เปิดเรื่องราวอวกาศ ที่ซ่อนอยู่ในเงินของแต่ละประเทศ มีไทยด้วย

ประมาณ 2 เดือนก่อน พี่ป๋อม แห่ง Wisesight ที่เพิ่งกลับมาจากอเมริกาได้เอาเหรียญ Quarter (25 cent) เหรียญนึงกลับมาฝาก พี่ป๋อมบอกว่าไม่รู้หรอกว่าทำไม แต่ที่เหรียญมีรูปของนักบินอวกาศอยู่ด้ว เห็นแล้วจึงนึกถึง และหวังว่าจะได้คำตอบว่าทำไมถึงมีรูปของนักบินอวกาศอยู่บนเหรียญนี้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าผมไม่ได้ให้คำตอบพี่ป๋อมไปเพราะตัวเองก็ไม่รู้ (ฮา) 

สองสามวันหลังจากนั้นผมมองเหรียญที่วางอยู่บนโต๊ะทำงาน “Birthplace of Aviation Pioneers” คือข้อความที่ปรากฏอยู่บนเหรียญนั้น หลังจากที่ได้ลอง Search Google เพื่อหาคำตอบว่าทำไมเหรียญนั้นถึงได้มีรูปของนักบินอวกาศอยู่ด้วยก็ทำให้ผมได้รู้ว่าเหรียญนั้นคือ Ohio Quarter ซึ่งเป็นเหรียญ 25 Cent จากรัฐ Ohio (แต่ละรัฐจะมีลายแตกต่างกันออกไป) ซึ่งสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนเหรียญนั้นสิ่งแรกก็คือเครื่องบินของสองพี่น้องตระกูล Wright ผู้สร้างเครื่องบินและบินบนฟ้าได้สำเร็จเป็นครั้งแรก แม้ว่าที่ที่ทั้งสองคนทำการบินครั้งแรกคือ North Carolina แต่ทั้ง Orville และ Wilbur ก็มาจากรัฐ Ohio

เหรียญ 25 Cent ที่พี่ป๋อมเอามาให้ผมจากอเมริกา

ส่วนรูปของนักบินอวกาศนั้นทายได้เลยว่าหมายความว่าอะไร เมื่อ Neil Armstrong มนุษย์คนแรกที่ได้เหยียบดวงจันทร์ และ John Glenn ชายคนแรกที่ได้โคจรรอบโลกก็มาจาก Ohio เช่นกัน

นอกจากแสตมป์แล้ว เงินนี่แหละที่เป็นสิ่งที่เราพยายามใส่เรื่องเราอันน่าจนจำและเรื่องราวที่น่าภาคภูมิใจลงไป ทุกประเทศต่าง ๆ (หรือรัฐ) พยายามใส่สิ่งที่น่าภูมิใจเป็นเรื่องราวที่ปรากฏบนเหรียญหรือธนบัตร รวมถึงไทยเราเองก็เช่นกันธนบัตรของไทยปรากฏรูปพระมหากษัตริย์องค์ต่าง ๆ พร้อมกับผลงานของแต่ละพระองค์ ส่วนของต่างประเทศก็จะค่อนข้างหลากหลายหน่อยคือไม่ได้มีแต่ประมุข แต่มีนักคิด, บุคคลสำคัญ, นักการเมือง, นักวิทยาศาสตร์ ต่าง ๆ ด้วย และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับอวกาศ

หนึ่งในธนบัตรที่ถูกพูดถึงมากที่สุดก็คือ ธนบัตร 5 ดอลล่า ของประเทศแคนาดา แคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความภาคภูมิใจเกี่ยวกับเรื่องอวกาศมาก และมีนักบินอวกาศที่ดังมากคนนึงก็คือคุณ Christ Hadfield ผู้ที่ชอบเอากีตาร์ขึ้นไปเล่นดนตรีบนอวกาศ

ไม่ใช่แค่นั้นแคนาดายังเป็นเจ้าของเทคโนโลยี Canadarm Arm ที่เป็นแขนกลที่เป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการสร้างและทำงานบนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งผลิตมาแล้วถึง 2 รุ่นตั้งแต่ยุคกระสวยอวกาศ ปัจจุบันแขนกล Canadarm ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การทำงานบนสถานีอวกาศง่ายขึ้น ตั้งแต่การนำยานอวกาศต่าง ๆ เข้ามาทำการ Dock ไปจนถึงการติดตั้ง Module ใหม่ ๆ ให้กับสถานีอวกาศนานาชาติ

