150 ปี King of Siam’s Eclipse และชุดสุริยุปราคาที่เปลี่ยนดาราศาสตร์ไทย ฟิสิกส์โลก

วันที่ 18 สิงหาคม 1868 เกิดสุริยุปราคาในชุดแซรอส 133 เป็นหนึ่งในสุริยุปราคาครั้งประวัติศาสตร์เพราะสุริยุปราคาครั้งที่ยาวนานที่สุดใน 300 ปี แล้วยังเป็นสุริยุปราคาครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตร และสุริยุปราคาครั้งนี้จะทำให้โลกได้ค้นพบธาตุชนิดใหม่ เป็นธาตุที่พบได้เฉพาะบนดวงอาทิตย์ นำพามนุษยชาติเข้าสู่ยุคใหม่ของการศึกษาดาราศาสตร์

นี่คือเรื่องราวของแซรอส 133 แซรอสที่อยู่จะมีบทบาทที่นำพาสยามเข้าสู่ยุคใหม่ของความศิวิไลซ์และนำพาดาราศาสตร์ของโลกตะวันตกเข้าสู่ยุคใหม่ของการศึกษาดาราศาสตร์ เรื่องราวของราชอาณาจักรสยามกับแซรอส 133 นั้นเริ่มต้นจากเหตุการณ์เมื่อ 330 ก่อนหน้านี้ ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับสุริยุปราคาบางส่วนบนน่านฟ้าเขตแดนสยาม

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชและเหตุการณ์ที่หว้ากอ?

ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นยุคที่วงการดาราศาสตร์ไทยเจริญสูงสุดของกรุงศรีอยุธยา เพราะในยุคนั้นสยามได้เปิดกว้างในด้านการต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการเข้าออกของคณะฑูตชาวยุโรปหลั่งไหลเข้ามาภายในกรุงศรอยุธยาอย่างมากมายเหลือคณานับ ซึ่งการเข้ามาของชาวยุโรปก็ได้นำพาความรู้ทางด้านศาสตร์และศิลป์ที่ทรงคุณค่าเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาด้วย และแน่นอนว่าศาสตร์หนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจของชนชาวยุโรปนั้นคือดาราศาสตร์

ในช่วงปี 1688 หรือ พ.ศ. 2331 นักคณิตศาสตร์ชาวยุโรปได้ทราบถึงปรากฏการณ์สุริยุปราคา ที่จะเกิดขึ้นและผ่านดินแดนอินเดีย จีน พม่า และรัสเซียในยุคนั้น ทำให้เหล่าผู้สนใจมีความประสงค์ที่เสาะแสวงหาหนทางไปยังดินแดงเหล่านั้นเพื่อเฝ้าสังเกตุการณ์เหตุการณ์นี้

ภาพแสดงสถานที่คราสผ่านและจุดกึ่งกลางของคราสชุดแซรอส 133 ณ วันที่ 30 เมษายน 1688 ที่มา NASA

จากการคำนวนทางคณิตศาสตร์ย้อนหลังถึงเหตุการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในอดีต กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นราชธานีของไทยซึ่งเป็นราชธานีของไทยมานานถึง 417 ปีนั้นควรผ่านเหตุการณ์สุริยุปราคามาแล้วครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น สุริยุปราคาเต็มดวง สุริยุปราคาแบบวงแหวน สุริยุปราคาแบบบางส่วนและสุริยุปราคาแบบผสม  ซึ่งมีหลายครั้งที่สุริยุปราคาเคลื่อนเงาเข้ามาพาดผ่านเหนือน่านฟ้าเขตอาณาจักรสยาม และหากเราจะจำเพาะเจาะจงพื้นที่ให้เหลือเพียงบริเวณเกาะกรุงศรีอยุธยา ความน่าจะเป็นที่จะเห็นสุริยุปราคาแบบเต็มดวงตลอดช่วงที่อยุธยายังเป็นราชธานีนั้นควรจะอยู่ที่ 1-2 ครั้ง เพราะตามปกติแล้วสุริยุปราคาแบบเต็มดวงจะวนกลับมาให้เห็นที่เมืองเดิมพื้นที่เดิมนั้นจะใช้เวลา 360 ปี ซึ่งเท่ากับ 20 แซรอส ( 1 แซรอส = 18 ปี 11 วัน ) และไม่ได้อยู่ในแซรอสชุดเดียวกัน แต่ว่าจากการคำนวนทางคณิตศาสตร์ย้อนหลังแล้วพบว่า กรุงศรีอยุธยานั้นได้อยู่ใต้เงามืดของดวจันทร์จากสุริยุปราคาเต็มดวงนั้นมากถึง 3 ครั้ง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานของเมืองทั่วโลก แต่กลับไม่พบบันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์สุริยุปราคาเหล่านั้นในประวัติศาสตร์ของกรุงศรีเลย

