สรุปสถิติการปล่อยและลงจอดจรวดในปี 2017

เฉพาะแค่ในปี 2017 ที่ผ่านมานี้ มีการปล่อยจรวดจากพื้นโลกสู่ห้วงอวกาศไปแล้วทั้งสิ้น 90 ครั้ง และได้มีการประเดิมใช้งานจรวดตัวใหม่จากหลายประเทศ รวมทั้งการปลดประจำการจรวดบางรุ่นลงไป มีทั้งที่สำเร็จลุล่วงและล้มเหลว มีถึง 7 ประเทศที่ได้ส่งดาวเทียมขึ้นไปเป็นดวงแรกของตน ในวันนี้ทีมงาน Spaceth.co จะพาทุกท่านย้อนไปดูว่าตลอดทั้งปีที่ผ่านมาว่าแต่ละประเทศได้ส่งจรวดสัญชาติของตนขึ้นสู่อวกาศทั้งสิ้นกี่ครั้งกันแล้ว

การปล่อยจรวดของแต่ละประเทศในที่นี้ จะยึดตามสัญชาติของจรวดที่ปล่อย ถึงแม้ว่าจรวดของรัสเซียจะถูกนำไปปล่อยทั้งที่คาซัคสถานและเฟร้นช์เกียน่า แต่ในทุกครั้งก็จะถือว่าเป็นการปล่อยของรัสเซีย

 

สหรัฐอเมริกา

2017 ปีของสหรัฐ และก็เป็นปีของ SpaceX ด้วยเช่นกัน

สหรัฐอเมริกาก็ยังคงยึดบังลังค์การส่งจรวดประจำปี 2017 อีกเช่นเคย โดยในปีนี้พวกเขาได้ปล่อยจรวดสัญชาติตัวเองไปแล้วทั้งสิ้น 29 ครั้ง นับเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของการปล่อยจรวดจากทั่วโลกในปีเดียว และประสบความสำเร็จครบทุกครั้งอีกด้วย และบริษัทที่ทำการส่งจรวดในปีที่ผ่านมามากที่สุดก็เป็นของ SpaceX ที่ปีนี้ส่ง Falcon 9 ขึ้นไปแล้ว 18 ครั้ง มากเท่ากับประเทศจีนส่งทั้งปี และมากกว่าญี่ปุ่น อินเดีย นิวซีแลนด์และยูเครนส่งรวมกันทั้งปีอีกด้วย

นอกเหนือจากส่งขึ้นไปแล้ว SpaceX ยังนำจรวดส่วนแรกกลับมาลงจอดอีกด้วย โดยในปีนี้พวกเขานำจรวดกลับมาลงจอดทั้งสิ้น 15 ครั้ง แบ่งเป็นลงจอดบนพื้นดิน 6 ครั้ง บนโดรนชิปที่ทะเลอีก 8 ครั้ง และลงจอดบนมหาสมุทรอีก 1 ครั้ง นับเป็นสถิติการลงจอดได้สมบูรณ์แบบเป็นปีแรกของ SpaceX

ด้านฐานปล่อยที่ถูกใช้งานมากที่สุดก็คือ Kennedy Space Center ที่รับผิดชอบการปล่อยจรวดทั้งสิ้น 12 ครั้ง ตามมาด้วย Vandenburg ที่ 9 ครั้ง Cape Canevaral อีก 7 ครั้ง และอีกครั้งที่ MARS (Mid-Atlantic Regional Spacepart)

