สรุปอวกาศปี 2023 ยานอวกาศ ดวงจันทร์ การค้นพบ และแวดวงอวกาศ ของโลกและไทย

สำหรับปี 2023 นับว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่เกิดกิจกรรมด้านอวกาศขึ้นมากมาย และทั่วโลกก็ยังคงหนีไม่พ้นกระแสการเดินทางกลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้งของมนุษยชาติ ในบทความนี้ได้รวบรวมภาพใหญ่ของกิจกรรมด้านอวกาศที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ในประเด็นเรื่องการเดินทางกลับสู่ดวงจันทร์ ตามแผนโครงการ Artemis กิจกรรมบนสถานีอวกาศนานาชาติ ความก้าวหน้าของประเทศที่เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่าง จีน และอินเดีย รวมถึงตลาดการส่งยานอวกาศ

ภาพรวมก็คือ ในปีนี้สถานการต่าง ๆ ล้วนถูกบีบบังคับด้วยกรอบเวลาที่กระชั้นเข้ามาเรื่อย ๆ ที่ได้ตั้งเป้ากันเอาไว้ทั้งช่วงก่อนและหลังสถานการณ์ COVID-19 ทำให้อาจเรียกได้ว่าปีนี้เป็นปีที่เวลาเหลือน้อยลงเต็มที


เนื้อหาในบทความ
การเดินทางกลับสู่ดวงจันทร์ โครงการ Artemis
กิจกรรรมบนสถานีอวกาศนานาชาติ
ภารกิจสำรวจอวกาศ ระบบสุริยะ
กล้องโทรทรรศน์อวกาศ และฟิสิกส์ดาราศาสตร์
รัสเซีย จะยังคงมีจุดยืนอีกต่อไปหรือไม่
อินเดียสู่มหาอำนาจใหม่ด้านอวกาศ
ญี่ปุ่น ทำงานหนักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ภาพรวมตลาดการปล่อยยานอวกาศที่เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
ภาพรวมการท่องเที่ยวอวกาศ
ภาพรวมวงการอวกาศไทย

การเดินทางกลับสู่ดวงจันทร์ โครงการ Artemis

โครงการความร่วมมือนานชาติ Artemis ยังคงเป็นประเด็นใหญ่ในแวดวงอวกาศของโลกปีนี้ หลังจากที่ในปี 2022 เราได้เห็นการบินขึ้นของภารกิจ Artemis I ที่เป็นการทดสอบยานอวกาศ Orion และจรวดที่ทรงพลังที่สุดในโลกอย่าง SLS และแม้ในปีนี้ เราจะไม่ได้เห็น SLS บินขึ้น แต่ในปี 2024 ก็จะเป็นปีสำคัญที่เราจะได้เห็นมนุษย์เดินทางไปดวงจันทร์จริง ๆ เสียที

NASA ยังคงยืนยันเป้าหมายเดิมสำหรับการดำเนินภารกิจในโครงการ Artemis โดยหวังส่งนักบินอวกาศกลุ่มแรกเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ในภารกิจ Artemis II ในปี 2024 และภารกิจ Artemis III ซึ่งจะเป็นการลงจอดบนดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2025 ซึ่งความคืบหน้าของโครงการ Artemis ในปี 2023 นี้นั้นถือว่ามีความคืบหน้าพอสมควร แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงได้รับผลกระทบจากการเลื่อนที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงสถานีการ COVID-19 โดยเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นได้แก่

4 เมษายน NASA ประกาศรายชื่อนักบินอวกาศในโครงการ Artemis II สี่คน เป็นนักบินอวกาศกลุ่มแรกที่จะเดินทางสู่ดวงจันทร์ ได้แก่ Reid Wiseman, Victor Glover, Christina Koch จากฝั่งสหรัฐฯ และ Jeremy Hansen จาก Candaian Space Agency โดยที่ Glover จะเป็นนักบินอวกาศผิวสีคนแรกที่เดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ ส่วน Koch ก็จะเป็นผู้หญิงคนแรกที่โคจรรอบดวงจันทร์ ในขณะที่ Hansen เป็นบุคคลที่ไม่ใช่สัญชาติสหรัฐฯ คนแรกที่จะได้เดินทางไปไกลกว่าวงโคจรต่ำของโลก สู่ Deep Space หรืออวกาศห้วงลึก – เผยรายชื่อนักบินอวกาศ Artemis II ได้แก่ Koch, Hansen, Glover, Wiseman

นักบินอวกาศในภารกิจ Artemis II ทั้งสี่เริ่มต้นเดินสายออกพบปะสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชน และออกสื่อ ภาพนี้ถ่ายในช่วงการเดินทางเพื่อหารือกับรัฐสภาสหรัฐ ฯ ใน Washington D.C. ช่วงพฤษภาคม 2023 ที่มา – NASA

20 เมษายน บริษัท SpaceX ทดสอบยานอวกาศ Starship และจรวด Super Heavy ซึ่งจะต้องทำหน้าที่รับส่งนักบินอวกาศในภารกิจ Artemis III ขึ้นและลงจากพื้นผิวของดวงจันทร์ อย่างไรก็ตามจรวดได้ระเบิดในขณะขึ้นบิน – สรุปเที่ยวบินแรกของ Starship และ Super Heavy กับ สองปีนับถอยหลังสู่ดวงจันทร์

ในเดือน พฤษภาคม NASA ได้ประกาศข่าวสำคัญคือ บริษัท Blue Origin (และพันธมิตร  Lockheed Martin, Draper, Boeing, Astrobotic, และ Honeybee Robotics)ได้รับเลือกให้เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่พัฒนายานอวกาศในการลงจอดดวงจันทร์ในโครงการ Artemis หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีกระแสดราม่า ที่ NASA เลือก SpaceX เพียงเจ้าเดียว – Blue Origin ได้ถูกรับเลือกในการพัฒนายานลงจอดดวงจันทร์สำหรับ Artemis

18 พฤศจิกายน SpaceX ได้กลับมาทดสอบ Starship อีกครั้ง ในครั้งนี้ Starship ได้แยกตัวออกจากจรวด Super Heavy สำเร็จ ณ ความสูงที่ออกแบบไว้ ทำให้นี่เป็นครั้งแรกที่ Starship ได้สัมผัสกับอวกาศจริง ๆ แต่หลังจากนั้น Starship ก็ระเบิดและตกลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกแทนที่จะได้โคจรรอบโลกรอบประมาณสามส่วนสี่รอบ และลงจอดนอกชายฝั่งฮาวาย – การทดสอบ Starship และ Super Heavy ครั้งที่สองน่าจะเป็นเรื่องใหญ่พอสควรที่ไม่สำเร็จ

ยานอวกาศ Starship และ Super Heavy จรวดที่ทรงพลังที่สุดในโลกปัจจุบันได้บินขึ้นในการทดสอบครั้งที่สอง พฤศจิกายน 2023 ที่มา – SpaceX

24 ธันวาคม บริษัท Astrobotic ส่งยานอวกาศ Peregrine 1 ในสัญญาการนำส่ง Payload ลงสู่ผิวดวงจันทร์ ในโครงการ Commercial Lunar Payload Service หรือ CLPS เป็นเที่ยวบิน CLPS แรกที่เดินทางสู่ดวงจันทร์ (อัพเดท 12 ธันวาคม: เลื่อนการปล่อยเป็นเดือนมกราคม 2023)

ในขณะที่ Artemis Accords ซึ่งเป็นข้อตกลงด้านการใช้ทรัยากรบนดวงจันทร์อย่างสันติ เพื่อการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ และมีประเทศพันธมิตรเข้าร่วมเซ็นเพื่อเป็นสมาชิกกันอย่างล้นหลาม ในปีนี้สหรัฐฯ เก็บสมาชิก Artemis Accords ไปได้ 33 ประเทศแล้ว ในปีนี้ที่มีเซ็นเพิ่มก็ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ก, สเปน, อินเดีย, สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, ไอซ์แลนด์, เดอะ เนเธอร์แลนด์, บัลแกเรีย ตามลำดับ และประเทศล่าสุดของปีนี้คือ แองโกลา ซึ่งเซ็นไปในวันที่ 4 ธันวาคม 2023 ในขณะที่ไทย ในปีนี้ยังไม่ได้ร่วมเซ็นแต่อย่างใด

ระบบขับเคลื่อน Ion Engine ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สำหรับ Lunar Gateway โดย Maxar ที่มา – Maxar

ในขณะที่ Lunar Gateway สถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อ ชิ้นส่วนของโครงการ Lunar Gateway หลายชิ้นเริ่มเข้าสู่กระบวนการผลิต Maxar โชว์ชิ้นส่วนระบบขับดัน Ion Thruster ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างมา ในขณะที่ ESA และ NASA ก็เริ่มเดินหน้าอวดโฉมส่วนอื่น ๆ ของ Gateway ไม่ว่าจะเป็นโมดูล Espirit, HALO, I-HAB และอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบัน ก็ล้วนแต่อยู่ในกระบวนการผลิตเช่นเดียวกัน

ผู้อำนวยการ NASA Bill Nelson กับ Taranjit Sandhu เอกอักคราชฑูตอินเดีย ในพิธีเซ็น Artemis Accords ในวันที่ 24 มิถุนายน 2023 ที่มา – NASA

บริษัทเอกชนที่เป็นผู้รับผลิตก็มีตั้งแต่ฝั่งสหรัฐฯ อย่าง Lockheed Martin, Northrop Grumman เจ้าเก่าเจ้าเดิม ส่วนฝั่งยุโรปก็เช่น Safran Group (ArianeGroup), Thales Alenia, Airbus Defence and Space ภายใต้องค์การอวกาศยุโรป ESA สามารถดูรายละเอียดฉบับเต็มของโมดูลต่าง ๆ ของ Lunar Gateway ได้จากบทความ – สรุป Lunar Gateway สถานีดวงจันทร์ แผนวงโคจร ทุกโมดูล ทุกระบบ โดยละเอียด

