พาเดิน Techsuace Global Summit ความเชื่อกับวิทยาศาสตร์

เมื่อพูดกันทั่ว ๆ ไปว่าวิทยาศาสตร์ คนอาจจะมองว่าวิทยาศาสตร์อาจจะเป็นเพียงแค่วิชาวิชาหนึ่งในห้องเรียนเท่านั้นเหมือนกับภาษาไทย ศิลปะ คณิตศาสตร์ แต่ถ้าจะให้พูดกันจริง ๆ แล้ว การเรียนวิทยาศาสตร์นั้นไม่ใช่การเรียนการทดลองต่าง ๆ แก่นแท้ของมันคือวิธีคิด ซึ่งหลายครั้งที่ผู้เขียนได้เคยถูกให้พูดถึงวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง สังคม และวัฒนธรรมไปบ้าง วันนี้เลยอยากมาแชร์เรื่องราวของวิทยาศาสตร์ในธุรกิจกัน

ทีมงานได้รับเชิญให้มาร่วมงาน Techsauce Global Summit ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นวันที่ 19-20 มิถุนายน ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งปีนี้มีการเน้นไปที่หัวข้อ Celebrating World Changing Technologies หรือเฉลิมฉลองให้กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลก ทำให้บทสนทนาในปีนี้คงจะหนีไม่พ้น AI, Machine Learning, Blockchain หรือการทำ Image Processing ต่าง ๆ ไปจนถึง Content และ Media อย่าง Argumented Reality ต่าง ๆ

แต่หนึ่งในสิ่งที่สะดุดหูของทีมงานก็คือการเล่าเรื่องเปรียบเปรยที่บอกว่า “ทุกวันนี้คนไม่รู้ว่า HTTPS ทำงานยังไง แต่คนรู้ว่า HTTPS นั้นปลอดภัย” หรือถ้าง่าย ๆ บางคนไม่รู้จัก HTTPS ด้วยซ้ำ รู้แค่ว่าถ้าจะเข้าเว็บที่ปลอดภัยต้องขึ้นเป็นกุญแจสีเขียว ๆ

หลังจากนั้นก็คือ ถ้าเราตั้งคำถามเดียวกัน ก็พอไปในทางได้ว่าแล้ว Machine Learning ล่ะ แล้ว Blockchain ล่ะ อาจจะพอเดาออกได้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะสื่อก็คือ คนก็ไม่จำเป็นต้องรู้เช่นเดียวกันว่า Blockchain ทำงานอย่างไร แต่มันจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อคนรู้สึกว่า Blockchain มันปลอดภัย หรือมัน Powerful

แต่ประเด็นก็คือ ความเชื่ออย่างเดียวมันเอามาใช้เป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ เราจะสร้างนวัตกรรมที่มาจากวิทยาศาสตร์ แต่บอกคนว่าไม่จำเป็นต้องคิดแบบวิทยาศาสตร์ แบบนี้มันจะขัดแย้งกันไหม ?

จริง ๆ แล้วเราอาจจะต้องแยกระหว่าง “ความเชื่อ” กับ “ความเข้าใจ” อธิบายง่าย ๆ เรารู้ว่าการดื่มนมมีประโยชน์ ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถอธิบายกระบวนการดูดซึมแคลเซียมของร่างกายที่เกิดขึ้นได้

รวมถึงกรณีของ HTTPS ที่บอกไปเหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจว่าการเข้ารหัสคืออะไร แค่รู้ว่าการเข้ารหัสนั้นปลอดภัย แต่นี้นี้ถามว่าคนที่เป็นคนสร้างมันขึ้นมารู้แค่นั้นพอไหมบอกได้เลยว่าไม่พอ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราต้องเข้าใจไม่ใช่การอธิบายได้แบบลงลึกว่าสิ่งนั้นทำงานอย่างไร แต่คือการหาความไม่สมบูรณ์ของมันต่อไปเรื่อย ๆ อย่างเช่นกรณีของ HTTPS ก็เกิดจากการศึกษาพบว่า HTTP นั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบ

อีกกรณีนึงที่ทำให้เห็นได้ชัดก็คือเอดิสัน ไม่ได้ผลิดหลอดไฟจากการทำเทียนให้ดีขึ้น ไม่ได้ผลิตหลอดไฟจากการศึกษาเทียน หรือทำความเข้าใจเทียนอย่างละเอียดลึก