คราสในวันที่ 30 เมษายน 1688 นั้นไม่ได้ผ่านกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ยังสามารถเห็นสุริยุปราคาบางส่วนได้ ครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงร่วมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์สุริยุปราคาในครั้งนี้ด้วยพระเนตรของพระองค์เอง ณ พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือ พระที่นั่งเย็น ณ เมืองลพบุรี ซึ่งการสังเกตการณ์ในครั้งนี้พระองค์ได้ร่วมสังเกตการณ์กับคณะบาทหลวงเยสุอิตนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส

นี่คือต้นกำเนิดของศาสตร์ที่มีชื่อว่า ดาราศาสตร์ ในสยามประเทศ และมันคือยุครุ่งเรืองที่สุดในกรุงศรีอยุธยาเพราะหลังจากนี้มันจะเป็นเพียงเรื่องราวเล่าลือในสังคมชั้นสูงและถูกลืมเลือนจากกาลเวลา จวบจนอีก 180 ปีข้างหน้า สุริยุปราคานี้จะกลับมายังดินแดนสยามอีกครั้งและนำพาความรุ่งเรืองแห่งศาสตร์นี้จะกลับมาและเปลี่ยนแปลงโชคชะตาของชนชาวสยามพาไปสู่ยุคใหม่แห่งความศิวิไลซ์

ภาพวาดสีน้ำมันของเหตุการณ์สุริยุปราคาแบบบางส่วน ณ พระที่นั่งเย็น เมืองลพบุรี ที่พระนารายณ์มหาราชทรงเข้าร่วมการสังเกตการณ์สุริยุปราคาในครั้งนี้ด้วย ที่มา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ช่วงพิเศษ แซรอส (Saros) คืออะไร

Saros เป็นคำที่ถูกเรียก กำหนด และใช้โดย เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ ซึ่งเขานำมันมาจากคำว่า Suda ในพจนานุกรมภาษาไบแซนไทน์ ซึ่งคำว่า Saros เป็นคำที่ใช้อธิบาย เกี่ยวกับคาบของการเกิดคราส ของทั้งปรากฏการณ์สุริยุปราคา และ จันทรุปราคา ซึ่งในหนึ่งคาบนั้นจะกินเวลาเท่ากับ 1 แซรอส หรือ 223 เดือนตามปฏิทินจันทรคติ หรือ 18 ปี 11 วัน และอีก 8 ชั่วโมง หรือประมาณ 6585.3211 วัน โดยเมื่อครบรอบ 1 แซรอสในชุดเดียวกัน เราจะเห็นสุริยุปราคาที่มีลักษณะทางเรขาคณิตในลักษณะเดิม โดยเมื่อครบ 1 แซรอส เงาของคราสในครั้งถัดไปจะเคลื่อนออกไปจากตำแหน่งที่เคยขึ้นไปในครั้งที่แล้วตามแนวละติจูดของโลก โดยเราแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ แซรอสกลุ่มเลขคี่และแซรอสกลุ่มเลขคู่ แซรอสในกลุ่มเลขคี่นั้นจะเริ่มต้นกิจกรรมจากทางขั้วโลกเหนือและค่อย ๆ ย้ายตำแหน่งมาทางใต้เรื่อย ๆ จนสิ้นสุดชุดแซรอสที่ขั้วโลกใต้ ส่วนแซรอสในกลุ่มเลขคู่นั้นจะเริ่มต้นกิจกรรมจากทางขั้วโลกใต้แล้วค่อย ๆ ไล่ขึ้นจนครบทั้งชุดแซรอสนั้นที่ขั้วโลกเหนือ

