เรียกได้ว่าเดินทางกันมาครบปีกันอีกแล้วที่เราจะพาเจาะลึกและอัพเดทความคืบหน้าที่สำคัญในวงการการบินอวกาศ อย่างที่ทราบกันดีว่าเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมาถือเป็นอีกหนึ่งปีที่งานด้านอวกาศมีความก้าวหน้าอย่างมาก หลายชาติต่างมีความต้องการส่งของขี้นสู่อวกาศมากขึ้น ส่งผลต่อจำนวนเที่ยวบินจรวดในปีที่แล้วอย่างมีนัยยะสำคัย รวมทั้งเป็นปีแรกในรอบหลายทศวรรษที่นานาประเทศต่างเปิดศึกประชันกันส่งยานอวกาศไปลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์
ในปีนี้เองในงานด้านการส่งจรวดสู่อวกาศก็เห็นได้ว่ามีจำนวนภารกิจการปล่อยที่มากกว่าปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้เห็นได้ชัดว่าไว่าว่าจะความต้องการในการส่ง Payload สู่อวกาศ การส่งมนุษย์เยือนอวกาศทั้งเพื่องานทางด้านวิทยาศาสตร์และเพื่อการท่องเที่ยว หรือแม้แต่จำนวนของผู้เล่นทั้งหน้าใหม่ที่ได้พยายามมีพื้นที่ของตัวเองในตลาดการส่งของสู่อวกาศที่โตขึ้น ก็ล้วนแล้วมีแนวโนมที่มากขึ้นในแต่ละปี
ในบทความนี้เราจะพาทุกคนไล่ทบทวนกับกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2024 ปีแห่งความก้าวหน้าและความพยายามในการผลักดันเทคโนโลยีการบินอวกาศ
ความคืบหน้าของยาน Starship จรวด New Glenn และภาพรวมของโครงการ Artemis
ความก้าวหน้าของภาคอวกาศจีนแห่งปีมังกร ภาครัฐเล่นใหญ่ ภาคเอกชนกล้าชน
Moonage Daydream 2024 ปีแห่งการตะลุยแดนจันทรา
Human Spaceflight ที่มีแนวโน้มส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศมากขึ้นในแต่ละปี
จรวดใหม่ในปีแห่งการแทนที่ของเก่า
ความคืบหน้าของ Hardware รุ่นใหม่ ๆ ใกล้หรือไกลความจริงแค่ไหนกัน
ความคืบหน้าของยาน Starship จรวด New Glenn และภาพรวมของโครงการ Artemis
ในปีนี้เรียกได้ว่าโครงการพัฒนา Starship ของบริษัท SpaceX มีความคืบหน้าค่อนช้างมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้ได้มีการทดสอบไปแล้วร่วมสี่ภารกิจที่ล้วนแล้วประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี โดยในภารกิจที่สามที่เกิดขั้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจบลงด้วยการที่ตัวบูสเตอร์ Super Heavy ไม่สามารถจุดระเบิดเครื่องยนต์ที่จำเป็นได้ครบทุกเครื่องเนื่องจากปัญหาการอุดตันในท่อจ่ายเชื้อเพลิงส่งผลให้ตัวบูสเตอร์ระเบิดกลางอากาศก่อนสัมผัสทะเล ในส่วนของตัวยาน Starship เองก็ประสบปัญหาในการควบคุมการหมุนของยาน ในภายหลังจึงมีการเปิดเผยว่าตัวยานได้ถูกทำลายระหว่างฝ่าเข้าชั้นบรรยากาศในช่วง 50 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเล แต่โดยรวมแล้วภารกิจดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี เนื่องจากว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการจุดเครื่องยนต์ Raptor ในภาวะสุญญากาศแบบ Full duration ได้เป็นครั้งแรก
ตามมาด้วยภารกิจที่สี่ที่ขึ้นบินไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยในภารกิจนี้จะมีการวาง Flight profile คล้ายกับภารกิจครั้งที่สาม แต่ในภารกิจนี้จะมีการทดสอบการลงจอดบนหอลงจอดจำลองหรือ Virtual tower ที่เป็นการลำลองจำแหน่งของหอลงจอดสำหรับบูสเตอร์ในภารกิจซึ่งอยู่กลางอ่าวเม็กซิโก โดยผลการทดสอบมีความคลาดเคลื่อนจากตำแหน่งลงจอดไปเพียงครึ่งเซนติเมตร ส่วนตัวยานประสบปัญหาในเรื่องของตัว Flap ละลายระหว่างการฝ่าชั้นบรรยากาศ แต่ตัวยานสามารถลงจอดกลางน้ำได้ในบริเวณมหาสมุทรอินเดีย

จากความสำเร็จในการลงจอดบนหอลงจอดจำลอง ทำให้ในภารกิจต่อจากรนั้นในภารกิจที่ห้าเมื่อเดือนตุลาคม ทาง SpaceX ได้ตัดสินใจพยายามลงจอดบูสเตอร์ลงบนหอจริงอย่าง OLP-A หรือ Orbital Launch Pad A และผลลัพท์ก็กลายเป็นหนึ่งในความสำเร็จครั้งใหญ่ของบริษัทด้วยการกระสบความสำเร็จในการนำบูสเตอร์ลงจอดลงบนแขนคีบเป็นครั้งแรก โดยฝั่งของตัวยานเองก็ประสบความสำเร็จในการลงจอดก่อนที่จะระเบิดกลางน้ำไม่กี่วินาทีหลังการลงจอด
SpaceX ทดสอบ Starship เที่ยวบินที่ 5 ลงจอดบนแขนกลช่วยจับสำเร็จกลางอากาศสำเร็จ

ส่วนในภารกิจสุดท้ายของปีอย่างภารกิจที่หกเมื่อเดือนพฤศจิกายน มีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นกับตัวยานอย่างยานหมายเลข Ship 31 และในภารกิจนี้เป็นภารกิจครั้งสุดท้ายที่จะมีการใช้งานบูสเตอร์และยานรุ่น Block 1 โดยตัวยานได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อทดสอบในหลาย ๆ ด้านทั้งในเรื่องการลดจขนาดและจำนวนของเกราะกันความร้อน (Thermal Protection System) และการติดตั้งชุดจานรับสัญญาณของ Starlink ใหม่ รวมทั้งมีการใช้กล้วยของเล่นมาเป็น Zero-g indicator ทำให้มันถือเป็น Payload ชิ้นแรกของยาน Starship โดยในส่วนของการลงจอด แม้ว่าในครั้งนี้จะมีการพยายามในการลงจอดบูสเตอร์อีกครั้ง แต่คอมพิวเตอร์ของบูสเตอร์ได้ตัดสินใจเปลี่ยนการลงจอดไปลงจอดกลางอ่าวเม็กซิโกแทน และตัวยานก็ประสบความสำเร็จในการลงจอดไปได้ด้วยดีแม้ตัว Flap จะได้รับความเสียหายระหว่างฝ่าชั้นบรรยากาศ


