“Never Quiz the Lunar Quest” เป็นคำที่ Takeshi Hakamada ผู้เป็น CEO ของบริษัท ispace ได้กล่าวไว้ในวันที่ 25 เมษายน 2023 หลังจากที่ยาน Hakuto-R ลงจอดตกกระแทกผิวดวงจันทร์ในความพยายามลงจอดผิวดวงจันทร์ครั้งแรก อย่างไรก็ตามภารกิจของ ispace ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น ตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมาพวกเขาได้เริ่มการระดมทุน และพัฒนายานอวกาศบนพื้นฐานของยาน Hakuto-R รุ่นเดิม และเตรียมพร้อมที่จะเดินทางสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง
นับตั้งแต่ความผิดพลาดของ ispace ในปี 2023 ตลอดปีดังกล่าวมาจนถึงสิ้นปี 2024 ก็ยังไม่มีบริษัทเอกชนรายใดเลยที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดวงจันทร์ นับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ ยาน Peregrine ไปไม่ถึงดวงจันทร์ และจะตกกลับสู่โลก หรือในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ ยาน Nova-C ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จแต่ดันล้ม ทำให้นับว่าเป็นความสำเร็จบางส่วนเท่านั้น ซึ่งทั้งสองลำ ก็เป็นยานในโครงการ CLPS หรือ Commercial Lunar Payload Service ที่ได้รับทุนพัฒนาจาก NASA ให้นำส่งการทดลองต่าง ๆ ลงบนผิวดวงจันทร์เพื่อเตรียมพร้อมให้โครงการ Artemis

ตลอดปี 2024 บริษัท ispace ได้เดินหน้าหาพันธมิตรและเซ็นความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานรัฐฯ เอกชน ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและทั่วโลก รวมถึง GISTDA และ muSpace ของประเทศไทยด้วย ispace, GISTDA, and mu Space Agree to Collaborate on Lunar Exploration Mission for Thailand’s National Space Program
ในเดือนพฤศจิกายน 2024 บริษัท ispace ได้พัฒนายาน Hakuto-R สำหรับความพยายามครั้งที่สองหรือ Mission 2 สำเร็จ และได้ขนส่งยานอวกาศลำดังกล่าวไปยังแหลมคะเนอเวอรัล เพื่อเตรียมปล่อยเดินทางสู่อวกาศกับจรวด Falcon 9 ของ SpaceX ที่ทางบริษัทระบุว่าจะเริ่มต้นการเดินทางในเดือนมกราคมปี 2025 โดยการแชร์พื้นที่บนจรวดร่วมกับภารกิจ Blue Ghost Mission 1 ของบริษัท Firefly Aeropsace (ซึ่งก็อยู่ในโครงการ CLPS เช่นเดียวกัน)

Hakuto-R Mission 2 ได้รับชื่อยานว่า “Resilience” ซึ่งมีความหมายว่าล้มเร็วลุกเร็ว เปรียบเสมือนการกลับมายืนหยัดตั้งเป้าการลงจอดบนดวงจันทร์อีกครั้ง โดยโปรไฟล์การบินในรอบนี้ก็จะเหมือนกับใน Mission 1 ก็คือตัวยานหลังจากที่ปล่อยจากตัวจรวดจะใช้การทำ Ballistic Capture เพื่อเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ เป็นหนึ่งในศาสตร์ของการทำ Low Energy Orbit หรือการค่อย ๆ ไต่ระดับและปรับวงโคจรไปเรื่อย ๆ จนถึงเป้าหมาย วัตถุประสงค์คือเพื่อประหยัดเชื้อเพลิงไว้สำหรับการลงจอดบนดวงจันทร์ ซึ่งในกระบวนการนี้จะใช้เวลา 4-5 เดือนเช่นเดิม หมายความว่าเราจะได้เห็น Hakuto-R Mission 2 ลงจอดบนดวงจันทร์ช่วงประมาณเดือน มิถุนายน 2025 โดยเราได้อธิบายการปรับวงโคจรในลักษณะนี้ไว้ในบทความ Trajectory Design and Optimization ศาสตร์เบื้องหลังการออกแบบเส้นทางการสำรวจอวกาศ

Hakuto-R เป็นยานอวกาศหนัก 1,000 กิโลกรัมรวมเชื้อเพลิง สูง 2 เมตร พัฒนาโดยบริษัท ispace เอง โดยมีรากฐานมาจากการพัฒนายานสำหรับแข่งขันเดินทางไปดวงจันทร์ในโครงการ Lunar X Prize ในปี 2008 ก่อนที่การแข่งขันจะปิดฉากลงโดยไม่มีผู้ชนะ แต่ทีมฝั่งญี่ปุ่นก็ได้หันมาพัฒนาตัวยานต่อและยังคงมีแผนที่จะสำรวจดวงจันทร์ต่อไป บนยาน Hakuto-R Mission 2 มีการติดตั้งโรเวอร์ขนาดเล็ก หนัก 5 กิโลกรัม เดินทางไปกับตัวยานเหมือนกับภารกิจ Mission 1
ภารกิจขายหินดวงจันทร์ในราคาถูกเหลือเชื่อ
ในวันที่ 18 ธันวาคม 2024 บริษัท ispace ได้แถลงข่าวถึงภารกิจ Mission 2 นี้ และตั้งเป้าว่าพวกเขาจะต้องลงจอดยาน Haktuto-R บนดวงจันทร์ให้สำเร็จ จากนั้นจะเริ่มต้นกระบวนการสำรวจดวงจันทร์โดยปล่อยโรเวอร์ขนาดเล็กออกมา และนี่จะเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้น เพราะว่า ispace จะใช้ใช้อุปกรณ์ตักหินขนาดเล็กเก็บหินดวงจันทร์และขายมันให้กับ NASA
อ่านแล้วอาจจะงง ๆ ว่ามันคือทำอะไรกันแน่ จริง ๆ แล้วมันเป็นโครงการเกรียน ๆ ของ NASA ที่ “รับซื้อหินดวงจันทร์ในราคา 1 ดอลลาร์” ที่เคยมีการประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2020 Purchase of Lunar Regolith and/or Rock Materials from Contractor โดยมีการประมูลกับบริษัทเอกชน และมีสามบริษัทยื่นซองชนะมา โดยบริษัทที่ชนะอันดับหนึ่งนั้นก็คือ Lunar Outpost ที่ยื่นซองประมูลในราคา 1 ดอลลาร์ ตามมาด้วย Masten Space Systems ที่ราคา 1,500 ดอลลาร์ และ ispace ที่ยื่นราคา 5,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 170,000 บาท ซึ่งตัวเลขพวกนี้มันเป็นตัวเลขไว้ปั่นเฉย ๆ คือพูดตรง ๆ มันไม่คุ้มอยู่แล้ว แต่ว่ามันเป็นกุศโลบายของ NASA ในการกระตุ้นให้มีการผลักดันการร่างกฎหมายรองรับการเดินทางสู่ดวงจันทร์ในลักษณะทางการค้าในอนาคต

