NASA เลื่อนภารกิจ Artemis II ไปเป็นปี 2026 หลังพบปัญหาแผ่นกันความร้อนของยาน Orion

ข่าวใหญ่ประเด็นร้อนในวงการอวกาศส่งท้ายสิ้นปี 2024 เมื่อ NASA ได้ออกมาประกาศปรับแผนโครงการ Artemis อีกครั้ง ในรอบนี้เป็นการเลื่อนภารกิจ Artemis II ซึ่งจะเป็นการเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ของ 4 นักบินอวกาศ จากเดิมที่ถูกวางเอาไว้เป็นปี 2025 ไปเป็นช่วงปี 2026 แทน เนื่องจากผลการตรวจสอบเที่ยวบิน Artemis I ซึ่งเป็นเที่ยวบินทดสอบไร้นักบินนั้น พบว่าแผ่นกันความร้อนหรือ Heat Shield ของยานเกิดความเสียหายเกินกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้วิศวกรจำเป็นต้องตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าจะปลอดภัยสำหรับการกลับสู่โลกของนักบินอวกาศ

การเลื่อนภารกิจ Artemis II ไปเป็นปี 2026 นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ในช่วงต้นปี 2024 ได้มีการประกาศ เลื่อน Artemis II เป็น 2025 และการลงจอดเลื่อนเป็นปี 2026 ไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยในตอนนั้นก็ได้ให้เหตุผลว่าเพื่อความปลอดภัยของนักบินอวกาศเช่นกัน แต่ไม่ได้มีการระบุว่าพบปัญหาจากส่วนประกอบใดของภารกิจ ทำให้ลูกเรือทั้งสี่ได้แก่ Reid Wiseman, Victor Glover, Christina Koch และ Jeremy Hansen ต้องรอคอยการเดินทางของพวกเขาหลังจากการประกาศรายชื่อในปี 2022 (ข่าวเก่า – เผยรายชื่อนักบินอวกาศ Artemis II ได้แก่ Koch, Hansen, Glover, Wiseman)

วันที่ 6 ธันวาคม 2024 NASA ได้จัดงานแถลงข่าวอัพเดทความเป็นไปของโครงการ Artemis ณ สำนักงานใหญ่ของ NASA ในกรุงวอชิงตัน ดีซี โดยผู้ที่นั่งโต๊ะแถลงข่าวนั้นก็ได้แก่ผู้อำนวยการ Bill Nelson รองผู้อำนวยการ Jim Free และ Pam Melroy รวมถึงผู้บัญชาการภารกิจ Artemis II นักบินอวกาศ Reid Wiseman

ปัญหาจากแผ่นกันความร้อนของยานที่นำไปสู่การเลื่อนภารกิจ

เนื้อหาในการแถลงข่าวนั้นสรุปใจความสำคัญได้สองประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ การประกาศเลื่อนภารกิจ Artemis II โคจรรอบดวงจันทร์ จากกำหนดเดิมปลายปี 2025 ไปเป็นเดือนเมษายน 2026 และประกาศเลื่อนภารกิจ Artemis III ซึ่งจะเป็นการลงจอดสู่ผิวดวงจันทร์ ไปเป็นช่วงกลางปี 2027 ซึ่งเป็นการตัดสินใจมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับแผ่นกันความร้อนของยาน Orion ที่นำไปสู่ข้อกังวลด้านวิศวกรรม และการเลื่อนภารกิจ

งานแถลงข่าวที่นำโดยผู้บริหาร NASA ในสำนักงานใหญ่ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ที่มา – NASA

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับยาน Orion นั้น NASA ให้รายละเอียดว่า หลังจากการทดสอบภารกิจ Artemis I (ข่าวเก่า – จรวด SLS บินขึ้นแล้วเปิดฉากโครงการ Artemis กลับสู่ดวงจันทร์) ในเดือนพฤศจิกายนปี 2022 เป้าหมายของการทดสอบในรอบนั้นคือการเก็บข้อมูลการบินอย่างละเอียด และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อให้การเดินทางในภารกิจ Artemis II ปลอดภัยมากที่สุด โดยข้อมูลชุดใหม่ที่ได้จากวิศวกรที่ตรวจสอบยาน Orion หมายเลข CM-002 ที่ใช้ในภารกิจ พบว่าแผ่นกันความร้อนหรือ Heat Shield ที่ใช้ในการเข้าสู่บรรยากาศของยานดันพบการเผาไหม้ของวัสดุบางส่วนที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น โดยในระหว่างการเข้าสู่บรรยากาศนั้น แผ่นกันความร้อนดังกล่าวที่ทำจากวัสดุที่เรียกว่า Avcoat (ผลิตจาก Epoxy Phenol Formaldehyde Resin เสริมด้วย Fiberglass) จะต้องเจอกับอุณหภูมิมากกว่า 2,760 องศาเซลเซียสในขณะกลับสู่โลก

