รวมข่าวอวกาศ ห้ามพลาดปี 2021 ปีแห่งการเริ่มต้นไปดวงจันทร์ การปล่อย ภารกิจ

2020 หลังจากโลกได้รู้จักกับโคโรนาไวรัสสายพันธ์ุใหม่ ที่ทำให้โลกทั้งใบแทบจะต้องหยุดชะงักและสร้างความเสียหายให้กับทุกวงการรวมไปถึงวงการวิทยาศาสตร์และการสำรวจอวกาศด้วยเช่นกัน หลังจากที่ผ่านปีที่ยากลำบาก 2021 เป็นความหวังของเราที่จะกลับมายืนได้อีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตามในปี 2020 มนุษย์ก็ได้พยายามต่อสู้กับวิกฤติต่าง ๆ อย่างสุดความสามารถทำให้จริง ๆ แล้ว เราก็ยังมองเห็นความคืบหน้าหลายอย่างในวงการอวกาศ ตั้งแต่การปล่อยยาน Dragon 2 ในเที่ยวบินแบบมนุษย์นั่งสำเร็จถึงสองเที่ยวบิน การส่งยานไปดาวอังคารของ 3 ชาติ ได้แก่สหรัฐอเมริกา จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยุโรปพลาดการปล่อยและจำเป็นต้องเลื่อนไปอีก 2 ปี) ที่จะไปจองเทศกาลลงจอดดาวอังคารในช่วงต้นปี 2021 หรือการค้นพบใหม่ ๆ ที่น่าสนใจหลายอย่างในวงการวิทยาศาสตร์

ในตอนนี้ เราจะมาดูเรื่องราวที่ต้องติดตามในวงการอวกาศปี 2021 และหวังว่าการสำรวจอวกาศของมนุษย์ในปีนี้จะพาให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ไปพร้อมกัน

เริ่มต้นปีด้วยมหกรรมการลงจอดาวอังคาร

ในช่วงกลางปี 2020 นั้น 3 ประเทศได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ส่งยานของตัวเองไปสำรวจดาวอังคาร ซึ่งตรงกับทุกรอบ 2 ปีที่ดาวอังคารจะเดินทางมาใกล้โลก 1 ครั้ง ซึ่งนั่นหมายความว่าสถานการโคโรนาไวรัส ทำให้ 3 ประเทศนี้ร้อน ๆ หนาว ๆ กัน แต่สุดท้ายก็สามารถส่งได้สำเร็จ จะน่าสงสารก็แต่หน่วยงานอวกาศยุโรป หรือ ESA ที่ไม่สามารถทำยาน Exo Mars 2020 เสร็จได้ทันเวลา ทำให้ต้องทำการเลื่อนการปล่อยไปเป็นปี 2022 แทน

ยานของสหรัฐอเมริกา เจ้าเก่า JPL ผู้ที่ตอนนี้เป็นเพียงแค่หนึ่งเดียวที่ลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จ จากผลงานตั้งแต่โครงการ Viking (1976) จนถึงโครงการล่าสุด InSight (2018) การลงจอดบนดาวอังคารดูเหมือนจะเป็นของตายที่เดาว่ายังไงก็สำเร็จแน่นอน ตัวยาน Mars Perseverance Rover ในรอบนี้ ใช้สถาปัตยกรรมการออกแบบเหมือนกับยาน Curiosity ที่ถูกส่งไปลงจอดสำเร็จในปี 2012 (อ่าน – เจาะลึกวิธีลงจอดของยาน Perseverance บนดาวอังคาร Entry, Descent, Landing) ทำให้เดาไม่ยากว่า Perseverance นั้นไม่น่ามีปัญหาในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2021 ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสัญญาณสดจากศูนย์ควบคุมที่ JPL ที่ Caltech มาให้เราได้ร่วมเป็นสักขีพยาน และตัวยานก็จะเริ่มสำรวจดาวอังคารเพื่อเตรียมพร้อมสู่การตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารของมนุษย์

อ่าน – Perseverance Rover สรุปรายละเอียด อุปกรณ์ทุกตัว บนยาน ภารกิจสำรวจดาวอังคาร

