FutureTalks: เราเมาอวกาศได้ไหม เหมืองบนดาวอังคาร วัสดุกันรังสีอวกาศ

ในอนาคตอันใกล้นี้ เรามีโอกาสจะได้เห็นมนุษย์กลับไปบนดวงจันทร์อีกครั้งผ่านโครงการ Artemis หรือแม้แต่ ก้าวแรกของมนุษย์บนดาวเคราะห์สีแดงเพื่อนบ้านเราอย่างดาวอังคาร แต่ก้าวอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ของมนุษยชาติมันจะไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ในวงเล็ก ๆ เท่านั้น การศึกษาวิจัยองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ผ่านมาตั้งแต่ในอดีตเพื่อเข้ามาช่วยทำให้ความฝันอันนี้เป็นจริงนี่แหละที่จะเป็นตัวพลิกเกมของจริงที่จะเข้ามามีบทบาทต่อมนุษย์ในอนาคต

FutureTales Lab ภายใต้ MQDC เดินหน้าหาพันธมิตรที่เข้าใจและศึกษาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางและการดำรงชีวิตบนอวกาศทั้งไทยและต่างประเทศ

FutureTales Lab ในฐานะหน่วยงานศูนย์วิจัยที่ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษย์ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงได้ร่วมมือกับ Spaceth.co ในการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจอวกาศ เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในอนาคตตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้น

รวมบทความในซีรีส์ FutureTalks
1. ในอวกาศมนุษย์จะกลายพันธ์ุไหม หายใจอย่างไร ปลูกพืชได้ไหม
2. เราเมาอวกาศได้ไหม เหมืองบนดาวอังคาร วัสดุกันรังสีอวกาศ
3. การกักตัวนักบินอวกาศ Private Space Company ระบบนำทางอวกาศ
4. การทดลองในอวกาศที่ถูกลง ขยะบน ISS การตรวจจับดินไหว การขุดดินบนดวงจันทร์ และ NASA กับ COVID-19

การหมุนเวียนน้ำบนยานและสถานีอวกาศ

น้ำเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อร่างกายมนุษย์ ในอวกาศนอกจากที่เราจะใช้น้ำเพื่อการดื่มกินแล้ว มันยังถูกใช้เป็นเป็น วัตถุดิบในการสร้างออกซิเจนสำหรับหายใจ อีกด้วย คำถามคือเราจะมีทรัพยากรน้ำที่เพียงพอได้อย่างไร ในกรณีของยานอวกาศเราจะต้องขนน้ำไปจำนวนมหาศาลเพื่อที่จะรองรับต่อการใช้งานของมนุษย์ตลอดทั้งภารกิจหรือไม่ หรือในกรณีของสถานีอวกาศ​เราจะต้องเสียงบประมาณและทรัพยากรจำนวนมหาศาลไปกับ flight เพื่อ resupply น้ำหรือไม่ แล้วสมมติถ้าเกิดน้ำเกิดหมดขึ้นมาในสภาวะที่โลกไม่สามารถไปช่วยเหลือได้ทันหล่ะ

คุณ Chris Hadfield นักบินอวกาศกับบรรจุภัณฑ์ใส่น้ำบนสถานีอวกาศนานาชาติ – ที่มา Canadian Space Agency (CSA)

ในยุคหลัง ๆ ของการสำรวจอวกาศ ระบบการหมุนเวียนน้ำจึงได้ถูกวิจัยและพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ ทางรัสเซียได้เริ่มติดตั้งระบบกู้คืนน้ำบนสถานีอวกาศ Mir โดยแบ่งออกเป็นอีก 3 ลูปย่อย ๆ สำหรับใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ส่วนทางสหรัฐอเมริกาก็ได้ทำการทดลองการรีไซเคิลน้ำบนกระสวยอวกาศ

ระบบลูป SRV-K ของสถานีอวกาศ Mir – ที่มา National Academy Press

ในกรณีของสถานีอวกาศนานาชาติที่เป็นสถานที่เดียวบนอวกาศที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ในปัจจุบัน เครื่องหมุนเวียนน้ำเครื่องแรกได้ถูกนำไปติดตั้งบนโมดูล Zvezda โดยทางฝั่งรัสเซีย ถึงผลผลิตที่ได้จะสามารถดื่มได้ในทางทฤษฎี แต่โดยทั่วไปมันก็ถูกนำไปใช้เป็นซัพพลายในการสร้างออกซิเจนให้กับเครื่อง Elektron เท่านั้น จนกระทั่งในปี 2008 เครื่องหมุนเวียนน้ำที่ออกแบบมาใช้ผลผลิตที่ได้เอาไปใช้ดื่มก็ถูกนำไปติดตั้งโดยทางฝั่งสหรัฐอเมริกา ที่โมดูล Destiny ก่อนที่จะย้ายไปไว้ในโมดูล Tranquility ในเวลาต่อมา

