ชมงานแอนิเมชันภารกิจ Artemis III ฝีมือคนไทย กับอิทธิพลของ Popular Culture

ภารกิจหรือกิจกรรมในอวกาศรวมไปถึงกิจกรรมในวงการวิทยาศาสตร์ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ในสมัยนั้นได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งในทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไปไม่ได้เลยหากปราศจากสิ่งที่เรียกกันว่า “สื่อ” ย้อนกลับไปสมัยสังครามเย็น ยุคสมัยของการแข่งขันการสำรวจอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ในตอนนั้นสิ่งที่เรียกความสนใจให้กับผู้คนในตอนนั้นก็คงหนีไม่พ้นหนังสือพิมพ์และรายการโทรทัศน์ที่สื่อหลายสำนักต่างพากันให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกับช่วงการปล่อยจรวดภารกิจในของโครงการ Apollo หรือแม่กระทั่งภายหลังการแข่งขันจบลง โครงการกระสวยอวกาศก็ยังมีอิทธิพลต่อใครหลายคนมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเรียกได้ว่าสามารถสร้างแรงบันดาลใจไปได้ไม่มากก็น้อยกันเลยทีเดียว

แต่การจะให้ยกเครดิตให้การแข่งขันการสำรวจอวกาศทั้งหมดก็ไม่สิ่งที่ถูกเสียทีเดียว ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น สิ่งที่มีอิทธิพลกับผู้คนเกี่ยวกับอวกาศจะมาจากสื่อบันเทิง ซีรีส์ทางโทรศัพท์เป็นส่วนใหญ่ แต่ภาพจำของมันที่ยังถูกส่งต่อมาจนถึงทุกวันนี้คงเป็น Star Trek ซึ่งจริง ๆ มันก็มีกันมาก่อนหน้านั้นแล้ว จนมาถึงช่วงปลายยุคของการแข่งขันการสำรวจอวกาศ ทางฝั่งประเทศญี่ปุ่นก็มีซีรีส์ทางโทรศัพท์ต่าง ๆ ที่ได้ใช้ความเป็น Science Fiction เป็นพื้นฐานกันอยู่หลายเรื่อง โดยเรื่องที่โด่งดังในตอนนั้นคงจะเป็นแอนิเมชันที่มีชื่อว่า 宇宙戦艦ヤマト หรือ เรือรบอวกาศยามาโตะ ซึ่งมีอิทธิพลขนาดเป็นส่วนหนึ่งของไอเดียให้กับชุดภาพยนตร์อันโด่งดังอย่าง Star Wars และตามมาด้วยแอนิเมชันอีกชุดที่เด็ก ๆ ยุคนี้ต้องรู้จักคือ 機動戦士ガンダム หรือโมบิลสูทกันดั้มที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน Science Fiction ที่สมจริงที่สุดในหลายแง่มุม

แต่ยุคที่อวกาศถูกหยิบมาใช้เป็นพื้นหลังของการเล่าเรื่องสุดสร้างสรรค์คงเกิดขึ้นและจบลงในช่วงระหว่างยุค 50 ไปจนจึงยุค 80 เนื่องจากความนิยมที่น้อยลงไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ถึงขนาดสูญพันธุ์ไปจากวงการนี้ อวกาศยังถูกหยิบมาใช้เล่าเรื่องอยู่เรื่อย ๆ ทั้งจากสื่อบันเทิงทางโทรศัพท์และภาพยนตร์จอเงิน มีทั้งเรื่องที่ดังเป็นพลุแตกจนเป็นตำนานที่ทุกวันนี้ยังถูกหยิบมาพูดถึงระดับเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนยุคใหม่และบางเรื่องที่ค่อย ๆ หายไปตามกาลเวลา