กิจกรรรมบนสถานีอวกาศนานาชาติ

ในปี 2023 สถานีอวกาศนานาชาติ ยังคงเป็นบ้านหลังใหญ่ให้นักบินอวกาศได้พักพิง เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ งานวิจัย การทดลอง และแสดงศัยภาพในการใช้ชีวิตในอวกาศเป็นระยะเวลานานให้กับมนุษย์ และแม้สถานีอวกาศนานชาติจะมีแผนสิ้นสุดการใช้งานในช่วงทศวรรษนี้เพื่อหลีกทางให้กับโครงการใหญ่อย่าง Lunar Gateway ที่จะเป็นสถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์

ในปีนี้มีภารกิจเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติทั้งหมด 13 ภารกิจ เป็นการเดินทางที่มีมนุษย์โดยสาร 4 ภารกิจ เพื่อผลัดเปลี่ยนลูกเรือในแต่ละ Expedition ภารกิจขนส่งเสบียง 8 ภารกิจ และภารกิจพิเศษบินยานเปล่า 1 ภารกิจ

ซึ่งก็ยังคงอยู่กับความวุ่นวายของสถานีอวกาศนานาชาติที่สืบเนื่องจากปัญหา Soyuz MS-22 เมื่อปีก่อน ที่เกิดปัญหายานรั่ว จนไม่สามารถพานักบินอวกาศกลับโลกได้ในช่วงต้นปี จนรัสเซียต้องตัดสินใจส่งยานเปล่า Soyus MS-23 บินขึ้นไปทดแทนตัวยานที่เสียหาย ในวันที่ 4 เมษายน และ Soyuz MS-23 ก็มีกำหนดรับนักบินอวกาศ Sergey Prokopyev, Dmitry Petelin และ Frank Rubio กลับโลก ในเดือนกันยายน 2023

ยาน Soyuz-MS 23 บินยานเปล่าขึ้นเทียบกับโมดูล Prichal ของสถานีอวกาศนานาชาติฝั่งรัสเซีย ที่มา – NASA

9 กุมภาพันธ์ รัสเซียส่งยานเติมเสบียง Progress MS-22 เปิดฉากภารกิจ Logistic แรกของสถานีอวกาศนานชาติในปีนี้

2 มีนาคม ภารกิจ SpaceX Crew-6 บินขึ้นพร้อมกับลูกเรือ Stephen Bowen, Warren Hoburg จากสหรัฐฯ Sultan Al Neyadi จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ Andrey Fedyaev จากรัสเซีย โดยในภารกิจนี้ Sultan Al Neyadi เป็นนักบินอวกาศชนชาติอาหรับคนแรกที่ได้ประจำการบนสถานีอวกาศนานชาติ (อ่าน – เบื้องหลังดีลภารกิจนักบินอวกาศอาหรับ ที่จะอยู่ในอวกาศนานที่สุด จากมุมของเอมิเรตส์) ก่อนที่ในวันที่ 15 มีนาคม SpaceX จะส่งยานเติมเสบียง Dragon ตามขึ้นไปในภารกิจ Commercial Resupply Program หรือ CRS-27 ขึ้นไป

21 พฤษภาคม SpaceX ได้ส่งยาน Dragon ในภารกิจ Axiom 2 ซึ่งเป็นการรับจ้างส่งนักบินอวกาศเอกชน รอบนี้ขึ้นไปท่องเที่ยวบนสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นเวลา 8 วัน โดยลูกเรือของ Axiom 2 ได้แก่ John Shoffner จากสหรัฐฯ Ali Alqarni, Rayyanah Barnawi จากซาอุดิอาระเบีย โดยมีอดีตนักบินอวกาศ NASA คือ Peggy Whitson เป็นผู้บัญชาการภารกิจ และได้สร้างสถิติใหม่ให้กับชนชาติอาหรับคือ มีชนชาติอาหรับถึง 3 คนอยู่บนสถานีอวกาศพร้อมกัน

ภาพถ่ายรวมนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศ โดยที่ในภาพจะมี Ali Alqarni, Rayyanah Barnawi และ Sultan Al Neyadi ที่เป็น 3 ชาวอาหรับ ในขณะที่ Frank Rubio ไม่ได้อยู่ในภาพนี้เพราะเป็นคนถ่ายภาพ ที่มา – NASA

24 พฤษภาคมรัสเซียส่งภารกิจ Progress MS-23 ขึ้นเติมเสบียงให้กับสถานี ตามด้วยภารกิจ CRS-28 ของ SpaceX ในวันที่ 5 มิถุนายน และช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคมนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นช่วงยุ่งของสถานีอวกาศเลยก็ว่าได้ เพราะวันที่ 2 สิงหาคม ยานเติมเสบียง Cygnus NG-19 ก็ได้เดินทางขึ้นไปเติมเสบียงให้ในภารกิจ CRS เช่นกัน และวันที่ 24 สิงหาคมรัสเซียก็ส่ง Progress MS-24 เติมเสบียงอีกครั้ง

26 สิงหาคม SpaceX ได้ส่งยาน Dragon ในภารกิจ Crew-7 เป็นภารกิจ Commercial Crew ครั้งที่ 2 ของปีนี้ พาเอา Jasmin Moghbeli จากสหรัฐฯ Andreas Mogensen จากเดนมาร์ก Satoshi Furukawa จากญี่ปุ่น Konstantin Borisov จากรัสเซีย เดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ

4 กันยายนลูกเรือ Crew-6 ก็ได้เดินทางกลับบ้าน สวนทางกับภารกิจ Soyuz MS-24 ในวันที่ 15 กันยายน ซึ่งได้นำ นักบินอวกาศชาวรัสเซีย Oleg Kononenko, Nikolai Chub และ Loral O’Hara จากสหรัฐฯ เดินทางสู่สถานีอวกาศนานชาติ

Frank Rubio เดินทางกลับโลก หลังการท่องอวกาศนาน 370 วันโดยไม่ได้ตั้งใจ ที่มา – NASA

และวันที่ 27 กันยายน Soyuz MS-23 ก็ได้พาลูกเรือทั้งสามที่ติดค้างจากกรณียาน MS-22 รั่ว กลับสู่โลก ซึ่งก็ทำให้ Frank Rubio นั้นกลายเป็นนักบินอวกาศที่ประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาตินานที่สุด 370 วัน 21 ชั่วโมง 23 นาที ในการเดินทางท่องอวกาศครั้งแรกของเขา ปิดฉากภารกิจลูกเรือในปีนี้

10 พฤศจิกายน SpaceX นำส่งภารกิจ CRS-29 นำยาน Dragon เติมเสบียงให้กับสถานีอวกาศนานชาติ และปิดท้ายด้วยภารกิจ Progress MS-25 ก็ได้กลายเป็นยานลำสุดท้ายที่บินขึ้นเดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติในปีนี้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2023

การทำ Space Walk หรือออกไปนอกตัวสถานีในวันที่ 28 สิงหาคม 2023 ในรอบนี้รับหน้าที่โดย Stephen Bowen และ Al Neyadi เพื่อเตรียมอุปกรณ์สำหรับรอติดตั้งแผง Solar Array รุ่นใหม่ที่กำลังจะเดินทางมาส่ง ที่มา – NASA

ในขณะที่บนตัวสถานีในปีนี้ ไม่ได้มีการก่อสร้างอะไรที่เด่น ๆ ไม่ได้มีโมดูลใหม่ แต่ก็จะเป็นปีแรกที่สถานีอวกาศนานชาติทำงานภายใต้แผง Solar Array รุ่นใหม่พับได้ที่เรียกว่า I-ROSA ซึ่งได้มีการทยอยนำมาติดตั้งตั้งแต่ปีก่อน ที่สามารถผลิตพลังงานได้มากกว่าแผงรุ่นเก่าที่ใช้งานมาเป็นเวลานับสิบปี

และแน่นอนว่ายังคงมีงานวิจัยอีกจำนวนมากที่ได้ถูกนำขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้เรายังคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานีอวกาศนานชาติยังคงเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการสำรวจอวกาศโดยมนุษย์ในปัจจุบัน

ภารกิจสำรวจอวกาศ ระบบสุริยะ

สำหรับการสำรวจอวกาศและระบบสุริยะในปีนี้ถือว่าไปได้ไกลมากพอสมควร ในปีที่แล้วเราปิดฉากปีด้วยการบอกลาเพื่อนเก่าอย่างยาน InSight ที่เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดภารกิจ หรือการเฉลิมฉลองความสำเร็จของยาน DART ที่ไปพุ่งชนและเปลี่ยนทิศทางของดาวเคราะห์น้อยได้สำเร็จ และในปีนี้ เราก็ได้เริ่มต้นเตรียมพร้อมยานอวกาศลำใหม่ ๆ เพื่อเดินทางสู่อวกาศที่ไกลขึ้น โดยในทั้งปี จะเป็นปีที่หน่วยงานอย่าง Jet Propulsion Labratory หรือ JPL พัฒนายานขนาดใหญ่อย่าง EuropaClipper และ ESA ก็ได้เริ่มต้นการเดินทางของ JUICE ที่ทั้งสองจะเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ Europa ของดาวพฤหัสบดี ในช่วงทศวรรษที่ 2030

EuropaClipper เคลื่อนย้ายออกจากห้องประกอบ High Bay 1 ของ JPL ไปยังอาคารทดสอบ เพื่อทำการทดสอบเพื่อเตรียมพร้อมการปล่อยในปี 2024 ภาพถ่ายวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่มา – NASA JPL/Caltech

14 เมษายน ESA ได้ส่งยาน JUICE (Jupiter Icy Moon Explorer) เดินทางสู่ดาวพฤหัสบดี ด้วยจรวด Ariane 5 ณ ฐานปล่อยในเกียนาดินแดนโพ้นทะเลในอเมริกาใต้ของประเทศฝรั่งเศส อ่านเรื่องราวของ JUICE ได้จาก – JUICE – Jupiter Icy Moons Explorer ภารกิจสำรวจดวงจันทร์หิมะของดาวพฤหัสฯ สามทศวรรษ ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้เกิดเรื่องน่าตื่นเต้นขึ้นก็คือตัวเสาอากาศของยานไม่สามารถกางออกได้ อย่างไรก็ตามวิศวกรก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ ปัจจุบัน JUICE อยู่ระหว่างการเดินทางที่ยาวนานสู่ดาวพฤหัสบดี วิศวกรแก้ปัญหาเสาอากาศเรดาร์กางไม่ออกบนยาน Juice อย่างไร 

