลสูงมากต่อวงการภาพยนตร์ โดยเฉพาะจากการที่ John Williams ใช้ Mars เป็นแรงบันดาลในในการสร้าง Main Theme และ Imperial March ของ Star Wars)
Venus, the Bringer of Peace
วีนัสหรือแอโฟรไดทีคือเทพเจ้าแห่งความรักและความงาม เป็นที่น่าสนใจว่าลักษณะของ Venus เหมือนเป็นขั้วตรงข้ามของ Mars โดยสิ้นเชิง มูฟเม้นนี้เริ่มต้นด้วยการโซโล่ของฮอร์น ใน Tempo กำกับ Adagio หรือประมาณแค่ครึ่งเดียวของ Allegro ของ Mars ก่อนที่จะถูกรับด้วยฟลุตและโอโบ ตามด้วยคลาริเน็ต ขณะที่ motion ของฮอร์นและคลาริเน็ตค่อย ๆ เคลื่อนที่ขึ้น ฟลุตและโอโบก็เคลื่อนที่ลงสวนประสานกัน ดำเนินไปสู่การเล่น oscillating chord ของเครื่องเป่าและฮาร์ป
ทำนองเพลงที่เหลือจะเห็นได้ตามช่วงโซโลของเครื่องดนตรีแต่ละเครื่องส่งต่อกันไปเรื่อย ๆ จากไวโอลิน คลาริเน็ต โอโบ เชลโล โดยมีจังหวะที่เร็วขึ้นเล็กน้อย ในช่วงทำนองของไวโอลิน (เป็นช่วงโซโลแล้วต่อด้วย tutti (การเล่นเต็มวง)) ในจังหวะ Andente ก่อนจะช้าลงจนช้ากว่า Adagio ในตอนต้นที่ Largo ในช่วงกลางเพลง ในการพูดถึงมูฟเมนต์ Venus มักมีการเน้นย้ำถึงความมินิมอลของตัวบทเพลงที่ดูเหมือนจะถูกเล่นด้วยเครื่องดนตรีจำนวนเพียงน้อยชิ้นเท่านั้นที่สร้างอารมณ์เว้งว้างและเงียบสงบของท่อนนี้ได้เป็นอย่างดี
มูฟเมนต์นี้ปกคลุมไปด้วยความร่มรื่นของโลกที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีสิ่งใดสามารถมารบกวนได้ อารมณ์ของมูฟเมนต์มีความลึกลับอย่างเห็นได้ชัด และอาจจินตนาการได้ถึงถึงการอยู่ท่ามกลางแสงดาวระยิบระยับในค่ำคืนอันเงียบงัน
กุสตาฟ โฮลส์
นอกเหนือไปจากนี้ โฮลส์ได้ใช้เซเลสตา (เครื่องเคาะลิ่มนิ้มเช้นเดียวกับเปียโนแต่มีแหล่งกำเนิดเสียงที่ต่างกัน ในขณะที่เปียโนจะเป็นการเคาะ hammer ไปยังสายแต่เซเลสตราจะเคาะแผ่นเหล็ก เพลงที่น่าจะคุ้นเคยที่สุดที่มีการใช้เซเลสตาเป็นส่วนสำคัญคือ Dance of the Sugar Plum Fairy ของไชคอฟสกี้ ดังในช่วงวินาทีที่ 23 ของวิดิโอ) และกลอคเคนสเปล เล่นประกอบในบางส่วนให้ความรู้สึกเป็นสภาวะเหมือนฝัน มูฟเมนต์นี้จบลงอย่างช้า ๆ ด้วยการลากยาวของเครื่องสายภายหลังที่โน้ตตัวสุดท้ายของเซเลสต้าสิ้นสุดลงก่อนที่จะเงียบหายไปในอากาศ
Mercury, the Winged Messenger
ชื่อของ Mercury, the Winged Messenger เป็นหนึ่งในสองมูฟเมนต์ของ The Planets ที่ชื่อตรงกันกับบทในหนังสือ The Art of Synthesis คู่กับ Neptune, the Mystic ตำนานของการเป็นเทพเจ้าแห่งการสื่อสารของเมอร์คิวรี (หรือเฮอร์มีสในเทพปกรณนัมกรีก) สร้างบุคลิคที่รวดเร็วของมูฟเมนต์ โดยมันถูกมาร์คด้วย Tempo Vivace (มีชีวิตชีวาและรวดเร็ว – ประมาณ 156-176 bpm) ตลอดทั้งท่อน นอกเหนือจากนี้ Mercury ยังเป็นมูฟเมนต์ที่สั้นที่สุดของ The Planets อีกด้วย (เวลาเล่นที่ประมาณ 4 นาที ต่างจากบทอื่นที่ประมาณ 7-9 นาที)