ระบบการหมุนเวียนน้ำจะเริ่มต้นจากการดึงน้ำที่ใช้แล้วกลับไปในระบบ (ทั้งจากความชื้นในอากาศภายในสถานี ปัสสาวะ และอื่น ๆ ) ก่อนที่มันจะถูกกรองและนำไปต้มที่ความร้อนประมาณ​ 400 องศาเซลเซียส ไอน้ำที่ได้จากการต้มจะถูกดักจับ นำไปควบแน่นกลายเป็นน้ำที่กลับมาใช้ใหม่ได้ และผลผลิตก็จะถูกนำไปใช้งานในทางต่าง ๆ โดยระบบนี้จะหมุนเวียนน้ำได้ประมาณ 80% จากของที่มีดั้งเดิม

ระบบการหมุนเวียนทรัพยากรภายในสถานีอวกาศนานาชาติ – ที่มา NASA

อย่างที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นถึงความสำคัญของมัน ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในจุดสนใจหลักหรือมีข่าวออกมา แต่ก็เป็นที่น่าจับตามองว่าในโครงการ Lunar Gateway ที่เป็นโครงการสถานีอวกาศใหม่ของทางสหรัฐในอนาคต หรือบนยาน Starship เพื่อที่จะขนส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร (ที่กินระยะเวลาค่อนข้างนาน) ระบบหมุนเวียนน้ำนี้จะถูกพัฒนาไปในทิศทางใด ในแง่ของประาิทธิภาพที่สูงมากขึ้นหรือขนาดที่อาจจะเล็กลง และในอนาคตที่ไกลมากขึ้น เราน่าจะได้เห็นคอนเซปต์ของระบบหมุนเวียนน้ำถูกใช้บน Mars Habitat ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่สามารถจำลองสิ่งแวดล้อมของโลกบนนั้นได้

ย้อนกลับลงมายังโลก จะเป็นไปได้มั้ยถ้าเทคโนโลยีนี้ถูกใช้เพื่อแก้ปัญหาน้ำคุณภาพต่ำหรือปัญหาการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่หล่ะ ? ด้วยความที่ระบบหมุนเวียนน้ำที่ใช้บนสถานีอวกาศนานาชาติยังมีราคาสูงมากและขนาดที่ใหญ่มากจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ในวงกว้าง แต่ก็เป็นไปได้ว่าเมื่อระบบนี้ถูกพัฒนาให้มีขนาดเล็กลง ราคาถูกลงจนกระทั่งนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง

อ่านเพิ่มเติม – นักบินอวกาศดื่มน้ำจากปัสสาวะของตัวเอง และเพื่อนร่วมภารกิจ (ที่ผ่านการกรองจนสะอาดกว่าน้ำบนโลก)

ทำไม Biomining ถึงมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบกับการตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร

เราเคยได้เกริ่นถึง Biomining ไปในบทความรอบที่แล้วซึ่งเป็นการกล่าวถึงการทดสอบการตอบสนองของจุลชีพในสภาวะไร้น้ำหนักซึ่งเรียกว่า MVP-Cell-02 โดยที่การทดลองนี้มีจุดประสงค์เพื่อสังเกตุพฤติกรรมของจีลชีพในสภาวะที่ต้องอยู่ในอวกาศเป็นเวลานานซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออนาคตการสำรวจอวกาศแน่นอน เพราะเราอยู่กับจุลชีพมาตลอดแม้แต่ในร่างกายเราตอนนี้