ภาพจำลองยานอวกาศ​ JUICE ของ ESA ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเดินทางสู่ดาวพฤหัสดี โดยตัวยานจะต้องอาศัยการทำ Gravitational Assit หลายครั้ง และจะบินผ่านโลกอีกครั้งในเดือนสิงหาคมปี 2024 ที่มา – ESA

25 เมษายน ภารกิจ Hakuto-R ของญี่ปุ่นล้มเหลวในการลงจอดบนดวงจันทร์ หลังจากที่ในช่วงเดือนธันวาคมปี 2022 บริษัทอวกาศสัญชาติญี่ปุ่น ispace ประกาศมุ่งเป้าพาญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ 4 ที่จะลงจอดดวงจันทร์ให้สำเร็จ ด้วยยานอวกาศ Hakuto-R และประสบการณ์การพัฒนายานเพื่อเข้าแข่งขันในโครงการ Lunar X Prize (ซึ่งไม่มีใครทำสำเร็จ) อย่างไรก็ตาม ในวันดังกล่าวตัวยานได้เสียการติดต่อกับโลกในช่วงกำลังร่อนลงจอด ทำให้สัญญาณขาดหายไป จนในที่สุด ispace ก็ได้ออกมาแถลงว่าพวกเขาเสียยาน Hakuto-R ไป ตามรอยยาน Baresheet (2019) ของอิสราเอลและ Chandrayann 2 (2019) ของอินเดียไปในที่สุด และทำให้ปัจจุบันในปี 2023 ก็ยังไม่มีบริษัทเอกชนหน้าไหน ที่ส่งยานไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ

Takeshi Hakamada (ถือภาพด้านขวา) CEO บริษัท ispace ถ่ายภาพร่วมกับ Yasutoshi Nishimura รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ในภาพเป็นภาพถ่ายโดยยาน Hakuto-R ก่อนจะลดระดับลงจอดบนดวงจันทร์แต่ไม่สำเร็จ ภาพนี้ถ่ายวันที่ 28 มิถุนายน ที่มา – ispace

19 มิถุนายน ยาน BepiColombo บินโฉบดาวพุธที่ระยะ 230 กิโลเมตร ภารกิจที่ตั้งเป้าสำรวจดาวพุธที่เป็นความร่วมมือระหว่าง ESA และ JAXA ยังคงอยู่ในช่วงการเดินทางท่องอวกาศ หลังจากที่ถูกปล่อยไปในปี 2018 ตัวยานยังคงอยู่ในระหว่างการทำ Gravity Assist หรือการใช้แรงโน้มถ่วงของตัวดาวช่วยเร่งหรือชะลอความเร็ว ซึ่งในการทำ Gravity Assit ปี 2023 นี้เป็นการบินโฉบดาวพุธครั้งที่ 3 ก่อนที่ในปี 2025 จะมีการทำ Orbit Insertion หรือการเข้าสู่วงโคจรในที่สุด

ในช่วงกลางปี เป็นช่วงการแข่งขันลงจอดดวงจันทร์อีกครั้ง 14 กรกฎาคม อินเดียส่งภารกิจ Chandrayaan 3 มุ่งเป้าเป็นชาติที่ 4 ที่จะลงจอดดวงจันทร์สำเร็จตามหลังรัสเซียฯ (อดีตสหภาพโซเวียต) สหรัฐฯ และจีน ส่วนรัสเซียเองก็ปัดฝุ่นโครงการ Luna ของตัวเอง จากภารกิจ Luna-24 ในปี 1976 มาเป็น Luna-25 และส่งไปในวันที่ 10 สิงหาคม Luna 25 ภารกิจดวงจันทร์ของรัสเซียที่รอนานกว่า 47 ปี

อินเดียใช้โรเวอร์ Pragyan ถ่ายภาพยานลงจอด Vikram ในภารกิจ Chandrayaan 3 ที่มา – ISRO

อย่างไรก็ตาม 19 สิงหาคม รัสเซียเสียยาน Luna-25 ไปจากการลงจอดดวงจันทร์ไม่สำเร็จ แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้น 23 สิงหาคม อินเดียประสบความสำเร็จในการลงจอดยานลงจอด Vikram ในภารกิจ Chandrayaan 3 กลายเป็นชาติที่ 4 ที่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ และโรเวอร์ Pragyan ก็ได้ออกมาโลดแล่นบนผิวของดวงจันทร์ในที่สุด (อ่าน – กว่าจะเป็น จันทรายาน 3 บทเรียนจากความผิดพลาด สู่ชาติที่สี่ที่พิชิตดวงจันทร์)

6 กันยายนญี่ปุ่นปล่อยยาน SLIM ยานอวกาศขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น JAXA ที่มุ่งเป้าทดสอบเทคโนโลยีการลงจอดความแม่นยำสูง ที่ญี่ปุ่นหวังว่าจะนำไปสู่ความคล่องตัวของการไปสำรวจดวงจันทร์ของตัวเองในอนาคต จัดว่าเป็นภารกิจทดสอบที่สำคัญ โดยในภารกิจนี้เป็นการปล่อยคู่กับยานอวกาศ XRISM ยานอวกาศสำรวจด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของ JAXA ด้วย (อ่าน – ยานทดสอบลงจอด SLIM สำคัญอย่างไรกับญี่ปุ่น)

หินดาวเคราะห์น้อยเดินทางถึงโลกในวันที่ 24 กันยายน โดยหลังจากลงจอดในทะเลทรายรัฐ New Mexico เจ้าหน้าที่ได้ขนส่งมายังฐานด้วยเฮลิคอปเตอร์ ก่อนที่จะนำขึ้นเครื่องบินส่งต่อไปยัง Johnson Space Center ที่มา – NASA

24 กันยายน ยาน OSIRIS-REx ได้นำตัวอย่างอุกกาบาตจากดาวเคราะห์น้อย Bennu เดินทางกลับสู่โลก เป็นข่าวความสำเร็จครั้งใหญ่ของ NASA ในปีนี้ เนื่องจากที่เป็นครั้งแรกที่ NASA ประสบความสำเร็จในการเก็บตัวอย่างหินดาวเคราะห์น้อย ตรวจสอบตัวอย่างหิน Bennu รอบแรกพบคาร์บอนและน้ำ และหลังจากการนำตัวอย่างกลับมาหย่อนบนโลกแล้ว เป้าหมายต่อไปของยานอวกาศ OSIRIS-REx ก็คือเดินทางไปสำรวจเป้าหมายใหม่ที่ชื่อว่า 99942 Apophis

ภารกิจ Psyche บินขึ้นด้วยจรวด Falcon Heavy จากฐานปล่อย LC-39A ของ SpaceX ที่มา – SpaceX

13 ตุลาคม NASA ส่งยานอวกาศ Psyche เดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยโลหะชื่อ 16 Psyche ซึ่งมีกำหนดเดินทางถึงในปี 2029 ภารกิจนี้นับว่าเป็นการตั้งเป้าสำรวจดาวเคราะห์น้อยอุกกาบาตเหล็กที่มีลักษณะเหมือนกับแก่นกลางของดาวเคราะห์หินอย่างโลก ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถเจาะลงไปถึงใจกลางโลกเพื่อสำรวจได้ การส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยจึงสมเหตุสมผลกว่า และภารกิจการปล่อย Psyche นี้ยังเป็นการใช้บริการจรวด Falcon Heavy ของบริษัท SpaceX ครั้งแรกของ NASA อีกด้วย

1 พฤศจิกายน ยาน Lucy ที่ปล่อยไปในเดือนตุลาคมปี 2021 ได้สำรวจเป้าหมายแรกคือ 152830 Dinkinesh ที่ระยะ 425 กิโลเมตร ทำให้เราได้ภาพถ่ายความละเอียดสูงของระบบดาวเคราะห์น้อยคู่นี้ หลังจากที่มันถูกค้นพบในปี 1999 เป็นงานวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกของ Lucy

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ และฟิสิกส์ดาราศาสตร์

เป็นเวลากว่า 1 ปีกว่าแล้วที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb ได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ นับตั้งแต่เริ่มต้นทำงานวิทยาศาสตร์ในช่วงกลางปี 2022 และได้สร้างการค้นพบใหม่ ๆ ให้กับวงการฟิสิกส์ดาราศาสตร์มากมาย โดยเราอาจได้เห็นทั้งภาพถ่ายใหม่ ๆ งานวิจัยใหม่ ๆ ที่ออกมาให้เราได้รับชมกันแทบจะรายสัปดาห์ จนเรียกได้ว่าภาพถ่ายใหม่ ๆ หรืองานวิจัยจาก James Webb กำลังจะเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับการที่เราทำวิจัยและเห็นภาพถ่ายจากกล้อง Hubble อย่างไรก็ตามในปีนี้ งานวิจัยจากข้อมูลของ James Webb หลายชิ้น ในปี 2023 เช่น ภาพถ่ายวงแหวนของดาวยูเรนัส ด้วยอุปกรณ์  NIRCam การถ่ายภาพการก่อกำเนิดของดาว Wolf-Rayet ด้วย MIRI และ NIRCam หรือ การถ่ายภาพกระจุกดาวโบราณ Pandora’s Cluster ในลักษณะ Deep Field Image ด้วยอุปกรณ์ NIRCam ที่ใช้การเปิดหน้ากล้องถ่ายนานหลายชั่วโมง

ภาพ Deep Field Image ของ Pandora’s Cluster โดยอุปกรณ์ NIRCam บน James Webb Space Telescope ที่มา – NASA, ESA, CSA

ในส่วนของข้อมูลเชิง Spectrograph ก็มีการค้นพบที่สำคัญหลายชิ้น เช่น James Webb ค้นพบทรายในบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ด้วยอุปกรณ์ NIRSpec ตามด้วย MIRI บนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ VHS J1256–1257 b และการตรวจสอบองค์ประกอบของดวงจันทร์บริวารยูโรปาของดาวพฤหัสบดีและค้นพบองค์ประกอบของธาตุคาร์บอนด้วย