แซรอส เป็นความสัมพันธ์ที่มนุษย์เข้าใจมาตั้งแต่อดีตกาลที่แสนยาวนาน การที่จะเข้าใจแซรอสนั้นต้องมาจากรากฐานของคณิตศาสตร์ที่เข้าใจมาเป็นอย่างดีและมาจากรากฐานของการเข้าใจว่าโลกนั้นเป็นวัตถุทรงกลมตามหลักตรีโกณมิติ อีกทั้งยังต้องเข้าใจว่าโลกนั้นมีดวงจันทร์ที่มีขนาดเล็กและอยู่ใกล้โลกมากกว่าดวงอาทิตย์ที่เป็นวัตถุขนาดใหญ่ที่อยู่ไกลกว่า ซึ่งการที่จะเข้าใจเรื่องราวพวกนี้ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ชาวคาดีอาหรือชาวบาบิโลนโบราณเป็นชนกลุ่มแรกที่เข้าใจถึงการคาบแซรอส โดยพวกเขาสามารถคำนวนแซรอสและสถานที่ที่จะเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคารวมถึงวันและเวลาที่จะเกิดได้ เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ฮิปปาร์คัส ไพลนี และ ทอเลมี ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เข้าใจถึงวัฒจักรการเกิดแซรอสเช่นเดียวกันแต่พวกเขานั้นมีชื่อเรียกถึงคาบการเกิดเหล่านี้แตกต่างกันออกไป

ทุกวันนี้เราใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการคำนวนแซรอสที่ละเอียดได้มากกว่าอดีต เพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทำให้เราสามารถวัดขนาดของโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ รวมถึงรูปทรงทางเรขาคณิตของโลกได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น ช่วยให้คำนวนจุดที่จะเกิดคราสและช่วงเวลาที่จะเกิดได้อย่างแม่นยำในระดับวินาทีเลยทีเดียว อีกทั้งยังช่วยคำนวนชุดแซรอสที่เคยเกิดขึ้นในอดีตย้อนหลังกลับไปได้ถึง 4 พันปี และล่วงหน้าไปได้อีกหลายร้อยปีเลยทีเดียว

มหาราช โหราศาสตร์ และ ดาราศาสตร์

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการโหราศาสตร์เป็นยิ่ง ซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับโหรศาสตร์นั้นก็เป็นเรื่องราวของการเคลื่อนที่ของวัตถุบนท้องฟ้าเฉกเช่นเดียวกับศาสตร์ที่ชื่อว่า ดาราศาสตร์

พระองค์ทรงมีมิตรไมตรีที่ดีกับพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ผู้ที่นอกจากจะมีความรู้ในด้านภาษาเป็นอย่างดีแล้วท่านยังมีความรู้ในด้านดาราศาสตร์เป็นอย่างดีด้วยและพระองค์ก็ทรงรับทราบเรื่องปรากฏการณ์สุริยุปราคาจากท่านพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ และที่น่าสนใจไม่น้อยนั้นคือ จากการคำนวนในครั้งนี้คราสนั้นอยู่ใกล้สยามเสียเหลือเกิน ใกล้จนน่าฉงนใจ พระองค์จึงเริ่มนำเรื่องราวเกี่ยวกับสุริยคราสในครั้งนี้มาคำนวนทางคณิตกรครั้งด้วยตัวพระองค์เอง พระองค์ได้พบว่าการคำนวนของชาวฝรั่งนั้นมีความคาดเคลื่อนไปจากที่พระองค์ได้คำนวน

พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สุริยุปราคาในครั้งนี้นับว่าเป็นสุริยุปราคาครั้งที่ยาวนานที่สุดในรอบ 300 ปี คราสในครั้งนี้เริ่มต้นจาก เขตประเทศเอธิโอเปีย ขึ้นเหนือไปยังบริเวณดินแดนของอาณาจักรออตโตมัน ก่อนจะค่อย ๆ เคลื่อนผ่านทะเลอาหรับไปมายังอินเดียผู้ตกอยู่ใต้ดินแดนอาณานิคมของอังกฤษก่อนจะลงมาทางใต้เข้าสู่คอคอดกระอาณาจักรพม่าและเข้าสู่เขตสยาม เวียดนาม เกาะเบอร์เนียว และสิ้นสุดที่ทางใต้ของเกาะนิวกินี ใจกลางคราสในครั้งนี้อยู่ที่บริเวณอ่าวไทย ซึ่งหากพูดกันตามจริงพื้นที่เหมาะสมแก่การสังเกตการณ์สุริยุปราคาในครั้งนี้คือชุมชนเล็ก ๆ ชุมชนหนึ่งติดริมทะเล ที่ชื่อว่า หว้ากอ

ภาพแสดงสถานที่คราสผ่านและจุดกึ่งกลางของคราสชุดแซรอส 133 ณ วันที่ 18 สิงหาคม 1868 ที่มา NASA

หว้ากอ ดาราศาสตร์ใจกลางพงไพร

เมื่อ 150 ปีที่แล้ว สยามกลายเป็นจุดสนใจของนักวิทยาศาสตร์นานาชาติไปในทันที ใครจะไปคิดว่ากษัตริย์ของสยามดินแดนตะวันออกที่ล้าหลังจะออกมาประกาศถึงเรื่องราวของสุริยุปราคาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ว่าจะเกิดสุริยุปราคาในวันที่ 18 สิงหาคม 1868 และบริเวณที่เห็นคราสยาวนานที่สุดจะอยู่ในดินแดนของสยามอีกด้วย ทั้งยังทรงระบุเวลาที่เงาของดวงจันทร์เริ่มเข้าบดบังดวงอาทิตย์ เวลาที่จับเต็มดวง จนเวลาที่คลายออกทั้งหมดและทรงเชิญนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติและทูตานุทูตมาร่วมสังเกตการณ์ นับว่าทรงมีความกล้าหาญและเชื่อมั่นสูงมากเพราะหากผิดพลาดก็จะเป็นการเสียพระเกียรติเป็นอย่างยิ่ง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงร่วมสังเกตการณ์สุริยุปราคาร่วมกับคณะนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ณ จุดสังเกตการณ์สุริยุปราคา หว้ากอ วันที่ 18 สิงหาคม 1868

เมื่อใกล้วันเวลาที่นัดหมาย คณะนักวิทยาศาตร์และบรรดาแขกมากมายจากทั่วทุกสารทิศก็มาร่วมกันอยู่ที่หว้ากอ การต้อนรับคณะแขกบ้านแขกเมืองในครั้งนี้ บรรดาแขกทั้งหลาย ไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้พบกับความโก้หรูตามยุคสมัยใจกลางป่าที่ห่างไกลจากพระนครในสยามประเทศ มีการจัดจ้างเชฟชาวฝรั่งเศสและหัวหน้าพนักงานเป็นชาวอิตาเลี่ยน มีวิสกี้ น้ำองุ่น พร้อมน้ำแข็งตามสมัยซึ่งในสมัยนั้นสยามยังไม่สามารถผลิตน้ำแข็งได้เองยังต้องนำเข้าจากเกาะสิงคโปร์ ช่างหรูหราฟู่ฟ่าตามยุคสมัยเหลือเกิน

วันนัดหมายเหตุสำคัญก็มาถึง เช้าวันที่ 18 สิงหาคม 1868 ยามเจ็ดโมงสามารถมองเห็นดวงจันทร์สีเทาอยู่เรี่ย ๆ ขอบฟ้า ท้องฟ้าแจ่มใส มีเมฆบาง ๆ ลอยอยู่ให้เห็นจาง ๆ แต่เมื่อเวลาใกล้เข้ามาอากาศแปรปรวน เมฆก้อนใหญ่สีดำลอยเข้ามาปิดท้องฟ้าจนมืดมิด ห่าฝนตกลงมาอย่างหนักในหมู่บ้าน ทุกคนเริ่มหมดหวัง แต่แล้วไม่นานอากาศก็แปรเปลี่ยนอีกครั้ง ฟ้ากลับมาสว่างสดใสอีกครั้ง ทุกคนจึงเริ่มออกไปยืนมองดวงจันทร์ที่ลอยเข้ากินดวงอาทิตย์เรื่อย ๆ อย่างใจจดจ่อ จนหมดดวงในเวลา 11.36 น. 22 วินาที มีเพียงชั้นโคโรน่าของดวงอาทิตย์ที่พุ่งเป็นเปลวออกมาให้เห็นเท่านั้นในช่วงที่ถูกคราสกิน