สำหรับประเทศจีน แม้ว่าจีนจะไม่ได้มีส่วนร่วมในโครงการสถานีอวกาศนาชาติ แต่จีนก็เป็นหนึ่งในชาติที่มีความสามารถในการสร้างสถานีอวกาศของตัวเองได้สำเร็จ “เทียนกง” คือสถานีอวกาศของจีน แม้ว่าเทียนกง 1 จะเพิ่งตกลงสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็นับเป็นความสำเร็จที่น่าจับตามอง ภาพที่ปรากฏบนธนบัตร 100 หยวน ของจีนคือภาพของยาน “เฉินโจ่ว กับสถานีเทียนกง” กำลังทำการเชื่อมต่อกัน

ส่วนดาวเทียมที่ปรากฏอยู่ในรูป ผู้เขียนก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นดาวเทียมอะไร (ฮา) แต่สำหรับเทคโนโลยีด้านยานอวกาศและดาวเทียมจีนก็ไม่เป็นสองรองใครเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผลงานดาวเทียมสื่อสารของตัวเอง, ดาวเทียมด้านวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงผลงานในการสำรวจดวงจันทร์ และโครงการดาวอังคารที่อยู่ระหว่างศึกษา

ในขณะที่จีนกำลังศึกษาการไปดาวอังคาร อินเดีย กลายเป็นประเทศเอเชียประเทศแรกที่สามารถส่งยานไปสำรวจดาวอังคารได้สำเร็จ ยาน “มังคลายาน” ของดินเดีย ใช้งบน้อยกว่าดาวเทียม THEOS ของเราด้วยซ้ำ มันเดินทางถึงดาวอังคารในปี 2013 และสร้างกระแสฮือฮาไปทั่วโลก ทำให้ “มังคลายาน” ได้มาปรากฏบนธนบัตร 2000 รูปี ของอินเดียแบบไม่ต้องสงสัย

ปัจจุบันอินเดียกำลังอยู่ระหว่างพัฒนายาน มังคลายาน 2 เพื่อเดินทางสู่ดาวอังคารอีกครั้ง แต่ตอนนี้อินเดียก็กลายเป็นผู้เล่นที่น่าจับตามองในธุรกิจการสำรวจอวกาศซะแล้ว เมื่อจรวด GLSV และ PLSV ของอินเดีย เคยทำสถิติการส่งดาวเทียมกว่าร้อยดวงพร้อมกัน ทำให้ ISRO (องค์การอวกาศของอินเดีย) มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี และเม็ดเงินที่ทำให้ภาคอวกาศของอินเดียจะพัฒนาไปได้มากกว่านี้

ประเทศที่เราอาจจะไม่คุ้นชื่ออย่างอาร์เมเนีย ก็มีเรื่องราวอวกาศที่อยู่บนธนบัตรเช่นกัน แม้ว่าคุณ Victor Ambartsumian จะเป็นคนโซเวียตโดยกำเนิด แต่เขาก็ได้สัญชาติอาร์เมเนีย และตายที่นั่น คุณ Ambartsumian เป็นนักฟิสิกส์ที่นับว่าเป็นบิดาแห่ง ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ (Astrophysics)

ผลงานของเขาได้แก่ทฤษฏีต่าง ๆ และการนำหลักฟิสิกส์คณิตศาสตร์มาใช้ในการปฏิบายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ การเกิดและดับของดวงดาว และดาราจักร รวมถึงทฤษฏีทางฟิสิกส์อนุภาคเรื่องโครงสร้างอะตอม และเขาก็เคยนั่งเก้าอี้ประธาน International Astronomical Union หรือ IAU ด้วย

รัสเซีย ชื่อนี้คงไม่ต้องให้บอกว่าเป็นอันดับหนึ่งในด้านการสำรวจอวกาศมานานกว่าครึ่งศตวรรษ จากผลงานด้านอวกาศมากมาย ตั้งแต่ดาวเทียมดวงแรก นักบินอวกาศชายและหญิงคนแรก และสถานีอวกาศแรกของโลก ทำให้เรื่องราวในฝั่งอวกาศของโซเวียตปรากฏบนธนบัตรต่าง ๆ หลายครั้ง แต่ส่วนมากก็จะออกมาในกรณีพิเศษ

