จากข่าวใหญ่แห่งวงการอวกาศไทย ที่เกิดขึ้นพร้อมกันถึง 3 ข่าว ได้แก่ การที่ทีม KEETA เข้ารอบ 1 ใน 10 ทีมสุดท้ายของการแข่งขัน NASA Deep Space Food ที่ทาง NASA จัดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาด้านอาหารให้กับการสำรวจอวกาศในระยะยาว, ชัยชนะโครงการ Kibo Robot Programming Challenge ที่ทาง JAXA จัด, การที่เยาวชนไทยถึง 2 คนได้ไปนำเสนอผลงานของตัวเองในงานประชุมวิชาการระดับโลก IAC 2021 ณ นครดูไบ ทำให้เกิดคำถามต่าง ๆ นา ๆ ถึงที่มาที่ไปถึงเบื้องหลังของทีมทั้งสาม
Ad Astra Per Aspera (หนทางสู่ดวงดาวนั้นไม่ง่ายนัก) คำพูดนี้ยังคงใช้งานได้ดีเสมอในวงการอวกาศ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จนั้นไม่ได้เกิดจากวันเดียว ในบทความนี้จึงจะมาพูดถึงที่มาที่ไปของโครงการเหล่านี้กัน เพื่อให้เป็นเกียรติแค่คนทำงานเบื้องหลัง และเส้นทางการเดินทางสู่ดวงดาวของพวกเขาเหล่านี้
จากเมื่อก่อนที่เวลาพูดถึงอวกาศ เราจะนึกภาพว่างานอวกาศ หรือบริษัทอวกาศจะต้องยิ่งใหญ่ จะต้องใช้เงินเยอะ จะต้องเป็นรัฐบาลถึงจะทำได้ แต่ปัจจุบัน การเข้าถึงอวกาศนั้นไม่ได้ยากเท่ากับเมื่อก่อน เพราะการกระจายทรัพยากร (Democratization) ทำให้ทลายกำแพงด้านเงินทุน งบ ปัจจัยทางการเมือง ลงไปเยอะ จนเราได้เห็นผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ เข้ามาตลอด อย่างไรก็ดี ที่เรามองเห็นได้ไกลนั้นก็เพราะเรายืนอยู่บนบ่าของยักษ์ใหญ่ อย่างที่ไอแซก นิวตัน ได้กล่าวไว้ ทำให้เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหากจะกล่าวถึงความสำเร็จโดยปราศจากที่มานั้นคงไม่สามารถชี้ทางให้กับผู้ที่อยากจะเดินต่อบนหนทางนี้ได้
ก่อนอื่น ต้องขยายความประเด็นความสำเร็จของทั้ง 4 ทีมเหล่านี้ให้เข้าใจก่อน ว่าเป็นใคร ทำอะไร มาจากไหน โดยเริ่มจาก KEETA และโครงการ NASA Deep Space Food
KEETA การรวมตัวกันของคนชอบอวกาศ และ Space Zab บริษัทด้านอวกาศของไทย
KEETA นั้นเป็นทีมที่ประกอบไปด้วย การรวมตัวกันของคนหลากหลายสังกัดที่มีความชอบความสนใจเรื่องอวกาศในไทย ซึ่งประกอบไปด้วย นภัสธนันท์ พรพิมลโชค และ สิทธิพล คูเสริมมิตร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ซึ่งปัจจุบันฝึกงานที่อยู่บริษัท Space Zab) ประพันธ์พงศ์ ดำส่งแสง ที่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่ KTH Royal Institute of Technology โดย ประพันธ์พงศ์ ถ้าใครในวงการก็จะคุ้นหน้าคุ้นตากันกับผลงานการทำ Payload มากมายเพื่อส่งขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ รวมถึงเป็นหนึ่งในผู้จัดการโครงการ AI Space Challenge ด้วย นอกจากนี้ยังมี วัชรินทร์ อันเวช ซึ่งเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ในสาขา ชีวเคมีการแพทย์และชีววิทยาโมเลกุล และ ดร.วเรศ จันทร์เจริญ ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่ง ดร.วเรศ และ ประพันธ์พงศ์ คือสมาชิกรุ่นก่อตั้งของบริษัท Space Zab นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ทั้ง ดร.วเรศ และ ประพันธ์พงศ์ จะเป็นสมาชิกตัวสำคัญของบริษัท Space Zab ที่มีผลงานล่าสุดในการทำ Lunar Simulant หรือ หินดวงจันทร์จำลอง ซึ่งเราจะพูดถึงกันในหัวข้อต่อไป แต่ KEETA ก็เลือกที่จะใช้ชื่อตัวเองว่า KEETA เพราะเป็นการรวมตัวแทนของความหลากหลาย จะสังเกตเห็นว่าทั้งหมดที่พูดมานี้ มีเพียงแค่ นภัสธนันท์ และ สิทธิพล เท่านั้นที่เป็นนิสิตที่ศึกษาด้านอวกาศ ส่วน วัชรินทร์ มี Background เป็นสายชีววิทยา (ซึ่งปัจจุบันก็เป็น National Contact Point ให้กับ SGAC (Space Genration Advisory Cousil) ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้ United Nation (UN) สนับสนุนเรื่อง Space Democratization หรือการทำให้อวกาศนั้นเข้าถึงได้ในประเทศกำลังพัฒนา)