เที่ยวแรกของปี: 14 มกราคม Falcon 9 FT
เที่ยวสุดท้ายของปี: 23 ธันวาคม Falcon 9 FT

รัสเซีย

Soyuz ของรัสเซีย ที่ทั้งส่งคนและของขึ้นสู่อวกาศ

ถ้ามีสหรัฐแล้วจะขาดรัสเซียไปได้อย่างไรกัน และในปีนี้พวกเขาได้กระจายกองกำลังการปล่อยจรวดทั้ง 20 ครั้งไปทั้งที่ Baikonur ของคาซัคสถานที่รับผิดชอบการปล่อยทั้งสิ้น 13 ครั้ง มากที่สุดในปีนี้ Vostochny ในภาคตะวันออกของประเทศที่ได้รับหน้าที่ปล่อยจรวดเป็นครั้งที่สองของฐานปล่อยนี้ และก็เกิดข้อผิดพลาดขึ้น (อีกแล้ว) และยังไปไกลถึง Kourou ในเฟรนช์เกียนาของทวีปอเมริกาใต้ถึง 2 รอบอีกด้วย ซึ่งปีนี้พวกเขาได้ปล่อยจรวดพร้อมลูกเรือโดยสารไปด้วย 4 รอบ และเป็นเพียงแค่ 4 รอบตลอดทั้งปีที่มีลูกเรือเดินทางขึ้นสู่อวกาศจากทั่วทั้งโลกอีกด้วย เนื่องจากสหรัฐไม่ได้ส่งใครขึ้นไปกับจรวดตนเองตั้งแต่ปี 2011 และปีนี้จีนก็ไม่ได้ส่งใครขึ้นไปด้วยเช่นกัน

ในปีนี้รัสเซียได้ทำการปลดประจำการจรวด Soyuz-U ซึ่งเป็นรุ่นที่ถูกสร้างขึ้นมามากที่สุด และได้ถูกปล่อยไปแล้วถึง 786 ครั้งนับตั้งแต่ปี 1973 เลยทีเดียว โดยเที่ยวสุดท้ายของมันเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ และเป็นการพายาน Progress ซึ่งยานขนส่งเสบียงไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ปิดตำนาน 44 ปีของ Soyuz-U ลงอย่างสวยงาม

เที่ยวแรกของปี: 28 มกราคม Soyuz ST-B
เที่ยวสุดท้ายของปี: 17 ธันวาคม Soyuz-FG

จีน

ภาพการปล่อย Long March 5 ก่อนที่ภารกิจจะล้มเหลวในเวลาต่อมา

ด้านจีนแผ่นดินใหญ่ก็ได้ไล่ตามรัสเซียมาอย่างติด ๆ ด้วยสถิติการปล่อยไปแล้วทั้งสิ้น 18 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่นั้นก็จะเป็นจรวด Long March ที่ปล่อยไปทั้งหมด 16 ครั้ง และอีกสองลำนั้นก็คือ Kuaizhou และ Kaituozhe ซึ่งสำหรับ Kaituozhe นั้นนับเป็นเที่ยวปฐมฤกษ์ของมันอีกด้วย สิ่งหนึ่งที่พวกเขาผิดพลาดอย่างหนักหน่วงในปีนี้ก็คือข้อผิดพลาดของการปล่อยจรวด Long March 5 ที่ถูกวางแผนไว้ให้เป็นจรวดปล่อยยาน Chang’e 5 ภารกิจเก็บตัวอย่างดวงจันทร์กลับมายังโลกในปี 2019 ซึ่งอาจจะถูกเลื่อนออกไปหลังปี 2020 เพื่อตรวจสอบข้อผิดพลาดในครั้งนี้ก็เป็นได้

และในปีนี้พวกเขาก็ยังไม่ได้ส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศแม้แต่คนเดียว โดยภารกิจสุดท้ายอย่าง Shenzhou 11 นั้นจบลงไปเมื่อพฤศจิกายนปี 2016 และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าในปีหน้าพวกเขาจะส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศอีกครั้งหรือไม่ เมื่อภารกิจ Shenzhou 12 ถูกวางแผนไว้สำหรับปี 2019 เลยทีเดียวเที่ยวแรกของปี: 5 มกราคม Long March 3B/E
เที่ยวสุดท้ายของปี: 25 ธันวาคม Long March 2C

 