กลับมาในยุคปัจจุบัน ยุคที่เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายกว่าเดินไปซื้อบะหมี่หน้าปากซอย อะไรที่เกี่ยวกับอวกาศที่เห็นได้ง่ายสุดคือการถ่ายทอดสดการปล่อยจรวดของ SpaceX และบริษัทจรวดยักษ์ใหญ่อีกหลายราย ไปจนถึงการสร้างสรรค์งานศิลป์ที่มีตั้งแต่ศิลปินมือสมัครเล่นไปจนถึงระดับมืออาชีพหลายรายที่ได้หยิบคำว่าอวกาศมาเป็นหัวข้อหลักในการสร้างผลงานที่มีอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายคนหรือแม้กระทั้งคนที่ทำงานในวงการอวกาศจริงก็ได้รับอิทธิพลมาจากคนกลุ่มนี้ด้วย

ในวันนี้เราจะพาไปชมแอนิเมชันโดยฝีมือแอนิเมเตอร์ชาวไทยท่านหนึ่ง ที่ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศจนได้หยิบมาทำเป็น Short Animation อย่างบิ๊คหรือ BikMCTH คอนเทนท์ครีเอเตอร์และแอนิเมเตอร์มากประสบการณ์ที่สร้างสรรค์ผลงานด้วยเกม Minecraft โดยแอนิเมชันที่เราอยากพาทุกคนไปรับชมกันคือ Minecraft – Short Animation “ARTEMIS” เรื่องราวของการส่งมนุษย์กลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้งนับตั้งแต่การลงจอดครั้งสุดท้ายของ Apollo 17 ในปี 1972

ในที่นี้ เราอยากให้ทุกคนได้รับชมแอนิเมชันตัวนี้กันก่อน แล้วเดี๋ยวมาเจอกันตอนอธิบายเพิ่มเติม ผ่านการตีความของเรา และเสริมรายละเอียดเทียบกับความเป็นจริงด้านล่าง

“เหล่าผู้ชายที่มาเยือนที่นี่มาจากดาวเคราะห์โลก ก้าวแรกที่ได้เหยียบลงบนดวงจันทร์ เดือนกรกฏาคม ปี 1969 พวกเรามาอย่างสันติเพื่อมวลมนุษยชาติ” ถ้อยคำที่ได้ถูกพิมพ์ลงบนแผ่น Lunar Plaque ที่ติดไปกับขาลงจอดของยานลงจอด Eagle ในภารกิจ Apollo 11 ภารกิจลงจอดดวงจันทร์โดยมนุษย์ภารกิจแรกของสหรัฐอเมริกาและของมนุษย์ จนถึงทุกวันนี้มันก็ยังอยู่บนนั้น ยังคงแสดงให้เห็นถึงก้าวแห่งความสำเร็จเพียงก้าวแรกที่ไม่ได้ได้มาด้วยความง่ายดาย

สถานีอวกาศนานาชาติกับตลอดระยะเวลาร่วม 30 ปีของเหล่ากระสวยอวกาศ เป็นก้าวกระโดดเล็ก ๆ และการเดินทางที่ไม่ได้ไกลมากนักของเหล่ามนุษย์ ที่ต่างยังคงเฝ้ามองดวงดาวและหวังว่าซักวันหนึ่งจะได้พิชิตดวงแสงน้อยใหญ่ที่อยู่บนฟากฟ้า และยุคของกระสวยอวกาศก็ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ไม่ว่าจะในทิศทางที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม ความหลากหลายที่ได้เกิดขึ้น การเอื้ออาทรต่อกัน แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เรานั้นไม่ยอมที่จะหยุดก้าวไปข้างหน้า

กลับมาในยุคปัจจุบัน ยุคที่มนุษย์เรามีและได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากพอที่พร้อมจะพาเราก้าวเท้าออกจากเปลเด็กที่เรียกว่าโลกได้อย่างกล้าหาญและปลอดภัย และเรากำลังกลับไปอีกครั้ง โครงการ Artemis เหมือนกับชื่อเรือสมมติของ BikMCTH ที่ถูกใช้เป็นฐานส่งจรวด Space Launch System ที่กลับไปในครั้งนี้ จะเป็นการทุ่มเทให้เพื่องานทางด้านวิทยาศาสตร์และเศรษฐกิจที่จะนำโอกาสใหม่ ๆ มาสู่ผู้คน แสดงให้รู้ว่าเรากำลังก้าวไป