นอกจาก James Webb แล้ว ในปีวันที่ 1 กรกฎาคม  ยังมีการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Euclid โดย ESA (อ่าน – Euclid ยานอวกาศไขปริศนาสสารและพลังงานมืด) ซึ่งวัตถุประสงค์ของกล้อง Euclid คือการทำแผนที่ท้องฟ้า เพื่อศึกษาการขยายตัวของเอกภพ และทำแผนที่สสารและพลังงานมืด หลังจากการปล่อย Euclid ได้เริ่มทดสอบอุปกรณ์บนยานและเริ่มต้นถ่ายภาพ ซึ่ง Euclid จะเป็นความหวังในการสร้างการค้นพบที่สำคัญด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ในอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างมาก 1 สิงหาคม 2023 ทาง ESA และ Euclid Consortium ได้เปิดเผยภาพแรก ภาพแรก (First Light) เพื่อทดสอบการทำงานของอุปกรณ์หลักสองตัวบนยานได้แก่ NIS และ VISP และในเดือนพฤศจิกายน Euclid ก็ได้เริ่มต้นทำงานวิทยาศาสตร์และถ่ายภาพทางวิทยาศาสตร์ชุดแรก

ภาพถ่ายดาราจักร IC 342 โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Euclid ที่มา – ESA

และไม่ใช่แค่กล้องโทรทรรศน์อวกาศนอกโลกเท่านั้น ความเคลื่อนไหวของกล้องโทรทรรศน์บนโลกก็ยังคงสร้างการค้นพบที่น่าตื่นเต้นให้เราอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะกล้องในเครือของ ESO หรือ European Southern Observatory ในเดือนพฤศจิกายน กลุ่มกล้อง Atacama Large Millimeter/submillimeter Array หรือ ALMA ได้ถ่ายภาพความละเอียดสูงของดาว  R Leporis ซึ่งเป็นดาวแปรแสงในกลุ่มดาวกระต่ายป่า (Lepus) โดยภาพที่ ALMA ถ่ายได้นั้นจัดว่าเป็นภาพถ่ายความละเอียดสูงที่สุดโดยอุปกรณ์ของ ALMA ซึ่งทดลองถ่ายภาพความละเอียดสูงเช่นนี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่จะนำไปสู่การค้นพบต่าง ๆ ในอนาคต

การก่อสร้างโครงสร้างอาคารหลักของ Extremely Large Telescope (ELT) ที่คืบหน้าไปกว่าครึ่ง ตรงถามแผนของ ESO ภาพนี้ถ่ายในเดือนสิงหาคม 2023 ที่มา – ESO

และเมื่อพูดถึง ESO คงหนีไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงโครงการ  Extremely Large Telescope (ELT) กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ในทะเลทราย Atacama ประเทศชิลี ขนาด 40 เมตรที่ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง และมีความคืบหน้าค่อนข้างมาก โดยจะสามารถเปิดรับแสงแรก (First Light) ได้ในช่วงปี 2028

รัสเซีย จะยังคงมีจุดยืนอีกต่อไปหรือไม่

ประเด็นด้านจุดยืนของรัสเซีย มีความน่าสนใจอย่างมากในปีนี้ จากปีที่แล้วที่วงการอวกาศต้องร้อนละอุกับกรณีการบุกยูเครนของรัสเซีย จนกระทั่งนานชาติต้องออกมาตรการคว่ำบาตร วงการอวกาศเองก็หนีไม่พ้น ในปีนี้แม้เราจะไม่ได้เห็นความคืบหน้าด้านความร่วมมือกับรัสเซียของ ESA (เพราะโครงการต่าง ๆ ก็บอกลากันหมดแล้ว) แต่เราจะพบว่าปีนี้รัสเซียมีการดำเนินนโยบายด้านอวกาศที่ไม่รุนแรงเท่ากับปีก่อน ที่ถึงขั้นออกมาด่าทอ NASA อย่างเต็มปาก จาก Roscosmos ภายใต้การบริการของ Yury Borisov ที่ยังคงรักษาความร่วมมือกับ NASA รวมถึงโครงการสถานีอวกาศนานาชาติไว้

เราจะยังเห็นว่าโครงการการแลกเปลี่ยนนักบินอวกาศกับสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ จากด้านบนที่เราพูดถึงการเดินทางของยาน Soyuz และ Dragon ที่ยังคงมีสมาชิกจากทั้งสองชาติผลัดเปลี่ยนกันเดินทาง ดังนั้นเราอาจจะไม่ได้เห็นความขัดแย้งใหม่ ๆ ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียมากนักในปี 2023

อย่างไรก็ตามกรณีที่รัสเซียไม่สามารถลงจอดยานอวกาศ Luna-25 ได้ ก็น่าสนใจว่าจะกระทบต่อความร่วมมือกับจีน ในโครงการ International Lunar Research Station (ILRS) หรือไม่ เพราะโครงการ Luna ของรัสเซียจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับโครงการ Chang’e (ฉางเอ๋อ) ของจีน ในการนำการทดลองและ Payload ต่าง ๆ ไปเตรียมพร้อมไว้บนดวงจันทร์ ก่อนจะมีความร่วมมือในการส่งมนุษย์เดินทางไปในช่วงทศวรรษที่ 2030 เรียกได้ว่า การกลับไปสู่ดวงจันทร์อีกครั้งของรัสเซียในปี 2023 อาจจะทำให้รัสเซียหน้าแตกกับจีนอยู่ไม่น้อย

ภาพถ่ายช่วงพฤศจิกายน 2023 ในขณะที่ Roscosmos กำลังทดสอบติดตั้งจรวด Angara บนฐานปล่อยที่ Vostochny ที่มา – Roscosmos

แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในปีนี้ รัสเซียเองก็ยังคงมีผลงานด้านอวกาศที่น่าชื่นชมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการรักษามาตรฐานการส่งทั้งเสบียงและยานอวกาศมีคนขับไปยังสถานีอวกาศนานชาติได้อย่างดีเยี่ยม แม้จะมีปัญหากรณี Soyuz MS-22 แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันเวลา ส่วนโครงการใหญ่ที่รัสเซียโฟกัสอยู่ในปีนี้และปีหน้าก็คงจะเป็น จรวดรุ่นใหม่ที่ชื่อ Angara ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนา และการทดสอบการทำงานของตัวจรวดและระบบฐานปล่อยที่ Vostochny ฐานปล่อยฝั่งตะวันออกของรัสเซีย ที่รัสเซียตั้งเป้าให้เป็นฐานการปล่อยที่สำคัญในช่วง ILRS รวมถึงตัวจรวด Angara ก็เป็นความหวังที่จะนำมาแทนที่จรวด Soyuz ที่ยังใช้สถาปัตยกรรมเดิมของจรวดกระกูล R-7 ที่ใช้ตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต

จีน ยังคงเป็นประเทศมาแรงด้านอวกาศ

ประเทศที่ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลายเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศไปแล้วก็คือจีน ในปีนี้จีนมีข่าวสำคัญคือการเปิดใช้งานสถานีอวกาศ Tiangong (เทียนกง) อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ปี 2022 เป็นปีที่จีนใช้เวลาไปกับการต่อสร้างสถานีอวกาศด้วยการส่งโมดูลใหม่ ทั้ง Wentian และ Mengtian ขึ้นไป ทำให้สถานีอวกาศของจีนกลายเป็นสถานีอวกาศในลักษณะ Modular ขนาดใหญ่ในที่สุด

ในปี 2023 จีนมีการส่งยานอวกาศไปสถานี Tiangong ทั้งหมด 3 เที่ยวบินด้วยกัน ประกอบไปด้วยเที่ยวบินมีลูกเรือ 2 เที่ยวบิน และเที่ยวบินขนส่งเสบียง 1 เที่ยวบินคือ Tianzhou 6 ซึ่งอาจจะดูไม่เยอะมาก แต่ก็เนื่องจากจีนเองได้เริ่มใช้งาน Tiangong ให้กลายเป็นสถานีอวกาศที่มีนักบินอวกาศประจำการอยู่ตลอดไปแล้วนั่นเอง

ลูกเรือภารกิจ Shenzhou 16 เดินทางสู่สถานีอวกาศ Tiangong ที่มา – Chinese Manned Spaceflight

ซึ่งการผลัดเปลี่ยนลูกเรือในปี 2023 ก็เริ่มต้นด้วยการส่ง Shenzhou 16 ขึ้นไปในวันที่ 30 พฤษภาคม พร้อมนักบินอวกาศ Jing Haipeng, Zhu Yangzhu และ Gui Haichao โดยที่ Haichao อาจารย์จาก Beihang University (มหาวิทยาลัยเป่ยหาง) เป็นนักบินอวกาศพลเรือนคนแรกของจีน (ไม่ได้มาจากกองทัพปลอดปล่อยประชาชน หรือ People Liberation Army) ทำให้ Shenzhou 16 จึงนับเป็นเที่ยวบินประวัติศาสตร์ของจีนเช่นกัน หลังจากนั้น ลูกเรือกลุ่มเดิมที่ประจำบนสถานี Tiangong มาตั้งแต่ปี 2022 ได้แก่ Fei Junlong, Deng Qingming และ Zhang Lu ก็ได้เดินทางกลับโลกในวันที่ 3 มิถุนายน

หลังจากนั้นลูกเรือ Shenzhou 17 ได้แก่ Tang Hongbo, Tang Shengjie และ Jiang Xinlin ก็ได้เดินทางมารับไม้ต่อในวันที่ 26 ตุลาคม ส่วน Shenzhou 16 ก็ได้เดินทางกลับโลกในวันที่ 30 ตุลาคมอย่างปลอดภัย โดยที่ลูกเรือกลุ่มปัจจุบันที่อยู่บนสถานีอวกาศยาวไปจนถึงปี 2024 ก็ได้แก่ Shenzhou 17 นั่นเอง เราจะเห็นว่าจีนวาง Timeline การส่งไม้ต่ออยู่ที่ประมาณ 180 วัน หรือ 6 เดือน ดังนั้น เราจะได้เห็นการผลัดเปลี่ยนลูกเรือบนสถานีอวกาศจีนประมาณปีละสองครั้ง