โฮลส์ถ่ายทอดความว่องไวของเมอร์คิวรีออกมาในมูฟเมนต์นี้ในหลายรูปแบบ อย่างการสอดประสานกันของหลาย key signature ในช่วงเวลาเดียว การจัดกลุ่มตัวโน้ตที่มีความแปลกไปจากแนวทางทั่วไปไปของเพลงที่ใช้ time signature 6/8 (time signature ของ Mercury) ซึ่งเทคนิค cross rhythm นี้ก็ได้กลายเป็นเทคนิคหนึ่งที่โฮลส์นิยมใช้ในช่วงเวลาต่อมา หรือการเปลี่ยน tonality ของท่อนอย่างรวดเร็ว จากเหตุที่ว่ามานี้ทำให้ตัวโน้ตของ Mercury มีความซับซ้อนกว่า 2 มูฟเมนต์ก่อนอย่าง Mars และ Venus อย่างเห็นได้ชัด
เครื่องดนตรีที่โฮลส์ใช้เป็นหลักในมูฟเมนต์นี้จะเป็นเครื่องดนตรีที่เสียงให้ความรู้สึกเบาและสนุกสนาน เช่นไวโอลิน ฟลุต ฮาร์ป (ส่วนใหญ่จะใช้ช่วงเสียงสูง) หรือเซเลสต้า โดยรวมแล้ว ลักษณะทำนองเพลงของ Mercury ถูกเขียนขึ้นเป็น Scherzo ที่แปลว่า “ตลก” กล่าวคือเป็นดนตรีท่อนที่มีชีวิตชีวาและหลีกเลี่ยงความเศร้าโศกนั่นเอง
Jupiter, the Bringer of Jollity
กล่าวกันว่าโฮลส์ได้รับแรงบันดาลใจในการประพันธ์ Jupiter จากทั้งตำนานเรื่องเล่าและลักษณะทางดาราศาสตร์ของดาวพฤหัส จูปิเตอร์ (หรือซุสในปกรณัมกรีก) คือเทพเจ้าแห่งท้องฟ้าที่เป็นราชาของเทพทั้งปวงและพระเจ้าหลักของโรมัน ในขณะเดียวกันดาวพฤหัสบดีก็เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะและหมุนรอบตัวเองเร็วที่สุด ลักษณะนี้ถูกถ่ายทอดออกมาใน ostinato 3 โน้ตในช่วง introduction บรรเลงโดย 1st และ 2nd ไวโอลิน ก่อนที่จะเสริมด้วยเครื่องดนตรีอื่น และเข้า theme ที่ 1 ในช่วงถัดมา ที่น่าสนใจคือทิมปานีสองตัวที่ถูกใช้ในการบรรเลง The Planets ได้ถูกใช้เพื่อบรรเลงเป็นตัวโน้ตหลักด้วยใน theme 1 จากที่ปกติทิมปานีไม่ค่อยได้ถูกใช้เพื่อบรรเลงโน้ตหลักเท่าไหร่
Jupiter มี theme ย่อยอยู่หลายชิ้นซึ่งอาจประกอบกันได้เป็น section 1 ของเพลง (ต่อจาก introduction) ก่อนเข้าสู่ section 2 ที่หลายคนเรียกมันว่าเป็น hymn-like theme (theme ที่มีลักษณะเหมือนบทสวดสรรเสริญหรือขอบคุณพระเจ้า) ที่มีความเร็วช้าลงครึ่งหนึ่งจาก section 1 ในขณะที่ section 1 กำหนด Tempo เป็น Allegro giocoso มี time signature 3/4 ท่อน hymn-like นี้มาร์คด้วย Tempo Andente maestoso และมี time signature เป็น 2/4 