สำหรับในส่วนเครื่องยนต์ Raptor ซึ่งเป็นหัวใจสำสัญในการขับเคลื่อนโครงการ Starship ในปีนี้ได้มีการเปิดเผยว่าทางบริษัทได้พัฒนาไปจนถึงรุ่นที่สามเข้าไปแล้ว ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญอย่างมากเนื่องจากตัวเครื่องยนต์มีจำนวนชิ้นส่วนที่น้อยลง มีแนวโน้มที่จะรองรับแรงดันของการเผาไหม้ได้มากกว่ารุ่นที่ผ่านมา แต่แม้ภายนอกดูมีความซับซ้อนน้อยลง ภายในกลับมีความซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากการซ่อนท่อและอุปกรณ์เซนเซอร์ต่าง ๆ จะถูกเดินระบบและติดตั้งภายไว้ภายในตัวท่อของไหลต่าง ๆ รวมทั้งตัวเครื่องยนต์ได้มีการวางระบบการไหลอีกชุดผ่านผนังของอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นระบบหล่อเย็นของเครื่องยนต์ ทำให้ตัวเครื่องยนต์ไม่จำเป็นต้องติดตั้งเกราะกันความร้อนคลุมรอบเครื่องยนต์แบบรุ่นก่อนหน้า การประกอบในหลาย ๆ ส่วนก็เปลี่ยนจากการยึดน็อตกลายเป็นการเชื่อมติดเป็นชิ้นเดียว ทำให้ตัวเครื่องยนต์จะมีข้อเสียในส่วนของการซ่อมบำรุงที่สามารถทำได้ยากมากขึ้น (แต่ถ้าเครื่องยนต์มัน Reliable มากพอ ใครจะไปแคร์ – ฮา)
สรุปการทดสอบเที่ยวบินที่ 6 ของ Starship จรวดเลือกลงจอดในทะเล แต่ผลการทดสอบเป็นไปด้วยดี

ในส่วนของจรวด New Glenn ในปีนี้เรียกได้ว่ามีความคืบหน้าขึ้นมาพอสมควรหากเทียบกับปี 2023 ที่ผ่านมาที่จะค่อนข้างเงียบ ในตอนนั้นเราได้เห็นแค่ Dummy ออกมาวิ่งโชว์ตัวบ่อยขึ้นและมีเพียงชิ้นส่วนบางชิ้นที่ได้รับการผลิตแล้ว โดยในปีนี้ทาง Blue Origin ก็ได้นำชิ้นส่วนต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยการจนเสร็จทั้งท่อนบูสเตอร์และท่อนบน และได้มีการนำออกมาทดสอบกับ Hardware จริงกันบ่อยมากขึ้น โดยตัวบูสเตอร์เองถือเป็นบูสเตอร์ที่พร้อมใช้งานและได้รับการติดตั้งขาลงจอดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้คาดได้ว่าทางบริษัทเองมีความตั้งใจที่จะพยายามนำบูสเตอร์กลับมาลงจอดตั้งแต่ครั้งแรกเหมือนกับที่เคยทำกับจรวดรุ่น Suborbital อย่าง New Shepard โดยตัวบูสเตอร์จะได้รับการตั้งชื่อว่า “So You’re Telling Me There’s a Chance” และได้รับการทำสีในบางส่วนของตัวจรวด โดยจะทิ้งให้บางพื้นที่เป็นสีทองแดงโปร่ง ๆ แบบไม่ได้ทาสีอะไรทับ เรียกได้ว่าทาง Blue Origin มีความพร้อมในการปล่อยจรวดระดับวงโคจรรุ่นนี้กันมากขึ้นหลังเปลี่ยนทีมบริหารกันยกชุดไปเมื่อสองปีก่อน
รู้จักเรือ Jacklyn สำหรับลงจอดจรวด New Glenn ของ Blue Origin

ทั้ง Starship และ New Glenn ต่างเป็นจรวดที่เป็นทั้งคู่แข่งและเป็นคู่ค้าต่อกันสำหรับการผลักดันในการพามนุษย์กลุ่มต่อไปเดินทางไปลงดวงจันทร์และตั้งฐานที่มั่นระยะยาวในโครงการ Artemis ของ NASA เมื่อพูดถึงโครงการ Artemis และก็มาต่อกันที่วิบากกรรมของจรวดสำหรับใช้ส่งนักบินอวกาศประจำโครงการอย่าง Space Launch System สำหรับในปีนี้ก็ถือได้ว่าเป็นปีที่สองเข้าไปแล้วหลังภารกิจ Artemis I ซึ่งก็ถือว่ามีความล่าช้าจากแผนที่กำหนดไว้ไปร่วมสองปี พอมาเจอ Artemis II ก็ดันถูกเลื่อนออกไปอีกจากเดิมที่วางแผนไว้เป็นช่วงเดือนกันยายน 2024 ไปเป็นเมษายน 2026 ทำให้เราจะยังไม่เห็นจรวด SLS ขึ้นบินไปอีกร่วมปีกว่า ๆ

สำหรับสาเหตุที่ภารกิจ Artemis II ถูกเลื่อนออกไปเกิดขึ้นจากหลาย ๆ ปัจจัย โดยสาเหตุหลัก ๆ เกิดจากที่ทีมวิศวกรพบปัญหาที่แผ่นกันความร้อนของยานอวกาศ Orion ซึ่งปัญหาที่ว่าคือการที่วัสดุ Avcoat (Epoxy Phenol Formaldehyde Resin เสริม Fiberglass) ของตัวเกราะกันความร้อนของยาน Orion ที่ใช้ในภารกิจ Artemis I ถูกเผาไหม้ไประหว่างฝ่าเข้าชั้นบรรยากาศได้รับการเผาไหม้ในแบบที่ไม่ควรจะเป็น หลาย ๆ ฝ่ายจึงมีความกังวลด้านความปลอดภัยต่อภารกิจ ทำให้มีคำสั่งเลื่อนภารกิจออกไปเป็นปี 2026 และยังทำใหัภารกิจ Artemis III ภารกิจที่จะส่งมนุษย์ไปลงจอดบนดวงจันทร์ถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงกลางปี 2027 โดยตัวจรวด SLS สำหรับภารกิจ Artemis II ก็ได้เริ่มรับการประกอบใน Bay 3 ของ Vehicle Assembly Building ไปเมื่อเดือนพฤษจิกายนที่ผ่านมา