MVP-Cell-02 มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการ Biomining ในเรื่องของการทดลองผลกระทบของรังสีในอวกาศต่อจุลชีพว่าสร้างความเสียหายมากน้อยแค่ไหนและด้วยกลไกการเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิต จุลชีพที่ได้รับรังสีปริมาณสูงเป็นเวลานานจะเริ่มกลายพันธ์ตามธรรมชาติเพื่อเอาตัวรอดจากรังสีดังกล่าวและพยายามปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของมัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งแบบ Preventive หรือแบบ Reparation จุลชีวะอาจจะพัฒนากลไกสักอย่างเพื่อป้องกันรังสีไม่ให้ทำอันตรายกับสารพันธุกรรมของมันได้ หรือแบบ Reparation ที่สามารถซ่อมสารพันธุกรรมที่ถูกรังสีทำลายให้กลับมาเป็นแบบเดิมได้ การศึกษาเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่กับการ Biomining แต่มีผลกระทบต่อการมีชีวิตรอดของมนุษยชาติในห้วงอวกาศลึกด้วย

โมดูล Bioreactor ของการทดลอง

และด้วยการทดลอง MVP-Cell-02 นี่เองเป็นการยืนยันว่า Biomining สามารถทำได้ในอวกาศ Biomining จะเข้ามามีบทบาทในการหาแหล่งทรัพยากรที่ยั่งยืนให้กับมนุษย์ที่ไปตั้งถื่นฐานได้ Biomining เปิดโอกาสให้เราสามารถใช้จุชชีพมาช่วยเราสกัดทรัพยากรในการตั้งถื่นฐานได้อีกด้วยซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อเราเองและต่อจุลชีพ ในอนาคต Biomining จะถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ด้วยต้นทุนในการหาทรัยากรที่ต่ำบวกกับค่าดูแลรักษาที่ถูกกว่าการขุดเหมืองทั่วไป จะทำให้ Biomining กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจบนดาวเคราะห์ Extraterrestrial ต่าง ๆ

อีกหนึ่งประเด็นที่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดของเราก็คือการทำ Bioremediation ซึ่งก็คือ Biomining ที่ถูกดัดแปลงใหสามารถแปลงโลหะหนักอย่าง Cadmium หรือ Uranium จากสภาวะที่ไม่เสถียรให้กลายเป็นแร่ที่เสถียรได้ ซึ่งสามารถช่วยลดการปนเปื้อนของโลหะหนักบนพื้นผิวได้ และเหตุผลที่ Bioremediation เป็นหนึ่งใน Best method ก็เพราะว่าการ Contain สิ่งปนเปื้อนแบบทั่วไปอย่างการส่งหุ่นยนต์เข้าไปเก็บกู้ ส่งเข้าไปแล้วเก็บออกมามันก็ทำอะไรไม่ได้จากปนเปื้อนตรงนี้เอาไปกองไว้ที่อื่น มันก็ปนเปื้อนอีกซึ่งนี่ไม่ได้แก้ปัญหาเลย แต่แค่ยื้อเวลาของการปนเปื้อนโดยกว้างไปเท่านั้น เช่นเดียวกับการส่งมนุษย์เข้าไปเก็บ

พื้นดินบนดาวอังคาร ที่ถูกมองผ่านกล้องของโรเวอร์ Curiosity ที่มา – NASA/JPL

แต่การทำ Bioremediation จะเปลี่ยนเทคโนโลยีการ contain แร่ที่เป็นอันตรายไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยการเปลี่ยนแร่ที่เป็นอันตรายให้เป็นแร่ที่สามารถนำไปใช้ได้ซึ่งดีกว่าการเก็บไปทิ้งที่อื่นแน่นอน ส่วนการหาแร่ธาตุบนดาวอังคารด้วย Biomining ก็จะเป็นหนึ่งในระบบ In-Situ Resource Utilization System หรือ ISRU ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบเพื่อให้การอยู่รอดโดยไม่มีทรัพยากรสนับสนุนจากโลกเป็นไปได้ อาศัยการหาทรัพยากรบนดาว เช่น การสกัดน้ำออกมาจากชั้นบรรยากาศ, การผลิตมีเทนและน้ำด้วยปฎิกิริยา Sabatier และการผลิตออกซิเจนด้วยการนำน้ำที่ได้จากการทำ Sabatier reaction มาใช้ในปฎิกิริยา Electrolysis เพื่อแยกออกซิเจน ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในระบบ ISRU ที่ทำงานกันแบบ Production line โดยที่หนึ่งกระบวนการมีของเหลือหรือ Byproducts ก็เอา Byproducts ไปให้กระบวนการผลิตหน้าใช้ ซึ่งมีประสิทธิภาพทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม

โครงการ Artemis กับการกลับไปดวงจันทร์ของมนุษยชาติเป็นหนึ่งในโอกาสให้เราได้ทดลองการทำ Biomining และทดสอบระบบพยุงชีพอย่าง ISRU รุ่นแรกก่อนนำไปใช้ในการตั้งถื่นฐานบนดาวอังคาร ซึ่งลักษณะของระบบ ISRU อย่างการผลิต Oxygen ก็มีต้นแบบมาจากระบบหมุนเวียนน้ำที่เราใช้อยู่บน International Space Station ในตอนนี้ เช่น Sabatier reaction

ในอนาคตหลังจากการตั้งถื่นฐานบนดาวอังคารและดวงจันทร์ เราอาจจะมีของนำเข้าจากดาวอังคาร เช่น แก๊สหุงต้มจากดาวอังคาร, ไฟฟ้าจากดวงจันทร์, แผงโซลาร์เซลล์จากดวงจันทร์, ยาง Epoxy resin จากดาวอังคาร หรือเราอาจจะต้องจ่ายแม้กระทั่งค่าอินเทอร์เนตห้วงอวกาศลึกเพื่อสื่อสารกับมนุษย์ที่อยู่บนดวงจันทร์หรือดาวอังคาร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อการสำรวจอวกาศห้วงลึกเป็นที่แพร่หลาย

อาการเมาอวกาศ Space Adaptation Syndrome

วันที่ 6 สิงหาคมปี 1961 จรวด Vostok-K ของภารกิจ Vostok 2 ของสหภาพโซเวียตได้ส่งคุณ Gherman Titov จาก Baikonur Cosmodome ไปโคจรรอบโลกเป็นคนที่ 2 ของโลกต่อจากคุณ Yuri Gagarin ก่อนที่จะกลับลงมาในวันที่ 7 สิงหาคม เขาได้สร้างประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนแรกที่อยู่บนชั้นวงโคจรของโลกเกินกว่า 1 วัน และในฐานะที่เป็นมนุษย์คนแรกที่อาเจียนบนอวกาศอีกด้วย

และสิ่งที่คุณ Titov ได้ประสบพบเจอก็คืออาการ “เมาอวกาศ” นั่นเอง

คุณ Gherman Titov นักบินของภารกิจ Vostok 2 – ที่มา Roscosmos

อาจมีคนจำนวนไม่มากมายที่ประสบพบเจอกับอากาศเมายานพาหนะบนโลกอย่างรถ เรือหรือเครื่องบิน แต่นักบินอวกาศที่ขึ้นไปบนอวกาศถึงกว่าร้อยละ 60 ที่จะมีโอกาสได้พบกับอาการ “เมาอวกาศ” ในช่วงวันแรก ๆ ของเที่ยวบินและในบางช่วงของภารกิจที่ร่างกายอาจจะปรับสภาพไม่ทัน แต่ทั้งนี้ก็ขอพนันได้เลยว่ามันรุนแรงกว่าและรักษาได้ยากกว่าอย่างมาก

อาการ “เมาอวกาศ” หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า Space Adaptation Syndrome (SAS) เกิดขึ้นมาจากค่า g ที่เปลี่ยนไปส่งผลกับระบบการทรงตัวของมนุษย์ซึ่งอยู่ในหูชั้นใน ที่ไม่สามารถระบุทิศบนล่างได้เหมือนกับบนโลกที่มีแรงโน้มถ่วงคอยดึงไว้ จนเกิดภาวะ Disorientation ของร่างกาย ผลกระทบต่อร่างกายอาจะแตกต่างกันออกไปตั้งแต่คลื่นไส้ เวียนหัวไปจนถึงอาเจียน และก็ยังต่างจากการอาการเมาเรือที่เรามองไปที่ไกล ๆ แล้วอาจจะหาย อาการเมาอวกาศต้องใช้วิธีรอจนกว่าร่างกายจะปรับตัวได้เองหรือการกินยา (ซึ่งก็ไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่เพราะร่างกายจะปรับสภาพเองไม่ได้)