“…7 6 5 เครื่องยนต์ทั้งสี่เริ่มทำงาน 3 1 จุดระเบิดบูสเตอร​์ และอาร์ทีมิสออกตัวไปแล้ว ทะยานไปด้วยกันกลับสู่ดวงจันทร์และไกลออกไป…” จรวด Space Launch System ได้พุ่งทะยานออกจากฐานส่ง พร้อมพาความหวังใหม่ที่จะคว้าอนาคตมาสู่มนุษยชาติ ด้วยกำลังขับมากถึง 3.8 ล้านกิโลกรัม ตัวจรวดได้พุ่งไกลออกไปตามวิถีจรวดที่ได้วางแผนไว้อย่างราบรื่น จนกระทั่งนาทีที่ 2:12 ให้หลังจากการปล่อย จรวดบูสเตอร​์สีขาวขนาบข้างทั้งสองท่อนได้แยกตัวออกจากจรวดหลัก เหลือเพียงแรงขับเพียงหนึ่งในห้าที่เป็นส่วนของเครื่องยนต์ RS-25 ทั้งสี่เครื่องที่มีศักยภาพมากพอประคองจรวดให้บินต่อไป

ฝาครอบ Service Module และ Launch Abort Tower ได้แยกตัวออกจากจรวดหลักตามหลังบูสเตอร์ขาวทั้งสองไปเพียงหนึ่งนาทีหลังจากนั้น แต่เครื่องยนต์หลักทั้งสี่อย่าง RS-25 ก็ยังคงทำงานต่อไป ในนาทีที่ 8:16 หลังออกจากฐาน เครื่องยนต์หลักทุกเครื่องได้ตัดการทำงานลง และได้ส่งไม้ต้อให้จรวดท่อนถัดไป ท่อนจรวดที่ได้รับการอัพเกรดจาก Delta Cryogenic Second Stage ของจรวดตระกูล Delta IV อย่าง Interim Cryogenic Propulsion Stage ได้จุดระเบิดเครื่องยนต์ RL10 เพื่อพายานโอไรออนขึ้นสู่วงโคจรของโลก

หลังจากพาจรวดสู่วงโคจรได้แล้วหนึ่งวัน ที่เมื่อเทียบกับภารกิจในความเป็นจริงแล้วจะใช้เวลาเพียงสองชั่วโมง เครื่องยนต์ RL10 เพียงเครื่องเดียวของท่อนจรวด ได้จุดระเบิดและกลับมาทำงานอีกครั้ง พายานโอไรออนมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ นับเป็นภารกิจที่เครื่องยนต์ RL10 ได้ทำงานต่อเนื่องยาวนานที่สุด กลับมาบนโลก ระบบสื่อสารสำหรับภารกิจในห้วงอวกาศลึก นับได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ว่าภารกิจไหนในห้วงอวกาศลึกก็จำเป็นต้องพึ่งพาระบบสื่อสารนี้

ยานไรออนและโมดูล European Service Module ได้แยกตัวออกจากท่อนจรวด ICPS เพื่อมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ สองวันต่อมาเมื่อเทียบกับความเป็นจริงที่กินระยะเวลาประมาณ 8-10 วัน ยานโอไรออนได้เข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์และได้เข้าเทียบกับยาน Starship ของบริษัท SpaceX ซึ่งเป็นยานเพียงรุ่นเดียวในตอนนี้ที่ได้เงินทุนและลงสัญญากับ NASA ในการพัฒนายานลงจอดรุ่นใหม่ในโครงการ Human Landing System ที่ในความเป็นจริงแล้วตัวยานไอไรออนสามารถทำได้ทั้งเทียบกับยาน Starship ได้โดยตรง และเทียบกับสถานีอวกาศ Lunar Gateway ก่อนแล้วส่งคนขึ้นยานลงจอดหลังจากนั้น