สถานีอวกาศ Tiangong ของจีนในเดือนพฤศจิกายน 2023 ที่มา – China Manned Spaceflight

ในช่วงปลายปี 2023 จีนได้มีการเปิดเผยภาพถ่ายสถานีอวกาศ Tiangong ที่ทำให้ได้เห็นความยิ่งใหญ่และความสมบูรณ์ของตัวสถานี ที่ได้จากลูกเรือ Shenzhou 16 ในขณะที่เดินทางกลับโลกด้วย

ในขณะที่ในปีนี้ในด้านการสำรวจอวกาศ จีนปล่อยจรวดมากถึง 55 เที่ยวบิน เป็นรองเพียงแค่สหรัฐฯ อเมริกาที่ปล่อยทั้งหมด 107 เที่ยว (ตัวเลข ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2023) ซึ่งจรวดยอดฮิตของจีนในปีนี้ก็ยังคงเป็นตระกูล Long March ที่จีนใช้ในการปล่อยดาวเทียมจำนวนมาก โดยเฉพาะดาวเทียมด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ หรือดาวเทียม CubeSat ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งในจีนมีความนิยมในการผลิตดาวเทียมประเภทนี้สูง ในขณะที่จรวดขนาดใหญ่อย่าง Long March 7 ก็ได้ถูกนำมาใช้ในการปล่อยยานส่งเสบียง Tianzhou ไปยัง Tiangong และ Long March 2F ก็ยังคงถูกใช้งานในการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปยังเทียนกง อย่างไรก็ดีปีนี้เราไม่ได้เห็นการปล่อยจรวด Long March 5 ซึ่งเป็นจรวดยักษ์ของจีนที่เคยใช้ในการส่งโมดูลของ Tiangong ในช่วง 2021 – 2022

ส่วนการสำรวจดวงจันทร์ในปีนี้จีนไม่ได้ส่งยานไปดวงจันทร์แต่อย่างใด และกำลังวุ่นอยู่กับการเตรียมความพร้อมยาน Chang’e 6 ที่จะเดินทางไปในปี 2024 เพื่อทำ Lunar Sample Return ครั้งที่สอง ซึ่งในครั้งนี้จะมี Payload จากนานาชาติ เดินทางไปด้วย โดยเฉพาะความร่วมมือกับ CNES และ ESA

Josef Aschbacher ผู้อำนวยการ ESA และ Zhang Kejian ผู้อำนวยการ CNSA เซ็นความร่วมมือในการส่ง Payload ไปกับ Chang’e 6 ที่มา – CNSA

และจีนเองก็ได้เริ่มนำแผนโครงการ ILRS มาพูดคุยกับประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ที่เราได้รับข่าวจากวงในมาว่าได้มีการศึกษาถึงความร่วมมือกับจีนเช่นกัน ในขณะที่เราก็ทราบมาอีกว่า ไทยเองก็สนใจในการร่วมมือกับ CNSA ในการส่ง Payload เดินทางไปกับยาน Chang’e ในภารกิจ Chang’e 7 ด้วยเช่นกัน

และอย่าลืมว่าจีนเองก็เอาจริงเอาจังกับการสำรวจดาวอังคารเช่นกัน หลังจากที่ยาน Tianwen 1  เดินทางดึงดาวอังคาร และนำโรเวอร์  Zhurong ลงมาวิ่งบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จตั้งแต่ปี 2021 แล้วนั้น จีนเองก็ยังคงปล่อยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จาก Tianwen 1 ออกมาเรื่อย ๆ ในปี 2023 จีนก็ได้ปล่อยภาพแผนที่ความละเอียดสูงของดาวอังคารที่ถ่ายด้วยกล้องบน Tianwen 1 ออกมาให้เราได้รับชมกัน

ภาพแผนที่ดาวอังคารที่ถ่ายโดยยาน Tianwen 1 ของจีน ที่มา – CNSA

และในปีนี้นี่เอง ก็มีข่าวร้ายเช่นกันเมื่อโรเวอร์ Zhurong ของจีนต้องจบสิ้นการสำรวจเนื่องจากฝุ่นบนดาวอังคารคล้ายกับกรณีของยาน Spirit และ Opputunity ของ NASA ในช่วงเดือนเมษายน หลังจากที่มีข่าวลือมาตั้งแต่ต้นปีว่าจีนได้เสียยาน Zhurong ไป ซึ่งจีนเองก็ได้ออกมายอมรับว่าพวกเขาตัดสินใจตัดการเชื่อมต่อกับ Zhurong ไปแล้วจากปัญหาดังกล่าว กล้องที่อยู่บนยาน Mars Reconnaissance Orbiter ขององค์การอวกาศนาซาที่โคจรอยู่ในวงโคจรของดาวอังคารก็ยังได้ถ่ายภาพการจอดนิ่งสนิทของโรเวอร์จู้หรง ซึ่งได้อยู่ตรงนั้นไม่ขยับไปไหนมาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2022 เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ารถโรเวอร์ดาวอังคารของจีนได้หลับไหลไปตลอดกาลอย่างน่าเสียดาย

อินเดียสู่มหาอำนาจใหม่ด้านอวกาศ

อินเดียเองปีนี้คงหนีไม่พ้นข่าวใหญ่เรื่องความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่และน่าชื่นชมกรณีภารกิจ Chandrayaan-3 ที่สามารถส่งยานลงจอด Vikram และโรเวอร์ Pragyan ลงสู่ผิวดวงจันทร์ได้อย่างปลอดภัยในวันที่ 23 สิงหาคม 2023 และข่าวล่าสุดในช่วงต้นเดือนธันวาคมก็คือ การที่อินเดียทดลองปรับวงโคจรของยาน Chandrayaan-3 จากการโคจรรอบดวงจันทร์กลับมาโคจรรอบโลกแทน เพื่อทดสอบความสามารถในการปรับการโคจรของภารกิจ Chandrayaan-4 ที่จะทำภารกิจ Sample Return ครั้งแรก

และแม้ว่าในช่วงเดือนตุลาคม อินเดียจะประกาศว่าโรเวอร์ Pragyan นั้นไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป หลังจากที่เดินทางได้กว่า 100 เมตรบนพื้นผิวดวงจันทร์ แต่นี่ก็นับว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ เพราะตัวยานออกแบบมาให้ใช้งานได้เพียงแค่ 14 วันเท่านั้น

อินเดียส่งยาน Aditya-L1 ด้วยจรวด PSLV ณ ฐานปล่อย Satish Dhawan Space Center ที่มา – ISRO

ในการสำรวจอวกาศ ในวันที่ 2 กันยายน อินเดียเองก็ยังได้ส่งยานสำรวจดวงอาทิตย์ Aditya-L1 ไปโคจรอยู่ ณ จุด Lagrange L1 ซึ่งเป็นจุดยอดฮิตของยานตระกูล Heliophysics (สำรวจดวงอาทิตย์) ซึ่งภารกิจ Aditya-L1 ในช่วงหลังการปล่อยจะอยู่ในช่วงของการทำ Trajectory correction maneuvres เพื่อ Inject วงโคจรเข้าสู่วงโคจรที่เถียร คือ Halo Orbit รอบจุด L1 นั่นเอง ซึ่งนี่นับว่าเป็นการท้าทายความสามารถด้านฟิสิกส์ของอินเดียเป็นอย่างมาก เพราะการส่งยานไปโคจร ณ จุดนี้จำเป็นต้องอาศัยหลักฟิสิกส์ที่ซับซ้อน มากกว่าวงโคจรของวัตถุที่มีขนาดใหญ่ เช่น โลก หรือดวงจันทร์ ซึ่งอินเดียจะทำได้สำเร็จหรือไม่นั้นต้องรอผลในช่วงต้นปี 2024

จรวด PSLV ของอินเดียเตรียมนำส่งยานอวกาศ Aditya-L1 ที่มา – ISRO

และในปี 2023 นี่เองที่อินเดีย ได้ทดสอบยานอวกาศ Gaganyaan อีกครั้ง หลังจากที่เริ่มต้นการทดสอบมาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่ง Gaganyaan เป็นยานอวกาศแบบมีคนนั่งที่อินเดียกำลังพัฒนาขึ้น แม้ Timeline การพัฒนาจะยาวนานเป็นสิบปี เนื่องจากการทำยานอวกาศที่มีคนโดยสารเป็นเรื่องซับซ้อน แต่ในวันที่ 21 ตุลาคม อินเดียก็ประสบความสำเร็จในการทดสอบเที่ยวบิน Flight Test Vehicle Abort Mission-1 (TV-D1) ซึ่งเป็นการทดสอบระบบ Launch Escape System ที่เป็นจรวดช่วยเหลือกรณีตัวยานต้องดีดตัวออกจากจรวดฉุกเฉิน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมาก ๆ ที่จะปกป้องชีวิตของนักบินอวกาศหากจรวดเกิดระเบิดขึ้น หรือจำเป็นต้องหนีออกจากฐานปล่อยอย่างรวดเร็ว

อินเดียทดสอบเที่ยวบิน Flight Test Vehicle Abort Mission-1 ที่มา – ISRO

โดยอินเดียคาดหวังว่าจะสามารถส่ง Gaganyaan ในภารกิจทดสอบขึ้นสู่วงโคจรได้ภายในปี 2024 ซึ่งก็กินเวลาเกือบ 10 ปีเลยทีเดียว (แต่ไม่ต้องตกใจเพราะ Timeline เดียวกับ Orion ของ NASA ที่ทดสอบเที่ยวบินแรกในปี 2014 และกว่าจะมีมนุษย์โดนสารจริงก็ปาเข้าไป 2024 ใช้เวลาสิบปี)

ญี่ปุ่น ทำงานหนักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ตอนที่เขียนบทความนี้ ก็ลังเลว่าควรแยกพูดถึงญี่ปุ่นเลยมั้ย แต่ก็คิดว่าจากกรณีการส่งจรวด H-III ที่แม้จะไม่สำเร็จ แต่ญี่ปุ่นเองก็มีความตั้งใจมาก ๆ สำหรับงานอวกาศในปีนี้