โครงสร้างของหูมนุษย์ โดยระบบทรงตัวของมนุษย์อยู่ภายในหูชั้นใน

ย้อนกลับไปดูประโยคนี้อีกที “นักบินอวกาศที่ขึ้นไปบนอวกาศถึงกว่าร้อยละ 60 ที่จะมีโอกาสได้พบกับอาการ “เมาอวกาศ” คำนี้บอกอะไรเรา? ถึงแม้นักบินอวกาศที่ถูกคัดเลือก ตรวจสอบสภาพร่างกายและผ่านการเทรนนิ่งมาอย่างยาวนานยังมีโอกาสเจอกับอาการนี้ได้ตั้งเกินครึ่ง แล้วหากในอนาคตเราซื้อตั๋วไปดวงจันทร์ได้เหมือนซื้อตั๋วไปสิงคโปร์หล่ะ ผู้โดยสารปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ จะทนต่ออาการนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ? (ผู้เขียนเชื่อว่ามันคงทะลุ 60% อย่างแน่นอน – และมันก็คงไม่จืดแน่ ๆ ถ้าบนจรวดไปดวงจันทร์ในอนาคตมีผู้โดยสารอยู่ซัก 20 คนแล้ว 14-15 คนเกิดอาเจียนขึ้นมา) การกินยาอาจเป็นหนึ่งวิธีที่ถูกนำมาใช้แต่เชื่อได้ว่าจะมีการคิดค้นวิธีที่ยั่งยืนกว่านี้ออกมา

ภาพจำลอง Starship บนดวงจันทร์ – ที่มา SpaceX

ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีการสร้างแรงโน้มถ่วงเทียมขึ้นมาจริง ๆ บน spacecraft ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหลาย ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในอวกาศได้เลย ซึ่งเรื่องนี้เราอาจะได้นำมากล่าวในเชิงลึกกันในภายหลัง (ถ้าแบบสั้น ๆ คือมันเป็นไปได้ในเชิงทฤษฎีแต่ถ้าจะทำให้เป็นจริงในเชิงปฏิบัติด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันมันจะต้องใช้ทรัพยากรและเงินทุนมหาศาล)

อ่านเพิ่มเติม การป่วยในอวกาศ ประวัติศาสตร์ และวิธีรับมือ

COVID-19 กับการพัฒนาเครื่องช่วยหายใจของ Tesla และ SpaceX

หลังจากการประกาศภาวะฉุกเฉินของประธานาธิบดี Donald Trump ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเห็นได้ชัดว่าอเมริกาบกพร่องในการ Contain และ Mitigate การแผพร่ระบาดของไวรัสทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในหลาย ๆ รัฐของอเมริกาเริ่มสูงขึ้นแบบ Exponential โดยเมืองที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดก็คือ New York ทำให้อุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นต่อการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วย COVID-19 เริ่มขาดแคลน ซึ่งในสถานการณ์นี้เราเรียกว่า Maximum Health Services Capacity หรือจำนวนผู้ป่วยที่โรงพยาบาลในพื้นที่สามารถรับได้ ซึ่งจริง ๆ New York ได้เกิน จุด ๆ นี้ไปแล้ว ทำให้อุปกรณ์อย่าง Ventilator หรือเครื่องช่วยหายใจโดยเฉพาะแบบ Invasive เริ่มขาดแคลน และหากจำนวนผู้ป่วยทะลุค่า Maximum Health Services Capacity เมื่อไหร่ เมือง ๆ นั้นก็จะกลายเป็น Italy Model ทันที เพราะมีผู้ป่วยหลุดรอดการ Contain ไป เพราะไม่สามารถรับผู้ป่วยเพิ่มได้ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ระบบสาธารณสุขจะล่มทันที สิ่งเดียวที่จะสามารถหยุดการแพร่ระบาดได้คือ Full social distancing หรือการ Lockdown เท่านั้น

Elon Musk, CEO ของ SpaceX และ Tesla – Gettyimages

แต่ก่อนเมือง New York จะเกิน Maximum Health Services Capacity นายกเทศมนตรีล่วงรู้ถึงการคาดการร์นี้แล้ว และได้ขอความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐบาลเองและภาคเอกชนอย่าง SpaceX และ Tesla โดยไม่สนว่าจะเป็นเอกชนหรืออะไรทั้งนั้น เพราะในสถานการณ์นี้ ประชาชนสำคัญที่สุดซึ่งหลังจาก Elon Musk เห็นทวีตข้อความช่วยเหลือจากนายกเทศมนตรีของ New York เค้าก็ได้ตอบรับการช่วยเหลือและประกาศว่า SpaceX และ Tesla จะทำทุกวิถีทางเพื่อหา Ventilator มาให้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยน Supply chain ของตนเองให้เป็นการผลิต Ventilator หรือจะเป็นการซื้อมาจากบริษัทอื่น