อย่าางไรก็ตามล่าสุดรัสเซียเพิ่งออกธนบัตรใหม่ที่น่าสนใจ นั่นคือธนบัตร 2000 รูเบิล ที่ปรากฏภาพฐานปล่อยแห่งใหม่ของรัสเซีย ที่ “วอสโตชินึยี คอสโมโดรม” ฐานปล่อยฝั่งตะวันออกของรัสเซียหนึ่งในโปรเจ็คพันล้านที่ประธานาธิบดี Vladimir Putin เพิ่งเดินทางไปเปิดไม่นานมานี้ นับว่าเป็นธนบัตรที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับอวกาศที่ยังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

สุดท้ายแล้ว ประเทศไทยของเราก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดตัวธนบัตรรุ่นใหม่ ที่ด้านหน้าเป็นรูปพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ส่วนด้านหลังนั้นเป็นรูปของพระมหากษัตริย์แห่งยุครัตนโกสินทร์ ไล่ตามกันไป

ในธนบัตร 50 บาทนั้นเป็นรูปของรัชกาลที่ 3 และ 4 ซึ่ง รัชกาลที่ 3 เราคงรู้จักกันดีในเรื่องของการค้าขายต่าง ๆ ส่วนรัชกาลที่ 4 ก็ทรงเป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย รวมถึงเรื่องดาราศาสตร์ด้วย

แต่เห็นแบบนี้แล้วภาพด้านขวามือถัดจากพระองค์ก็คือภาพของพระนครคิรี หรือ “เขาวัง” จังหวัดเพชรบุรี ที่หลายคนคงเคยไปเที่ยวกับมาแล้ว แต่สิ่งนี้สำคัญกับวงการดาราศาสตร์ไทยอย่างไร สิ่งนี้คือหอชัชวาลเวียงชัย หอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ทอดพระเนตรดาวบนท้องฟ้า

บ้างก็เรียกหอดังกล่าวว่า “หอส่องกล้อง” เนื่องจากปรากฏภาพพระเจ้าอยู่หัวทรงกล้องโทรทรรศน์ทอดพระเนตรกลุ่มดาวบ่อยครั้ นอกจากการดูดาวแล้ว และมีพระราชประสงค์ให้ใช้หอนี้เป็นหอรักษาเวลามาตรฐานของประเทศ ตามเส้นแวงที่ 105 องศาตะวันออกซึ่งพาดผ่านใกล้พระนครคีรีและพระบรมมหาราชวังพอดี ปัจจุบันหอนี้ใช้เป็นเส้นแวงหลักของระบบเวลามาตรฐานกรุงเทพฯ (พระนคร)

หอชัชวาลเวียงชัยจึงเป็นสถานที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ทั้งในด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์และการกำหนดเวลามาตรฐานของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นสากล

เราจะพบว่าธนบัตรนั้นกลายเป็นสิ่งที่ใช้บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของประเทศ แม้ว่าปัจจุบันเราจะก้าวเข้าสู่ยุคของสังคมไร้เงินสดหรือ Cashless การใช้ธนบัตรอาจจะหายไปจากชีวิตประจำวันของเรา แต่ก็ยังเชื่อว่าหลายคนยังรู้สึกถึงคุณค่าของมันที่เป็นตัวแทนบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ และมีหลายคนที่พยายามจะเก็บสะสมมันเหมือนกับที่ปัจจุบันการสะสมสแตมป์ กลายเป็นงานอดิเรก ซึ่งสแตมป์ก็เป็นตัวแทนของการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เช่นกัน

การบันทึกก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่สำคัญของวิทยาศาสตร์ เพราะสุดท้ายแล้วผลงานต่าง ๆ เหล่านี้ก็ถูกส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป ได้นำเรื่องราวความสำเร็จ ความผิดพลาด และองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปใช้เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิทยาการต่าง ๆ ให้ก้าวหน้าต่อไป

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.