7 มีนาคม JAXA และ Mitsubishi Heavy Industry ได้ทดสอบเที่ยวบินแรกของจรวด H-III ซึ่งเป็นจรวดที่ออกแบบมาใหม่เพื่อใช้ทดแทนจรวด H-II ซึ่งเป็นจรวดหลักที่ญี่ปุ่นใช้ (อ่าน – รู้จักกับจรวด H3 จรวดรุ่นถัดไปของประเทศญี่ปุ่น) โดยในเที่ยวบินทดสอบนี้ JAXA ก็ได้ติดเอา Advanced Land Observing Satellite 3 หรือ ALOS-3 ติดขึ้นไปด้วย ซึ่งนับว่าใจกล้ามาก ๆ อย่างไรก็ตามผลการทดสอบก็นำไปสู่การที่ JAXA ต้องเสีย ALOS-3 ไปเนื่องจากตัวจรวด H-III ในท่อนที่สองสูญเสียการควบคุม จนระบบ Flight Termination System หรือ FTS ต้องจุดระเบิดตัวเอง ทำให้การทดสอบจรวดต้องจบสิ้นไปในนาทีที่ 14 หลังการปล่อย หลังความเร็วลดลงอย่างต่อเนื่อง จนไม่น่าจะส่งดาวเทียมถึงวงโคจรได้ และแม้ว่า JAXA มีแผนจะทดสอบ H-III อีกครั้งในปี 2023 แต่ก็ดูไม่น่ามีความเป็นไปได้และเลื่อนการทดสอบไปเป็นปี 2024 แทน

ภาพจำองยานอวกาศ Martian’s Moon Explorer ของ JAXA

นอกจาก ความร่วมมือในโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ ความร่วมมือกับ Artemis และการส่งยานอวกาศสองลำได้แก่ SLIM และ XRISM ที่เราได้พูดถึงกันไปก่อนหน้าแล้ว ญี่ปุ่นยังซุ่มทำยานอวกาศอีกหนึ่งภารกิจที่ได้ประกาศมาซักพักหนึ่งแล้วได้แก่ MMX หรือ Martian’s Moon Explorer ซึ่งจะเป็นภารกิจ Sample Return หินจากดวงจันทร์โฟบอสของดาวอังคาร ซึ่งมีแผนการปล่อยในช่วงเดือนกันยายน 2024 โดยมีความร่วมมือกับ CNES ฝรั่งเศส และ DLR เยอรมณี

รองผู้อำนวยการ NASA Pam Melroy และ ผู้อำนวยการ JAXA Hiroshi Yamakawa ในพิธีลงนามภารกิจ MMX ที่มา – Pam Melroy’s Twitter

ในช่วงเดือนเมษายน 2023 JAXA ได้ออกมาประกาศว่า NASA เองก็สนใจจะส่ง Instrument เดินทางไปกับ MMX ด้วยเช่นกันและได้มีการเซ็นข้อตกลงกันในที่สุด อย่างไรก็ตาม JAXA ยังไม่ได้เปิดเผยภาพของโครงสร้างหลักตัวยาน MMX แต่อย่างใด ทำให้น่าจับตามองว่าภารกิจ MMX จะสามารถปล่อยได้ทันปี 2024 ตามที่วางเป้าหมายไว้หรือไม่ รวมถึงจรวด H-III ที่จะใช้ในการปล่อยก็ยังพัฒนาไม่สำเร็จเช่นกัน

และปัจจุบันญี่ปุ่นก็ยังอยู่ในช่วงการพัฒนายานอวกาศทดแทน HTV ยานขนส่งเสบียงอัตโนมัติที่จะเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ โดยยานรุ่นใหม่นั้นจะชื่อว่า HTV-X ซึ่งญี่ปุ่นพูดถึง HTV-X มาได้หลายปีแล้ว แต่ในปี 2023 เราก็ยังไม่ได้เห็น HTV-X ขึ้นบินแต่อย่างใด

ภาพรวมตลาดการปล่อยยานอวกาศที่เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

สำหรับตลาดการปล่อย ภาพไม่ได้แตกต่างจากในปีก่อน ๆ มากนัก SpaceX ยังคงเป็นบริษัทการปล่อยที่มีจำนวนการปล่อยเยอะที่สุด Falcon 9 และ Falcon Heavy ในปี 2023 ก็รวมทั้งสิ้น 95 เที่ยวบิน เฉลี่ยอยู่ที่ 1-2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เลยทีเดียว (ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าทึ่งมาก) และเที่ยวบินส่วนใหญ่ก็คือการส่งดาวเทียม Starlink ให้กับ Constellation ของ SpaceX เอง ด้วยจรวดนำกลับมาใช้ซ้ำ

SpaceX ส่ง Falcon Heavy ให้กับ NASA ในภารกิจการปล่อยยาน Psyche ที่มา – SpaceX

อย่างไรก็ตาม นอกจาก SpaceX แล้ว ก็ต้องพูดถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ United Launch Alliance ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง Boeing และ Lockheed Martin ที่ในปีนี้คว้าลูกค้าไปได้ทั้งหมด 3 เที่ยวบินถ้วน (น้อยใช่มั้ย) ได้แก่ เที่ยวบินส่งดาวเทียมลับของกองทัพอวกาศ NROL-107 (10 กันยายน) และ KuiperSat ซึ่งเป็นดาวเทียมอินเทอร์เน็ตของ Amazon (6 ตุลาคม) ของจรวด Atlas V จากฝั่ง Lockheed Marin ส่วนจรวด Delta V Heavy ของ Boeing ก็ถูกนำมาใช้ส่งดาวเทียมลับให้กับกองทัพอวกาศในภารกิจ NROL-67 วันที่ 22 มิถุนายน 2023 ส่วนจรวดลำใหม่อย่าง Vulcan ก็จะถูกใช้ปล่อยยานอวกาศ Peregrine ในภารกิจ CLPS-1 เลื่อนการปล่อยเป็นเดือนมกราคม 2023

จรวดท่อนที่สอง Centaur Upper Stage กำลังถูกยกขึ้นติดตั้งบน Vulcan ในเที่ยวบินแรก ที่มา – ULA

ทาง Blue Origin เอง หลังจากผ่านพ้นปัญหาโครงสร้างของบริษัทจนสามารถส่งมอบเครื่องยนต์จรวด BE-4 ให้กับ United Launch Alliance สำหรับจรวด Vulcan Centaur ในช่วงปลายปี 2022 ในปีนี้ทางบริษัทมีความคืบหน้าอย่างมากสำหรับโครงการจรวดระดับวงโคจรใช้ซ้ำของตัวเองอย่าง New Glenn โดยเฉพาะกับถังเชื้อเพลิงของจรวดทั้งท่อนแรกและท่อนบนซึ่งเป็นส่วนสำคัญของจรวด ทำให้โครงการจรวดรุ่นนี้กำลังเข้าใกล้ความจริงไปอีกขั้น และยังมีกำหนดการออกมาว่าจะขึ้นบินครั้งแรกในช่วงเดือนสิงหาคมของปี 2024 สำหรับการส่ง EscaPADE ภารกิจสำรวจดาวอังคารที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และบริษัทอวกาศเอกชน Rokcet Lab

นอกจากนี้แล้ว Blue Origin และกลุ่มบริษัทในกลุ่ม National Team ที่ประกอบไปด้วย Lockheed Martin, Draper, Boeing, Astrobotic และ Honeybee Robotics ยังได้รับเลือกในการพัฒนาโครงการ Sustaining Lunar Development ของ NASA ที่ว่าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติการบนดวงจันทร์อย่างยั่งยืน ตั้งแต่การพัฒนาระบบขนส่งที่สามารถลงจอดบนจุดไหนก็ได้บนดวงจันทร์และครอบคลุมถึงพื้นที่อวกาศที่ได้รับอิทธิพลจากแรงโน้มถ่วงของโลกและดวงจันทร์ รวมไปถึงระบบกักเก็บไฮโดรเจนเหลวและออกซิเจนเหลวบนดวงจันทร์ซึ่งจะเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงหลักสำหรับยานอวกาศที่จะถูกใช้งานในการทำภารกิจต่าง ๆ ภายใต้โครงการ Artemis

ส่วนผู้ให้บริการจากฝั่งยุโรปอย่าง ArianeSpace ก็ปิดปีด้วยจำนวนเที่ยวบิน 3 เที่ยวบินเช่นกัน ได้แก่ Ariane 5 จำนวน 2 เที่ยวบิน คือการปล่อย JUICE ให้ ESA (14 เมษายน) ส่วนอีกเที่ยวเป็นการปล่อยดาวเทียมทหารฝรั่งเศส Syracuse 4B ซึ่งเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของ Ariane 5 อย่างเป็นทางการ (5 กรกฎาคม) ส่วนจรวด Vega อีกหนึ่งเที่ยวนั้น เป็นการปล่อยดาวเทียม THEOS-2 ให้กับ GISTDA ประเทศไทย ร่วมกับดาวเทียมตรวจอวกาศ Triton ของ TASA ไต้หวัน พร้อมกับ Secondary Payload อีกจำนวนหนึ่ง

ในช่วงปลายปี ทาง ArianeSpace กลับประสบปัญหาอีกครั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ต่อพื้นที่ตลาดการปล่อยจรวดในยุโรป โดยมีถังเชื้อเพลิงจรวด Vega จำนวนหนึ่งสำหรับภารกิจที่ถูกกำหนดไว้สูญหาย และถูกพบในเวลาต่อมาว่าพวกมันถูกบดทำลายลงจนไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับจรวด Vega ที่เพิ่งถูกปิดสายการผลิตไป

Ariane 5 ลำสุดท้าย ก่อนจะใช้ปล่อยภารกิจ Syracuse ให้กับฝรั่งเศส ที่มา – ArianeGroup

จะสังเกตว่าจรวดขนาดใหญ่จาก ULA และ ArianeSpace ค่อนข้างซบเซาในปีนี้ ส่วนทางฝั่งอินเดียตระกูล PSLV และ GSLV มีการปล่อยไปทั้งหมด 7 เที่ยวบิน ทั้ง Payload วิทยาศาสตร์ของอินเดียเองและ Payload ของลูกค้าในลักษณะ Rideshare อีกจำนวนหนึ่ง