ปัญหา COVID-19 ยังได้สร้างอีกปัญหาหนึ่งให้กับโลกอุตสาหกรรมเป็นอย่างมากคือมันไปพัง Supply Chain การผลิตจนทำให้สิ่งของหลาย ๆ สิ่งไม่สามารถผลิตได้เมื่อขาด supply อย่างนึง การทีหลาย ๆ บริษัทไม่สามารถผลิตสินค้าของตนเองได้ก็เพราะว่า COVID-19 ทำลาย Supply chain ในการผลิตสินค้าของตน ซึ่งเหตุการณ์นี้จะเป็นปฎิกิริยาลูกโว่ซึ่งส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น โรงงาน A ผลิตวัสดุ ให้โรงงาน B ใช้ แล้วโรงงาน B ก็ผลิตวัสดุของตนที่ต้องใช้วัสดุจากโรงงาน A มาผลิตให้โรงงาน C อีกที ถ้าเกิดโรงงาน A เกิดผลิตไม่ได้ขึ้นมา โรงงาน B กับ C ก็พังไปด้วยเกิน Supply Chain Breakdown ซึ่งในโลกแห่งความจริง Supply Chain Breakdown ก็เกิดบ่อยเช่นกันแต่มันไม่ได้ส่งผลกระทบกับโรงงานมากขนาดนั้นเพราะว่ามันสามารถหา Alternative หรือ Supply chain ที่อื่นได้

Headquarters ของ SpaceX – ที่มา Los Angeles Time

แต่ไม่ใช่กับการ Case scenario อย่างการระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบทั่วโลก Supply chain ของแต่ละโรงงานพังตามกันไปเรื่อย ๆ เกิดปฎิกิริยาลูกโซ่ไปทุกที่โรงงานนู้นผลิตนี่ไม่ได้เพราะโรงงานนู้นไม่มีวัสดุจากโรงงานนี้ แล้วก็เป็นอย่างงี้ซ้ำกันไปเรื่อย ๆ เกือบทุกโรงงาน นี่ยังไม่รวมถึงระบบ Logistics ที่อาจจะเป็นอัมพาตไปในบางประเทศที่ทำ Complete Lockdown อย่างจีนด้วย แต่ SpaceX และ Tesla ได้เปรียบในข้อนี้มาก ๆ Facilities ในการผลิตทั้งหมดของ SpaceX และ Tesla อยู่ทีเดียวกันไม่เว้นแม้กระทั่ง Headquarters ของบริษัท ซึ่งทำให้ไม่ต้องมี Supply chain แต่สามารถผลิตได้เองเลย ซึ่งถือเป็น Model ที่ Sustainable มากเพราะไม่ต้องพึ่งคนอื่น ผลิตเองได้ แถมไม่ต้องมี Logistics ด้วย

การเข้ามามีบทบาทของภาคเอกชนอย่าง SpaceX และ Tesla จะส่งเสริมให้อีกหลายบริษัทอื่น ๆ เริ่มต้นการเข้ามามีส่วนร่วมในการบรรเทาการแผร่ระบาดของ COVID-19 ได้

วัสดุกันรังสีอวกาศกับโครงการ Lunar Gateway

Lunar Gateway เป็นสถานีอวกาศที่กำลังจะถูกสร้างขึ้นโดยฝั่งสหรัฐอเมริกา โดยสิ่งที่สถานีอวกาศนี้แตกต่างจากสถานีอื่น ๆ ที่ผ่านมาคือมันจะโคจรรอบดวงจันทร์แทนโคจรรอบโลก วันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา NASA ได้ประกาศ 2 อุปกรณ์การทดลองแรกที่จะถูกนำขึ้นไปก็คือเครื่องวัดการแผ่รังสีและเครื่องสังเกตการณ์สภาพอากาศอวกาศ