ซึ่งอาจสังเกตได้ง่าย ๆ จากสัญลักษณ์ที่ให้เล่นโน้ตตัวดำในความยาวโน้ตตัวขาว (เดิม) (คำว่า giocoso และ maestoso ไม่ได้เกี่ยวกับเวลาโดยตรง แต่เป็นคำนิยามอารมณ์ความรู้สึกหรือคุณสมบัติของท่อนนั้น ๆ คำว่า giocoso แปลว่าสนุกสนาน ขณะที่ maestoso แปลว่ายิ่งใหญ่ สง่า) ซึ่ง theme นี้ของเพลงได้ถูกนำไปใช้เป็นทำนองของเพลง I Vow to Thee, My Country ของสหราชอาณาจักรที่ถูกใช้ในพิธีการสำคัญต่าง ๆ มากมาย (และเป็นหนึ่งในเพลงประกอบของเกม Battlefield V)
หลังจาก Transition หลัง Section 2 จบลง Section 3 ก็เริ่มต้นขึ้นซึ่งคือเล่นซ้ำ Section 1 อีกครั้ง (โดยมีการดัดแปลงไปจากเดิม) จากนั้นก็มีการ recall Hymn-like อีกครั้งหนึ่งสั้น ๆ ก่อนเข้าช่วง Coda (ตอนจบของเพลง) ซึ่งนำไปสู่คอร์ดสุดท้ายที่ความกำกับความดังไว้เป็น fortississimo (fff – triple forte) ที่ถึงแม้จะไม่ดังเท่า Mars ที่ความดังนั้นตั้งใจจะสื่อถึงความรุนแรงอย่างบ้างคลั่ง ก็นับว่าเป็นการปิดฉากของมูฟเมนต์นี้ได้อย่างงดงามและสมบูรณ์แบบ
ดังเช่นชื่อของมูฟเมนต์ หัวใจของ Jupiter, the Bringer of Jollity คือความสุข ซึ่งซึ่งโฮลส์ก็ได้ถ่ายทอดมันออกมาในสองรูปแบบคือความร่าเริงและความยิ่งใหญ่หรือความปลาบปลื้มปิติยินดี และก็คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าโฮลส์สามารถทำมันออกมาได้อย่างดีเยี่ยม
Saturn, the Bringer of Old Age
โฮลส์ตีความ Saturn ออกมาในรูปของความชราและความตาย ตรงกันข้ามกับความรวดเร็ว ดังสนั่นและร่าเริงของ Jupiter มูฟเมนต์ Saturn นั้นช้าและเปี่ยมไปด้วยความมืดหม่น สิ่งนี้แสดงออกมาได้ตั้งแต่ Opening Bar ของเพลงที่ใช้ฟลุตและฮาร์ปเล่นตัวโน้ตสลับกันซ้ำ ๆ เพียงสองตัว มันมักถูกเปรียบเปรยเป็นเสียงนาฬิกาแสดงให้เห็นถึงเวลาที่เลื่อนลอยเป็นการปรับอารมณ์ของผู้ฟังเข้าสู่โทนของมูฟเมนต์นี้อย่างช้า ๆ โดยมีดับเบิลเบสที่มีเสียงทุ้มต่ำมากเล่น melody เป็นแบคกราวน์ Tempo ของในช่วงแรกของมูฟเมนต์นี้คือ Adagio เท่ากับของ Venus แต่ถึงแม้ทั้ง Venus และ Saturn จะมี Tempo ในระดับเดียวกัน แต่ความลักษณะความเชื่องช้ากลับถูกถ่ายทอดออกมาในคนละอารมณ์
ดนตรีที่ช้าและเงียบสงบเล่นไปได้จนถึงประมาณช่วงกลางเพลงก่อนที่มันจะค่อยดังขึ้นและเร็วขึ้นมาเป็น Andente เซคชั่นนี้ของมูฟเมนต์มีการตีความที่แตกต่างกันออกไป โดยในบางทัศนะเชื่อว่าหลังจากผ่านช่วงที่ช่วงช้าในช่วงแรกแล้ว Dynamic ของเสียงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เปรียบเสมือนการก้าวเข้าสู่ความตาย