องค์การอวกาศยุโรป

องค์การอวกาศยุโรปหรือ ESA เป็นการร่วมมือกันของสมาชิกยุโรปทั้งสิ้น 22 ประเทศ และในปีนี้พวกเขาส่งจรวด Ariane 5 ไปแล้วถึง 6 ครั้งด้วยกัน และยังมีการปล่อยจรวด Vega ที่นำทีมพัฒนาโดยอิตาลีไปอีก 3 ครั้ง ทำให้ยอดรวมของในการปล่อยทั้งปีนี้อยู่ที่ 9 ครั้ง แถมทั้ง 9 ครั้งก็ดำเนินไปได้ด้วยดี ทำให้สถิติด้านความปลอดภัยของพวกเขานั้นตามหลังเพียงแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น (รัสเซียพลาด 1 และจีนพลาดไป 2)

Ariane 5 ก่อนทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า

ฐานปล่อยของพวกเขานั้นไปตั้งอยู่ที่เฟรนช์เกียนา (French Guiana และอย่าสับสนกับ French Guinea) ซึ่งเป็นจังหวัดโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ซึ่งนั้นทำให้ในทางเทคนิคแล้วพวกเขาก็ปล่อยอยู่ในยุโรปจริง ๆ แหละ ที่สำคัญคือนอกจาก 9 เที่ยวบินของพวกเขาแล้วยังรับจ็อบเสริมปล่อยอีก 2 เที่ยวให้รัสเซียอีกด้วย

เที่ยวแรกของปี: 14 กุมภาพันธ์ Ariane 5 ECA
เที่ยวสุดท้ายของปี: 12 ธันวาคม Ariane 5 ES

ญี่ปุ่น

ภาพของจรวด H-II ก่อนปล่อย

ญี่ปุ่นมาคล้าย ๆ กับองค์การอวกาศยุโรปเลยในปีนี้ พวกเขายังเน้นการปล่อยจรวด H-II เป็นหลัก ซึ่งแม้ว่าลำแรกของพวกเขาจะสูญเสียการติดต่อไปตั้งแต่วินาทีที่ 20 ประเดิมปีได้ไม่สวยงามอย่างรุนแรง แต่อีก 6 เที่ยวของ H-II ก็ดำเนินไปได้ด้วยดี และยังมีการเปิดตัวน้องใหม่อย่า S-Series ที่ก็ทำงานได้ดีตั้งแต่ไฟลท์แรกของมัน

โดยในการปล่อยครั้งแรกที่เกิดข้อผิดพลาดนั้นปล่อยขึ้นจากฐานปล่อย Uchinoura ในเมือง Kimotsuki ก่อนที่อีก 6 เที่ยวจะปล่อยขึ้นจาก Tanegashima ซึ่งเป็นเกาะอยู่ห่างไปทางใต้ของ Kyushu 40 กิโลเมตร

เที่ยวแรกของปี: 14 มกราคม SS-520-4
เที่ยวสุดท้ายของปี: 23 ธันวาคม H-IIA 202

อินเดีย

อินเดียอาจดูไม่ใช่ประเทศที่มีประสบการณ์การปล่อยยานที่ยาวนานนัก อันที่จริงคือพวกเขาค่อนข้างเป็นน้องใหม่ในวงการเทียบกับประเทศข้างต้นทั้งหมดด้วย แต่ในปีนี้พวกเขาเล่นใหญ่โดยการขนดาวเทียมขึ้นไปปล่อยในทีเดียวถึง 104 ดวง และยังประสบความสำเร็จอีกด้วย ทำให้เป็นสถิติโลกอันใหม่ในทันที โดยดาวเทียมที่ถูกขนไปมากสุดนั้นก็คือ Flock-3p ของสหรัฐ ที่ยัดเข้าไปถึง 88 ดวงเลยทีเดียว ซึ่งมันเป็น cubesat ที่ถูกส่งขึ้นไปเพื่อถ่ายภาพโลกของเรานั่นเอง

นอกจากภารกิจนี้พวกเขาก็ได้ส่งจรวดขึ้นไปอีก 4 ครั้ง จากฐานปล่อย Satish Dhawan ทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งถ้าลากเส้นตรงจากฐานปล่อยมาทางตะวันออกจะผ่านกรุงเทพและปริมณฑลของเราพอดี  โดยสถิติของอินเดียในปีนี้คือปล่อยไปทั้งสิ้น 5 ครั้ง สำเร็จไป 4 และผิดพลาดไปครั้งหนึ่ง

เที่ยวแรกของปี: 15 กุมภาพันธ์ PSLV-XL
เที่ยวสุดท้ายของปี: 31 สิงหาคม PSLV-XL

ยูเครน

จรวด Zenit-3F นั้นถูกดีไซน์ขึ้นในยูเครนประมาณปี 1980 ซึ่งในช่วงนั้นพวกเขายังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ในปัจจุบันนี้มันก็ได้ความเป็นลูกครึ่งรัสเซียมาจากทั้งหน่วยงานที่ปล่อย (ROSCOSMOS) ฐานปล่อยที่เป็นฐานเดียวกันกับทางรัสเซียใช้ (Baikonur Cosmodrome) และเครื่องยนต์ทั้งสามส่วนของจรวดนั้นก็เป็นของรัสเซีย แต่ในที่นี้เมื่อเรานับตามสัญชาติต้นกำเนิดของจรวดนั้น ทำให้ยูเครนได้รับเครดิตส่วนนี้ไป

และเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา จรวดลำนี้ก็ได้ถูกใช้ส่งดาวเทียม AngoSat ดาวเทียมดวงแรกของประเทศแองโกลา และก็เกือบกลายเป็นหายนะเมื่อศูนย์ควบคุมสูญเสียการติดต่อกับยานไปเป็นสักพักหนึ่ง ก่อนที่จะกู้คืนสัญญาณและการติดต่อมาได้ในภายหลัง

 

นิวซีแลนด์

นิวซีแลนด์เป็นประเทศล่าสุดที่มาเข้าร่วมกับการสร้างจรวดและส่งขึ้นสู่อวกาศ โดยเป็นผลงานของสตาร์ทอัพอย่าง Rocket Lab (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่) และจรวด Electron ก็ได้ฤกษ์ขึ้นบินเที่ยวแรกไปเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา จากฐานปล่อย Mahia ของ Rocket Lab ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของนิวซีแลนด์

ในการปล่อยนั้นครั้งนี้ทำให้ Rocket Lab เป็นองค์กรเอกชนแห่งแรกที่สามารถส่งจรวดไปอวกาศโดยทำสำเร็จในการปล่อยครั้งเดียว แต่พวกเขากลับไปไม่ถึงดวงดาว เมื่อจรวด Electron ไปถึงแค่อวกาศ แต่ไม่ถึงวงโคจรที่วางไว้ แต่นี่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีกว่าหลายราย และเชื่อมั่นว่าในอนาคตเราจะได้เห็น Rocket Lab มาเข้าร่วมการแข่งขันของเอกชนร่วมกับ SpaceX และ Blue Origin ของสหรัฐ

จะเห็นได้ว่าในปีนี้เราได้เห็นความหลากหลายของการปล่อยจรวดของแต่ละชาติแตกต่างกันออกไป มีทั้งหน้าใหม่หน้าเก่า การก้าวเข้ามาสู่วงการของเอกชนที่ทำได้ดีเกินคาดอย่าง SpaceX ที่ปล่อยไปถึง 18 ครั้ง และคลื่นลูกใหม่มาแรงทั้งอินเดียและนิวซีแลนด์ ปีนี้เป็นปีที่ค่อนข้างคึกคักสำหรับการส่งจรวดขึ้นไปสู่อวกาศ แต่ในปีที่จะมาถึงนี่สิที่จะเป็นที่สุดของที่สุด เมื่อหลายเจ้าเริ่มงัดของดีออกมาให้เห็นกัน สำหรับอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นในปีหน้านี้ สามารถติดตามได้ที่ spaceth.co ได้เลยครับ
แหล่งที่มา:
JAXA
JPL
Space Launch Report
NASA Spaceflight

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138