ที่น่าสนใจคือทำไมเราถึงเลือกที่จะส่งอุปกรณ์ประเภทนี้ไปเป็นชิ้นแรก ๆ นั่นก็เป็นเพราะการดำรงชีพในระยะยาวของนักบินอวกาศขึ้นอยู่กับองค์ความรู้เรื่องนี้ นักบินอวกาศที่ขึ้นไปอยู่บนวงโคจรของดวงจันทร์จะมีโอกาสที่จะได้รับรังสีมากกว่าบน ISS เป็นปริมาณที่มากกว่ามาก โดยการที่มนุษย์หากได้รับรังสีไปเป็นจำนวนมากอาจจะสร้างความเสียหายให้กับ DNA และเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นได้

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการแผ่รังสีในอวกาศจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์บนอวกาศในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อเราตั้งเป้าหมายที่อยากจะอยู่ในระยะยาว การสร้างวัสดุสำหรับก่อสร้างเพื่อป้องกันรังสีอวกาศจะเป็น topic ที่น่าสนใจต่อไป เราได้เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวจากการที่มีงานวิจัยจำนวนมากขึ้นเรื่อง ๆ ที่มาโฟกัสกับการแก้ไขปัญหานี้

ภาพจำลอง Lunar Gateway – ที่มา NASA

ในช่วงหลัง ๆ movement หนึ่งที่น่าติดตามของ NASA คือการ Commercialize Space หรือการให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในวงการอวกาศมากกว่าการที่รัฐเป็นคนควบคุมเองทั้งหมดแบบในยุคของ Space Race (พวก Mercury, Gemini, Apollo) action ของ movement นี้ของ NASA หลายคนน่าจะรู้จักกันก็คือโครงการ CRS หรือ Commercial Resupply Service ที่ NASA ใช้วิธีการทำสัญญากับบริษัทต่าง ๆ ให้ขนของขึ้นไปบน ISS ให้แทนที่จะพัฒนายานแล้วส่งขึ้นไปเอง

แล้วข้อดีของมันคืออะไร? NASA คิดอะไรอยู่ที่ยอมเสียเงินให้กับบริษัทเอกชนที่สร้างขึ้นมาเพื่อหาผลตอบแทนบางอย่างแทนที่จะทำด้วยตัวเอง? มันเป็นการใช้เม็ดเงิน (ภาษีประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา) ได้อย่างคุ้มค่าแล้วหรือ?

ความน่าสนใจของมันอยู่ตรงนี้: การที่มันเกิดความเป็นทุนนิยมขึ้นมามันทำให้บริษัทหลาย ๆ เจ้าได้แข่งกันมากขึ้น ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเร็วขึ้น ทำให้ราคาของ flight ถูกลงกว่าเดิม พอราคาถูกลง มันก็ทำให้เรายิ่งส่งงานขึ้นอวกาศได้มากขึ้น การวิจัยการพัฒนาก็เร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม จำนวน flight สามารถเพิ่มได้มากขึ้น การส่งงานขึ้นอวกาศก็สามารถทำได้มากขึ้นไปอีก จนมันเป็นปกติมากขึ้นและราคาถูกลง เป็นวงจรแบบนี้วนไปเรื่อย ๆ

Blue Moon, Moon Lander ที่ Blue Origin กำลังพัฒนา – ที่มา NASA

อ่านเพิ่มเติม ทุนนิยมบนดวงจันทร์ ทำไม NASA ให้ SpaceX, Blue Origin ช่วย เศรษฐศาสตร์ของการกลับสู่ดวงจันทร์

ดังที่ทางเราได้พูดมาโดยตลอด เราเชื่อว่าการหมุนเวียนของวงจรการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศจะทำให้อนาคตข้างหน้าการไปอวกาศมันอาจจะเหมือนการซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางไปต่างประเทศก็ได้ อวกาศอันเป็นพรมแดนปริศนาสุดท้ายของมนุษย์กำลังเริ่มถูกสำรวจมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะเปิดประตูสู่องค์ความรู้มากมายมหาศาลและการพัฒนาต่อไปของสังคมมนุษย์


การสำรวจหาโลกใบใหม่และการใช้ชีวิตในอวกาศเป็นทางเลือกสำหรับทุกชีวิต เพราะสภาพแวดล้อมของโลกกำลังเข้าสู่จุดที่ไม่อาจย้อนกลับและเสื่อมโทรมจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales Lab ภายใต้ MQDC เดินหน้าหาพันธมิตรที่เข้าใจและศึกษาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางและการดำรงชีวิตบนอวกาศทั้งไทยและต่างประเทศ


แมว วาราบิโมจิ ปิศาจสปาเกตตี้บินได้