ในขณะที่ยาน Tianwen 1 (เทียนเวิ่น คำถามแห่งสวรรค์) ของจีน ผู้ที่บ้าบิ่นด้วยประสบการณ์เป็น 0 ในการสำรวจดาวอังคาร เข้าสู่สังเวียนนี้ด้วยการโชว์เหนือด้วยการพยายามลงจอดในภารกิจแรก โดยยานเทียนเวิ่นจะลงจอดบนดาวอังคารในเดือน เมษายนปี 2021 ซึ่งตัวยานประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือส่วน Lander และส่วน Rover ที่เป็นรถหุ่นยนต์ขนาดเล็ก คล้ายกับภารกิจฉางเอ๋อ 4 ที่จีนส่งไปสำรวจดวงจันทร์ สิ่งที่น่าตื่นเต้นก็คือ ถ้าจีนลงจอดสำเร็จ พวกเขาจะเป็นชนชาติที่สองที่สามารถลงจอดบนดาวอังคารได้ ต่อจากสหรัฐฯ

ในขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กับภารกิจ HOPE ที่ตั้งชื่ออย่างมีสัญญะว่ามันคือความหวังของชนชาติอาหรับที่จะกลับมายิ่งใหญ่และสร้างคุณประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้กับมนุษยชาติอีกครั้งเหมือนกับที่บรรพบุรุษของพวกเขาเคยทำมา ยานลำนี้เป็นความพยายามครั้งแรกเช่นกัน แต่พวกเขายังเลือกที่จะออกแบบยานให้เป็นแบบ Orbiter หรือเป็นยานโคจรรอบดาวอังคารแทน ซึ่งก่อนหน้านี้อินเดียเคยทำสำเร็จในปี 2014 ด้วยยานมังคลายาน โดยตัวยาน HOPE นั้นจะเข้าสู่วงโคจร หรือ Orbit Insertion ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ปี 2021

ไทยเปิดตัวโครงการ Thai Space Consortium ความหวังแผนสำรวจอวกาศไทย

หลังจากกรณีดราม่าโครงการสำรวจอวกาศไทยในช่วงปลายปี 2020 ที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงเป็นอย่างมาก ในเดือนมกราคมปี 2021 ก็จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของโครงการ Thai Space Consortium ที่ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และจิสด้า ร่วมมือกันพัฒนายานอวกาศของคนไทย โดยจะเน้นไปที่ยานสำรวจด้านวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาโดยคนไทย (ไม่เหมือนกับ Thaicom ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารที่ซื้อมา และดาวเทียม THEOS ที่ไปซื้อมาเช่นกัน)

โครงการ Thai Space Consortium ถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจอวกาศด้วยยานอวกาศอย่างจริงจังของไทย หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราได้เห็นประเทศไทยมีการทำดาวเทียม CubeSat ขึ้นไปกันบ้างแล้ว (และดาวเทียม BCC-Sat 1 ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนก็มีกำหนดปล่อยในปี 2021 เช่นกัน) การเข้ามาของ TSC นั้นมีโอกาสที่จะทำให้โครงการอวกาศต่าง ๆ ในไทยที่กระจัดกระจาย มีทิศทางไปในทางเดียวกันมากขึ้นและส่งเสริมกัน สร้าง Ecosystem ที่เกิดการพัฒนา

อย่างไรก็ตามความคืบหน้าในปี 2021 เราอาจจะได้เห็นตัวแม่แบบของดาวเทียม อย่างน้อย 1-2 ภารกิจ ทั้งบน Low Earth Orbit และภารกิจระยะยาวในการสำรวจดวงจันทร์​ (Lunar Orbit) ซึ่งอุปกรณ์หรือ Instrument บนยานก็จะเน้นไปที่งานวิจัยด้านวิทยาศาสร์ รวมถึงงานด้านรังสีในอวกาศของ ดร.เดวิด รูฟโฟโล แห่งมหาวิทยาลัย มหิดล ได้เห็น GISTDA ในบทบาทการสนับสนุน Facilities ในการทำดาวเทียม NARIT ในการทำอุปกรณ์ความแม่นยำสูง ซึ่งรายละเอียดของโครงการภาพเต็มจะเป็นอย่างไร ต้องรอดูกัน

