AI Space Challenge ประกาศ 9 ทีมเข้ารอบชิง ทำ Machine Learning บนสถานีอวกาศ เด็กไทยติดถึง 5 ทีม

AI Space Challenge เป็นโครงการ แข่งขัน คัดเลือกไอเดียการทดลอง โดยใช้เทคโนโลยี Artificial Intelligence / Machine Learning ในการแก้ปัญหาบนอวกาศ โดยการใช้ Edge Computer บนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่ผู้ชนะ จะได้รับสิทธิ์ในการรันการทดลองในอวกาศจริง ๆ เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยให้สิทธิ์เฉพาะประเทศกลุ่มที่กำลังเข้ามามีบทบาทในวงการอวกาศ (Space Emerging Country) ในภูมิภาคอาเซียน และ ไต้หวัน

หลังจากที่โครงการ AI Space Challenge ได้ประกาศรับสมัครผู้เข้าแข่งขัน ไปในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ก็ได้รับการตอบรับจากนักศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน และใต้หวัน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการจัดการแข่งขัน ทางทีมผู้จัดได้ประกาศรายชื่อของ 9 ทีมที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อเข้ามาทำ Final Pitching ให้กับคณะกรรมการ คัดเลือกการทดลอง ขึ้นไปรันบน AI Box ใน Platform การทดลอง Ice Cubes บนสถานีอวกาศนานาชาติ

โดยทีมที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมดนั้นก็ได้แก่

  • 404 จาก King Mongkut’s Institute of Technology Ladkrabang
  • Ad Astra จาก Nanyang Technological University
  • AlstroCat จาก National University of Singapore
  • Blossblecup จาก King Mongkut’s Institute of Technology Ladkrabang
  • Blue Magpie จาก National Central University & National Taipei University of Technology
  • BLUESTAR จาก National Taipei University of Technology
  • Hello World จาก Princess Srisavangavadhana College of Medicine, Chulabhorn Royal Academy
  • Out of This World จาก Sirindhorn International Institute of Technology, Thammasat University
  • The Kerbies จาก Sirindhorn International Institute of Technology, Thammasat University

โดย ทีมที่ผ่านการคัดเลือกนั้น เป็นทีมจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมากที่สุดถึง 4 ทีม ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง 1 ทีม วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 1 ทีม และ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 ทีม

นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยชั้นนำในสิงคโปร์ ไต้หวัน ที่ได้รับคัดเลือก เช่น National University of Singapore (NUS) หรือ National Taipei University of Technology หรือ Taipei Tech

อ่านประกาศฉบับเต็มได้ที่ – Announcement of Finalists

ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายนี้จะต้องเตรียมตัวเพื่อทำการนำเสนอต่อกรรมการ และคณะคัดเลือก ประกอบไปด้วยตัวแทนจากบริษัทอวกาศผู้ร่วมจัดโครงการ สถาบันการศึกษา และบริษัท Space Applications Services เจ้าของ Platform การทดลอง Ice Cubes ภายใต้ความร่วมมือกับ European Space Agency (ESA) บนสถานีอวกาศนานาชาติ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน โดยผู้ได้รับคัดเลือก จะได้สิทธิ์ในการทดลองบนอวกาศเป็นเวลา 3 เดือน

สำหรับโครงการ AI Space Challenge นั้น มีจุดเริ่มต้นจากการแผนการส่ง “AI Box” ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ Nvidia Jetson Xavir ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กแต่ประสิทธิภาพสูง ขึ้นไปติดตั้งบนโมดูล Columbus ของ ESA บนสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อใช้สำหรับการทำงานลักษณะ Edge Computing, Machine Learning และ Deep Learning โดยอาศัยประโยชน์จากการใกล้ชิดกับตัว Sensor ต่าง ๆ บนอวกาศโดยตรง ๆ ทำให้ประมวลผลได้ทันที

AI Box ดังกล่าว ถูกส่งขึ้นไปติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ 21 ธันวาคม 2021 ในเที่ยวบิน CRS-24 ของ SpaceX และได้รับการติดตั้งเข้ากับ Platform Ice Cubes ในเวลาต่อมา และเชื่อมต่อเข้ากับ Sensor ต่าง ๆ บนตัวสถานีเพื่อส่งข้อมูลแรกกลับมายังโลกเมื่อช่วงเดือนเมษายน ทำให้ได้ข้อมูลจากตัวสถานีในช่วงที่มีการจราจรคับคั่ง (ภารกิจ Crew 3, Crew 4 และ Axiom มีกิจกรรมสำคัญในสถานีในช่วงดังกล่าว)

AI Space Challenge จัดขึ้นมาด้วยความร่วมมือของบริษัทอวกาศ เจ้าของ Platform แบบ Commercial แรกใน Module ของ ESA บนสถานีอวกาศนานาชาติ อย่าง “Ice Cubes” ภายใต้บริษัท Space Application Service ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ESA ร่วมมือกับบริษัทอวกาศในอาเซียน (Space Zab จากไทย, Zenith จากสิงคโปร์) และไต้หวัน (บริษัท Gran Systems) เพื่อเปิดโอกาสให้ไอเดียของเด็ก ๆ ในประเทศที่กำลังก้าวเข้ามาในวงการอวกาศโลก (Space Emerging Country) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและทดลองใช้ “AI Box” ก่อนใคร

นอกจากการแข่งขัน ไอเดียในการใช้งาน AI Box แล้ว ทางโครงการยังได้มีการจัดอบรม จัดกิจกรรมให้กับนักศึกษาและผู้สนใจ ผ่านทาง Online Workshop และการบรรยายในมหาวิทยาลัย ซึ่งในไทย ได้มีการจัดบรรยาย และกิจกรรม ร่วมกับ  คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี  สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง อีกด้วย

สำหรับรายละเอียดฉบับเต็มของโครงการ สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ AIChallenge.Space

รียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.