AI Space Challenge: ชวนเด็กไทย แข่งทำ Machine Learning บนอวกาศ ชนะได้รันบนสถานีอวกาศนานาชาติ

เวลาที่พูดถึง AI กับอวกาศ เราอาจจะนึกภาพการลงจอดของจรวด Falcon 9 ที่ใช้ Optimization Problem เป็นฐานคิด หรือการใช้ Machine Learning เพื่อค้นพบวัตถุทางดาราศาสตร์ใหม่ ๆ แต่แท้จริงแล้ว AI กับอวกาศ สามารถไปได้มากกว่านั้น เราอาจจะเห็นแล้วว่าทุกวันนี้มนุษย์ต้องเผชิญกับความท้าทายกับโจทย์ในการสำรวจอวกาศใหม่ ๆ ตั้งแต่การแพทย์, จิตวิทยา ไปจนถึงการจัดสรรทรัพยากรแบบ In-Situ Resource Utilization บนดวงจันทร์ และดาวอังคาร

เมื่อบนโลก เราได้เห็นบทบาทของ Machine Learning ทำงานที่หลากหลาย ตั้งแต่ บนมือถือของเรา บน Social Media ต่าง ๆ เราได้เห็น Deep Fake, ได้เห็นการทำ Image Processing, AI ต่าง ๆ ล้วนแต่มี Machine Learning อยู่เบื้องหลัง แล้วในอวกาศล่ะ ? โอกาสของมันจะเป็นอะไรได้บ้าง

AI Space Challenge จึงได้ถูกจัดขึ้นมาด้วยความร่วมมือของบริษัทอวกาศ เจ้าของ Platform แบบ Commercial แรกใน Module ของ ESA บนสถานีอวกาศนานาชาติ อย่าง “Ice Cubes” ภายใต้บริษัท Space Application Service ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ESA ร่วมมือกับบริษัทอวกาศในอาเซียน (Space Zab จากไทย, Zenith จากสิงคโปร์) และไต้หวัน (บริษัท Gran Systems) เพื่อเปิดโอกาสให้ไอเดียของเด็ก ๆ ในประเทศที่กำลังก้าวเข้ามาในวงการอวกาศโลก (Space Emerging Country) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและทดลองใช้ “AI Box” ก่อนใคร

Platform ของ Ice Cubes บนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – ESA/NASA

AI Box นั้นเป็น Platform ใหม่ที่จะถูกส่งขึ้นไปติดตั้งกับสถานีอวกาศนานชาติ ในโมดูล Columbus ของยุโรปในเดือน ธันวาคมปี 2021 ซึ่งดูแลและ Operate โดย Ice Cubes มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็น Edge Computing บนสถานีอวกาศนานาชาติ ตัวแรกที่รองรับการทำงานกับ Neural Network เต็มรูปแบบ

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ AI/ML ในการสำรวจอวกาศ

เมื่อ AI ถูกนำมาใช้จำแนกประเภทของดาวเคราะห์ เพื่อตามหาดวงที่อาจมีสิ่งมีชีวิต

AI ถูกส่งขึ้นไปเป็นเพื่อนนักบินอวกาศ พูดคุย และเดินทางไปมาในยานได้

ในอวกาศมนุษย์จะกลายพันธ์ุไหม หายใจอย่างไร ปลูกพืชได้ไหม

แผนการบริหารทรัพยากรบนดาวอังคาร In-Situ Resource Utilization

อะไรคือ Edge Computing และ AI Box ทำอะไรได้ ?

Edge Computing เป็นศัพท์เรียกคอมพิวเตอร์ที่อยู่ใกล้กับต้นทางข้อมูลหรือ Sensor ต่าง ๆ มากที่สุด ในที่นี้ “AI Box” จะตั้งอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเลย ทำให้ประมวลผลได้แทบจะ Realtime ไม่ต้องมี Latency ในการ Downlink ลงมายังโลก ดังนั้นจะเหมาะสำหรับ Application ที่จะต้องมีการทำงานในทันที

โดยทาง Ice Cubes ได้เลือกติดตั้ง Sensor ต่าง ๆ เข้าไป เช่น Sensor วัดคุณภาพอากาศ, ความเร่ง องศา และสนามแม่เหล็ก ต่าง ๆ โดยข้อมูล ดังกล่าวจะ Stream เข้ามาสู่ AI Box โดยตรง

ตัว AI Box ของ Ice Cubes นั้นอย่างที่บอกว่าถูกออกแบบมาสำหรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน Machine Learning โดยตรง (นึกภาพเราไปเปิด Google Cloud, AWS ที่ลงสภาพแวดล้อมสำหรับทำ ML ไว้ เพียงแต่ตัวนี้ตั้งอยู่บน ISS) รันบน NVIDIA L4T พร้อมลง CUDA Toolkit, OpenCV และ Software ต่าง ๆ ไว้ มีเสป็คดังนี้