ขณะนั้น หว้ากอก็มืดลงเหมือนยามค่ำ ฝูงนกบินกลับรังกันจ้าระหวั่น ฝูงลิงส่งเสียงเจี้ยวจ้าวกันยกใหญ่ในป่า ไก่ขันกันระเบ็งเซ็งแซ่ เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิบริเวณนั้นลดลง 6 องศาเซลเซียสจนทุกคนรับรู้สึกถึงความหนาวเย็น ชาวบ้านในหมู่บ้านส่งเสียงเอิ้กเกริก ยิงประทัดตีกลองกันให้อึกระทึก ครึกโครม

 

ภาพวาดบันทึกเหตุการณ์สุริยุปราคาในวันที่ 18 สิงหาคม 1868

คราสนั้นกินเวลารวมแล้ว 6 นาที 46 วินาที ซึ่งมากกว่าที่ พระองค์ทรงคำนวนไว้ถึง 1 นาที แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงพระสำราญมากเพราะว่าสุริยุปราคาได้พิสูจน์แล้วว่าการคำนวนของพระองค์นั้นแม่นยำเหนือกว่าที่นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้คำนวนไว้ถึง 2 นาที ทำให้พระเกียรติของพระองค์กึกก้องไปทั่วทุกสารทิศ จนชาวฝรั่งยกย่องและให้เกียรติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยให้นามสุริยุปราคาครั้งนี้ว่า The King of Siam’s eclipse

ธาตุจากดวงอาทิตย์

18 สิงหาคม 1868 ณ เมืองที่ชื่อว่า Guntur ในอินเดียซึ่งสมัยนั้นอินเดียยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอยู่ นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสนามว่า Pierre Janssen หรือที่เรารู้จักกันในนาม Jules Janssen ได้เดินทางมายังเมืองแห่งนี้เพื่อการดูสุริยุปราคาครั้งประวัติศาสตร์ ไม่มั่นใจเหมือนว่าเหตุผลใด Janssen ถึงไม่เดินทางมาดูสุริยุปราคาที่สยามตามคณะนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส แต่ถึงกระนั้น มันก็คือคราสเงาเดียวกันนั้นแหละ เพียงแต่คนละเวลาและสถานที่เท่านั้น

ภาพถ่ายของ Pierre Janssen นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส

สิ่งที่ Janseen สนใจในสุริยุปราคาในครั้งนี้คือ การศึกษา Solar prominence ด้วยเครื่อง Spectroscope ในสุริยุปราคา เพราะในช่วงสุริยุปราคา ตัวดวงอาทิตย์จะถูกบดบังด้วยเงาของดวงจันทร์ทำให้สามารถศึกษาชั้น Chromosphere ของดวงอาทิตย์ได้ง่ายมากขึ้น เมื่อเขาได้เอาอุปกรณ์ของเขาส่องเข้าไปที่ชั้น Chromosphere ของดวงอาทิตย์ แสงจากธาตุได้แตกออกตามระดับชั้นพลังงานของอิเล็กตรอนของธาตุที่เป็นพลาสม่าของ Chromosphere เป็นช่วงสเปกตรัมที่แปลกประหลาด เหมือนกับธาตุที่ไม่เคยพบเคยเจอที่ไหนมาก่อน คลื่นค่อนไปทางสีเหลือง ซึ่งมีความยาวคลื่นที่ช่วง 587.49 nm.