วิบากกรรมของจรวด SLS ยังไม่จบเพียงแค่เรื่องของการเลื่อนภารกิจ แต่ในปีนี้ในเรื่องของงบประมาณก็ยังคงสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย ทั้งในเรื่องของตัวจรวดที่มีราคาที่สูงพออยู่แล้ว พอมาเจอระบบภาคพื้นอย่าง Ground Exploration System ที่ถูกนับแยกเป็นคนละส่วนกับ SLS ก็ยังทำให้ราคาที่ต้องจ่ายต่อภารกิจสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากในปีนี้เริ่มมีการก่อสร้างหอส่งหมายเลข ML-2 ที่จะใช้กับจรวด SLS Block 1B หลังจากภารกิจ Artemis III เป็นต้นไป ซึ่งต้องการเม็ดเงินในการก่อสร้างที่สูงกว่าหอส่งหมายเลข ML-1 ที่เป็นของตกทอดมาจากยุคโครงการ Constellation ที่เสร็จสรรพแล้วใช้ทุนการก่อสร้างไปถึง 243 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ในตอนนี้มีการประเมินว่าตัวหอส่งหมายเลข ML-2 อาจจะต้องใช้ทุนสร้างมากถึง 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ถึงสามเท่า
ความก้าวหน้าของภาคอวกาศจีนแห่งปีมังกร ภาครัฐเล่นใหญ่ ภาคเอกชนกล้าชน
เมื่อพูดถึงโครงการ Artemis เข้าไปแล้ว เรามาพูดถึงเรื่องโครงการสำรวจดวงจันทร์ของฝั่งจีนกันบ้างดีกว่า ในปีนี้จีนได้เป็นชาติแรกที่มีการเล่นประเด็นการเก็บตัวอย่างดินจากด้านไกลของดวงจันทร์อย่าง Sample return ด้วยยานอวกาศฉางเอ๋อ 6 ซึ่งเป็นเป็นภารกิจครั้งที่สองในโครงการสำรวจดวงจันทร์จีนที่มีการเก็บตัวอย่างและนำกลับมาโลก โดยโปรไฟล์ภารกิจจะมีความใกล้เคียงกันกับภารกิจครั้งที่แล้วอย่างฉางเอ๋อ 5 แต่เปลี่ยนจากจุดลงจอดจากด้านใกล้ไปเป็นด้านไกลในบริเวณตอนใต้ของแอ่ง Apollo โดยตัวยานถูกส่งขึ้นจากศูนย์อวกาศเหวินฉางเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม และได้ลงจอดกลับสู่โลกพร้อมตัวอย่างดินในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยในภารกิจนี้ถือเป็นการร่วมมือระหว่างหลาย ๆ ประเทศด้วยการส่ง Payload ทางวิทยาศาสตร์เดินทางร่วมไปกับทั้งตัวยานส่วนโคจรและยานลงจอด

นอกจากนี้ ในงาน Zhuhai Airshow ประจำปีนี้ นอกจากเราจะได้เห็น Su-57 ของรัสเซียออกมาบินเล่นและ J-35A ของจีนที่เป็นรูปเป็นร่างแล้ว ทาง China Academy of Launch Vehicle Technology ก็ได้อัพเดทความคืบหน้าของจรวดประจำโครงการสำรวจดวงจันทร์จีนมาอีกไม่มากก็น้อย โดยหลัก ๆ จะเน้นไปที่จรวด Long March 9 ที่ดั้งเดิมจะเป็นจรวดสำหรับมนุษย์โดยสารสู่ดวงจันทร์ก็ได้ถูกจับเปลี่ยนหน้าที่ไปเป็นจรวดส่ง Payload หนัก ๆ สู่ดวงจันทร์แทน หน้าตาและ Spec โดยรวมจะมีความคล้ายคลึงกับยาน Starship ของบริษัท SpaceX แต่จะเริ่มจากรุ่นที่เป็นจรวดสามท่อนที่ท่อนบนคาดว่าจะเป็นแบบใช้แล้วทิ้งในช่วงปี 2030 ก่อนที่จะมีการอัพเกรดให้เหลือเพียงสองท่อนและเป็นรุ่นที่สามารถใช้ซ้ำได้ทุกส่วนหรือ Fully reusable ในช่วงหลังจากปี 2033
และเนื่องด้วย Long March 9 จะเป็นจรวดที่ใหญ่และทรงพลังกว่า Long March 5 ที่ยังเป็นจรวดที่ทรงพลังที่สุดของจีนในตอนนี้ ทำให้ตัวจรวดจำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์จรวดที่ทรงพลังกว่าเครื่องยนต์รุ่นที่ผ่าน ๆ มา โดยในปีนี้เองทาง Academy of Aerospace Liquid Propulsion Technology ก็ได้กระกาศเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องยนต์จรวดรุ่นใหม่อย่าง YF-215 เครื่องยนต์เชื้อเพลิงมีเทนระบบ Full-flow staged combustion ที่จะให้แรงขับมากถึง 200 ตันหรือราว 2,000 กิโลนิวตัน โดยจะใช้บนท่อนบูสเตอร์ของ Long March 9 มากถึงสามสิบเครื่องด้วยกัน ทั้งนี้ตัวเลขก็อาจมีการปรับเปลี่ยนในอนาคตเพราะตัวจรวดและเครื่องยนต์เองก็ยังอยู่ในขั้นการพัฒนา
เมื่อ Long March 9 ถูกเปลี่ยนหน้าที่ไปเป็นจรวดส่งของหนักไปแล้ว ทางจีนก็ได้ซุ่มพัฒนาระบบจรวดอีกรุ่นที่จะสามารถใช้ส่งยานแคปซูลเหมิงโจว (梦舟) ยานแคปซูลรุ่นใหม่ของจีนที่ใหม่และทันสมัยกว่ายานเสินโจวที่จีนกำลังใช้อยู่ โดยจรวดดังกล่าวได้รับการตั้งชื่อว่า Long March 10 ที่ในปีนี้ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดของจรวดรุ่นย่อยอย่าง Long March 10A ว่ามันจะเป็นจรวดที่สามารถใช้ซ้ำได้ โดยจะให้มันกลับมาลงจอดจอดลงบนโครงสร้างขึงสลิงแทนที่จะใช้ขาลงจอดแบบ Falcon 9 หรือ New Shepard ตัวจรวดจะสามารถส่ง Payload หนัก 27 ตันเข้า Lunar Transfer Injection ได้ทำให้มันจะเป็นจรวดที่ใช้ส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์แทน Long March 9 และมันจะใช้ Hardware อย่างเครื่องยนต์จรวดรุ่น YF-100K ร่วมกับจรวด Long March 12 จรวดราคาถูกรุ่นใหม่ของจีนที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการบินครั้งแรกไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา ทาง China Academy of Launch Vehicle Technology ตั้งเป้าว่าจะทำใหัมันพร้อมบินภายในปี 2026

นอกจากนี้แล้วทางจีนยังได้เผยภาพและ Mockup คอนเซ็ปท์ยานอวกาศแบบ Spaceplane รุ่นใหม่อย่างฮ่าวหลง (昊龙) โดยมีการยืนยันว่ามันเป็นยานอวกาศที่ถูกพัฒนาขึ้นให้สามารถใช้ซ้ำได้เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการปล่อยจรวดและอาจจะแทนที่ยานอวกาศเติมเสบียงรุ่นเดิมอย่างเทียนโจวที่ถูกใช้ในภารกิจประเภท Resupply ให้กับสถานีอวกาศเทียนกง โดยในตอนนี้มันยังอยู่ในช่วงต้นของการพัฒนา ก็ต้องติดตามกันไปอีกซักพักกว่าเราจะเริ่มเห็นยานอวกาศรุ่นนี้เป็นรูปเป็นร่าง

