รีวิวคนรวย เปิดตลาดล่างของวงการอวกาศ ใช้จรวดซ้ำ แชร์เที่ยวบิน

ในยุคที่เทรนด์ตลาดล่างกำลังมาแรง คนรวยอาจจะอยู่อยากซักหน่อยในทุกวงการแม้กระทั่งวงการอวกาศ ในขณะที่ Elon Musk ได้นำจรวด Falcon 9 ที่ผ่านการใช้ซ้ำมาแล้วหลายต่อหลายครั้งมาให้บริการซ้ำโดยในบางครั้งยังไม่เช็ดครามเขม่าที่ติดอยู่ด้านข้างจรวดออกด้วยซ้ำ ทำให้ดาวเทียมราคาหลายพันล้านของคุณต้องมาอยู่บนจรวดที่มีค่าบริการแค่ 30-40 ล้านเหรียญ เหมือนกับคุณใส่ชุดราตรีไปงานเลี้ยงสุดหรู แต่กลับนั่งวินมอเตอร์ไซค์ไปซะงั้น

สำหรับคนที่ไม่ติดปัญหานี้เราก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ยอมไม่ได้ที่จะใช้บริการอะไรที่มันแมส ๆ อย่างโครงการอวกาศราคาถูกเหล่านี้ที่เรากำลังจะพูดถึง แต่ก่อนอื่น เราจะมารู้เท่าทันบริษัทพวกนี้แล้วมาดูกันว่าทำไมถึงได้เกิดตลาดล่างเหล่านี้ขึ้นมา

ทำไมเดี๋ยวนี้ราคาส่งดาวเทียมถูกลง

สำหรับคำว่าตลาดล่าง เรามาดูคำว่าตลาดก่อน ถ้าใครเรียนการตลาดมาเราจะรู้ว่าตลาดคือสถานที่ที่ให้ผู้ที่ต้องการขายกับต้องการซื้อมาเจอกัน ส่วนตลาดล่างไม่นิยามตายตัวแต่ที่ใช้กันทั่วไปจะหมายถึงตลาดที่มีผู้ซื้อที่มีความต้องการ แต่มีต้นทุนไม่มาก ซึ่งในวงการอวกาศก็มีคนกลุ่มนี้อยู่เช่นกัน

ยาน InSight ของ NASA ที่ NASA บอกว่าเป็นโครงการประหยัดงบ แต่ก็ใช้เงินมากถึง 800 ล้านเหรียญ (สุดท้าย Delay แพงขึ้นไปอีก 150 ล้าน) – JPL

เทคโนโลยีอวกาศนั้นถูกออกแบบมาให้แพงมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เนื่องจากมันคือที่สุดของเทคโนโลยีหรือเป็น Frontier เลยก็ว่าได้ เราจะพบว่าอวกาศนั้นทำให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ เช่น วัสดุศาสตร์, วิศวกรรม หรือแม้กระทั่งการเขียนโปรแกรม นั่นหมายความว่าเราจะต้องใช้ทั้งทรัพยากรมนุษย์, เงินทอง และองค์ความรู้มหาศาลในการขับเคลื่อน Industry นี้ โครงการที่เหมาะแก่การยกมาพูดถึงมากที่สุดน่าจะเป็นโครงการ Apollo ถ้าอ้างจาก Apollo Report ของ NASA ที่พยายามส่งนักบินขึ้นไปบนดวงจันทร์ถ้าเทียบกับค่าเงินปัจจุบันจะอยู่ที่ หนึ่งล้านล้านเหรียญ หรือ สี่สิบล้านล้านบาทเลยทีเดียว เรียกได้ว่าแทบจะขายประเทศกันเลยทีเดียว 

ยาน Eagle Lander กำลังจะลงจอดบนดวงจันทร์ ที่มา – NASA

ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าอวกาศเป็น Industry ที่จะแสนแพง แต่น่าแปลกที่สมัยนี้หลายคนชอบพูดว่าการส่งของขึ้นสู่อวกาศถูกลงมาก เอ้า ในเมื่อวัสดุก็ใช้วัสดุเดิม อวกาศมันก็อยู่ห่างเหมือนเดิม ทฤษฏีฟิสิกส์ หลักการออกแบบวงโคจรต่าง ๆ ก็เป็นของเดิม แล้วทำไมถึงได้เกิดตลาดล่างของวงการอวกาศขึ้น

ใครคือตลาดล่างของวงการอวกาศ

เมื่อก่อนการสำรวจอวกาศส่วนมากก็จะเป็นของรัฐบาล ซึ่งคนพวกนี้ถ้าเอาตามที่เราชอบคิดกันแล้วก็ เหมือนไม่ได้จะแคร์เรื่องการทำให้อะไรบางอย่างถูกเท่าไหร่ เพราะไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไร แต่พอมาในยุคที่เอกชนพยายามจะเข้ามีตีตลาดความต้องการด้านอวกาศ บริษัทอวกาศต่าง ๆ จึงต้องงัดสุดยอดไม้เด็ดในการสร้าง Ecosystem อวกาศให้ถูกลง ไม่ใช่แค่อยู่แต่ในวงรัฐบาลและทหาร (คุ้น ๆ เหมือนประเทศแถวนี้ไหม)

หนึ่งในนั้นก็คือการสร้าง Ecosystem และการจัดการ Logistic เริ่มต้นที่ Ecosystem ผู้เขียน (ซึ่งเป็นคนรวย) มองว่ามีอยู่ 2 กลุ่มหลัก ๆ เลยก็คือกลุ่มธุรกิจกับกลุ่มการศึกษา

สำหรับกลุ่มการศึกษาในสมัยก่อนกว่าจะส่งงานวิจัยอะไรขึ้นไปทำบนอวกาศได้ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย และมีโอกาสน้อยมากที่จะได้ถูกคัดเลือกขึ้นไปจริง ๆ อันนี้ NASA พยายามแก้ปัญหาด้วยการกระจายตัวเข้าไปใกล้ชิดกับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เห็นได้ชัดมาก ๆ เลยก็คือ JPL หรือที่อยู่ใน California Insitute of Technology เลย หรืออย่าง John Hopkins University ที่มีส่วนร่วมในโครงการ New Horizons หรือมหาวิทยาลัยอื่น ๆ อีกมากมาย แต่อย่าลืมว่าพวกนั้นเป็นมหาวิทยาลัยท็อป ๆ ของโลก คิดดูค่าเทอม ค่าใช้จ่าย ค่ากินค่าอยู่ ทำให้การส่งงานวิจัยขึ้นไปอวกาศก็ยังแพงอยู่ดี ซึ่งเราจะอธิบายกันในหัวข้อถัดไปว่าบริษัทอวกาศมาเปิดตลาดล่างกับนักเรียนนักศึกษาได้อย่างไร

ดาวเทียม Thaicom 8 ที่มา – Thaicom

ในกลุ่มธุรกิจแน่นอนว่าถ้าคุณอยากเป็นเจ้าของบริษัทโทรคมนาคมล่ะก็ คุณต้องรวยโคตร ๆ และทุนหนา เพื่อทำระบบดาวเทียมซักดวง ซึ่งมันไม่ได้จบแค่ทำดาวเทียมแล้วจบ ยังต้องมาดูเรื่อง Hardware ระบบภาคพื้นดิน, การทวนสัญญาณ, ทีมภาคพื้น หรือด้าน Software โปรแกรมควบคุมและ API ต่าง ๆ แต่สิ่งที่แพงที่สุดเลยก็คือค่าส่งที่แพงกว่าดาวเทียมที่คุณจะส่งอีก (โคตรบ้า)  Thaicom 5 มีมูลค่าอยู่ที่ 100 ล้านเหรียญ​สหรัฐ​ แต่มีค่าส่งด้วยจรวด Ariane 5 ในปี 2006 อยู่ที่ 137 ล้านเหรียญ​สหรัฐ

ลองนึกดูว่าถ้าคุณเป็น Startup การจะปล่อยดาวเทียมซักดวงในอดีตนั้นเป็นเรื่องเพ้อฝันแบบไร้สาระมาก ๆ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และนั่นก็ทำให้การแข่งขันด้านเทคโนโลยีดาวเทียมสมัยก่อนชั้นชักช้า ยุ่งยาก เนื่องจากบริษัทในตลาดค่อนข้างใหญ่และไม่คล่องตัว

ดังนั้นถามว่าตลาดล่างในวงการอวกาศคือใครก็คงเป็น 2 กลุ่มได้แก่บรรดา Startup และสถาบันการศึกษาหรือกลุ่มวิจัยที่ขนาดและและต้องการความคล่องตัวสูง

เทคโนโลยีถูกไม่ได้ แต่ Ecosystem ถูกได้ กำเนิดตลาดล่าง

ถ้ามองโมเดลเดียวว่าธุรกิจอวกาศกับธุรกิจการบินนั้นคล้ายกัน กำเนิดสายการบิน Low-cost ไม่ได้แปลว่าเครื่องบิน Boeing 737 จะระคาถูกลง หรือน้ำมันจะราคาถูกลง แต่สิ่งที่ทำให้ Low-cost Airline สามารถให้บริการในราคาที่ต่ำกว่าได้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งธุรกิจการบินภาครวมมีราคาเท่าเดิม แต่สามารถนำมาขายให้กับลูกค้าในราคาถูกมากขึ้น แต่ได้กำไรมากเช่นกัน ใครที่สนใจคร่าว ๆ แนะนำให้ลองชมคลิปของ Wendover Production อธิบายการทำงานของ Low-cost Airline

อันนี้เราจะไม่พูดถึงเรื่องแค่กรณีการนำจรวดมาใช้ซ้ำ ซึ่งอันนี้ก็คงชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นการลดต้นทุนไปได้มหาศาล แต่เราจะพูดถึงในส่วนอื่นที่น่าสนใจ

จรวดใช้ซ้ำ ที่มา – SpaceX

เป็นคำถามที่ผู้เขียนเคยเจอบ่อยว่าทำไมจรวด Falcon 9 ของ SpaceX ถึงต้องใช้เครื่องยนต์ถึง 9 เครื่องยนต์ ทำไมไม่ทำเครื่องยนต์เพียงแค่ 1-2 ตัวเหมือนจรวดสมัยก่อน เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ การผลิตสิ่งที่สำคัญ ๆ อย่างเครื่องยนต์ที่มีราคาค่อนข้างสูงนั้น ยิ่งผลิตมากยิ่งได้เปรียบ เมื่อนำมารวมกับเหตุผลด้านวิศวกรรมเราจะเห็นข้อดีของการใช้เครื่องยนต์เล็ก ๆ หลาย ๆ ตัวได้ประมาณนี้

  • Replaceable สามารถเปลี่ยนได้ทันที ขนส่งก็ง่ายกว่า
  • ยิ่งผลิตจำนวนมาก สายการผลิตก็จะคล่องตัว โอกาสเจอข้อผิดพลาดมีเยอะกว่า และก็สามารถใช้โอกาสที่เจอข้อผิดพลาดมาใช้ในการแก้ไขและเพิ่มคุณภาพของชิ้นงานให้ดีขึ้น อันนี้เป็นเหตุผลที่แสดงให้เห็นถึงความรอบคอบมาก ในปี 2014 SpaceX ประกาศ ว่าได้ผลิต Merlin Engine ไปแล้ว 100 ตัว ซึ่งนับว่าเร็วมากเมื่อ Falcon 9 1.1 เพิ่งมีอายุไม่ถึงปี
  • Falcon 9 เป็นจรวดที่ต้องออกแบบมาให้ใช้ได้ซ้ำ ดังนั้นหากเกิดความเสียหาย SpaceX เพียงแค่เปลี่ยนเอาเครื่องใหม่มาใส่
  • เหตุผลด้านวิศวกรรมหลัก ๆ มีเพียงแค่ไม่กี่ประเด็น เช่นเรื่อง Combustion Instability, การใช้เครื่องยนต์ที่เหลือแทนเครื่องยนต์ที่เสียหาย ซึ่งแนวคิดนี้มีมาตั้งแต่ในสมัยสหภาพโซเวียตแล้ว แต่คาดว่าโซเวียตไม่ได้คำนึงถึงเหตุผลด้านบน (ไม่เช่นนั้นโครงการอวกาศโซเวียตคงไม่เละเทะในช่วงยุคหลัง)

เครื่องยนต์ Merlin Engine ในโรงงานของ SpaceX ที่มา – SpaceX

กรณีด้านบนเป็นแค่เรื่องของเครื่องยนต์ เทคนิคการเจาะกลุ่มตลาดล่างของ SpaceX ยังมีอีกหลายแบบเช่น การจัดการส่วนการผลิตให้อยู่ในหลังคาเดียวกันหมด ซึ่งก็อยู่ใต้หลังคาเดียวกับแผนกบริหารด้วย (มีแค่ส่วนกฏหมายที่แยกออกมา) ดังนั้น Cycle การผลิตของ SpaceX คือการทำ R&D ที่แคลิฟอร์เนีย ผลิตที่แคลิฟอร์เนีย ส่งไปทดสอบที่เท็กซัส และส่งไปปล่อยที่เคอเนอเวอรัล ซึ่งง่ายมาก ๆ รวมถึง Falcon 9 ออกแบบมาให้ทำการขนส่งได้ด้วยรถบรรทุก และชิ้นส่วนอื่น ๆ ก็ไม่ต้องห่วงเพราะข้างสำนักงานใหญ่ของ SpaceX ก็มีสนามบิน (จึงไม่แปลกใจที่ Elon Musk จะวาร์ปไปที่ต่าง ๆ ในโลกได้เร็วมาก รวมถึงถ้ำหลวงด้วย)

บินแบบหารจ่าย ไปทางเดียวกันไปด้วยกัน

เรื่องของ Pirmiry และ Secondary Payload ก็ช่วยลดต้นทุนได้เยอะ ซึ่งแนวคิดนี้จริง ๆ ก็ทำกันมานานแล้ว แต่ SpaceX ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เอาเรื่องนี้มาใช้ Secondary Payload ก็คือการฝากดาวเทียมหรือวัตถุขนาดเล็กขึ้นไปในภารกิจส่งดาวเทียมขนาดใหญ่

การติดตั้ง Secondary Payload บนจรวดอินเดีย (สองก้อนด้านล่าง) ที่มา – IRSO

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาในเที่ยวบินของจรวด PLSV ของอินเดียได้ทำลายสถิติโลก ด้วยการปล่อยดาวเทียมทั้งหมด 104 ดวงในการปล่อยครั้งเดียว ซึ่งภารกิจหลักคือการปล่อยดาวเทียม Cartosat-2 ส่วนอีก 103 ดวงที่เหลือเป็นดาวเทียมตลาดล่าง จากประเทศต่าง ๆ รวมถึงดาวเทียมของบริษัท Startup ด้านอวกาศอย่าง Planet Lab ที่ใช้ดาวเทียมขนาดเล็กแต่หลายร้อยดวงในการถ่ายรูปโลกทั้งใบด้วย

ค่าปล่อยแพงนักก็เอาดาวเทียมซ้อนกันแม่งเลย ที่มา – Boeing

หรือแม้กระทั่งในปี 2014 สองบริษัทดาวเทียมได้ทำการหารค่าปล่อยกันในภารกิจ EutelSat/ABS แล้วเอาดาวเทียมซ้อนกัน 2 ดวง ซึ่งหนักดวงละไม่ต่ำกว่า 2 ตัน ส่งขึ้นไปพร้อมกันกับจรวด Falcon 9 ซึ่งเป็นภาพที่พอดูแล้วก็เท่ไปอีกแบบ

สรุปตลาดล่าง

คำว่าตลาดล่างนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นกลุ่มคนจน แต่เป็นการเปิดให้ Value ในส่วนอื่น ๆ เช่น การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์, การเติบโตของ Startup หรือแม้กระทั่งโครงงานโรงเรียนมัธยม สามารถเดินทางขึ้นสู่อวกาศได้ อธิบายง่าย ๆ ก็คือจะทำให้เกิดผลผลิตใหม่ ๆ ในส่วนที่เป็นนวัตกรรม (ที่ต้องการการลองผิดลองถูกสูง) ก็จะได้ใช้โอกาสที่การเดินทางสู่อวกาศถูกลงมาพัฒนาตัวเองให้เกิดเป็นมาตรฐานใหม่ ๆ จากเดิมที่ของที่คู่ควรจะขึ้นสู่อวกาศ เป็นแค่ของที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุดท้ายก็เอาอะไรมาวัดไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับเงินหนาอยู่ดี และอนาคนเราก็จะได้เห็นอะไรแนว ๆ นี้เพิ่มขึ้นอีก

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.