  • ใช้คอมพิวเตอร์ NVIDIA Jetson Xavier พลังการประมวลผล 472 Giga Flops
  • มี CPU เป็นสถาปัตยกรรม ARM x64 แบบ 4 core
  • GPU สถาปัตยกรรม Nvidia Maxwell แบบ 120 core
  • ใช้ SSD แบบ NVMe M.2 ความจุ 1 TB

ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะออกแบบการใช้งานอย่างไร และทีมวิศวกรของ Ice Cubes จะคอยช่วยเหลือดูแลเราอย่างใกล้ชิด

แล้ว AI Space Challenge แข่งทำอะไรกัน ใครสมัครได้บ้าง

การแข่งขัน AI Space Challenge นั้นเป็นการแข่งขันกันหาโจทย์และ Application สำหรับการทำ Machine Learning บนอวกาศ ด้วย Edge Computing AI Box ที่เราพูดถึงกันไป โดยไม่จำกัดไอเดียว่าจะต้องเป็นฝั่ง การแพทย์, วิศวกรรม, ดาราศาสตร์ สามารถเป็นศาสตร์ใดก็ได้ เพียงแต่ต้องใช้ Neural Network ในการแก้ และพัฒนาอัลกอริทึมเพื่อจัดการกับ Data ที่ได้มาจาก Sensor ต่าง ๆ (ในช่วงแรก Ice Cubes จะยังไม่ได้อนุญาตให้เราส่ง Hardware ใด ๆ ขึ้นไป (ไปแค่อัลกอริทึม) แต่การแข่งนี้ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้ใกล้ชิดกับทีม Ice Cubes และรู้จักการทำงานกับ Platform และถ้าเรามีไอเดียอะไรเจ๋ง ๆ ก็สามารถคุยกับเขาได้ โอกาสมีอยู่)

การแข่งขันจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ก็คือช่วงเสนอไอเดีย และช่วง Final Pitching ซึ่งเราจะต้องไป Pitch และทีมที่ชนะ จะได้รับโอกาสให้ส่ง Application ของเราขึ้นไปรันบน AI Box จริง ๆ ในช่วงปลายปี 2022

สามารถดูรายละเอียดการแข่งขัน และ Timeline ได้ที่ – AI Space Challenge website

โดยคุณสมบัติของผู้สมัครแข่งขันก็ได้แก่

  • จะต้องเป็นนักเรียนระดับชั้นปริญญาตรี สังกัดสถาบันใดก็ได้ สาขาใดก็ได้ ไม่จำกัดว่าจะต้องอยู่ในสาขา Computer Science, Computer Enginnering, Aerospace
  • จำเป็นต้องอยู่ในประเทศ ไทย หรือ ประเทศกลุ่มอาเซียน (มาเลเซีย, เมียนมา, กัมพูชา, ลาว, สิงคโปร์, บรูไน, เวียดนาม, อินโดนิเซีย, ฟิลิปินส์) หรือ ประเทศไต้หวัน
  • ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว เนื่องจากการแข่งขันทั้งหมดจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง

โดย จะมีการจัด Workshop เพื่อให้เรารู้จักกับ AI Box เชิงลึกมากขึ้น สำหรับผู้สนใจนั้นสามารถลงทะเบียนเข้าร่วม Workshop ได้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2021 และเข้าร่วม Workshop จากนั้นสามารถส่งไอเดียเข้าประกวดได้จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2022

ทำไมถึงควรสมัครการแข่งขันนี้

โอกาสแบบนี้ไม่ได้มีมาได้บ่อย ๆ เอาเข้าจริง ๆ ก็คือ นับว่าน่าตื่นเต้นมากที่ทาง Ice Cube, Space Application Service เปิดโอกาสให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนของเราสามารถเข้าถึง AI Box ได้ก่อนใคร ซึ่งก็จะนับว่าเราเป็นทีมแรก ๆ ที่ได้ทำ Machine Learning บน Edge Computer ตัวใหม่ล่าสุดบนสถานีอวกาศนานาชาติ

อีกอย่างหนึ่งก็คือ การได้ทำงานร่วมกับวิศวกรจาก Platform การทดลองบนอวกาศจริง ๆ นั้นเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่เราจะได้เข้าใจว่า ในการทำ Payload, การส่งการทดลองไปยังสถานีอวกาศ, การจัดการข้อมูล คอมพิวเตอร์ และ Software ที่วิ่งอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาตินั้นเขาทำงานกันอย่างไร โดยที่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ Simulation ไม่ใช่การจำลอง แต่เราจะได้ส่งโปรแกรมของเราขึ้นไปรันจริง ๆ

สามารถดูรายละเอียดของโครงการได้ที่ – AI Space Challenge website

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.