การเริ่มต้นเข้าประกวดในโครงการ NASA Deep Space Food ซึ่งเป็นการแข่งขันหา Solution ให้กับการสำรวจอวกาศในระยะเวลานานนั้น เริ่มต้นตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2021 เมื่อ NASA ประกาศให้ทีมจากนานาชาติสามารถเข้าแข่งขันได้ โดยลักษณะการนำเสนอนั้น ไม่ได้เป็นเพียงรูปแบบการนำเสนอไอเดีย แต่จะต้องมีหลักการ ความน่าเชื่อถือ และโอกาศในการผลิตได้จริง ซึ่ง KEETA ก็เลือกที่จะนำเทคโนโลยีการสร้างอาหารด้วย 3D Printing ซึ่งจริง ๆ เป็นไอเดียตั้งแต่ปี 2017 ที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนาต่อมานำเสนอ และปรับให้เข้ากับบริบทด้วยการใส่แนวคิด Bio Culture Foods โดยการศึกษาการนำโปรตีนจากแมลงมาใช้ เพื่อเป็นสารอาหารสำคัญ โดยคำนึงถึงปัจจัยตั้งแต่ Art และ Science
KEETA ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานใด ๆ แต่สมาชิกแต่ละคนได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต้นสังกัดของตัวเอง เช่นบริษัท Space Zab, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหิดล
จากผู้แข่งสู่ผู้จัด
และนอกจาก Space Zab จะเป็นหนึ่งใน Key สำคัญที่ทำให้ KEETA ได้เป็นตัวแทน 1 ใน 10 ของโลกที่ได้ไปต่อแล้ว ณ ตอนนี้ ทาง Space Zab เองก็ยังได้ร่วมมือกับ Space Application Service บริษัทที่ครอบครองพื้นที่การทำ Commercialize บนโมดูลของ European Space Agency (ESA) บนสถานีอวกาศนานาชาติ จัดงานแข่ง AI Space Challenge (รายละเอียด: aichallenge.space ) ให้กับเยาวชนไทย (และประเทศในอาเซียน + ไต้หวัน) ได้แข่งกันทำ AI, Machine Learning บนอวกาศ เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ด้วย โดยการใช้ประโยชน์จาก AI Space Box ของบริษัท Ice Cube ที่จะเป็น Edge Computer สำหรับทำ AI ครั้งแรกในอวกาศ โดย Payload ดังกล่าว จะเดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติในภารกิจ CRS-24 ของ SpaceX กับยาน Dragon Cargo
อ่าน – AI Space Challenge: ชวนเด็กไทย แข่งทำ Machine Learning บนอวกาศ ชนะได้รันบนสถานีอวกาศนานาชาติ
เรียกได้ว่า ทีมนี้นอกจากจะเป็นผู้แข่งแล้ว ยังเป็นผู้จัดเพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงอวกาศให้กับเยาวชนไทยอีกด้วย โดยในลักษณะของการดำเนินการนั้น Space Zab เป็นบริษัทเอกชน ไม่ได้อยู่ภายใต้หน่วยงานใด หรือมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐใด จึงเรียกได้ว่า Space Zab เป็นบริษัทอวกาศที่น่าจะประสบความสำเร็จในการสร้างฐานของการเกิด Space Democratization มากที่สุดในไทย และก็มีความร่วมมือกับ Spaceth อยู่บ่อยครั้ง (เช่น โครงการ Design the Universe, Space Lab, และงานการบรรยายด้านอวกาศ เช่น การจัดการสอนให้กับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ) และงานวิจัยร่วมกับบริษัทอย่าง Future Tales Lab by MQDC ในเรื่อง In-Situ Resource Untilization
Kibo Robot Programming Challenge ปีที่สอง งานแข่งระดับ Flagship ของ JAXA และ NSTDA
ถ้าใครที่เคยติดตามข่าวเมื่อปี 2020 น่าจะจำการแข่งขันที่ชื่อว่า Kibo Robot Programming Challenge ได้ ซึ่งปีนี้ก็กลับมาอีกครั้ง ภายใต้การนำของ JAXA และมี Partner สำคัญในไทยก็คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ NSTDA ซึ่งก็เคยทำโครงการหลาย ๆ โครงการที่สนับสนุนกิจกรรมด้านอวกาศ ภายใต้โครงการ Kibo-ABC ของญี่ปุ่น เช่น
- โครงการ Asian Try Zero-G ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เยาวชนสามารถส่งการทดลองขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยเยาวชนไทยที่เคยส่งผลงานขึ้นไป ก็เช่น ไอเดีย ไอซี (วริศา ใจดี และ ศวัสมน ใจดี) ซึ่งเราเคยสัมภาษณ์ทั้งคู่ในบทความ เดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์กับไอเดียและไอซี กับบทสนทนาของเด็กบ้าอวกาศ
- โครงการ Asian Herb in Space (AHiS) ซึ่งในปี 2021 มีการทำโครงการ ส่งตัวอย่างต้นไม้ประจำชาติของไทย และสมุนไพรไทย ขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติ และเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถทำการทดลองคู่ขนานไปกับพืชที่ถูกส่งขึ้นไปบน ISS ด้วย อ่าน – JAXA, มหิดล และ สวทช. ส่งเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ และโหระพา ของไทย เดินทางไปกับภารกิจ Dragon Crew-1
- การทำสื่ออวกาศ ในกลุ่มงานด้าน Space Education เพื่อสนับสนุนกิจกรรมอวกาศของไทย
ในปีที่แล้ว โครงการ Kibo Robot Programming Challenge นั้นก็ถูกจัดขึ้นเช่นกัน โดยโจทย์ก็จะเหมือนกับของปีนี้ก็คือ ให้นักเรียนได้หัดเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมหุ่นยนต์ที่ชื่อว่า Astrobee บนสถานีอวกาศนานาชาติให้ปฏิบัติภารกิจตามที่กำหนดในการซ่อมแซมสถานีอวกาศ โดยโค้ดนั้นในช่วงแรกจะเป็นการรันบน Simulation แต่ในรอบสุดท้ายนั้นโค้ดจะได้อัพโหลดขึ้นไปรันบนสถานีอวกาศนานาชาติจริง ๆ
ซึ่งปีที่แล้ว ทีมเยาวชนไทยก็ได้ผ่านเข้ารอบ เข้าไปในรอบชิงคือทีม won-spaceY ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้ชนะเลิศ (อ่าน – ถอดประสบการณ์ won-spaceY แชมป์ SPRC 2020 เขียนโค้ดควบคุมหุ่นยนต์อวกาศ ) และในปีนี้เยาวชนไทยก็ได้ผ่านเข้าไปอีกครั้ง แต่รอบนี้ทีม Indentation Error ก็สามารถเอาชนะคู่แข่งจากประเทศอื่น ๆ เป็นแชมป์ได้
Indentation Error นั้นประกอบไปด้วย ธฤต วิทย์วรสกุล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (หัวหน้าทีม) กรปภพ สิทธิฤทธิ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ เสฎฐพันธ์ เหล่าอารีย์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งการแข่งขั้นอยู่ภายใต้การดูแลและถ่ายทอดสดอยู่ตลอดเวลา นักบินอวกาศ Akihito Hoshide จาก JAXA ลูกเรือภารกิจ Expedition 65 ที่ประจำการอยู่บน ISS ตอนนี้ก็เป็นผู้ประกาศการแข่งนี้ด้วยตัวเองด้วย
เมื่อเดือนกันยายน 2021 ที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสคุยกับ พี่เบ้ง ปริทัศน์ เทียนทอง ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการ ภายใต้ ฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ ของ NSTDA (ซึ่งพี่เบ้ง อยู่เบื้องหลังโครงการตั้งแต่ Asian Try Zero-G และงานความร่วมมือระหว่าง JAXA กับ NSTDA) พี่เบ้งบอกเราว่า NSTDA นั้นกำลังจะหันมาสนับสนุนงานด้าน Space Education อย่างเต็มตัว เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้สัมผัสโอกาสอะไรที่น่าตื่นเต้นที่ไม่เคยมีมาก่อน
โครงการ Kibo-ABC นั้นถูกส่งต่องานมาตั้งแต่ในช่วงที่ ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี อดีตวิศวกร NASA’s Goddard Space Flight Center และ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ สนับสนุนให้เกิด Education ในศาสตร์อย่างอวกาศในไทยในช่วงเมื่อ 10 กว่าปีก่อน นั่นเอง (เป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือกับ JAXA)
พี่เบ้งแอบบอกความในใจกับเราว่า ความยากคือการที่ทำให้ JAXA เห็นว่าโครงการที่ลงทุนมากับเรานั้นคุ้มค่า เพราะอย่าลืมว่า JAXA เองเป็นหน่วยงานอวกาศญี่ปุ่น ไม่ใช่ไทย การจะส่งของไปบนอวกาศ การจะทำโครงการแข่ง มีงบที่สูงมาก แค่งานในประเทศยังโดนตัดงบได้ แล้วงานที่ JAXA ทำให้ต่างประเทศ การที่จะทำให้เรายังได้งบอยู่นั้นไม่ง่ายเลย
ถามว่าทำไมต้องรับการสนับสนุนจาก JAXA ก็เพราะว่า สวทช ไม่มีงบสำหรับการทำวิจัยด้านอวกาศโดยตรงนั่นเอง
ความสำเร็จของ NSTDA กับงานด้าน Space เองก็ก่อให้เกิดอะไรต่าง ๆ มากมาย อย่าง ดร.วเรศ แห่ง Space Zab ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นเด็กในโครงการทดลองบนสถาวะ Zero-G ของ JAXA มาก่อน (ซึ่งในตอนนั้นยังไม่ได้ส่งขึ้นสถานีอวกาศนานาชาติด้วยซ้ำ แต่บินทดลองในสภาวะไร้น้ำหนักด้วยเครื่องบิน)
สองผลงานคนไทยใน IAC เมื่องานอวกาศคืองานของทั้งโลก
อีกสองผลงานที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับสองอย่างด้านบนแต่จริง ๆ แล้วเกี่ยวเต็ม ๆ ก็ได้แก่งานงานวิจัยเรื่องหินดวงจันทร์เทียม เพื่อการศึกษาและวิจัยด้าน In-Situ Resorce Utilization ที่ชื่ออย่างเป็นทางการว่า TLS-01 (The First Thailand Lunar Simulant) ซึ่งนำโดยบริษัท Space Zab บริษัทเดียวกับที่สร้างทีม KEETA ขึ้นมาแข่ง NASA Deep Space Food นั่นเอง
Space Zab นั้นเริ่มต้นวิจัยอวกาศในมุมที่ต่างออกไปจากการโฟกัสที่จรวดและดาวเทียมที่เป็นเทคโนโลยีที่สูง ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ เล่าให้เราฟังว่า ถ้าเราโฟกัสที่ธุรกิจที่มีกำแพงด้านการเข้าไปเล่นสูง เราจะไม่มีโอกาสได้ทำนวัตกรรมจริงจัง แต่ถ้าเราเริ่มจากโจทย์ของการศึกษาอะไรใกล้ตัวที่เทคโนโลยี ทุน งบ พร้อม เราจะสามารถค่อย ๆ สร้างฐานความรู้ที่เป็นโจทย์ใหม่และได้รับการยอมรับได้ โจทย์วิจัยของ Space Zab จึงไม่ใช่การทำดาวเทียม หรือยานอวกาศแต่เป็นการประยุกต์ใช้ความรู้รอบตัวจากคนใกล้ตัว มาใช้เพื่อสร้างแรงขับในฝั่งอวกาศ ซึ่งแนวคิดนี้จะสะท้อนผ่านชิ้นงานต่าง ๆ ของ Space Zab เช่น การสร้าง Clinostat เพื่อจำลองสภาวะไร้น้ำหนัก (เช่น ถ้าจะปลูกพืชในอวกาศก็ไม่ต้องไปปลูกจริง ๆ มาทดลองใน Clynostat ก่อนได้) หรืออย่างหินดวงจันทร์, Space Food ก็มาจากโจทย์จริง ๆ อย่างการสำรวจอวกาศห้วงลึกและการจัดสรรทรัพยากรบนดาวต่าง ๆ
โดยงาน TLS-01 ที่ได้รับเลือกให้ไปนำเสนอในงาน IAC 2021 นั้น ได้รับการวิจัยมาตั้งแต่ปี 2020 โดยทีมวิศวกรได้เข้าไปศึกษาตัวอย่างหินจากแหล่งต่าง ๆ ในประเทศไทย และเลือกดีลการผลิตต่าง ๆ ปัจจุบัน TLS-01 นั้นได้รับการสั่งซื้อจากทั้งในและนอกประเทศ เพื่อไปทำผลงานตั้งแต่การวิจัย จนถึงงานศิลปะ (ตัวอย่างงานศิลปะ เช่น นิทรรศการศิลปะ คลื่นสมอง โมเดลสามมิติ แบคทีเรีย หินดวงจันทร์และเจ้าหญิงคางุยะ )
และตัวแทนจาก Space Zab ที่เดินทางไปก็คือเอิร์ธ ศรัณย์ สีหานาม วิศวกรจาก Space Zab ซึ่งก็คือ เอิร์ธ เดียวกับที่เป็นคนออกแบบ Payload MESSE ในภารกิจ การส่ง DNA Storage ที่บันทึกเสียงเพลงขึ้นไปบนอวกาศเป็นครั้งแรกของโลก ด้วย ซึ่งเอิร์ธ นั้นกำลังจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า ธนบุรี (และแน่นอนว่า อวกาศคืองานของเอิร์ธไปแล้ว)
ส่วน อีกหนึ่งงานวิจัยก็คืองาน Paper ศึกษาด้านพัฒนาการของอวกาศในประเทศอาเซียน ที่ บุ๊ค ชวัลวัฒน์ มาตรคำจันทร์ จากโครงการ University Space Engineering Consortium (UNISEC) เป็นผู้ร่วมเขียนและได้เดินทางไปนำเสนอด้วย ซึ่ง UNISEC นั้นเป็นการรวมตัวเยาวชนที่มีความสนใจด้านงานอวกาศมาพัฒนาและสร้างโอกาสการเข้าถึงอวกาศ ซึ่ง UNISEC ก็ได้จัดงานหลาย ๆ งาน และค่ายเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของเยาวชนด้านอวกาศ เช่น ค่าย Sputnik Camp หรือการแข่งขันต่าง ๆ เช่น Our Marscraft เมืองจำลองบนดาวอังคาร เป็นอีกหนึ่งการรวมตัวกันของเยาวชนที่อยากทำงานด้านอวกาศ
ซึ่งบุ๊คนี้ ก็คือบุ๊คเดียวกับที่ทำโครงการ BCC-Sat 1 หรือดาวเทียมดวงแรกของไทยที่สร้างโดยเด็กมัธยมซึ่งตอนนั้นได้รับการสนับสนุนจากทีม KnackSat-1 ดาวเทียม CubeSat ดวงแรกที่สร้างโดยคนไทยนั่นเอง ซึ่งหลังจากนั้น Momentum ของทั้งสองโครงการก็นำมาสู่แผนการสร้าง KnackSat-2 และการเกิดขึ้นของ Institute of Space Technology for Economic Development หรือ INSTED ซึ่งอยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือนั่นเอง
โดยหลังจากการนำเสนอผลงานที่นครดูไบ ทั้งบุ๊ค ชวัลวัฒน์ และ เอิร์ธ ศรัณย์ ได้โพสต์ลงบน Facebook ส่วนตัวว่ามีโอกาสได้เจอกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร และพูดคุยกันถึงประเด็นด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย
ประยุทธ์โพสต์ถึง “ทีมชาติไทย”
หลังจากนั้น 1 วัน ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้โพสต์ข้อความลงบน Facebook Official บอกว่า ยินดีกับทีม Indentation Error และ KEETA ด้วย โดยประยุทธ์บอกว่า “ความสำเร็จของ “ทีมชาติไทย” จากการแข่งขันทั้ง 2 รายการนี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันว่าคนไทยนั้นมีความสามารถ ไม่ได้เป็นรองใครในทุกๆ ด้าน รวมถึงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าสมาชิกของทั้งสองทีม จะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสร้างความก้าวหน้าให้วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของบ้านเรา ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ และหวังว่าต้นแบบของความสำเร็จนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยทั้งประเทศที่ยังมีคนเก่งอีกมากมาย ในการมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ สู่สังคมและประเทศชาติต่อไป”
นอกจากนี้ยังบอกว่า ประยุทธ์นั้น คือ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกโฉมประเทศไทย”
ในขณะที่ก็มีการแสดงความคิดเห็นบนสังคมออนไลน์เปรียบเทียบกรณีที่ เบนจา อะปัญ นักเคลื่อนไหวซึ่งก่อนหน้านี้มีการโพสต์ว่าเธอเองก็มีความชอบและสนใจด้านอวกาศ (เบนจา อะปัญ เรียนอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) ) ที่ถูกไม่ให้ประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี ที่ถูกฟ้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พร้อมกับนักเคลื่อนไหวอีกหลายคน ที่น่าจะมีประโยชน์ต่องานวิชาการของประเทศไทย ในหลาย ๆ วงการ (ซึ่งแสนจะย้อนแย้ง)
ก่อนหน้านี้เราเคยนำเสนอบทความที่ชื่อว่า สรุปทุกอย่าง อวกาศไทย 2020 ความร่วมมือ ความขัดแย้ง ความย้อนแย้ง อธิบายบริบทของกิจการอวกาศในประเทศไทย ซึ่งก็ได้บอกเอาไว้ว่า Trend ที่น่าจับตามองมากตอนนี้คือ “การผลักดันงานอวกาศในระดับ Citizen และการเกิดขึ้นของ Space Accessibility ใคร ๆ ก็ส่งงานวิจัยไปอวกาศได้ และมีความหลากหลายในงานวิจัยมากขึ้น รวมถึงการเกิด Space Education ในภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย โรงเรียนมัธยม ประถม อนุบาล” ซึ่งสิ่งที่เห็นจากกรณีด้านบนก็ตรงกับ Trend ที่กล่าวมา
ทำให้วงการอวกาศในไทยยิ่งน่าจับตามอง เพราะสุดท้ายภาครัฐเองเราก็มองว่ายังไม่ได้มีการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม โครงการที่เกิดขึ้นอย่าง NSTDA ที่ร่วมมือกับ JAXA การเกิดขึ้นของบริษัทอวกาศ Space Zab การสำรวจอวกาศโดยเอกชนในไทยและการเกิดขึ้นของผลงานที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ตั้งแต่ 3D Food Printer, Thailand Lunar Simlant และโครงการอวกาศของเด็กไทย ก็เกิดขึ้นมาเองโดย Oragnic จากงาน โครงการ และหน่วยงานที่ทำอยู่แล้ว ทำมาก่อนหน้านี้แล้ว (แทบจะก่อนหน้าที่เกิดการปรับรูปแบบกระทรวงอีก) การที่ประยุทธ์โพสต์เคลมผลงานดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจที่จะนำมาซึ่งคำถามว่า ตอนนี้รัฐกำลังทำอะไรอยู่
ภายหลังการประกาศโครงการ Thai Space Consortium นั้น ได้มีการประกาศจะสนับสนุนกิจการอวกาศต่าง ๆ NIA จัดโครงการ Space Economy Lifting Off ซึ่ง ณ ตอนนี้ ทีมที่ได้รับการสนับสนุนก็อยู่ระหว่างการสร้างผลงาน ซึ่งก็น่าติดตามมาก ๆ เช่นกัน
โครงการของ อว. หรือกระทรวงอุดมศึกษา ที่ตอนนี้น่าจับตามองก็ได้แก่ THEOS-2 และโครงการ Thai Space Consortium จะสามารถสร้าง Momentum ของการเกิดงานรูปแบบดังกล่าวให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกิด Space Accessibility และ Space Democratization ได้หรือไม่ ต้องติดตามกัน
อ่าน – Democratizing Access to Space อวกาศเป็นของราษฎรและมนุษยชาติ
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co
Disclaimer : สื่อออนไลน์สเปซทีเอช มีโครงการความร่วมมือกับบริษัท Space Zab และมีความสัมพันธ์เชิงธุรกิจ, สื่อออนไลน์สเปซทีเอช ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับหน่วยงานรัฐฯ ใด ๆ ที่พูดถึงข้างต้น, สื่อออนไลน์สเปซทีเอชเคยได้รับการสนับสนุนเพื่อลงคอนเทนต์บางตัวที่พูดถึงโครงการ Space Economy Lifting Off, สื่อออนไลน์สเปซทีเอชเป็นพันธมิตรสื่อให้กับ NSTDA และการแข่งขันบางรายการ โดยไม่ได้รับการสนับสนุนอื่นใด, ผู้เขียนบทความ ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน เคยมีตำแหน่งอดีตกรรมการบริษัท Space Zab, ปัจจุบันสื่ออนไลน์สเปซทีเอช ไม่ได้มีหุ้น/เป็นกรรมการ บริษัทใด ๆ ที่กล่าวมาในบทความ / Views are on my own