ส่วนบริษัทเอกชนขนาดเล็กอย่าง Rocket Lab ปีนี้ได้ลูกค้าไปทั้งสิ้น 8 เที่ยวบิน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีมาก ๆ เลยทีเดียว เรียกได้ว่าแสดงถึงความคล่องตัวของธุรกิจส่งจรวดขนาดเล็กมาก ๆ

ในประเทศจีนเอง แม้ในปีนี้จะยังเป็นการใช้จรวดของภาครัฐอย่างจรวดตระกูล Long March ขึ้นบินเป็นส่วนใหญ่ แต่เราได้เห็นตัวเลขของภาคเอกชนทั้งอิสระและได้รับการสนับสนุนโดยรัฐเริ่มทำคะแนนขึ้นมาบ้าง ทั้งจรวด Zhuque-2 จากบริษัท LandSpace ที่กลายเป็นจรวดระดับวงโคจรขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงมีเทนที่ประสบความสำเร็จเป็นลำแรกของโลก จรวด Hyperbola-1 จากบริษัท i-Space (คนละบริษัทกับ ispace จากประเทศญี่ปุ่น) รวมไปถึงจรวด Ceres-1 จาก Galactic Energy ที่ปีนี้ก็มาแรงไม่แพ้ปีที่ผ่านมา และยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงสุดท้ายก่อนการปล่อยจรวดครั้งแรกของตัวเองอีกหลายแห่ง เรียกได้ว่าตลาดจรวดเอกชนในจีนเองก็เริ่มออกตัวได้ดี

และแถมให้อีกสำหรับปีนี้ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2023 หน่วยงานวิจัยด้านการบินอวกาศแห่งชาติเกาหลีเหนือ (National Aerospace Development Administration) สามารถส่งจรวด Chollima-1 เพื่อนำส่งดาวเทียมสอดแนม Malligyong-1 ได้สำเร็จ หลังจากที่พยายามปล่อยมา 2 ครั้งในเดือนพฤษภาคมและสิงหาคม นับว่าเป็นความพยายามของเกาหลีเหนือทีจะพัฒนาจรวดนำส่งรุ่นใหม่ (บริบทคือเกาหลีเหนือมีศักยภาพในการส่งดาวเทียมเองตั้งแต่ปี 2012 ที่มีการส่งดาวเทียมสอดแนมในลักษณะเดียวกันมาแล้ว)

ภาพรวมการท่องเที่ยวอวกาศ

ในปี 2023 เราได้เห็นตัวเลขของการท่องเที่ยวอวกาศพุ่งทะยานขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะจากสองบริษัทใหญ่ Virgin Galactic และ Blue Origin ที่ได้เปิดฉากการพานักท่องเที่ยวขึ้นสัมผัสกับอวกาศในเที่ยวบิน Suborbital

29 มิถุนายน Virgin Galactic ได้ส่งเครื่องบินอวกาศ ในภารกิจ Galactic 01 ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวอวกาศ (เก็บเงินจริง) เที่ยวบินแรก หลังประสบความสำเร็จในการทดสอบตั้งแต่ปี 2021 ในรอบนี้เป็นเที่ยวบินสำหรับทำการวิจัยด้านอวกาศให้กับกองทัพอากาศอิตาลี และในวันที่ 10 สิงหาคม เที่ยวบิน Galactic 02 ก็ได้พานักท่องเที่ยว Jon Goodwin นักกีฬาแคนนูโอลิมปิกวัย 80 ปี ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน และคู่แม่ลูก Keisha Schahaff, Anastatia Mayers เดินทางไปอวกาศ จากการเป็นผู้โชคดีชนะการสุ่มเลือก โดยที่ Anastatia Mayers ก็ได้กลายเป็นบุคคลที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้เดินทางไปในอวกาศ (นิยาม 80 กิโลเมตร) ด้วยอายุเพียงแค่ 18 ปีเท่านั้น เรียกได้ว่าเที่ยวบินนี้เป็นเที่ยวบินประวัติศาสตร์ก็ว่าได้

คู่แม่ลูก Keisha Schahaff, Anastatia Mayers (กลาง) ที่เดินทางไปในอวกาศกับ Galactic 02 ที่มา – Virgin Galactic

หลังจากนั้น Galactic 03 (8 กันยายน) และ Galactic 04 (6 ตุลาคม) Galactic 05 (2 พฤศจิกายน) ก็ตามมา โดยในรอบ Galactic 05 นั้นเราได้เห็น Alan Stern แห่ง API ตำแหน่ง Principle Investiagor ของภารกิจ New Horizons เดินทางไปในเที่ยวบินนี่ด้วย และ Virgin Galactic ก็ได้ทำสถิติประสบความสำเร็จ 6 เที่ยวบินในรอบ 6 เดือน ที่น่าจะปูทางไปสู่การให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2024

ส่วน Blue Origin ปีนี้ไม่ได้ขึ้นบิน ซึ่งสืบเนื่องมาจากความผิดพลาดของเที่ยวบิน NS-23 เมื่อเดือนกันยายน 2022 ที่ตัวจรวดเกิดข้อผิดพลาด จนระบบ Abort ต้องทำงาน หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้เห็น New Shepard บินอีกเลยตลอดทั้งปี

ภาพรวมวงการอวกาศไทย

มาถึงหัวข้อที่หลายคนน่าจะสนใจมากที่สุด ก็คือวงการอวกาศไทยปีนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

เปิดปีด้วยบทบาทของฝรั่งเศสในไทย กับงานปีแห่งนวัตกรรม (Year of Innovation 2023) ที่ฝรั่งเศสจัดฉลองขึ้นร่วมกับหน่วยงานด้านอวกาศและนวัตกรรมในประเทศไทย (ซึ่งสเปซทีเอชก็เป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ของงานด้วย) รวมถึงการเดินทางเข้ามาในไทยของบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Airbus Space, ArianeSpace, Safran เพื่อให้มาดีลธุรกิจกับธุรกิจด้านอวกาศ และวิทยาศาสตร์ในไทย และในพิธีเปิด (26 มกราคม) นักบินอวกาศ Claudie Haigneré และ Jean-Pierre Haigneré ก็ได้เดินทางมาประเทศไทยด้วย

เติ้ล ณัฐนนท์ บรรณาธิการสเปซทีเอช กำลังสัมภาษณ์นักบินอวกาศ Claudie Haigneré และ Jean-Pierre Haigneré ในงานวันที่ 26 มกราคม

โดยเราได้บันทึกบทสทนาระหว่างเรากับนักบินอวกาศทั้งสองไว้ในบทความ บทสนทนานักบินอวกาศ Claudie และ Jean-Pierre Haigneré ความหลังสถานี Mir และ ISS ยุคบุกเบิก

และในปีนี้เองเป็นปีที่โครงการ THEOS-2 ของ GISTDA เสร็จสมบูรณ์อย่างเป็นรูปเป็นร่างพร้อมปล่อย ซึ่งโครงการ THEOS-2 นั้นประกอบไปด้วยดาวเทียม 2 ดวงได้แก่ดาวเทียม THEOS-2A ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาดเล็กประกอบโดยวิศวกรชาวไทย และดาวเทียม THEOS-2 ดวงหลัก ซึ่งเป็นดาวเทียมที่สร้างและพัฒนาโดยบริษัท Airbus Space ประเทศฝรั่งเศส

GISTDA และสถานทูตฝรั่งเศส นำคณะหน่วยงานต่าง ๆ บริษัทจากประเทศฝรั่งเศส เยี่ยมชมศูนย์ควบคุมดาวเทียม THEOS-2 ณ จังหวัดชลบุรี ภาพถ่ายวันที่ 2 มีนาคม

ตลอดปี 2023 ดาวเทียม THEOS-2A อยู่ที่ประเทศไทยหลังจากที่เดินทางมาถึงไทยในวันที่ 19 มิถุนายน 2022 และได้มีผู้คนจากมากมายหลายคณะได้เดินทางเข้าชมดาวเทียมดังกล่าวที่ GISTDA ศรีราชา จังหวัดชลบุรีจนถึงช่วงปลายปี 2023 ก่อนที THEOS-2A จะถูกส่งไปยังประเทศอินเดีย เพื่อรอปล่อยกับจรวด PSLV ในเที่ยวบินแบบ Rideshare โดยมีกำหนดปล่อยอยู่ในช่วงต้นปี 2024 นอกจากนี้ GISTDA เองยังได้มีการโชว์ห้องควบคุมดาวเทียม ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับภารกิจ THEOS-2 และภารกิจอื่น ๆ

สำหรับการแข่งขันยิงจรวด America Spaceport ในปีนี้เยาวชนไทย CUHAR หรือ Chulalongkorn University High Altitude Research Club ก็ได้เข้าร่วมการแข่งขันวิจัย พัฒนา และสร้างจรวดความเร็วเสียง CURSR-II และยิงขึ้นสู่บรรยากาศในรัฐ New Mexico ประเทศสหรัฐอเมริกาในการแข่งขัน Spaceport America Cup 2023

ข้อมูลจากตัวจรวดบันทึกไว้ว่าตัวจรวดเดินทางถึงระดับความสูง 27,911 ฟุต หรือประมาณ 8.5 กิโลเมตร เท่ากับความสูงของเครื่องบินพานิชย์ และทำความเร็วสูงสุดถึง 1.8 Mach หรือ 2,222 กิโลเมตต่อชั่วโมง เร็วกว่าความเร็วเสียง (Supersonic) คิดเป็นความเร่งสูงถึง 24.7 G (มากกว่าน้ำหนักขณะอยู่นิ่ง 24.7 เท่า) นับเป็นความสำเร็จครั้งใหม่ของชมรมและประเทศไทยที่สามารถพัฒนาจรวดระดับ Supersonic ได้สำเร็จ ในระดับ Commercial Class เทียบเท่ากับ Sounding Rocket ของต่างประเทศ ที่ใช้ในงานวิจัยต่าง ๆ

CUHAR เดินทางไปแข่ง Spaceport America Cup 2023 ที่มา – Chulalongkorn University High Altitude Research Club