ซึ่งก็เชื่อมโยงกับการใช้ Tubular Bells (เป็นแท่งเหล็กยาวที่เมื่อตีแล้วให้เสียงคล้ายระฆัง) ว่าเป็นตัวแทนของระฆังโบสถ์ที่ลั่นในพิธีศพ ขณะที่บางที่เชื่อว่าดนตรีที่เร็วขึ้นเปรียบเสมือนการก้าวออกพันธนาการจากความเศร้าโศกและความทุกข์ทั้งหลายไปสู่ปัญญาและการยอมรับความจริง และบางส่วนเชื่อว่าเป็นอารมณ์ที่ถ่ายทอดความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ออกมา
ในช่วงท้ายของบทเพลง ได้มีการใช้เครื่องดนตรีที่เล่นอย่างเบาบางต่างจากในช่วงต้นที่เสียงดูทึบและหนักอึ้งซึ่งอาจเปรียบได้เหมือนความสงบสุขและการหลุดพ้นในที่สุด
Saturn ได้ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นมูฟเมนต์โปรดของโฮลส์จากทั้ง 7 ชิ้นใน The Planets ที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่เต็มเปี่ยมและลึกซึ้ง ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้เอ่อล้นไปด้วยความปิติยินดีแต่มันก็ถ่ายทอดความเป็นจริงของชีวิตและธรรมชาติออกมา
Uranus, the Magician
Uranus เริ่มต้นด้วยการประโคมแตรเป็นโน้ต 4 ตัวด้วยทรัมเป็ตและทรอมโบน ตามด้วยการเล่นโน้ตรูปแบบเดียวกันด้วยทูบาและทิมปานี โดยโน้ต 4 ตัวนี้จะเป็นหัวใจสำคัญของมูฟเมนต์นี้ที่ปรากฎขึ้นในลักษณะที่คล้ายกันอีกหลายครั้ง (รูปแบบของตัวโน้ตที่ปรากฎแบบนี้จะมีชื่อในเชิงเทคนิคว่า Motif) ซึ่งในภายหลั มีการเพิ่มเครื่องดนตรีหลายเครื่องที่มีทำนองเป็น sequence และเสียงที่สูงขึ้นเกิดเป็น upward melodic movement
อัตราเร็วของ Uranus เร็วขึ้นกว่า Saturn อย่างเห็นได้ชัด โดยถูกกำกับอยู่ที่ Allegro ลักษณ์ของมูฟเมนต์นี้ถูกมองว่ามีความขี้เล่น ซุกซน และวุ่นวายขึ้นเรื่อย ๆ ลักษณะการวางตัวโน้ตและเทคนิคที่โฮลส์ใช้ในการประพันธ์ Uranus มีความคล้ายคลึงกันกับ Mercury ในหลายเรื่อง เช่นการจัดกลุ่มตัวโน้ตที่แตกต่างจากวิธีการทั่วไป (หรือในช่วงท้ายของเพลงก็ได้มีการใช้ hemiola ที่มีการปรับ time signature ให้แตกต่างกันจริง ๆ โดยมีเครื่องดนตรีส่วนหนึ่งที่ใช้ time signature 4/4 ขณะที่ที่เหลือใช้ 6/4) และในขณะเดียวกันก็ได้มีการแทรก motif เข้ามาอยู่เรื่อย ๆ ดังที่ได้กล่าวมา
ความอลหม่านของ Uranus ดำเนินไปเรื่อย ๆ จนถึงในช่วงท้ายเพลง ได้มีการประสานเสียงกันของเครื่องดนตรีจำนวนมาก ประกอบกับการใช้ Xylophone และออร์แกนสอดแทรก จนถึงจุด Climax ที่ dynamic เป็น ffff เช่นเดียวกันกับใน Mars ซึ่งเป็นครั้งที่สองจากทั้งหมดสองครั้งที่ปรากฎสัญลักษณ์นี้ใน The Planets หลังจากโน้ต Climax ดนตรีดำเนินต่อไปอีกครั้งในช่วงสุดท้ายก่อนตัดเข้า Coda และจบลงด้วย Dynamic ที่ pianississimo (ppp)
