ชื่อเรียกทางช้างเผือก ความโรแมนติกที่แฝงอยู่ในแต่ละภาษาทั่วโลก

ในอดีต มนุษย์มองขึ้นไปบนท้องฟ้า พวกเขาเห็นกลุ่มก้อนของดวงดาวสีขาวพาดผ่านจากทิศหนึ่งสู่อีกทิศหนึ่ง ลักษณะปรากฏของมันแตกต่างจากกลุ่มดาวอื่น ๆ ที่ปรากฏทั่วไปบนท้องฟ้า  ในแต่ละที่บนโลก การปรากฏของกลุ่มดาวสีขาวพาดผ่านนี้แตกต่างกัน แม้ในตอนนี้เราจะรู้ว่าแถบสีขาวนี้คือศูนย์กลางของดาราจักรที่อยู่ห่างออกจากระบบสุริยะของเราไปกว่าหนึ่งแสนปีแสง เป็นเหตุที่ทำให้เราเห็นศูนย์กลางของดาราจักรได้ ดวงอาทิตย์และระบบสุริยะของเรา เป็นแค่หนึ่งในระบบดาวที่โคจรรอบศูนย์กลางนี้ราวกับมหานทีดาวอันกว้างใหญ่ไพศาล

ด้วยเรื่องราวและความเชื่อที่แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม มนุษย์ได้รับอิทธิพลในการเรียกวัตถุแตกต่างกันออกไป และยิ่งการที่พวกเขาเห็นสิ่งเดียวกันแล้วตีความกันคนละอย่างก็ยิ่งแสดงถึงวิธีคิดที่มีมานาน เนื่องจากสิ่งนี้ปรากฏให้เห็นมานานแสนนานก่อนที่มนุษย์จะถือกำเนิดขึ้นซะอีก ไม่เหมือนกับอาหาร, พืชผล หรือสัตว์ ที่บางส่วนเกิดจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับวัฒนธรรมอื่น ท้องฟ้าและดวงดาว จึงเป็นตัวแทนที่ใช้ในการอธิบายวิธีคิดของมนุษย์ในอดีตได้เป็นอย่างดีเสมอมา

ทางช้างเผือก และคลองฟ้า

ชื่อที่คนไทยเราทุกคนคุ้นเคยดี คำว่าช้างเผือก คือช้างคู่บารมีของพระมหากษัตริย์ ซึ่งคนไทยสมัยก่อนเชื่อว่ามาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ บรรพบุรุษของเราจึงเรียกรอยสีขาวที่พาดผ่านท้องฟ้าในฤดูหนาวนี้ว่า ทางช้างเผือก ซึ่งก็เปรียบเหมือนกับเส้นทางที่เหล่าช้างเผือกเดินทางมาสู่โลกมนุษย์เพื่อเป็นช้างคู่บารมีของพระมหากษัตริย์นั่นเอง

แต่บางบันทึกพบว่า เมื่อก่อนคนไทยเราเรียกทางช้างเผือกว่า “คลองฟ้า” หรือ “คลองช้าง”  หรือ “คลองช้างเผือก” คำว่าทางช้างเผือกนี้เพิ่งมีใช้ทีหลัง

สมัยอยุธยา พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม บันทึกในวันสวรรคต ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีปรากฏบันทึกว่า “ณ วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีฉลู นพศก กลางคืนลมว่าวพัดหนัก พระมหาธาตุซึ่งเป็นหลักอัครโพธิ โทรมลงทลาย ทั้งอากาศสำแดงร้ายอาเพท ประทุมเกศตกต้องมหาธนูลำพู่กัน หนึ่งดวงดาวก็เข้าในดวงจันทร์ ทั้งดาวหาง คลองช้างเผือก ประชาชนก็เย็นยะเยือกทั้งพระนคร ด้วยเทพยเจ้าสังหรณ์หากให้เห็น ด้วยพระองค์เป็นหลักชัย ในกรุงพระมหานครศรีอยุธยา”

นอกจากนี้ในหนังสือ โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ เขียนโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ยังได้มีการวิเคราะห์ถึงลิลิตโองการแช่งน้ำ ว่ามีส่วนที่กล่าวถึง ทางช้างเผือกในชื่อ คลองฟ้า

เพิ่มเติมคือสำหรับดาวหางที่ปรากฏในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้มีการบันทึกไว้ว่าคือ “หมอกธุมเกต” ซึ่งภายหลังมีการนำมาเปรียบเทียบปรากฏการณ์หมอกที่เกิดขึ้นในวันสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งอาจเป็นการตีความที่ไม่ตรงกันเรื่องความหมายของคำว่า ธุมเกต

สำหรับในตำนานอื่น ๆ เว็บไซต์ Wikipedia ได้มีการรวบรวมเรื่องราวและตำนานที่น่าสนใจให้เราได้เข้าไปอ่านกัน

ทางวัวขาว ถนนฤดูหนาว ของชาวแสกดิเนเวียน

ชาวไอร์แลนด์มีตำนานที่ต่างออกไป พวกเขาเชื่อว่ารอยสีขาวพวกนี้คือทางเดินของวัวสีขาวที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขา และเรียกมันว่า Bealach na Bó Finne หรือ The Fair Cow’s Path

กลุ่มประเทศสแกดินเวียเรียกรอยสีขาวพวกนี้ว่า Vintergatan หรือ The Winter Street ถนนฤดูหนาว เนื่องจากว่าพวกเขามองเห็นมันชัดเจนได้มากที่สุดในฤดูหนาว เป็นผลมาจากตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร เนื่องจากแสงของดวงอาทิตย์ทิตย์น้อย ทำให้ดวงดาวบนท้องฟ้าปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจน

ทางฟางข้าว ทางนกบิน

ประเทศในกลุ่มเอเชียกลางและแอฟริกาจะเรียกรอยพวกนี้ว่า ทางฟางข้าว ซึ่งนักประวัติศาสตร์เชื่อว่าพวกอาหรับได้ยินคำนี้มาจากพวก Armenia ที่เรียกทางช้างเผือกว่า Straw Thief’s Way หรือ ทางขโมยข้าว จากตำนานที่เล่าว่าเทพ Vahagn ได้บินไปขโมยข้าวมาจาก Assyrian ระหว่างทางเทพได้ทำข้าวหกบนท้องฟ้า เกิดเป็นเส้นขีดสีขาวนี้ขึ้น

ภาษาฟินนิช Linnunrata ภาษาเอสโตเนีย Linnutee รวมถึงภาษาในประเทศแถบยุโรปเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่แปลว่า “ทางนกบิน” ซึ่งมีที่มีจากที่พวกเขาเชื่อว่าบรรดานกใช้เส้นทางเหล่านี้เพื่อนำทางกลับบ้าน

แม่น้ำสวรรค์ และแม่น้ำสีเงิน

จีนและญี่ปุ่นจะเรียกรอยนี้คล้ายกัน โดยในภาษาจีน 天河 เทียนเหอ คำว่าเทียนแปลว่าท้องฟ้าหรือสวรรค์ ส่วนเหอแปลว่าแม่น้ำ ในขณะที่ภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า 天の川 ซึ่งมีความหมายไปในทางเดียวกัน

แม่น้ำสวรรค์ ที่มา – Chester Beatty Library

มีเรื่องราวของตำนานที่กล่าวถึงดาว “Altair” และ “Vega” เมื่อเทียบกับชื่อที่เราเรียกกันทุกวันนี้ แต่ในตำนานของจีนและญี่ปุ่น คือเรื่องของหนุ่มเลี้ยงวัวและสาวทอผ้า Vega ได้หนีจากสวรรค์มาเผื่อแต่งงานกับ Altair ทำให้บิดาของนางไม่พอใจ ใช้ปิ่นปักผมลากผ่านท้องฟ้าเพื่อกั้นดาวทั้งคู่ไว้ไม่ให้ได้พบกัน เหมือนเป็นแม่น้ำสวรรค์ที่แบ่งแยกสองโลก จะมีเพียงวันเดียวที่ทั้งสองได้พบกัน เรารู้จักมันในชื่อของวันทานาบาตะ

Altair และ Vega ที่ถูกขั้นกันด้วยแม่น้ำสวรรค์ ที่มา – ESA

ไม่ห่างออกไปจากจีนและญี่ปุ่น ชาวเกาหลี เวียดนาม ไต้หวัน และประเทศในแถบเอเชียจะเรียกรอยที่พาดผ่านท้องฟ้านี้ว่า แม่น้ำสีน้ำเงิน คือคำว่า 銀河 สำหรับภาษาจีนสามารถใช้เรียกได้เช่นกัน ส่วนภาษาเวียดนาม Ngân Hà และภาษาเกาหลี 은하수 eunhasu

ทางน้ำนม ชื่อที่คุ้นเคยที่สุด และไร้ความโรแมนติกที่สุด

ตามที่ทุกคนทราบกัน ภาษากลุ่มละตินจะเรียกรอยสีขาวที่พาดผ่านท้องฟ้าว่า ทางน้ำนม เนื่องจากมีลักษณะที่เหมือนกับนมหกราดลงไปบนท้องฟ้า ภาษาอังกฤษเรียกว่า Milky Way ภาษาเยอรมัน Milchstrasse และภาษานอร์วิเจียน Melkeveien

สำหรับเรื่องเล่าของชื่อทางน้ำนมนี้ เกิดขึ้นเมื่อ เฮราคลีส (หรือเฮอคิวลิส) ลูกของซุสที่เกิดกับมนุษย์ ไม่มีนมให้กินบนยอดเขาโอลิมปัส ซุสจึงพาไปกินนมของเทพีเฮรา ซึ่งตอนนั้นเฮราหลับอยู่ พอตื่นขึ้นมาเจอใครก็ไม่รู้มาดูดนมอยู่ก็เลยผลักเฮอคิวลิสทำให้นมกระเด็นออกไปเปื้อนท้องฟ้า (เอางี้จริงดิ)

ทั้งหมดนี้เราจะเห็นว่าภาษาและวัฒนธรรมมีผลแค่ไหนในการศึกษาธรรมชาติของมนุษย์ในขณะที่การจดบันทึกและการทดลองถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ของธรรมชาติ ภาษาและวัฒนธรรมก็ทำหน้าที่ในการบันทึกและถ่ายทอดวิธีคิดและมุมมองของมนุษย์ต่อธรรมชาติ ดังนั้นหากจะถามว่าศาสตร์ใดสำคัญกว่ากันย่อมตอบไม่ได้ เนื่องจากเราถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานความนึกคิด ความรู้สึก และการมีองค์ความรู้ร่วม

จักรวาลในมุมมองขององค์ความรู้ร่วมนี้จึงมีความหมายมากกว่าที่มันเป็น หากจักรวาลถูกสร้างและคงอยู่ด้วยธรรมชาติ การแต่งแต้มเรื่องราวและสีสัน ก็คงเป็นหน้าที่ของมนุษย์เรา

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

 

 

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.