เมื่อทำการเทียบยานแล้ว ตัวยานลงจอด Starship ได้แยกตัวออกห่างจากยานไอไรออน พร้อมทำการจุดระเบิดเครื่องยนต์ Raptor สุญญากาศทั้งสามเครื่อง เพื่อลดระดับวงโคจรและเตรียมการลงจอด ขายานลงจอดทั้งสี่ได้กางออกเพื่อเตรียมรับแรงกระแทกในการลงจอดที่จะมาถึง ยานลงจอดได้ค่อย ๆ ลดระดับเข้าหาพื้นผิวของดวงจันทร์ ตัวยานได้ตัดการทำงานของเครื่องยนต์หลักเพื่อตัดไปใช้ทรัสเตอร์ขับดันนับสิบตัวที่มีแรงขับน้อยกว่าเพื่อความสามารถในการคุมความเร็วในการลงจอดที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

ยานลงจอดได้สัมผัสพื้นผิวดวงจันทร์อย่างนุ่มนวลในที่สุด ทรัสเตอร์ทุกตัวได้ตัดการทำงานลง ประตูยานได้เปิดออก ตามมาด้วยลิฟต์ที่ได้ลดระดับลงมาอย่างช้า ๆ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ได้เตรียมก้าวขาเหยียบลงบนดวงจันทร์อีกครั้ง แต่การเหนียบย่ำบนผืนแผ่นดินดวงจันทร์ในครั้งนี้ไม่ได้แปลว่าเราจะหยุดกันแค่ตรงนี้ ดังที่แอนิเมชันได้แสดงให้เห็น ดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ทั้งเจ็ดดวง บ้านของเราอย่างโลก รวมไปจนถึงอวกาศอันกว้างใหญ่ ยังคงรอให้มนุษย์เราได้ออกไปผจญภัยเพื่อเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติที่กว้างขึ้นต่อไป

แอนิเมชันตัวนี้ เป็นการแสดงภาพรวมของภารกิจลงจอดอาร์ทีมิส และเน้นไปที่ภารกิจ Artemis 3 ที่จะเป็นภารกิจแรกของโครงการนี้นี่จะพามนุษย์กลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง โดยถึงแม้ว่าจะไม่ได้สมจริงทุกกระเบียดนิ้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่งานศิลป์จะมีการถูกแต่งเติมลงไปจากจินตนาการของผู้สร้างสรรค์ผลงาน อย่างเรือฐานส่งขนาดใหญ่ก็เป็นการแต่งเติมที่ได้อ้างอิงจากความเป็นจริงลงไป เพราะในความเป็นจริงก็มีการส่งจรวดโดยฐานส่งกลางทะเลให้เห็น ประกอบกับข้อจำกัดต่าง ๆ โดยเฉพาะกับการเอาของจากวิดีโอเกมมาสร้างแอนิเมชัน

ทางผู้เขียนเองก็ได้มีส่วนช่วยคุณ BikMCTH ในการสร้างแอนิเมชันตัวนี้ขึ้นมา ทั้งจรวด SLS ในเกมและได้ให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคบางส่วนเกี่ยวกับภารกิจ Artemis นับได้ว่าเป็นหนึ่งในงานที่สนุกที่ได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานกับทางเจ้าตัว นอกจากนี้แล้วทาง BikMCTH ยังมีผลงานที่ยังเกี่ยวข้องกับภารกิจอวกาศอีกพอสมควร ที่ได้รวมรวมไว้แล้วใน Short Animation – Space Adventure แสดงให้เห็นถึงความสนใจในภารกิจอวกาศและวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากในหมู่ครีเอเตอร์ชาวไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราชื่นชม

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

19 y/o Just mechanical engineering student, hobbyist illustrator, amateur writer who wanted to be a rocket propulsion engineer.