พูดถึงภาครัฐกันไปแล้วก็มาดูฝั่งของเอกชนกันบ้าง ในปีนี้ก็นับมาเป็นอีกปีที่เราได้เห็นกิจกรรมทางอวกาศของจีนที่ดำเนินการโดยกลุ่มเอกชนกันมากขึ้น ตลอดช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเราเห็นบริษัทเอกชนหน้าเดิม ๆ ยังประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องพร้อมทั้งหน้าใหม่ที่ได้ก้าวเข้าสู่วงการอวกาศ โดยผลงานที่เด่น ๆ ในปีนี้จะเป็นในกลุ่มที่ทำจรวดเชื้อเพลิงแข็งอย่างพวก Ceres-1 ของ Galactic Energy ที่ถูกใช้งานมาตั้งแต่ 2020 และจรวด Gravity-1 ของ Orienspace ที่ได้ขึ้นบินครั้งแรกและประสบความสำเร็จด้วยดี
ส่วนฝั่งที่เน้นไปที่การพัฒนาจรวดเชื้อเพลิงเหลวก็พอจะมีผลงานกันบ้าง แม้จะมีบางรายที่ทำพลาดกันในระดับที่ไม่น่าให้อภัยกันเท่าไหร่ ในปีนี้เอง Zhuque-2 จรวดเชื้อเพลิงมีเทนที่พิชิตวงโคจรเป็นรุ่นแรกของโลกจากบริษัท LandSpace ก็ได้รับการอัพเกรดเป็น Zhuque-2E และประสบความสำเร็จไปอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีบริษัทอีกกลุ่มที่กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาตัวจรวด อย่างบริษัท Space Pioneer ที่ในปีนี้ได้ทำพลาดครั้งใหญ่ด้วยการทดสอบจุดเครื่องยนต์จรวดแบบ Full duration แต่ตัวท่อนจรวดกลับหลุดออกจากฐานทดสอบไปตกในบริเวณใกล้กับเขตที่อยู่อาศัย ในขณะที่บริษัท Deep Blue Space ทำจรวด Nebula-1 ตกพื้นขณะการทดสอบบินขึ้นลงแนวดิ่ง แต่สถานที่ทดสอบนั้นตั้งอยู่ในที่รกร้างห่างไกลจากเขตที่อยู่อาศัย และผลการทดสอบก็เรียกได้ว่าออกมาดีพอสมควร
Moonage Daydream 2024 ปีแห่งการตะลุยแดนจันทรา
เมื่อกี้ได้เล่าไปแล้วว่าในปีนี้ประเทศจีนได้ส่งยานฉางเอ๋อ 6 ไปทำภารกิจ Sample return ทางฝั่งด้านไกลของดวงจันทร์ แต่จริง ๆ แล้วในปีนี้ไม่ได้มีฉางเอ๋อ 6 แค่ลำเดียวที่ได้ไปลงดวงจันทร์ จริง ๆ แล้วจีนเองก็ได้ส่งยานอวกาศอีกหนึ่งลำไปยังดวงจันทร์อย่างเควเฉียว 2 (鹊桥二号中继卫星) ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ได้เป็นยานอวกาศสำหรับการลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์แต่มันเป็นดาวเทียม Relay สำหรับถ่ายทอดสัญญาณสื่อสารโดยมันจะรองรับการสื่อสารสำหรับการทำภารกิจด้านไกลและขั้วใต้ของดวงจันทร์ไปกลับระหว่างโลกซึ่งเป็นรูปแบบภารกิจในโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีนใน Phase ที่ 4 มันเลยเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมยานฉางเอ๋อ 6 สามารถติดต่อสื่อสารกับศูนย์ความคุมได้ นอกจากนี้แล้วยังมียานเทียนดู 1 และ 2 ที่ถูกส่งขึ้นไปพร้อมกับเควเฉียว 2 ที่ถูกส่งขึ้นไปโคจรรอบดวงจันทร์เพื่อทดสอบเทคโนโลยีของเควเฉียว 2
กลับมาดูกันกับฝั่งของทางสหรัฐฯ ในปีนี้เองเป็นก็เป็นครั้งแรกในรอบร่วม 52 ปีที่สหรัฐฯ ได้กลับไปลงจอดลงบนดวงจันทร์อีกครั้ง โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาบริษัท Astrobotic Technologies ได้พยายามส่งยานลงจอด Peregrine Mission One ยานลำแรกภายใต้โครงการ Commercial Lunar Payload Services หรือ CLPS ของ NASA ไปลงจอดลงบนเนินโดม Mons Gruithuisen Gamma แต่ระหว่างการเดินทางไปดวงจันทร์ ปัญหาเชื้อเพลิงรั่วก็ได้เกิดขึ้น ส่งผลให้ตัวยานประสบปัญหาในการควบคุมทิศทางของยานและเจอกับปัญหาเรื่องพลังงานไม่เพียงพอเพราะไม่สามารถคุมยานให้หันแผง Solar array หาดวงอาทิตย์ได้ ต่อมาได้มีการเผยว่าตัวยานไม่สามารถลงจอดลงบนดวงจันทร์ได้ และมันยังติดอยู่ในแรงโน้มถ่วงของโลกทำให้ตัวยานได้ตกกลับสู่โลกและถูกทำลายระหว่างการฝ่าชั้นบรรยากาศ
สรุปข้อผิดพลาด Peregrine ไปไม่ถึงดวงจันทร์ และจะตกกลับสู่โลก

แม้ Peregrine ไม่สามารถพิชิตเป้าหมายของตัวเองได้ก็ถึงเวลาของยานลงจอดสัญชาติอเมริกันอีกลำอย่างยาน Nova-C IM-1 “Odysseus” จากบริษัท Intuitive Machines ยานลำนี้ก็เป็นยานอีกลำหนึ่งภายใต้โครงการ CLPS ที่ในครั้งนี้มันได้เป็นยานที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดลงบนดวงจันทร์ ทำให้ภารกิจนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 52 ปีที่สหรัฐฯ ได้ลงจอดลงบนดวงจันทร์ แม้ว่าระหว่างการลงจอดตัวยานได้เกิดการสะดุดล้มและไถลไปกับพื้นของดวงจันทร์ แต่ในครั้งนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นการลงจอดแบบ Soft landing ที่ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี และการลงจอดครั้งนี้ก็ยังทำให้มันกลายเป็นยานลำแรกของโลกที่ได้ลงจอดลงบนดวงจันทร์ด้วยเชื้อเพลิงมีเทน