NASA ได้รายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวใน NASA Identifies Cause of Artemis I Orion Heat Shield Char Loss บอกว่า ในการเข้าสู่บรรยากาศของโปรไฟล์ภารกิจ Artemis I นั้น ยาน Orion ใช้การเข้าบรรยากาศที่เรียกว่า Skip Entry ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ที่นำมาใช้กับโครงการ Artemis ซึ่งตัวยานจะเข้าแตะบรรยากาศของโลก ณ จุดที่เรียกว่า Point of Entry ก่อนที่จะเด้งกลับขึ้นไปที่ความสูงระดับหนึ่ง และตกกลับเข้ามาใหม่ นึกภาพเหมือนเราปาหินให้กระโดดไปบนผิวน้ำก่อนที่หินจะจมลง ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะต้องการให้ตัวยานกางร่มชูชีพเพื่อลงจอดในทะเลห่างออกไปจากจุด Point of Entry ซึ่งจะใกล้กับชายฝั่งสหรัฐฯ มากกว่า การออกแบบโปรไฟล์นี้ยังช่วยกำหนดจุดลงจอดที่แม่นยำมากกว่าในยุค Apollo ที่ใช้การเข้าบรรยากาศแบบ Direct Entry คือเข้าตรงไหน ก็ลงจอดใกล้ ๆ ตรงนั้น ทำให้ในตอนนั้นจำเป็นต้องใช้กองเรือบรรทุกเครื่องในการเข้าเก็บกู้กลางมหาสมุทรแปซิฟิก

ภาพเปรียบเทียบโปรไฟล์การเข้าสู่บรรยากาศแบบ Skip Entry ของ Artemis กับการเข้าแบบ Direct Entry ในยุค Apollo ที่มา – NASA

และในการทำ Skip Entry นี้เอง ก็นับว่าเป็นครั้งแรกที่ Orion ใช้การเข้าสู่บรรยากาศแบบนี้ ทำให้การเก็บข้อมูลในภารกิจ Artemis I จึงสำคัญมาก ๆ และนี่เองจึงทำให้วิศวกรสนใจแผ่นกันความร้อนของยาน Orion เป็นพิเศษ และจากการศึกษาพบว่า ในระหว่างที่ Orion เด้งกลับขึ้นไปก่อนที่จะตกกลับลงมานั้น เป็นช่วงที่อุณหภูมิของแผ่น Avcoat ลดลง ความร้อนที่สะสมอยู่ในตัว Avcoat จึงพยายามที่จะถูกถ่ายเทออกมา กระบวนการนี้เหมือนกับแผ่น Avcoat ร้อนมาก แล้วก็กลับมาเย็น แล้วก็กลับไปร้อนอีกครั้ง จนทำให้เกิดรอยแตก และการสูญเสียเนื้อวัสดุที่ไม่สม่ำเสมอ

แผ่นกันความร้อนของยาน Orion หลังจากกลับสู่โลกที่ถูกออกมาไว้ใน Operations and Checkout Building ของ NASA Kennedy Space Center ที่มา – NASA

อย่างไรก็ดีแม้ตัวแผ่นกันความร้อนจะได้รับความเสียหายในลักษณะที่ไม่ได้ถูกคาดการณ์ไว้ในตอนแรก แต่หากดูข้อมูลอุณหภูมิในห้องโดยสารแล้ว จะพบว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่ออุณหภูมิในห้องโดยสารอย่างไร และไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อยาน Orion แต่ท้ายที่สุด วิศวกรก็จำเป็นต้องตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อให้โปรไฟล์การบินของยาน Orion มีความมั่นใจสูงสุด ซึ่งกระบวนการลักษณะนี้ เราได้เห็นจากกรณี NASA ตัดสินใจให้ลูกเรือ Starliner Crew Flight Test กลับโลกด้วยยาน Dragon ที่แม้ปัญหาจะไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ แต่ก็ต้องมั่นใจให้ได้มากที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดและนำไปสู่ความสูญเสียเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