เดือนตุลาคม 2023 มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับดาวเทียมขนาดเล็กประกอบเองในไทยอีกหนึ่งดวง เมื่อดาวเทียม KnackSat-2 ของ ดาวเทียมขนาดเล็กพัฒนาต่อจาก KnackSat-1 และ BCCSat-1 ประกอบโดยบริษัท NBSpace ภายใต้ความร่วมมือกับภาคการศึกษาภาคเอกชน ทั้งในไทยและต่างประเทศ ในลักษณะ Shared Payload มี Payload จากหลาย ๆ หน่วยงานรวมไว้ในดาวเทียมดวงเดียวกัน โดยดาวเทียมดวงดังกล่าวได้ประกอบในไทยเสร็จเรียบร้อยและถูกส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือกับ Kyushu Institute of Technology เพื่อทดสอบในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะเตรียมส่งไปปล่อยสู่อวกาศด้วยสถานีอวกาศนานาชาติในปี 2025

ดาวเทียม KnackSat-2 ในห้องคลีนรูมของ NBSpace ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ที่มา – NBSpace

หากสำเร็จ KnackSat-2 จะกลายเป็นดาวเทียม CubeSat ขนาดใหญ่ที่สุดที่เอกชนไทยเคยพัฒนาขึ้นมา ด้วยขนาด 3U แต่ก็ยังไม่ใช่ดาวเทียมประกอบไทยที่ใหญ่ที่สุด เพราะใหญ่ที่สุดคือ Napa-1 ของกองทัพอากาศ ที่ปล่อยไปเมื่อปีที่ผ่านมา และจะเป็นดาวเทียมดวงแรกของไทยที่ปล่อยผ่านสถานีอวกาศนานาชาติ

ความเคลื่อนไหวด้านดาวเทียมเล็กยังไม่จบเพียงเท่านี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ในปีนี้ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะทำดาวเทียม NARIT Cube 1 ดาวเทียมขนาดเล็ก คล้ายกับ KnackSat-2 เพื่อสร้างความรู้ความสามารถของวิศวกรไทยในการประกอบดาวเทียม ซึ่งความรู้ดังกล่าวจะถูกถ่ายทอดไปสู่การพัฒนาระบบภายในดาวเทียมตระกูล Thai Space Consortium หรือ TSC ที่ตอนนี้กำลังดำเนินงานอยู่เช่นกัน

ในปี 2023 เราได้เห็น NARIT โชว์ระบบ System และ Sub-System ที่พัฒนาขึ้นเองโดยคนไทย เช่น ระบบการสื่อสารคลื่นวิทยุ (Radio Frequency), ระบบคอมพิวเตอร์บนยาน (Onboard Computer) ระบบการจัดการพลังงาน (Power) ไปจนถึง Instrument Payload อย่าง Multi-Spectral Imaging ที่ใช้ในการถ่ายและประมวลผลภาพ รวมถึงการขึ้นโครงดาวเทียม (Fabrication) ด้วยอุปกรณ์ที่ทำในประเทศไทย การทำ CNC, 3D Printing ต่าง ๆ

Narit Cube – 1 ยังดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับเอกชน เช่น บริษัท NBSpace ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ซึ่งกันและกันด้วย

Thai Space Consortium ยังดำเนินต่อ ไป ในปีนี้เราได้เห็นการประกอบดาวเทียม TSC-Pathfinder เสร็จสมบูรณ์จากวิศวกรไทยที่ถูกส่งไปเรียนรู้การประกอบดาวเทียมภายใต้โครงการการพัฒนากำลังคน เพื่อสร้างดาวเทียม ร่วมกับ สถาบันทัศนศาสตร์ กลศาสตร์ขั้นสูงและฟิสิกส์แห่งฉางชุน สาธารณรัฐประชาชนจีน (Changchun Institute of Optics, Fine Mechanics and Physics) ส่วนการปล่อยขึ้นสู่อวกาศนั้น ยังไม่มีกำหนดออกมา

ผู้บริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และทีมวิศวกรโครงการ Thai Space Consortium ในงานประชุมด้านอวกาศที่จัดโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม ภาพถ่ายวันที่ 12 กันยายน

ส่วนดาวเทียม TSC-1 นั้นก็อยู่ระหว่างการพัฒนาเช่นกัน ซึ่งก็จะอาศัยความรู้ที่ได้จากทั้ง TSC-P, Narit Cube 1 มาใช้ แม้จะยังไม่ได้มีกำหนดการประกอบอย่างเป็นทางการ แต่ NARIT ก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถสร้างดาวเทียม TSC-1 ได้ในช่วงปี 2025 โดยการประกอบจะประกอบในห้องประกอบดาวเทียมในลักษณะ Cleanroom ที่เพิ่งสร้างเสร็จ ณ​ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่จะเป็นห้อง Cleanroom สำหรับประกอบดาวเทียมขนาดใหญ่แห่งที่สองของประเทศไทย ต่อจากของ GISTDA ที่จังหวัดชลบุรี

จรวด Vega ของ ArianeSpace นำส่งดาวเทียม THEOS-2 ที่มา – ArianeGroup

9 ตุลาคม ดาวเทียม THEOS-2 ก็ได้ถูกปล่อยโดยบริษัท ArianeSpace ด้วยจรวด Vega ซึ่งเลื่อนมาจากกำหนดการเดิมและมีการเปลี่ยนจรวดที่จะใช้ปล่อย เนื่องจากตอนแรกจะถูกปล่อยด้วยจรวด Vega-C รุ่นใหม่ของ ArianeSpace แต่จากเหตุระเบิดของ Vega-C ในเที่ยวบินเมื่อเดือนธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา หลังจากการปล่อย 16 ตุลาคม GISTDA รายงานว่า การทดสอบดาวเทียม THEOS-2 ผ่านไปได้ด้วยดี ขณะนี้อยู่ในช่วงประเมินคุณภาพของภาพถ่ายจากดาวเทียม เสร็จสิ้นเมื่อไหร่ จะพร้อมให้บริการ อย่างไรก็ตาม GISTDA ไม่ได้มีการเปิดเผยภาพ Technical ดังกล่าว

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา และ Dr. Guan Feng จาก DSEL ในพิธีลงนามความร่วมมือ Payload บนยาน Chang’e 7 ที่มา – DSEL

ในเดือนตุลาคมเช่นกัน สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ประกาศว่า Paylaod ด้านวิทยาศาสตร์ของไทย จะถูกติดตั้งและเดินทางไปยังดวงจันทร์กับโครงการ Chang’e 7 ภายใต้ความร่วมมือกับ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก Deep Space Exploration Laboratory องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน CNSA ซึ่งนี่เองก็นับว่าเป็นความร่วมมือแรกของไทยโดยตรงกับโครงการ International Lunar Research Station หรือ ILRS ด้วย

1 พฤศจิกายน สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยังได้เปิดหอดูดาวแห่งใหม่คือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น เป็นอีกหนึ่งหอดูดาวในภาคอีสาน พร้อมท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัลขนาด 80 ที่นั่ง เพื่อให้ความรู้ด้านดาราศาสตร์แก่ประชาชน และให้บริการภาควิชาการในการใช้ข้อมูลทางดาราศาสตร์จากหอดูดาว

ส่วนโครงการ Space Education ของไทยโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ยังคงนำเยาวชนไทยเข้าร่วมแข่งขันโครงการ Kibo-Robot Programming Challenge การแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์บนสถานีอวกาศนานชาติ เช่นเคย ในปีนี้ทีมจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลที่ 3 ในการแข่งขัน ส่วนการคัดเลือกการทดลองขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานชาติในโครงการ Asian Try Zero-G ของ JAXA นั้นก็ได้คัดเลือกตัวแทนเยาวชนไทย ร่วมเดินทางไปยังศูนย์ควบคุมที่ Tsukuba Space Center ในช่วงต้นปี 2024 จำนวน 6 คน

สรุปปี 2023 เป็นปีแห่งการก้าวไปข้างหน้าภายใต้รอบเวลาที่กระชั้นขึ้นมาก

จะสังเกตว่าในปีนี้กิจกรรมที่เกิดขึ้นล้วนนำไปสู่โครงการอวกาศขนาดใหญ่ ตั้งแต่ Artemis หรือ ILRS ไปจนถึงการส่งยานอวกาศตั้งเป้าเพื่อสำรวจดาวอังคาร หรือวัตถุอื่น ๆ ในระบบสุริยะ เช่น ดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี ซึ่งไทยเองก็ได้รับอิทธิพลจากเป้าหมายเหล่านี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่ NARIT ตัดสินใจส่ง Payload ร่วมกับไปกับโครงการ ILRS บนยาน Chang’e 7 หรือการเตรียมพร้อมการพัฒนาดาวเทียม ที่จะทำให้ไทยไม่ตกขบวนการส่งยานอวกาศสู่ดวงจันทร์ ในขณะที่ประเทศอื่นส่งกันเป็นว่าเล่น โดยเฉพาะเมื่อมีแรงขับจากโครงการ CLPS หรือ Commercial Payload Service

และในปีหน้าภาพที่เราเห็นก็อาจจะคล้าย ๆ กัน และงานใหญ่จริง ๆ ก็จะเกิดขึ้น เช่น ภารกิจ Artemis I การส่งยานอวกาศ EuropaClipper และความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์​ (Geopolitics) การเมือง สังคม วัฒนธรรมและสื่อ

สุดท้ายก็อยากบอกว่าอวกาศได้มาอยู่ในตัวทุกคนแล้ว เราไม่อยากใช้คำว่าอวกาศเข้ามาใกล้เพราะพูดไปก็เหมือนยังมีระยะห่างอยู่ ในวันนี้ทุกคนแค่กระดิกนิ้วก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อภาพเล็กและภาพใหญ่ของวงการอวกาศโลกได้ ดังนั้นใครที่ยังลังเลไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็ให้เริ่มเลย และไม่ต้องคิดเยอะ เราอยู่ห่างแค่นิดเดียวกับการหาโอกาสจากให้กับตัวเอง มีแค่ว่าจะทำหรือไม่ทำ

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.