นอกเหนือจากสหรัฐฯ และจีนในปีนี้ประเทศณี่ปุ่นเองก็เป็นอีกหนึ่งชาติที่ประสบความสำเร็จในการทำยานไปลงจอดลงบนดวงจันทร์ โดยเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ยานอวกาศ SLIM ได้ทำการลงจอดแบบ Soft landing ลงบน Mare Nectaris บริเวณตอนใต้ของแอ่ง Theophilus ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติที่ห้าที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดยานอวกาศลงบนดวงจันทร์ นอกจากนี้แล้วตัวยานยังได้รับการตั้งชื่อเล่นว่า Moon Sniper หลังจากนั้นด้วย เนื่องจากมีความแม่นยำในการลงจอดในระดับที่ห่างจากตำแหน่งที่วางไว้ในระยะ 100 เมตร
สรุปข้อมูลยาน Nova-C ภารกิจ IM-1 เอกชนรายแรกบนดวงจันทร์
แต่ความสำเร็จดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดจากความราบลื่นไปซะทีเดียว เพราะเมื่อขณะทำการลงจอดก่อนสำผัสพื้นผิวของดวงจันทร์ ตัวปลาย Nozzle ของเครื่องยนต์หนึ่งในสองเครื่องที่ใช้ในการลงจอดกลับหลุดออกจากเครื่องยนต์ ทำให้ตัวยานจบลงด้วยการลงจอดแบบหน้าทิ่มฝุ่นก้นชี้ดาวกันเลยทีเดียว ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือด้านแผง Solar array กลับหันไปหาด้านที่ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ (โปรไฟล์การลงจอดของยานถูกวางไว้ให้ลงจอดในช่วงหัววันของดวงจันทร์ ซึ่งได้มีการวางแผนให้ตัวยานหันแผง Solar array หาดวงอาทิตย์ในช่วงเวลาดังกล่าว) ทำให้ในวันแรกของภารกิจตัวยานได้ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่บนยานจนเกลี้ยง ก่อนที่จะถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งราวหนึ่งสัปดาห์ของการลงจอดก่อนที่จะเข้าสู่โหมดจำศีลและถูกปลุกขึ้นมาทุก ๆ รอบเดือน ซึ่งก็ดำเนินภารกิจไปได้ด้วยดีจนจบภารกิจในช่วงปลายเดือนเมษายนของปีนี้
ยานทดสอบลงจอด SLIM สำคัญอย่างไรกับญี่ปุ่น


เห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายชาติต่างตั้งเป้าไปที่ภารกิจบนดวงจันทร์ไม่ว่าจะส่งยานไปลงจอด ส่งยานไปโคจรหรือแม้แต่การส่งยานสำหรับมนุษย์ไปบิน Fly-by ทดสอบตัว Hardware สำหรับการพามนุษย์ยุคถัดไปไปลงจอดบนดวงจันทร์เพื่อตั้งสถานีและทำภารกิจสำรวจดวงจันทร์ระยะยาว ซึ่งในปีหน้าจะมีภารกิจดวงจันทร์ให้น่าตื่นเต้นกันอีกมากน้อยแค่ไหนก็ต้องติดตามกันไปพร้อม ๆ กัน
Human Spaceflight ที่มีแนวโน้มส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศมากขึ้นในแต่ละปี
แน่นอนว่าการมาถึงของ ยุค New Space ที่มีเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้การส่งของสู่อวกาศในแต่ทีดูจะมีราคาที่ถูกลงเรื่อย ๆ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา และหนึ่งในสิ่งที่ได้รับประโยชน์จากการที่ทำให้การไปอวกาศเป็นเรื่องที่ถูกลงและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นคือกิจกรรมการเดินทางสู่อวกาศโดยมนุษย์ ทำให้เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาหลังยานโซยูซในภารกิจ Soyuz MS-26 ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศได้มีการทำลายสถิติของจำนวนมนุษย์ที่อยู่ในอวกาศพร้อมกันจากสถิติเดิม 17 คนในปีที่แล้วเป็น 19 คนในปีนี้
ในปีนี้ได้มีการทดสอบภารกิจ Boeing Crew Test Fight ของยาน Starliner (เราเคยพาไปชมในบทความ สรุปบรรยากาศทดสอบ CFT-1 ยาน Starliner และการเลื่อนปล่อย) ซึ่งเป็นภารกิจทดสอบส่งยานแคปซูล Starliner “Calypso” พร้อมนักบินอวกาศอีกสองชีวิตอย่างคุณ Barry Wilmore และ Sunita Williams ขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติเพื่อทำการรับรองการอนุญาตในการใช้งานยาน Starliner สำหรับส่งนักบินอวกาศนานาชาติภายใต้โครงการ Commercial Crew Program ของ NASA ซึ่งดั้งเดิมจะเป็นภารกิจทดสอบแปดวันก่อนเดินทางกลับสู่โลก แต่ระหว่างนั้นทีมวิศวกรของยาน Starliner ก็ได้พบปัญหาที่ระบบขับเคลื่อนของตัวยาน ทำให้คำสั่งการเดินทางกลับโลกถูกเลื่อนมาเรื่อย ๆ และมีคำสั่งในการพายาน Starliner กลับโลกโดยไม่มีนักบินเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ในช่วงนี้เองจะมีสื่อไร้จรรยาบรรณมากมายต่างประโคมข่าวว่า NASA กับ Boeing ทำนักบินอวกาศทั้งสองติดอยู่บนอวกาศ ซึ่งอาจจะเนื่องด้วยกระแสการต่อต้าน Boeing ตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมากับกรณีการตกของเครื่องบิน Boeing 737 MAX จนถูกสั่ง Ground กันยกฝูงบิน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วนักบินทั้งสองเพียงแค่ถูกสั่งไม่ให้กลับโลกพร้อมกับยาน Starliner เนื่องด้วยความปลอดภัยต่อตัวนักบิน เพราะหากเราจำกันได้ในอดีต ไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพโซเวียตต่างมีภารกิจที่ต้องสังเวยชีวิตของเหล่านักบินอวกาศให้กับความเพิกเฉยต่อข้อบกพร่องและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัว Hardware ทำให้ในยุคหลัง NASA ก็เลือกที่จะเน้นความปลอดภัยกับชีวิตมากขึ้น และสุดท้ายแล้วทั้งคุณ Barry Wilmore และ Sunita Williams จะได้เดินทางกลับสู่โลกในช่วงเดือนมีนาคมในปี 2025
สรุปกรณี NASA ตัดสินใจให้ลูกเรือ Starliner Crew Flight Test กลับโลกด้วยยาน Dragon
นอกจากนี้แล้วอีกหนึ่งภารกิจที่มีการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศที่น่าสนใจไม่แพ้กันในปีนี้คือ ภารกิจ Polaris Dawn โดยในภารกิจนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการทำ EVA และ Spacewalk ที่ได้รับการสนับสนุนและนำโดยภาคพลเรือนร่วมกับภาคเอกชน ในภารกกิจนี้ได้มีการนำยาน Crew Dragon มาดัดแปลงเพื่อกิจกรรมสำหรับการทำ EVA ร่วมกับการนำชุดอวกาศ Starman สำหรับใช้งานในยานอวกาษหรือ IVA suit มาต่อยอดจนกลายเป็นชุดที่สามารถใช้ออกทำกิจกรรมในอวกาสได้

โดยในภารกิจนี้ได้มีการทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ หนึ่งในนั้นคือการนำยานไปอยู่ในระดับความสูง 1,400 กิโลเมตรจากโลก ซึ่งถือเป็นการทำลายสถิติเดิมจากภารกิจ Gemini 11 เมื่อปีที่ได้รับการบันทึกสถิติไว้ที่ 1,374 กิโลเมตรที่ในตอนนั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นการส่งมนุษย์ออกไปไกลจากโลกที่สุดหากไม่นับพวกภารกิจส่งมุษย์ไปลงดวงจันทร์ โดยการทำการบินไปที่ระดับความสูงดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะศึกษาผลกระทบของรังสีในอวกาศต่อร่างกายกายมนุษย์ในพื้นที่ Van Allen radiation belt พื้นที่ที่อนุภาคพลังงานที่ส่วนมากมาจากปรากฎการณ์ลมสุริยะจะถูกกักเก็บโดยสนามแม่เหล็กของโลก