จับตามองอนาคตของโครงการ Artemis

ปัจจุบันโครงการ Artemis ยังคงคืบหน้าพอสมควร แม้ว่าจะเจอการประกาศเลื่อนเป็นระยะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จในการทดสอบยานอวกาศ Starship ในเที่ยวบินต่าง ๆ ตลอดไปจนถึงการที่ NASA เริ่มประกอบจรวด SLS สำหรับภารกิจ Artemis II แล้วในอาคาร Vehicle Assembly Building และอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ทยอยเดินทางมายัง Kennedy Space Center อย่างไม่ขาดสาย แต่เราจะเห็นว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยที่ทำให้การเดินทางกลับสู่ดวงจันทร์ช้าลงไป มักจะเป็นปัจจัยที่มาจากความปลอดภัยเป็นหลัก เนื่องจากนี่จะเป็นภารกิจลักษณะ Humanned Spaceflight ครั้งแรกของ NASA นับตั้งแต่ยุคกระสวยอวกาศ หากเราไม่นับโครงการอย่าง Commercial Crew ที่ NASA ว่าจ้างให้เอกชนดูเป็นหลัก (แต่บอร์ดด้านความปลอดภัยก็ยังเป็น NASA อยู่ดี)

Bill Nelson ผู้อำนวยการ NASA คนปัจจุบัน ที่กำลังจะถูกแทนที่หลังมีการเปลี่ยนขั้วผู้นำทางการเมือง ที่มา – NASA

ย้อนกลับไปในการทดสอบ Artemis I ก็มีการเลื่อนเกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งเราได้เคยวิเคราะห์ไว้ในบทความ วิศวกรรมและการเมือง ปัญหาของการเลื่อนปล่อยภารกิจ Artemis I

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าจับตามองก็คือ การเมืองที่เปลี่ยนขั้วหลังช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ Donald Trump กลับมานำสหรัฐฯ อีกครั้ง และยังมีแผนการตั้งให้ Jared Isaacman มหาเศรษฐีเจ้าของโครงการ Polaris มาเป็นผู้อำนวยการคนใหม่ของ NASA แทน Bill Nelson อีก ทำให้อนาคตของโครงการ Artemis น่าจับตามองว่าจะไปในทิศทางใด ยังไม่นับรวมกระแสข่าวลือที่เกิดขึ้นอย่างหนาหูถึงการเตรียมยกเลิกโครงการ Space Launch System หรือ SLS อันเนื่องมาจากงบประมาณที่เกินเพดานไปอย่างมาาก

ภาพจำลองยาน Orion เชื่อมต่อกับยาน Human Landing System ที่พัฒนาโดย SpaceX ที่มา – NASA

Artemis III ที่จะเป็นภารกิจการไปเหยียบดวงจันทร์เอง ก็ยังต้องรอ SpaceX พัฒนายาน Starship รุ่นสำหรับใช้เป็น Human Landing System สำเร็จเช่นกัน SpaceX อัพเดทดีไซน์ Human Landing System และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในภารกิจ Artemis III ซึ่งตอนนี้ Starship เองก็ยังไม่เคยเดินทางถึงวงโคจรต่ำของโลก หรือได้เดินทางไปดวงจันทร์จริง ๆ ซักเที่ยวบิน ก็ต้องรอดูว่าตัวเลขปี 2027 จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนหากพิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้

อ่าน – สรุปทุกอย่างที่เรารู้เกี่ยวกับจุดลงจอด Artemis III โดยละเอียด

แต่ที่แน่ ๆ Artemis เองนั้นหากย้อนกลับไปที่การประกาศในปี 2019 ในตอนนั้น การเหยียบดวงจันทร์ควรจะเกิดขึ้นในปี 2024 แต่ NASA เลื่อนเหยียบดวงจันทร์ภารกิจ Artemis เป็นปี 2025 ผลพวงจากข้อพิพาท HLS ก็ทำให้โครงการต้องถูกปรับ Timeline ไปแล้วรอบหนึ่ง แถมยังมาเจอการเลื่อนเมื่อต้นปี ก็ทำให้จากตัวเลข 2024 ตอนนี้กลายไปเป็น 2027 ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมที่วางไว้ถึง 3 ปีเรียบร้อย

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.