ภาพถ่ายชั้น Chromosphere ในสุริยุปราคา ณ วันที่ 11 สิงหาคม 1999 ภาพถ่ายโดย Luc Viatour

แถบสเปกตรัมของธาตุฮีเลียม

ในข้อสันนิษฐานแรกของ Janseen เขาคิดว่าเส้นสเปกตรัมที่เขาเห็นจาก Spectroscope นั้นคือธาตุโซเดียม แต่เมื่อเขาทำการเทียบแล้ว ไม่เคยมีแถบสเปกตรัมของธาตุไหนบนโลกที่มีแถบสเปกตรัมที่อยู่ในช่วงความยาวคลื่นนี้เลย ต่อมาในวันที่ 20 ตุลาคม ในปีเดียวกัน ชายชาวอังกฤษมาดผู้ดีนาม Norman Lockyer ได้สร้างเครื่องมือชนิดหนึ่งขึ้นมาเพื่อทำการศึกษาสเปกตรัมชั้นโคโรน่าของดวงอาทิตย์โดยเฉพาะโดยที่เราไม่จำเป็นต้องรอสุริยุปราคาก็สามารถศึกษาได้เลยทันที เครื่องมือตัวนี้คือกล้องโทรทรรศน์ที่ออกแบบให้มีแผ่นปิดที่กึ่งกลางของกล้องและมีขนาดเท่ากับขนาดดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า เพื่อปิดไม่ให้แสงจากพื้นผิวดวงอาทิตย์รบกวนการตรวจวัดของเครื่อง Spectroscope

ภาพถ่ายของ Norman Lockyer ในวัยหนุ่ม

Lockyer ภาคภูมิใจกับผลลงานชิ้นนี้มาก เขาได้ทดลองครั้งแรกที่ลอนดอนโดยทำการตรวจวัดเส้นสเปกตรัม ซึ่งผลที่ได้มันก็ยังออกมาเป็นเหมือนที่ Janseen ได้พบทุกประการ เพราะมันคือธาตุชนิดเดียวกันยังไงละ และ Lockyer ก็ได้ตั้งชื่อธาตุชนิดนี้ว่า D3 เพราะมันมีลักษณะของแถบสีใกล้เคียงกับ D1 และ D2 ซึ่งเขารู้ดีว่าธาตุที่เขาพบจาก Spectroscope นั้นไม่ใช่ธาตุที่อยู่บนโลกตามปกติทั่วไปเป็นแน่แท้ เขาและเพื่อนนักเคมีชาวอังกฤษ Edward Frankland ได้ตั้งชื่อธาตุ D3 ที่เขาค้นพบนี้ว่า Helium เพราะว่ามาจากคำว่า Helios ตามชื่อของเทพแห่งดวงอาทิตย์ในตำนานกรีก

ภาพ GIF เคลื่อนไหวแสดงถึงพฤติกรรมของโคโรน่า โดยที่ใช้เทคนิคในการถ่ายภาพเป็นเทคนิคเดียวกับที่ Lockyer ได้ใช้ในการศึกษาสเปกตรัมของโคโรน่าเมื่อปี 1868 ที่มา NASA SOHO

Janseen ได้วิเคราะห์ว่าสิ่งที่เขาตรวจวัดได้นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เขาพยายามเรียบเรียงถึงสิ่งที่เขาได้ค้นพบ และเขียนเรียบเรียงเนื้อหาส่งไปยังราชสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศสและมันช่างน่าขันเสียเหลือเกินที่จดหมาย Lockyer ที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับธาตุตัวใหม่ตัวเดียวกัน ที่มีเส้นสเปกตรัมเดียวกัน จะถูกส่งมาถึงราชสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศสในวันเดียวกันอย่างกับบุพเพสนิวาท

เอาจริงแทบไม่มีใครเชื่อว่าธาตุที่พวกเขาสองคนเจอจะเป็นธาตุที่มีตัวตนจริง จนในปีถัดมา มีการเปิดตัวของสิ่งประดิษฐ์ที่เด็กสายวิทย์ทุกคนเกลียด ตารางธาตุ