Neptune, the Mystic
มูฟเมนต์สุดท้ายของ The Planets จบลงที่มูฟเมนต์ Neptune โดยมันเป็นมูฟเมนต์เพียงมูฟเมนต์เดียวในชุด The Planets ที่ไม่ได้มีทำนองหลักหรือธีมใด ๆ หากแต่ทั้งเพลงกลับเป็นเพียงชิ้นส่วนตัวโน้ตเล็ก ๆ ประกอบกันอย่างหลวม ๆ เท่านั้น ในบางทัศนะมองว่า Neptune ไม่ได้เพียงแค่สื่อถึงตัวของดาวเนปจูนเพียงอย่างเดียว แต่ยังประกอบไปด้วยความเว้งว้างอวกาศที่ห่างออกไป มีการใช้เซเลสตราและฮาร์ปเล่น Arpeggio แทรกเข้ามาเบา ๆ อยู่เป็นช่วง ๆ ที่อาจให้ความรู้สึกคล้ายคลึงความเงียบสงบของ Venus
ในช่วงครึ่งหลังได้มีการใช้คอร์รัสหญิงมาร้องประกอบโดยไร้เนื้อ ซึ่งนับว่าค่อนข้างใหม่กับงานในยุคนั้นที่โดยปกติแล้วจะไม่มีคอร์รัสเลยหรือเป็นคอร์รัสที่มีเนื้อร้องเพียงเท่านั้น การใช้คอร์รัสนี้ อาจนับว่าเป็น element of surprise เลยก็ว่าได้จากการที่ทั้ง 6 มูฟเมนต์ก่อนหน้าไม่มีการใช้เลยแม้แต่ครั้งเดียว หรือแม้แต่ใน Neptune ที่ถูกใช้ในครึ่งหลังที่ประมาณ 3 นาทีสุดท้ายของเพลงเท่านั้น นอกจากนี้โฮลส์ยังได้กำชับไว้ในเซคชั่นคอร์รัสของหน้าแรกของ Neptune ว่าให้อยู่ในห้องที่ติดกัน (จากที่ปกติคอร์รัสจะอยู่บนเวที) โดยให้เปิดประตูไว้จนกระทั่งห้องสุดท้ายของคอร์รัสจนกระทั่งใน bar สุดท้ายของเพลงที่ให้ค่อย ๆ ปิดประตูอย่างเงียบ ๆ ให้เสียงค่อย ๆ จางหายไป
Neptune จบลงด้วยเสียงของเครื่องดนตรีและคอร์รัสที่เบาลงอย่างช้า ๆ จนกระทั่งไม่เหลือเสียงดนตรีอะไรเหลืออยู่เลย การจบเพลงด้วยความเงียบนี้ ถือว่ายังเป็นเรื่องที่ใหม่และไม่ค่อยธรรมดาสักเท่าไหร่ในวัฒนธรรมดนตรีสากลโดยเฉพาะในดนตรีประกอบไปด้วยด้วยท่อนที่เร็วอย่าง Mars และ Jupiter จนกระทั่งการจบลงไปของ Common Practice Era พร้อมกับการสิ้นสุดของศตวรรษที่ 19 ที่นวยุคนิยมเริ่มจะเข้ามามีอิทธิพลกับวงการปรัชญาและศิลปะ ทำให้ศิลปินเริ่มจะทดลองอะไรใหม่ ๆ มากขึ้นกว่าเก่าที่ขัดกับกฎเดิม ๆ ของดนตรีในยุคก่อนหน้าที่มักประกอบสร้างและแปรผันกับค่านิยมของความงาม/ความไพเราะของยุคนั้น ๆ อย่างไรก็ตามความเงียบที่โฮลส์เลือกแทนความยิ่งใหญ่อลังการตามขนบปกติก็ทำให้ The Planets จบลงอย่างสมบูรณ์แบบในแง่มุมที่แสดงถึงความเว้งว้างและกว้างใหญ่ไพศาลของอวกาศ ที่มนุษย์จะไม่มีวันเดินทางไปถึงขอบของมันได้แม้กระทั่งถึงการอวกาลของจักรวาล