อ่าน – สรุปทุกอย่าง อวกาศไทย 2020 ความร่วมมือ ความขัดแย้ง ความย้อนแย้ง

รัสเซียส่งยาน Luna 25 ไปดวงจันทร์ หลังทิ้งระยะกว่า 45 ปี

นับตั้งแต่รัสเซียส่งยาน Luna 24 ไปสำรวจดวงจันทร์ในปี 1976 ยาวมาจนถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ยาวจนมาถึงจีนส่งยานฉางเอ๋อ 3 ไปลงจอดดวงจันทร์ในปี 2013 อีกครั้ง ยาวจนมาถึงจีนส่งยานฉางเอ๋อ 5 ไปเก็บตัวอย่างหินจากดวงจันทร์กลับโลก (ซึ่งเป็นภารกิจเดียวกับที่ Luna 24 ทำ) รัสเซียก็จะส่งยานอวกาศกลับไปลงจอดบนดวงจันทร์อีกครั้งแล้ว เป็นเวลานานถึง 45 ปี นับจากโครงการก่อนหน้าในโครงการซีรีส์เดียวกัน

ซึ่งจริง ๆ แล้ว Luna 25 นั้นวางแผนกันมาตั้งแต่ช่วงยุค 90s ก็ทำกันต่อมาเรื่อย ๆ แล้วกันดันมาเจอความผิดพลาดของโครงการ Fobos-Grunt ที่หวังจะเก็บตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ Fobos ของดาวอังคารกลับโลกแต่ดันพลาดไม่สำเร็จ ทำให้วิศวกร Roskosmos ถึงกับต้องออกแบบตัวยาน Luna 25 กันใหม่ และใช้เวลาถึงสิบปีในการเข็นออกมาจนเสร็จด้วยความร่วมมือกับทาง ESA องค์การอวกาศยุโรป

ยาน Luna 25 จะถูกปล่อยในวันที่ 1 ตุลาคม 2020 ซึ่งนับว่าเป็นโครงการการสำรวจดวงจันทร์ “โครงการแรกของรัสเซีย” ถ้าเราไม่นับยุคสหภาพโซเวียต และจะเปิดทางสู่โครงการ Luna 26 และ 27 ที่จะเข้มข้นขึ้นในอนาคต

ตัดสินชะตายาน Juno จะอยู่ต่อหรือจะเป็นส่วนหนึ่งของดาวพฤหัสไปตลอดกาล

ยาน Juno เป็นยานสำรวจดาวพฤหัสบดีที่ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 5 สิงหาคมปี 2011 โดยเป้าหมายเพื่อไขปริศนาดาวพฤหัสและเป็นยานสำรวจดาวพฤหัสที่ใช้วิธีการโคจรรอบและโคจรตัดขั้วเหนือใต้ลำแรกและลำเดียว (ยาน Cassini และยาน Voyager 2 แค่ทำการสำรวจแบบโฉบผ่าน) ซึ่งแน่นอนว่าตั้งแต่ที่ Juno เดินทางถึงดาวพฤหัสในปี 2016 มันก็ได้สร้างการค้นพบและความเข้าใจใหม่ ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง พายุบนดาวพฤหัส, สนามแม่เหล็ก และกลศาสตร์ของไหลภายในตัวดาว แถมยังมี ภาพสวย ๆ มาให้เราดูผ่านกล้อง Juno Cam ที่ติดไปกับยาน

ยาน Juno นั้นถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ประมาณ 4 ปี (ไม่รวมช่วงเดินทาง 4 ปี 10 เดือน) นั่นทำให้ยาน Juno จะเข้าสู่ช่วง End of Mission ในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2021

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่ายาน Juno จะต้องจบภารกิจและสิ้นสุดอายุของมันด้วยการดำดิ่งลงไปในดาวพฤหัส (เพื่อป้องกันไม่ให้มันไปชนกับดวงจันทร์ของดาวพฤหัสแล้วไปปนเปื้อน) เหมือนกับที่ Cassini ต้องทำกับดาวเสาร์ในช่วงปี 2017 เพราะจริง ๆ แล้วภารกิจการสำรวจอวกาศพวกนี้จะมีสิ่งที่เรียกว่า Extended Mission ซึ่งเป็นการต่ออายุภารกิจ ถ้าสมมติว่ายานยังใช้ได้ดีอยู่ และได้รับงบประมาณสนับสนุน NASA จะประกาศต่ออายุโครงการ Juno ไปอย่างต่ำ ๆ ที่เราประเมินดูก็น่าจะประมาณ 4-5 ปี แต่ถ้าไม่เราก็อาจจะได้บอกลา Juno ในปีนี้ก็เป็นไปได้

จีนสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ของตัวเอง China Space Station

South China Morning Post รางานว่าจีนมีแผนที่จะสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ หรือ China Space Station ให้เสร็จภายในปี 2022 โดยก่อนหน้านี้ จีนเคยมีสถานีอวกาศได้แก่ เทียนกง 1 และเทียนกง 2 ที่ ณ ตอนนี้ตกกลับลงมาสู่พื้นโลกแล้วทั้งคู่ โครงการสถานีอวกาศใหม่ของจีนจะต่างจากของเดิมตรงที่ใช้โครงสร้างแบบโมดูลประกอบเข้าหากัน ทำให้สามารถขยายขนาดและภารกิจได้ในอนาคต

CSS หรือ China Space Station จะประกอบไปด้วยโมดูลหลักที่ชื่อว่าเทียนเหอ (ไม่ได้แปลว่านมฟ้าแต่แปลว่าทางช้างเผือกหรือทางน้ำนม) ซึ่งจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2021 เพื่อเป็นแกนหลักในการที่จะต่อออกมาเป็นตัวสถานีแบบเต็มรูปแบบภายในปี 2022 เพื่อเปิดทางสู่การสำรวจอวกาศห้วงลึกโดยมนุษย์ของจีน

ทดสอบเที่ยวบิน Artemis 1 เมื่อยานมนุษย์จะกลับไปดวงจันทร์ครั้งแรกในรอบ 50 ปี

ข่าวที่น่าจะใหญ่ที่สุดของปี 2020 ได้แก่การทดสอบ Artemis 1 ซึ่งนับเป็นเที่ยวบินแรกของ โครงการ Artemis ที่มีเป้าหมายในการส่งนักบินอวกาศกลับไปสู่ดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024 โดยโครงการ Artemis เป็นความร่วมมือนานาชาติที่สหรัฐอเมริกา นำโดย NASA เป็นผู้ริเริ่มโครงการ Artemis 1 จะเป็นการทดสอบยาน Orion และจรวด SLS ของ NASA ที่พัฒนามาเพื่อรองรับการไปดวงจันทร์และการสำรวจอวกาศห้วงลึก

การทดสอบยาน Orion ในอวกาศจริง ๆ รอบล่าสุดนั้นต้องย้อนกลับไปในปี 2014 หรือกว่า 6 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นยาน Orion ได้เดินทางเข้าไปในอวกาศห้วงลึกแต่ยังอยู่ในวงโคจรของโลกเป็นหลัก หลังจากนั้น Orion ก็ถูกทดสอบต่าง ๆ เรื่อยมา เช่นร่มชูชีพ การลงจอด ต่าง ๆ ควบคู่กับยานอีก 2 ลำในโครงการ Commercial Crew ได้แก่ Boeing Starliner และ Dragon 2 (ที่ตอนนี้ Dragon 2 ใช้ได้จริงแล้ว) อ่าน – NASA เริ่มประกอบ SLS Booster ชิ้นส่วนแรกของ Artemis I

Artemis 1 นั้นมีแผนการปล่อยในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2021 เป็นการทดสอบ Inject ตัวยานเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ และอยู่ในอวกาศนานกว่า 3 สัปดาห์ ก่อนที่จะกลับมาลงจอดบนโลก แม้ในการทดสอบครั้งนี้จะเป็นการทดสอบยานเปล่า ไม่มีนักบินโดยสารไปด้วย แต่ก็นับว่าเป็นยานอวกาศมนุษย์นั่งลำแรกในรอบ 48 ปีที่ได้ไปโคจรรอบดวงจันทร์อีกครั้งนึง นับตั้งแต่โครงการ Apollo 17 เลยทีเดียว