ตารางธาตุ คำทำนาย ฮีเลียมและ Heliophysics

ตารางธาตุที่เราใช้งานอยู่ตามหนังสือเรียนหรือบนฟีดเจอร์บอร์ดตามหน้าห้องวิทยาศาสตร์นั้น มีที่มาที่ไปมาจากชายนักเคมีชาวรัสเซีย Dmitriy Mendeleye เขาเป็นนักเคมีที่ออกแบบวางแผนสร้างตารางธาตุขึ้นมาโดยอาศัยหลักการคือแบ่งประเภทของธาตุตามแนวโน้มของสมบัติของธาตุซึ่งมันทำให้ง่ายต่อการจัดแยกหมวดหมู่และประเภทของธาตุ สำหรับธาตุที่ค้นพบแล้วก็จะเขียนไว้ ส่วนธาตุที่ยังไม่ได้ถูกค้นพบก็จะถูกเว้นว่างเอาไว้ เพื่อรอวันหนึ่งจะมีผู้มาค้นพบและได้ปะติปะต่อและเติมธาตุใหม่ที่ได้ค้นพบเขาไปในระบบตารางธาตุของเขา ซึ่งระบบตารางธาตุของเขาที่เขาได้วางแบบเอาไว้ก็เป็นรากฐานสำคัญมาสู่ตารางธาตุของที่เราใช้งานกันอยู่ในทุกวันนี้

ตารางธาตุของเมนเดเลเยฟที่ถูกตีพิมพ์เมื่อปี 1869

และมันคือหนึ่งในแรงสนับสนุนสำคัญของการมีอยู่ของธาตุที่มีเลขอะตอม 2

ต่อมาในปี 1895 Sir William Ramsay ได้นำสารที่ชื่อว่า Cleveite ซึ่งเป็นสารประกอบจำพวกหายากมาก ๆ ( rare-earth elements ) มาหยดด้วยสารจำพวกกรด ซึ่งทำให้แร่ชนิดนี้ปล่อยแก๊ส ระหว่างที่ Ramsay กำลังมองหาแก๊สอาร์กอนและพยายามกำจัด ไนโตรเจนและออกซิเจนออกจากระบบโดยการใช้กรดกำมะถันในการทำปฏิกริยาอยู่นั้น เขาก็ได้พบกับเส้นสเปกตรัมสีเหลืองสดใสเหมือนกับสาร D3 ที่พบบนดวงอาทิตย์ และนี่คือหลักฐานยืนยันการมีตัวตนของธาตุที่มีชื่อว่า ฮีเลียม ว่า ธาตุชนิดนี้มีตัวตนจริงในเอกภพแห่งนี้ ผ่านการค้นพบครั้งแรกจากสุริยุปราคา

Janssen และ Lockyer ทั้งสองได้รับเกียรติว่าเป็นผู้ค้นพบธาตุฮีเลียมเป็นสองคนแรกของโลก และเทคนิคของ Lockyer ที่ได้ใช้กับกล้องโทรทัศน์เพื่อใช้ในการส่องมองชั้นโคโรน่าของดวงอาทิตย์ นี่คือเทคนิคที่ทำให้การศึกษาดวงอาทิตย์ของมนุษยชาติเป็นไปได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องรอให้เกิดสุริยคราสเพื่อที่จะศึกษาชั้นบรรยากาศรอบนอกของดวงอาทิตย์ เทคนิคของเขานำพาให้มนุษยชาติกำเนิดศาสตร์ใหม่ที่เราเรียกว่า Heliophysics และทุกวันนี้เรายังคงใช้เทคนิคนี้ในการศึกษาพฤติกรรมของดวงอาทิตย์และทำให้เราเข้าใจถึงดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างไกล ซึ่งทำให้เราเข้าใกล้ถึงคำตอบของปริศนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ ต้นกำเนิดของเอกภพ

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

TOTAL SOLAR ECLIPSE OF 1568 SEPTEMBER 21 | NASA

TOTAL SOLAR ECLIPSE OF 1643 MARCH 20 | NASA

TOTAL SOLAR ECLIPSE OF 1688 APRIL 30 | NASA

TOTAL SOLAR ECLIPSE OF 1742 JUNE 03 | NASA

Besselian Elements – Total Solar Eclipse of 1868 August 18 | NASA

List of Solar Saros 133 | Espenak, Fred  ผ่าน Wikipedia

สุริยุปราคา หว้ากอ | กรมศิลปากร

ขอบคุณเป็นพิเศษ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

Jirasin Aswakool | Researcher Assistant | นักวิจัยอยากผันตัวกลับมาทำงานสื่อสารวิทยาศาสตร์