พูดง่าย ๆ ว่า พอ ispace จะขายหินให้กับ NASA ก็ต้องไปกระตุ้นให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีกฎหมายรองรับว่าด้วยการจัดการกับทรัพยากรนอกโลก และกฎหมายที่ว่าก็จะต้องสอดคล้องกับ Artemis Accords ซึ่งเป็นข้อตกลงว่าด้วยการสำรวจอวกาศอย่างสันติ ซึ่งล่าสุด ญี่ปุ่นก็ได้ออกมาประกาศว่าได้อนุญาตให้ ispace ขายหินให้กับ NASA เรียบร้อย ispace Obtains License to Conduct Lunar Surface Operations from Japanese Government for Second Mission
ซึ่งคำว่าขายในที่ว่านี้ก็เป็นการขายในทางนิตินัยเฉย ๆ แค่ไปตักหินให้ได้ ครอบครองมันให้ได้ และโอนถ่ายกรรมสิทธิ์ให้กับ NASA ได้ก็พอแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องเอาหินกลับมายังโลก (ซึ่ง NASA ก็พูดไว้บอกว่า เออ เดี๋ยวไปเอากลับมาเอง ซึ่งเอาตามความจริง ก็คงไม่เอากลับมาหรอก)
ความหวังในการลงสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง
ในรอบ Mission 1 นั้นสัญญาณจากยานอวกาศได้ขาดหายไป สถานะสุดท้ายของยานได้เมื่อตัวยานอยู่สูง 80 เมตรเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ ที่ความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนับว่าเป็น descend rate ที่สูงมาก ทำให้เดาได้ไม่ยากว่าตัวยานได้ตกกระแทกผิวของดวงจันทร์เป็นที่เรียบร้อย ภายหลังพบว่าเกิดจากเชื้อเพลิงในยานหมดก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากอัลกอริทึมที่ใช้ในการลงจอด

แม้ว่าในรอบ Mission 2 จะเป็นการใช้ฮาร์ดแวร์และโปรไฟล์เดิม แต่ได้มีการใช้ข้อมูลที่เก็บได้จากใน Mission 1 มาพัฒนาซอฟแวร์สำหรับการลงจอดให้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุเดียวที่เรารู้ในตอนนี้ที่ทำให้การลงจอดในปี 2023 ที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะในขั้นตอนที่ยากไม่แพ้กันอย่างการทำ Ballistic Capture เพื่อปรับวงโคจรเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ ตัวยานก็ทำได้ดีมาก ๆ และตรงตามเป้าหมายที่วางไว้

ในรอบนี้จุดลงจอดบนดวงจันทร์คือบริเวณที่ชื่อว่า Mare Frigoris ทางตอนเหนือของดวงจันทร์ และมีการติดตั้งเอา Payload ทางวิทยาศาสตร์ได้แก่ การทดลอง Water Electrolyzer Equipment ของบริษัท Takasago Thermal Engineering, การทดลองด้านอาหารอวกาศจากบริษัท Euglena, อุปกรณ์วัดรังสีในอวกาศจาก National Central University Taiwan และยังมี Payload ที่เราชอบเรียกว่า “ของเล่น” ติดไปด้วย ได้แก่ แผ่นป้าย Charter of the Universal Century จากเรื่องกันดั้ม และงานศิลปะ The Moonhouse ซึ่งเป็นรูปบ้านจำลองติดตั้งไปกับโรเวอร์ด้วย
และสุดท้ายที่ควรรู้ก็คือต่อให้ ispace ประสบความสำเร็จในการลงจอดรอบนี้ ispace ก็อาจจะไม่ได้เป็นเอกชนรายแรกที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดอยู่ดี ๆ เนื่องจากยาน Blue Ghost ที่เดินทางไปพร้อมกับของบริษัท Firefly Aerospace นั้นจะเดินทางถึงดวงจันทร์ก่อน (ด้วยสไตล์การยัดเชื้อเพลิงเข้าไปเยอะ ๆ แล้ว Burn เข้าวงโคจรดวงจันทร์ตรง ๆ แบบชาวอเมริกันเขาทำกัน) แม้จะปล่อยไปพร้อมกันแต่ก็เดินทางถึงดวงจันทร์ได้ก่อน และอาจจะลงจอดสำเร็จได้ก่อนเช่นกัน
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co