James Webb Space Telescope จะถูกปล่อย ซักทีหลังเลื่อนแล้วเลื่อนอีก

ในที่สุด แล้วเราก็หวังว่าคงจะไม่เลื่อนอีกแล้ว เมื่อกล้อง James Webb Space Telescope กล้องโทรทรรศน์ที่จะมาแทน Hubble เจ้าเก่า ที่ใช้นานมาหลายทศวรรษ จะได้ขึ้นสู่อวกาศซักที หลังเลื่อนแล้วเลื่อนอีก และก็คงเลื่อนมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะกล้อง JWST นั้นถูกออกแบบมาให้ปล่อยด้วยจรวด Ariane 5 ของทาง ESA และตอนนี้ทาง ESA ก็จะเลิกใช้ Ariane 5 แล้ว (ฮา)

กำหนดปล่อยของ JWST นั้นอยู่ที่วันที่ 30 ตุลาคม 2021 จากฐานปล่อยในดินแดนเกียนาของฝรั่งเศส ในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งก็น่าจะเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ประทับใจใครหลายคน เพราะตอนแรกถูกออกแบบให้ปล่อยปี 2007 แต่ดันมาสร้างเสร็จจริง ๆ ปี 2016 เก็บงานอีกถึง 4 ปีเต็ม จะปล่อยในปี 2020 ก็โดนโคโรนาไวรัสเล่นงานและต้องเลื่อนมาเป็นปี 2021 แทน

ปล่อยยาน Lucy สำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจันของดาวพฤหัสบดี

การปล่อยยานสำรวจระบบสุริยะในตระกูลโครงการในคลาส Discovery ของ NASA ที่ได้รับเลือกในปี 2017 คู่กับยานอีกลำชื่อว่า Psyche ยาน Lucy นี้จะมีภารกิจการสำรวจที่ยังไม่เคยมียานลำใดทำมาก่อนก็คือการไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจันทร์ของดาวพฤหัสบดี ซึ่งจุดที่ดาวเคราะห์น้อยพวกนี้อยู่ คือบริเวณฝั่งด้านเยื้องดาวพฤหัสด้านกับดวงอาทิตย์ทำมุมประมาณ 45 องศา ซึ่งแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัส สร้างจุดที่เป็นจุดลากรางจ์ (อ่าน – Lagrangian Point คืออะไร ทำไมยานอวกาศถึงต้องไปอยู่ตรงนั้น) ทำให้ดูดเอาดาวเคราะห์น้อยต่าง ๆ ไปอยู่ในบริเวณนั้น

นักดาราศาสตร์เชื่อว่าการสำรวจในบริเวณดังกล่าง จะทำให้เราเข้าใจที่มาของระบบสุริยะของเรามากขึ้น รวมถึงการก่อกำเนิดของโลกของเราด้วยเช่นกัน ยาน Lucy จะถูกปล่อยด้วยจรวด Atlas V 401 ณ แหลมเคอเนอเวอรัล โดยมี Lunch Window ของการปล่อยอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน 2021

อ่าน – สรุปทุกข้อมูล ยาน Lucy ภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจัน ในจุดลากรางจ์ของดาวพฤหัส

ULA เปิดตัวจรวด Vulcan หลังเสียส่วนแบ่งการตลาดให้ SpaceX มาหลายปี และโครงการ Commercial Lunar Payload Services

Vulcan เป็นจรวดรุ่นใหม่จากทาง ULA ที่เป็นการรวมตัวกันระหว่าง Boeing และ Lockheed Martin เจ้าของเทคโนโลยีจรวด Atlas และ Delta ที่ทำงานให้กับ NASA และกองทัพฯ มานาน แต่ตั้งแต่ SpaceX เข้ามาทำตลาด ULA ก็สูญเสียการผูกขาดตลาดไป และยิ่ง SpaceX ได้รับใบอนุญาตให้สามารถปล่อยดาวเทียมทางการทหารได้ แถมทำได้ในราคาที่ถูกกว่า ULA เองก็ต้องเร่งพัฒนาจรวดรุ่นใหม่

ความหวังของ ULA นั้นคือจรวด Vulcan ที่จะมาแทน Delta และ Atlas ที่เป็นตระกูลจรวดเก่าแก่ที่ใช้กันมานาน โดยเน้นการลดค่าใช้จ่ายต่อการปล่อยให้เหลืออยู่ที่เริ่มต้น 82 ล้านเหรียญต่อเที่ยว (SpaceX อยู่ที่ประมาณ 50 ล้านเหรียญ) ภายใต้ทุนการพัฒนาจรวดที่ใช้ปล่อยดาวเทียมให้กับกองทัพฯ ซึ่งใช้งานกับภารกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ที่เราจะเห็นว่าตอนนี้มีแค่ SpaceX และ ULA เท่านั้นที่ปล่อยดาวเทียมสำหรับ NROL ซึ่งเป็นโครงการดาวเทียมสอดแนมของสหรัฐฯได้ Vulcan นั้นยังรองรับการส่งยานไปดวงจันทร์ ในโครงการ Artemis ด้วย

เที่ยวบินแรกของ Vulcan นั้นจะเกิดขึ้นช่วงกลางปี 2021 ในการส่งตัว Lander ที่ชื่อว่า Peregrine lander ของบริษัท Astrobotic ไปเป็นยาน Lander ลำแรก ๆ ในโครงการ Artemis ที่เอกชนทำขึ้นมาเพื่อเปิดทางการสำรวจดวงจันทร์ อ่าน – NASA ประกาศเลือก 3 บริษัทเอกชน เพื่อส่งยานไปลงดวงจันทร์

สามยอดกุมารแห่ง Artemis เริ่มผลิตยานอย่างดุเดือด สำหรับไปดวงจันทร์

ในปี 2020 NASA ได้เลือก 3 บริษัทในการทำยานส่งมนุษย์ไปลงจอดบนดวงจันทร์ในโครงการ Artemis ซึ่ง 3 บริษัทนั้นก็ได้แก่ SpaceX, Blue Origin และ Dynetics โดยแต่ละเจ้านั้นก็จะต้องทำยานของตัวเอง สำหรับ SpaceX ในปี 2020 ที่ผ่านมานั้นเราได้เห็นผลงานทั้งกับตัวจรวด Falcon 9 ที่ตอนนี้นับว่าทำผลงานได้ดีมาก ๆ โปรไฟล์ดี และยาน Starship ที่อยู่ระหว่างการทดสอบและก็คืบหน้าไปมาก ๆ (อ่าน – สรุป SpaceX ในปี 2020 ก้าวกระโดดสำคัญของธุรกิจอวกาศ และแนวโน้มใหม่)

ในปี 2021 นั้น นับว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่น่าจับตามองของทั้ง 3 บริษัท เพราะเราก็คงจะได้เห็น Starship ไปอวกาศกันจริง ๆ ซักที ส่วนโครงการ Blue Moon ของ Blue Origin ก็จะต้องรอดูเที่ยวบินการปล่อยจรวด New Glenn ซึ่งก็คาดว่าจะได้เห็นการปล่อยในปี 2021 นี้ และโครงการของ Dynetics ที่เป็นการรวมเอา Sub-Contractors หลาย ๆ เจ้ามาประกอบยานด้วยกันตามสไตล์ NASA

ส่วน Starship ของ SpaceX นั้นบอกได้เลยว่าในปี 2021 บันเทิงแน่ ๆ เพราะเราก็คงจะได้เห็นตัว Super Heavy ตัวจรวดขนาดใหญ่ที่จะดันเอาตัว Starship ขึ้นสู่วงโคจรอีกที ซึ่งถ้าโชคดีเราอาจจะได้เห็นการบินขึ้นแบบเต็มรูปแบบของ Super Heavy และ Starship ในปี 2021 เช่นกัน

จันทรายาน 3 ภารกิจเก็บตัวอย่างหินดวงจันทร์ของอินเดีย

หลังจากการโชว์เหนือ ส่งยานไปสำรวจดาวอังคารในปี 2014 และการส่งยานอวกาศจันทรายาน 2 ไปลงจอดบนดวงจันทร์ (แต่ไม่สำเร็จ สำเร็จแค่การโคจรรอบ) ในปี 2019 โครงการอวกาศของอินเดียก็ไม่หยุด ในช่วงปลายปี 2021 อินเดียจะปล่อยยาน จันทรายาน 3 ภารกิจในครั้งนี้จะเป็นการไปเก็บตัวอย่างหินจากดวงจันทร์กลับโลก แบบที่จีนทำในภารกิจฉางเอ๋อ 5 ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูจากในภารกิจจันทรายาน 2 ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ อินเดียนั้นมีลุ้นมาก ๆ และน่าจับตามองว่าพวกเขาจะทำสำเร็จหรือเปล่า

อย่างไรก็ตาม อินเดียยังไม่ได้ประกาศวันปล่อยอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจจะลากยาวไปจนถึงปี 2022 หรือ 2023 ก็ได้ แต่นั่นไม่สำคัญ เพราะถ้าอินเดียสามารถนำหินดวงจันทร์กลับโลกได้ แปลว่าอินเดียมีศัยภาพในการทำงานที่เกี่ยวกับดวงจันทร์ เช่นการสำรวจ การลงจอด และอื่น ๆ ที่ ณ ตอนนี้กลายเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญสำหรับมนุษย์ในยุคการแข่งขันสำรวจดวงจันทร์แล้ว

อ่าน – การปลดแอกทางเทคโนโลยี เจาะเทคโนโลยีอวกาศอินเดีย ดาวเทียม และจรวด ที่ล้ำหน้าหลายประเทศร่ำรวย

สรุปเทรนด์และแนวโน้มที่น่าจับตามองในปี 2021 และการแข่งขันที่พุ่งสูง

บอกได้เลยว่าในปี 2021 สิ่งที่เราเห็นได้ชัดมาก ๆ ก็คือเรื่องของดวงจันทร์​ ชัดเจนอยู่แล้วมาตั้งแต่ช่วงปี 2018 หลังจากที่ NASA ประกาศโครงการ Artemis กลับสู่ดวงจันทร์เพื่อเป็นฐานการสำรวจอวกาศห้วงลึกและดาวอังคารในอนาคต ในปี 2019 เราก็ได้เห็นแต่ละประเทศประกาศโครงการอวกาศต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับดวงจันทร์ของตัวเอง ส่วนในปี 2020 เราก็เริ่มเห็นการทำงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และ 2021 นี้เอง เราจะได้เริ่มเห็นการปล่อยยาน ส่งยาน และการทำสิ่งที่จับต้องได้ อเมริกาก็เริ่มส่งยาน Artemis 1 เปิดขบวน ตามมาด้วยโครงการ CPLS จ้างเอกชนนำ Payload ไปลงบนดวงจันทร์ ส่วนจีน อินเดีย รัสเซีย ก็เอากับเขาด้วย จัดขบวนส่งยานไปสำรวจดวงงจันทร์ หรือไทยเองก็มีประกาศโครงการของตัวเองเช่นกัน

ในขณะที่ดาวอังคาร ก็ยังคงเป็นเป้าหมายให้กับชาติที่จะประกาศศักดิ์ดาด้านเทคโนโลยี จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และอเมริกาเจ้าเก่าเจ้าเดิมก็ยังโชว์เหนือกับภารกิจสำรวจอวกาศห้วงลึกอยู่ JAXA และ ESA ก็ดำเนินโครงการของตัวเองต่อไป

สิ่งนี้ถ้าจะให้เราวิเคราะห์กัน เราแบ่งการทำงานอวกาศในปี 2021 ได้เป็นสองแบบ อย่างแรกคือ Must Do ซึ่งก็คือการสร้างบุคลากร สร้างคน เข้าใจธุรกิจ และต้องสร้าง Moon Economy ให้ได้ เตรียมตัวให้ได้ และอย่างที่สองคือ Cool to Do หรือทำแล้วมันเจ๋ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ NASA, ESA, JAXA, CNSA, ISRO และ Roskosmos ทำกันอยู่แล้ว

สิ่งสำคัญมันอยู่ที่อย่างแรก คือ Must Do เพราะว่ามันหมายความว่าไม่ว่าจะประเทศไหน รัฐบาลไหน ก็ควรจะเข้าใจและลงทุนกับงานทำความเข้าใจ “เศรษฐกิจแบบใหม่” หรือ “เศรษฐกิจอวกาศ” New Space, Space Economy อะไรก็แล้วแต่ ไม่เช่นนั้นเราล้าหลังแน่ ๆ เป็นความสำคัญในการทำงานอวกาศปี 2021 ที่ปฏิเสธไม่ได้เลย

อ่านเพิ่มเติม

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.