จะสังเกตว่าหลาย ๆ ธุรกิจ หรือแม้กระทั่งหลาย ๆ เรื่องราวในงาน Techsauce Global Summit นี้ ไม่ได้เกิดจากการพัฒนาของเก่าเหมือนกัน แต่เป็นการหาความไม่สมบูรณ์แบบ

คนทำธุรกิจจึงควรรู้และเข้าใจกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมันช่วยให้เรามองเห็นในมุมที่เป็นการมองมุมกลับ หรือการคิดอย่างมีตรรกะ เพราะการพัฒนาสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นถ้าทำไปอย่างตาบอด ก้มหน้าก้มตา โอกาสที่เราจะ too busy to improve นั้นมีสูงมาก

ยกตัวอย่างกรณีที่วิทยาศาสตร์ช่วยให้เราคิดได้กว้างขึ้นที่ผู้เขียนมักจะนำมาเล่าบ่อย ๆ คือ Survivor Bias และ กระบวนการคิดที่ป้องกันการ overwrite ความเป็นไปได้ สำหรับ Survivor Bias เป็นเรื่องที่เรามัวแต่สนใจสิ่งที่สำเร็จจนลืมนึกไปว่าปัจจัยบางอย่างมาจากการศึกษาความล้มเหลว

เรื่องเล่าของ Survivor Bias มีอยู่ว่ามีการส่งเครื่องบินรบไปทิ้งระเบิด แต่ส่วนมากกลับถูกยิงตกหมด พอกองทัพอากาศมาศึกษาเรื่องบินที่รอดกลับมาที่ฐานก็พบว่าเครื่องบินถูกยิงที่ปีกจนพรุนทุกลำ กองทัพอากาศจึงเสริมเกราะไปที่ปีก แต่ผลที่ได้จำนวนเครื่องที่รอดกลับมาก็ยังน้อยอยู่เหมือนเดิม สาเหตุก็เพราะว่า “ในเมื่อเครื่องที่กลับมาถูกยิงที่ปีกแปลว่าการถูกยิงทีปีกไม่ได้ทำให้ตาย แต่เครื่องที่ตกเพราะถูกยิงที่ตรงอื่น” ดังนั้นถ้าจะแก้ ก็ต้องไปเสริมเกราะตรงอื่นที่ไม่ใช่ที่ปีก

เหมือนกับหลาย ๆ ธุรกิจในปัจจุบัน ถ้าเราศึกษา startup หลาย ๆ ตัวเราอาจจะเห็น pattern บางอย่างที่เรากำลัง Survivor Bias มันอยู่หรือเปล่า อันนี้ก็ต้องลองคิดดู

อีกอันหนึ่งก็คือการ overwrite วิทยาศาสตร์สอนให้เราไม่ overwrite ข้อมูล อธิบายง่าย ๆ มันคือวิชาการให้เหตุผลที่เราเรียนกันตอนมัธยมนั่นแหละ สมมติว่าเราทดลองวิทยาศาสตร์ 10 ครั้ง ได้ผลตามที่เราตั้งสมมติฐานไว้ 9 ครั้ง แต่ไม่เป็นไปตามสมมติฐาน 1 ครั้งแปลว่าเราสรุปไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นจริง 100% ถ้าสมมติเราเขียนโปรแกรม ค่าที่ได้จะเป็น false ทันที ดังนั้นเราก็ควรไปศึกษาจุดที่ไม่ตรงตามที่เราตั้งไว้ว่าทำไม ไม่ใช่การไปพยายามหาคำอธิบาย 9 ครั้งที่เป็นไปตามที่ต้องการว่าเพราะอะไร อันนี้คือการไม่ overwrite ข้อมูล (หรือ counterexample)

วิทยาศาสตร์ที่ผู้เขียนพูดถึงนั้นไม่ใช่หลักการทางฟิสิกส์ หรือเคมีอะไร แต่หมายถึงวิธีการคิดแบบนักวิทยาศาสตร์นั่นเอง

สรุปแล้วการมางาน Techsauce Global Summit นั้นก็เป็นวิทยาศาสตร์เหมือนกัน เราได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เป็น pattern ที่น่าสนใจ การเติบโตของธุรกิจบางอย่างที่เราพร้อมจะตั้งคำถามกับมัน หรือแม้กระทั่งการตั้งคำถามกับบทความนี้ก็เป็นวิทยาศาสตร์เช่นกัน

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co
ภาพ เสฏฐนันท์ พิพัฒน์ภากร

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.