The Planets ถูกจัดแสดงขึ้นครั้งแรกในวันที่ 29 กันยายน 1918 ในระหว่างสัปดาห์สุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ณ Queen’s Hall ในกรุงลอนดอน ออเครสตราอำนวยวงโดยเอดรียน โบลท์ คอร์รัสร้องโดยนักเรียนของโฮลส์จาก St Paul’s Girls’ School และได้รับการสนับสนุนทางการเงินโดยบัลโฟร์ การ์ดิเนอร์ เพื่อนของโฮลส์ที่เดินทางไปพักร้อนที่สเปนด้วยกันนี้เอง อย่างไรก็ตามงานในครั้งนั้นเป็นงานส่วนบุคคลที่ผู้ชมราว 250 มาจากได้รับเชิญเท่านั้น คอนเสิร์ตที่เปิดเป็นสาธารณะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1919 แต่เล่นเพียง 5 จาก 7 ชิ้นเท่านั้น และมีการสลับลำดับเป็น Mars Mercury Saturn Uranus Jupiter จากเหตุผลเรื่องตอนจบที่ยิ่งใหญ่อย่างที่ได้เคยกล่าวถึงในพาร์ท Neptune ของบทความนี้ ส่วนการบรรเลงเต็มรูปแบบครบทั้ง 7 ชิ้นเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 1920 ส่วนในแง่ของผลตอบรับ ในครั้งแรกที่ The Planets ถูกจัดแสดงในปี 1918 ผลตอบรับค่อนข้างออกมาครึ่ง ๆ กลาง ๆ โดยมีบางส่วนที่ชอบและไม่ชอบปะปนกันไป แต่ในปีถัด ๆ มาผลตอบรับก็เปลี่ยนกลับมาเป็นความชื่นชมอย่างล้นหลามจนทำให้โฮลส์มีชื่อเสียงโด่งดัง
จากข้อความของคลิฟฟอร์ด แบกซ์ ณ ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง โฮลส์ก็เลิกสนใจในด้านโหราศาสตร์ไป
ในภายหลังได้มีนักประพันธ์หลายคนมาแต่งเติม The Planets เพิ่มด้วยวัตถุทางดาราศาสตร์ เช่นดาวพลูโต (ที่ถูกค้นพบในปี 1930 ภายหลังการจัดแสดงครั้งแรกของ The Planets นับ 10 ปี) ในชื่อ Pluto, the Renewer โดยคอลิน แมททิวส์ แสดงครั้งแรกในปี 2000 โดย Hallé Orchestra หรือดาว Ceres โดยมาร์ค-แอนโทนี เทอร์เนจ
จนถึงปัจจุบันได้มี Recording ของ The Planets ออกมาหลายต่อหลายชุด จากผู้อำนวยเพลงโด่งดังหลายคนเช่น ตัวโฮลส์เองกับ London Symphony Orchestra เอเดรียน โบลท์กับ BBC Symphony Orchestra เฮอร์เบิร์ต วอน คารายันกับ Vienna Philharmonic Orchestra หรือไซมอน แรทเทิลกับ Berliner Philhamoniker
ในประเทศไทยเคยมีการจัดแสดง The Planets โดย Thailand Philharmonic Orchestra ที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2016 และได้วางแผนจะจัดในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ก่อนที่จะถูกเลื่อนไปเป็นเดือนกรกฎาคมเนื่องด้วยการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ที่ดูไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้นในปัจจุบัน ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ทำให้การแสดงต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด