BHUTAN-1 ดาวเทียมดวงแรกที่ชาวภูฏานทำเอง โคจรรอบโลกสำเร็จ

เมื่อเวลาห้าโมงของวันที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา ดาวเทียมขนาดเล็กทรงลูกบาศก์ (CubeSat) ของประเทศภูฏานก็ได้ขึ้นไปโคจรรอบโลกในวงโคจร Low Earth Orbit ซึ่งเป็นวงโคจรระดับเดียวกับสถานีอวกาศนานาชาติ อย่างปลอดภัยพร้อม ๆ กับการก้าวกระโดดของวงการอวกาศของประเทศเล็ก ๆ อย่างประเทศภูฏานที่ล้อมรอบไปด้วยหุบเขาและธรรมชาติที่สวยงามที่ตอนนี้มีดาวเทียมสัญชาติของตัวเองแล้ว

ในครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านอวกาศของประเทศภูฏาน ประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่ได้โด่งดังมากดาวเทียม BHUTAN-1 ถูกสร้างขึ้นโดยนักวิศวกรชาวภูฏานทั้งหมด (จำนวน 4 คน) ที่อยู่ที่มหาวิทยาลัยคิวชู ประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าจะไม่ได้ประกอบใน Lab ของภูฎานแต่ก็นับว่าเป็นดาวเทียมขนาดเล็กดวงแรกของประเทศภูฏาน และสร้างขึ้นมาโดยวิศวกรชาวภูฏานทั้งหมด

วิศวกรชาวภูฏานทั้งสี่คนที่กำลังประกอบดาวเทียม BHUTAN-1 ที่มา Kuensel

สำหรับเรื่องราวความสำเร็จนี้เกิดขึ้นภายใต้โครงการ BIRDS-2 ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2016 เป็นความร่วมมือระหว่างวิศวกรจากประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซียและภูฏานได้สร้างดาวเทียมขนาดเล็กทรงลูกบาศก์ขนาด 10 x 10 x 10 cm (CubeSat) ซึ่งนับว่าเป็นดาวเทียมขนาด 1U โดยได้ออกแบบให้มีภารกิจดังนี้

  • ถ่ายภาพของประเทศสมาชิกทั้งหมดจากอวกาศแล้วส่งข้อมูลกลับมายังโลก
  • เก็บข้อมูลเพื่อศึกษาผลกระทบจากรังสีที่อยู่ในอวกาศบน Low Earth Orbit
  • วัดความเข้มของสนามแม่เหล็กบนวงโคจรเพื่อมาเปรียบเทียบกับการค่าสนามแม่เหล็กบนพื้นโลก
  • ทดลองวัดความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลและการส่งต่อข้อมูลระยะไกล เช่นจากสถานีอวกาศไปยังสถานีภาคพื้นดินที่อยู่บนโลก

เมื่อได้ข้อสรุปในการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กนี้แล้ว นักวิศวกร จึงเริ่มออกแบบและทดสอบ ภายในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว หลังจากพวกเขาได้ตรวจสอบการทำงานของแต่ละระบบเรียบร้อย พวกเขาก็ได้เริ่มสร้างแบบจำลองทางวิศวกรรมของดาวเทียมขนาดเล็กดวงนี้เป็นครั้งแรก (EM-1) ซึ่งใช้เวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนกระทั่งเดือนตุลาคม แบบจำลองทางวิศวกรรมของดาวเทียมขนาดเล็ก (EM-2) ดวงนี้ก็ได้เสร็จสิ้นลงและเริ่มพัฒนา Flight Module (FM) ขึ้น จุดสนใจหลัก ๆ ตอนนี้คือซอฟต์แวร์ของดาวเทียมดวงนี้ยังมีการทดสอบการสื่อสารเพื่อตรวจสอบความสามารถในการทำงานของดาวเทียมได้อีกด้วย

ดาวเทียมของทั้ง 3 ประเทศ ที่มา – JAXA

ดาวเทียมดวงนี้ถูกส่งตัวไปยัง Japan Exploration Agency (JAXA) หรือองค์กรสำรวจอวกาศประเทศญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมปีนี้ พร้อม ๆ กับดาวเทียมอีกสองดวง โดยดาวเทียทที่ถูกส่งขึ้นไปสรุปมี 3 ดวงด้วยกัน ได้แก่

  • BHUTAN-1 ของภูฏาน
  • Maya-1 ของฟิลิปินส์
  • UiTMSat-1 ของมาเลเซีย

JAXA ได้บรรจุดาวเทียมทั้ง 3 เข้าในอุปกรณ์เคลื่อนย้ายแบบพิเศษและส่งต่อไปยัง NASA เพื่อเป็นหนึ่งในสัมภาระที่จะเดินทางขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ

จรวด Falcon 9 พร้อมยาน Dragon ในภารกิจ CRS-15 ที่มา – SpaceX

และเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้นั้นดาวเทียม BHUTAN-1 ก็ได้ทะยานขึ้นขึ้นไปเหนือฟ้าในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยจรวด Falcon 9 และยาน Dragon ยานลำเลียงไร้คนขับของ SpaceX หลังจากที่ยาน Dragon ได้ทำการ Docking กับตัวสถานีแล้ว ก็ได้มีการเคลื่อนย้ายดาวเทียมทั้ง 3 ดวงไปที่ Kibo โมดูลของประเทศญี่ปุ่นที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ต่อเพื่อรอการปล่อยเข้าสู่วงโคจรระดับต่ำต่อไป

สำหรับเทคนิคการปล่อยจะเป็นการปล่อยออกไปจากสถานีอวกาศนานาชาติ โดยใส่เข้าไปในอุปกรณ์จากน้ันค่อย ๆ ยิงตัวดาวเทียมออกไป เทคนิคนี้ใช้สำหรับดาวเทียมขนาดเล็กแบบ CubeSat

ภาพการปล่อยดาวเทียม CubeSat ของ Planet Lab ที่ใช้เทคนิคเดียวกับดาวเทียม Bhutan-1 ที่มา – NASA

ซึ่งในวันนี้ดาวเทียมขนาดเล็กของประเทศภูฏานก็ได้อยู่ในวงโคจร Low Earth Orbit แล้ว และตอนนี้มันก็กำลังโคจรอยู่ที่ไหนสักที่เหนือชั้นบรรยากาศของโลก มันแสดงให้เห็นว่าประเทศภูฏานที่เป็นประเทศเล็ก ๆ และยังถูกคนบางกลุ่มมองว่าเป็นประเทศที่ยากจนอยู่นั้นก็สามารถสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก (CubeSat) ส่งขึ้นไปโคจรรอบโลกได้ก่อนหน้าหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน

  • ดาวเทียมดวงนี้จะโคจรผ่านจุดรับสัญญาณในประเทศภูฎาน 4-5 ครั้งใน 1 วัน
  • อายุของดาวเทียมถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ประมาณ 6-9 เดือน

อย่างไรก็ตามประเทศไทยตอนนี้ดาวเทียม CubeSat ที่โด่งดังก็ได้แก่ KnackSat ที่พัฒนาโดยวิศวกรไทยนำโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ซึ่งจะถูกส่งขึ้นไปปล่อยขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด Falcon 9 ในเดือนพฤศจิกายน 2018 พร้อมกับดาวเทียมขนาดเล็กอีกกว่า 70 ดวงจากนานาชาติ ที่เป็นการหารค่าปล่อยกัน ( บทความเกี่ยวกับ การหารค่าปล่อย )

https://youtu.be/pwS5uE5RStw

ปัจจุบันการทำดาวเทียมขนาดเล็กหรือ CubeSat นั้นเป็นที่นิยมในหมู่มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งโรงเรียนมัธยม เนื่องจากมีโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อน ใช้การเขียนโปรแกรมบนบอร์ดที่ใกล้เคียงกับคอมพิวเตอร์ปกติ ซึ่งไม่ยากมากสำหรับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มีการสอนเรื่องของการทำหุ่นยนต์กันอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่ง Startup หลายเจ้าก็หันมาทำ CubeSat แต่ให้บริการต่าง ๆ เช่น การสื่อสาร, การถ่ายภาพโลก ได้ดีไม่แพ้ดาวเทียมดวงใหญ่

ส่วนเรื่องของประเทศภูฏานนั้นมีเรื่องน่าสนใจที่ก็ได้มีความร่วมมือกับทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ในการประชุมความร่วมมือระหว่าง DHI กับ NARIT เพื่อทำการสำรวจพื้นที่การสร้างหอดูดาว และท้องฟ้าจำลอง เมืองทิมปู และเมืองพาโร ราชอาณาจักรภูฏาน ดังนั้นพูดได้เลยว่าภูฏาน กำลังจะกลายเป็นประเทศที่เข้ามามีส่วนในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้นแน่ ๆ ในอนาคต

อ้างอิง

Press Release:Launch of Bhutan’s First Satellite BHUTAN-1 | Department of Information Technology and Telecom

มายด์ - บรรณาธิการและนักเขียน นิสิตปี 1 ภาคฟิสิกส์ จุฬาฯ สนใจเรื่องอวกาศ วิทยาศาสตร์ BLACKPINK อดีตไอดอลที่ออกวงการมาแล้ว และในปัจจุบันนี้เป็น Atomic Queen Ambassador of Physics 2019