ส่วนภารกิจ EVA ตัวยานได้ลดระดับความสูงของตัวยานลงมาที่ราว 700 กิโลเมตรซึ่งถือว่าสูงจากระดับความสูงในการ EVA เพื่อซ่อมบำรุงกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ที่ราว 547 กิโลเมตร โดยในภารกิจนี้เนื่องด้วยที่ตัวยานไม่มีห้อง Airlock ที่ไว้แบ่งส่วน Pressureized และส่วน Unpressireized ทำให้ลูกเรือทั้งสี่ต้องใส่ชุด EVA และลดระดับความดันของยานลง ก่อนที่ Jared Isaacman จะเริ่มนำ EVA ด้วยระยะเวลา 7 นาที 56 วินาที และตามด้วย Sarah Gillis ที่ได้ออก EVA ด้วยระยะเวลา 7 นาที 15 วินาที โดยระยะเวลารวมในการทำ EVA ของภารกิจนี้จะอยู่ที่ 26 นาที 40 วินาที นับเป็นการทุบสถิติใหม่หลายรายการสำหรับกิจกรรมในอวกาศโดยมนุษย์
จรวดใหม่ในปีแห่งการแทนที่ของเก่า
ในปีนี้ก็นับเป็นอีกปีที่เราจะได้เห็นจรวดรุ่นใหม่ ๆ ถูกนำมาใช้งานกันเช่นเคย แต่ดูเหมือนว่าในปีนี่เองการเข็นจรวดรุ่นใหม่ออกมาใช้ในหลาย ๆ รุ่นจะมาในรูปแบบของการแทนที่ของเก่าที่เตรียมปลดประจำการหรือปลดกันไปแล้ว แน่นอนว่ากลุ่มจรวดที่ทำตลาดในช่วง Medium-lift launch vehicle หรือจรวดขนาดกลางกันหลายลำ ถือว่าเป็นปีที่ดุเดือดพอสมควรที่ได้เห็นหลาย ๆ ชาติและบริษัทต่างพากันงัดจรวดระดับนี้มาประชัดหน้ากัน เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเรามักจะเห็นจรวดขนาดเล็กหรือพวก Small-lift ใหม่ประจำปีมาพยายามหาพื้นที่ในตลาดในสัดส่วนจำนวนรุ่นที่แทบจะเป็นครึ่ง ๆ กับจรวดขนาดกลาง ในขณะที่ในปีนี้เองเราแทบไม่เห็นจรวดขนาดเล็กรุ่นใหม่ออกมาโชว์ตัวมากนัก

จะเรียกว่าของใหม่เอี่ยมก็ไม่ใช่ แต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาทางรัสเซียได้เข็นจรวด Angara A5/Orion ออกมาปล่อยเป็นครั้งแรก ซึ่งในเชิงเทคนิคแล้วมันเป็นหนึ่งในจรวดของตระกูล Angara ที่รัสเซียใช้ส่งของขึ้นสู่วงโคจรของโลก โดยเจ้ารุ่น A5/Orion ได้มีการนำท่อนจรวด Blok DM-03 มาใช้เป็นจรวดท่อนบน ซึ่งมันเป็นเหมือนท่อนจรวด Option เสริมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นจรวดท่อนที่สี่ให้กับทั้ง Angara A5 และจรวด Proton-M ที่ล้วนแล้วเป็นจรวดระดับ Heavy-lift ของรัสเซีย อารมณ์แบบการที่บริษัท Impulse Space ประกาศพัฒนาท่อนจรวดที่จะเป็น Kick stage ให้กับจรวด Falcon 9 ของ SpaceX หรือพวกท่อนจรวด Photon ที่เป็น Kick stage ให้กับจรวด Electron ของบริษัท Rocket Lab ซึ่งทั้งคู่ต่างเป็นท่อนจรวดส่วนเสริมที่มีหรือไม่มีก็ได้แล้วแต่โปรไฟล์ภารกิจ โดยแม้ว่านี่จะถือเป็นภารกิจครั้งที่สี่ของ Angara A5 แต่มันก็ยังถูกนับเป็นภารกิจทดสอบมาตั้งแต่ปี 2014
หลังจากนั้นไม่นานทาง Arianespace บริษัทในเครือ ArianeGroup ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสได้เข็นจรวดรุ่นใหม่ออกมาใช้อย่าง Ariane 6 เพื่อแทนที่จรวดรุ่นก่อนหน้าอย่าง Ariane 5 ที่ถูกใช้งานเพื่อการสำรวจอวกาศของยุโรปมาร่วม 27 ปี โดยในปีนี้ได้มีการใช้นำจรวดในรุ่น A62 (ในรุ่นนี้จะมีการใช้งานจรวดท่อน Core stage เชื้อเพลิงไฮโดรเจนร่วมกับจรวดบูสเตอร์เชื้อเพลิงแข็งอีกสองท่อน) ซึ่งเป็นจรวดรุ่นย่อยของ Ariane 6 ออกมาใช้งานเพื่อทดสอบระบบของจรวดเพียงหนึ่งครั้ง ในภารกิจครั้งนั้นมันได้นำ Mass simulator ดาวเทียม Cubesat และ Payload เพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์จากหลายองค์กรขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จ แต่ตัวท่อนจรวดกลับล้มเหลวในการจุดระเบิดเครื่องยนต์ท่อนบนทำการ Deorbit กลับสู่ชั้นบรรยากาศของโลก

จรวด Gravity-1 (นั่นแหละ เจ้าจรวดที่หน้าตาเหมือนหลุดมาจาก Kerbal Space Program นั่นเลย) ก็ถือเป็นอีกหนึ่งจรวดจากบริษัทเอกชนสัญชาติจีนที่ประสบความสำเร็จ ในปีนี้นับได้ว่าเป็นภารกิจแรกของมัน โดยมันเป็นจรวดที่จะเน้นใช้จรวดเชื้อเพลิงแข็งทุกท่อน ตั้งแต่ท่อนบูสเตอร์ทั้งสี่ ท่อน Core stage ท่อนแรกไปจนถึงท่อนที่สาม ซึ่งเจ้าท่อนที่สามเนี่ยแหละที่หลายคนอาจจะงงว่าทำไมถึงเป็นท่อนที่ใชเชื้อเพลิงแข็งแทนเชื้อเพลิงเหลวที่คุมได้ง่ายกว่า โดยทางบริษัทได้ให้ข้อมูลว่ามันเป็นท่อนจรวดที่ถูกทำขึ้นพิเศษที่จะมีความแม่นยำสูงในเรื่องของเวลาการเผาไหม้ ซึ่งข้อดีหลัก ๆ ของมันคือเรื่องราคาที่ถูก เพราะแทบไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับระบบความดันและของไหลแบบจรวดเชื้อเพลิงเหลว แต่ในส่วนของข้อเสียก็อาจจะเป็นในเรื่องของโอกาสพลาดของการเบี่ยงออกนอกเส้นทางไปมาก่อนกลับเข้าสู่ Trajectory ที่วางไว้นั้นอยู่ในวงที่จำกัดมาก โดยตัวจรวดจะเริ่มจากจุดระเบิดท่อนบูสเตอร์ทั้งสี่ก่อน ในขณะที่จรวดท่อน Core stage ท่อนแรกจะไปจุดระเบิดทีหลังกลางอากาศ (เทคนิคเดียวกับจรวดใน KSP ชัด ๆ – ฮา)

ในส่วนของจรวดจากฝั่งภาครัฐของจีนในปีนี้ที่ถือว่าของใหม่เลยจะเป็นรุ่น Long March 12 โดยแม้มันจะมี Spec ที่อยู่ในส่วนเดียวกันกับจรวด Long march 7 แต่มันเป็นจรวดรุ่นประหยัดสำหรับเชิงพาณิชย์ที่เหมาะกับภาคเอกชนที่ต้องการส่งดาวเทียมของตัวเอง นอกจากนี้จะมีจรวดรุ่นใหม่ที่ต่อยอดเป็นรุ่นย่อยจากจรวดเดิมที่มีการใช้งานอยู่แล้วอย่าง Kuaizhou ที่ได้รับการต่อยอดไปเป็น Kuaizhou 1A Pro จรวด Long March 6C ที่ต่อยอดมาจากรุ่น Long Match 6 และจรวด Long March 5B ที่ดั้งเดิมแล้วจะเป็นรุ่นที่ถอดจรวดท่อนบนออกเพื่อใช้ส่งของหนักขึ้นวงโคจรของโลก แต่ในปีนี้เองก็มีภารกิจที่มันได้ติดตั้งท่อนจรวด Yuanzheng ในรุ่น YZ-2 (ซึ่งเคยใช้มาแล้วกับ Long March 5 รุ่นปกติ) มาเป็นจรวดท่อนบนให้กับรุ่น 5B ส่วนฝั่งภาคเอกชน Landspace ก็ได้ต่อยอดจรวดรุ่น Zhuque-2 ไปเป็น Zhuque-2E ที่ในรุ่นนี้จะมีการอัพเกรดเครื่องยนต์ด้วยการติดอุปกรณ์สำหรับ Thrust vectoring ให้กับเครื่องยนต์ท่อนบนและตัดชิ้นส่วนทรัสเตอร์ Vernier ออก

อีกหนึ่งไฮไลต์ที่สำคัญในปีนี้คือการขึ้นบินของจรวด Vulcan Centaur จากบริษัท United Launch Alliance ที่ยังคงติดกลิ่นความเป็น Old space บ้าง และท่ามกลางยุคที่หลาย ๆ บริษัทต่างให้ความสนใจในการนำจรวดกลับมาใช้ซ้ำ ULA กลับเลือกที่จะพบกันครึ่งทางด้วยการพัฒนาให้มันสามารถใช้ซ้ำแค่ส่วนของเครื่องยนต์ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่แพงที่สุดของจรวดแทนที่จะทำให้มันใช้ซ้ำได้ทั้งท่อน แม้ในปีนี้จะยังไม่สามารถนำเครื่องยนต์กลับมาใช้ซ้ำได้ แต่ในปีนี้ก็นับได้ว่าเป็นปีแรกที่มันได้ขึ้นบินและประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี แม้ว่าจะถูกเลื่อนจากแผนเดิมที่จะบินครั้งแรกในปี 2019 ก็ตาม
แต่เอาตามความจริง ที่บอกว่าประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดีนั้นก็กลับมีปัญหาเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน โดยระหว่างการบินในภารกิจครั้งที่สองของมัน ชิ้นส่วน Nozzle หนึ่งในสองของท่อนจรวด SRB ของมันกลับหลุดออกมาจากท่อนจรวดทำให้ตัวจรวดถูกท่อน SRB อีกฝั่งที่ยังอยู่ในสภาพดีผลักออกนอกเส้นทางไป ซึ่งก็ต้องขอบคุณทีมพัฒนาเครื่องยนต์ BE-4 ของ Blue Origin และทีม Guidance ของ ULA ที่ออกแบบให้ตัวจรวดสามารถเลี้ยวกลับมาจาก Trajectory ที่ถูกเบี่ยงออกไปได้จนสามารถปิดภารกิจไปในที่สุด

กลับกันมาใกล้บ้านเรากันบ้างกับประเทศญี่ปุ่น ในปีนี้บริษัทน้องใหม่อย่าง Space One ได้พยายามพิชิตวงโคจรด้วยจรวด KAIROS หรือ Kii-based Advanced & Instant Rocket System จรวดที่ใช้เชื้อเพลิงแข็งทุกท่อนคล้ายกับ Gravity-1 โดยมันทำตลาดในกลุ่มจรวดขนาดเล็กที่มีศักยภาพใกล้เคียงกับจรวด Electron ซึ่งในปีนี้ Space One ได้พยายามปล่อย KAIROS ด้วยกันถึงสองภารกิจแต่ทั้งสองเที่ยวบินต่างจบลงด้วยความล้มเหลว โดยในภารกิจแรกจบลงด้วยคอมพิวเตอร์สั่งทำลายตัวเองจากความผิดปกติของท่อนเชื้อเพลิง

และในภารกิจที่สองที่ตัวจรวดได้หมุนควงสว่านกลางภารกิจก่อนตกทะเลไปซึ่งก็คาดว่าเกิดจากปัญหาที่ตัวเชื้อเพลิงเช่นกัน แม้ว่าภารกิจทั้งสองจะจบลงด้วยความล้มเหลว แต่มันก็ถือเป็นสัญญาณที่บอกได้ว่าภาคเอกชนในญี่ปุ่นเองก็กล้าเล่นและพร้อมเจ็บตัวเพื่อเรียนรู้จากความผิดพลาด
ความคืบหน้าของ Hardware รุ่นใหม่ ๆ ใกล้หรือไกลความจริงแค่ไหนกัน
พูดถึงจรวดรุ่นใหม่ที่ได้ขึ้นบินกันไปแล้ว เรามาต่อกันกับความคืบหน้าของจรวดที่ยังไม่ได้ขึ้นบินแต่มีการพัฒนาและทดสอบชิ้นส่วน Hardware ในปีนี้กันบ้างดีกว่า ในปีนี้เองก็มีตั้งแต่พวกกลุ่มที่ยังอยู่ในขั้นการพัฒนาในส่วนของเครื่องยนต์ไปจนถึงจรวดที่ประกอบเสร็จจนพร้อมบินแต่เหลือการทดสอบอีกไม่กี่รายการก่อนที่จะพร้อมบินในปีหน้า
พูดถึงเรื่องเครื่องยนต์ นอกจาก Raptor ของ SpaceX ที่เพิ่งออกรุ่นที่สามออกมา เครื่องยนต์ที่มาแรงไม่แพ้กันก็คงหนีไม้พ่นเครื่องยนต์สำหรับจรวด Nova ท่อนแรกของบริษัท Stoke Space เอาจริง ๆ มันเพิ่งได้รับการตั้งชื่อเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า Zenith หลังเริ่มมีการพัฒนามาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา (ซึ่งก็เท่ดี ทำงานก่อน ค่อยคิดชื่อให้ทีหลัง) มันเป็นเครื่องยนต์แบบ Full-flow staged combustion ที่ใช้เชื้อเพลิงมีเทนเหลวร่วมกับออกซิเจนเหลวแบบเดียวกับ Raptor แต่มีขนาดที่เล็กและให้แรงขับน้อยกว่าพอสมควร โดยมันเพิ่งถูกนำมาประกอบจนเป็นเครื่องยนต์พร้อมทดสอบเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาหลังความสำเร็จในการทดสอบ Hop test ของจรวด Nova ท่อนที่สอง ในขณะเดียวกัน ตัวถังเชื้อเพลิงของจรวดท่อนแรกก็ยังอยู่ในการพัฒนาเช่นกัน

หลังจากปัญหาการรุกรานประเทศยูเครนของรัสเซีย ทำให้จรวด Antares ที่เดิมมีฐานการผลิตชิ้นส่วนบางชิ้นทีตั้งอยู่ในยูเครนต้องประสบปัญหาจนจรวด Antares ขาดแคลนชิ้นส่วน จนในปี 2023 Northrop Grumman บริษัทผู้ใช้จรวดรุ่นนี้ในการส่งยาน Cygnus ต้องประกาศปลดประจำการจรวดรุ่น Antares 230+ ก่อนที่จะไปเลือกบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรายอื่นที่อยู่บนแผ่นดินสหรัฐฯ อย่าง Firefly Aerospace ที่มีทั้งทรัพยากรและพื้นฐานการพัฒนา Hardware จรวดอยู่แล้วเพื่อพัฒนาจรวดรุ่นใหม่อย่าง Antares 330 ที่จะมีการใช้งานเครื่องยนต์ Miranda ของทาง Firefly มาเป็นเครื่องยนต์ในจรวดท่อนแรก ซึ่งในปีนี้ได้มีความคืบหน้าในส่วนของการทดสอบเครื่องยนต์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ Antares รุ่นใหม่
สำหรับฝั่งจีนเอง เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้มีการนำเครื่องยนต์ YF-100K มาทดสอบ ซึ่งได้รับการบันทึกว่าเป็นเครื่องยนต์เชื้อเพลิงน้ำมันก๊าด (RP-1) ที่ให้แรงขับรวมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเครื่องยนต์แต่ละตัวจะให้แรงขับได้มากถึง 130 ตัน และในการทดสอบครั้งดังกล่าวได้มีการติดตั้งเครื่องยนต์บนฐานทดสอบพร้อมกันถึงสี่เครื่อง ทำให้ในการทดสอบเครื่องยนต์ทั้งที่ได้ให้แรงขับร่วม 500 ตันกันเลยทีเดียว ซึ่งการทดสอบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาจรวด Long March 12 ที่เพิ่งประสบความสำเร็จไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน

เพื่อพูดถึงความคืบหน้าในการพัฒนาแล้วเราจะลืมบริษัทขวัญใจคนรัก Carbon-fiber reinforced polymer อย่าง Rocket Lab ไปได้อย่างไร หลังจากการประกาศการพัฒนาจรวดรุ่นถัดจาก Electron อย่าง Neutron ไปเมื่อปี 2021 ในปีนี้ก็เข้าสู่ปีที่สามแล้วของการพัฒนาจรวดรุ่นนี้ โดยในปีนี้มันได้พิชิต Milestone ที่สำคัญต่าง ๆ อยู่หลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มประกอบเครื่องยนต์รุ่นใหม่อย่าง Archimedes รวมไปถึงการทดสอบ Hot fire ของเครื่องยนต์ และการทดสอบระบบต่าง ๆ ในด้าน Avionics โดยจากแผนการ ทางบริษัทตั้งเป้าว่าจะทำให้ตัวจรวดพร้อมบินภายใน 2025
ที่เลื่อนหนักกว่า Vulcan Centaur ก็ยาน Dream Chaser ของ Sierra Space เนี่ยแหละ โดยยานอวกาศรุ่นนี้เป็นหนึ่งในยานสำหรับโครงการ Commercial Resupply Services ในช่วงที่สองของ NASA ร่วมกับยาน Dragon 2 และยาน Cygnus โดยในปีนี้ดั้งเดิมได้ว่าแผนไว้ว่ามันจะได้ขึ้นบินไปกับเที่ยวบินที่สองของ Vulcan Centaur และมันก็พร้อมระดับที่ผ่านการเข้ารับการทดสอบ Thermal Vacuum Chamber ที่ In-Space Propulsion Facility ของ NASA ซึ่งเป็นการเตรียมการชั้นสุดท้ายก่อนส่งให้กับ Kennedy Space Center แต่ก็กลับติดปัญหาตรงที่ความล่าช้าของ Vulcan Centaur ทำให้หลังจากที่ตัวจรวดพร้อมใช้งานก็ถูกฝั่งกองทัพอวกาศของสหรัฐฯ เข้ากดดันในทันที ทำให้กำหนดการการปล่อยยาน Dream Chaser ถูกเลื่อนออกไปเป็นกลายปี 2025 เพื่อเร่งทะยอยส่ง Payload ให้กองทัพก่อน (แต่เรื่องนี้ก็โทษกองทัพฝั่งเดียวไม่ได้ เพราะทางฝั่ง Sierra Space เองก็ช้ากว่ากำหนดการเหมือนกัน ซึ่งอย่าลืมว่าดั้งเดิมแล้วภารกิจของ Dream Chaser ครั้งนี้ถูกวางให้เป็นภารกิจที่ควบร่วมกับภารกิจ Certification-2 ของกองทัพ)

จริง ๆ ยังมี Hardware อีกหลายชิ้นที่มีการพัฒนาและมีความคืบหน้าในปีนี้แต่เราได้เขียนแทรกไว้แล้วตามแต่ละ Chapter ของบทความนี้ ทั้งเรื่องของความคืบหน้าของโครงการ Starship ที่มีแต่ละเล่นใหญ่ขึ้นในแต่ละปี จรวด New Glenn ที่พร้อมขึ้นบินในปีหน้า การประกาศพัฒนาจรวดรุ่นต่าง ๆ ที่จะถูกนำมาใช้งานในอนาคตของจีน แต่ก็ยังมี Hardware อีกหลายชิ้นเช่นกันที่กำลังซุ่มพัฒนาเพียงแต่เรายังไม่รู้หรือยังน่าสนใจไม่มากพอสำหรับในตอนนี้ ส่วนสำหรับกิจกรรมด้านการปล่อยจรวดในปีหน้าและปีถัด ๆ ไปจะมีอะไรให้น่าติดตามและน่าลุ้นก็ต้องติดตามไปด้วยกันเช่นเคย แล้วเจอกันกับบทความแบบนี้อีกทีในปีหน้า Merry Christmas และสวัสดีปีใหม่
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co